17. อัลฟิดยะฮฺ หรือการชดใช้

Submitted by dp6admin on Mon, 31/08/2009 - 08:35

17.1 อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสไว้ว่า

وَعَلَى الَّذِينَ يُطِيقُونَهُ فِدْيَةٌ طَعَامُ مِسْكِينٍ

ความว่า “และสำหรับบรรดาผู้ถือศีลอดโดยลำบากยิ่ง ก็ให้ชดใช้ (การถือศีลอด) ด้วยการให้อาหารแก่คนยากจนขัดสนหนึ่งคน”

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า อายะฮฺนี้ถูกยกเลิก แต่ อับดุลลอฮฺ อิบนฺอับบาส ยืนยันว่าอายะฮฺนี้มิได้ถูกยกเลิก และว่ามีผลบังคับใช้ได้กับชายชรา และหญิงชราที่ไม่สามารถจะถือศีลอดได้ และให้ทั้งสองชดใช้การถือศีลอดด้วยการให้อาหารแก่คนยากจนขัดสนคนหนึ่งทุกวัน    บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ

17.2 ด้วยเหตุดังกล่าวอาจจะมีบางคนสงสัยว่า อิบนฺอับบาสไม่เห็นด้วยหรือมีทัศนะขัดแย้งกับบรรดาสาวกส่วนใหญ่ โดยพิจารณาถึงหะดีษของอัลบุคอรียฺอย่างผิวเผินที่ระบุถึงการปฏิเสธการยกเลิกของอายะฮ ดังกล่าว แล้วเข้าใจกันว่า อับดุลลอฮฺ อิบนฺอับบาส มีทัศนะขัดแย้งกับบรรดาสาวกส่วนใหญ่

17.3 ในอายะฮฺนี้มีความหมายโดยทั่วไปแก่ทุกคนที่อยู่ในเกณฑ์บังคับ ครอบคลุมถึงผู้ที่มีความสามารถและผู้ที่ไม่มีความสามารถในการถือศีลอด หลักฐานที่ยืนยันเช่นนี้ในซุนนะฮฺ บันทึกโดยอิมามมุสลิม มีรายงานจากสะละมะฮฺอิบนุลอักว๊ะอฺ กล่าวว่า

‏كنا في رمضان على عهد رسول الله ‏ ‏صلى الله عليه وسلم  مَنْ شَاءَ صَامَ وَمَنْ شَاءَ أَفْطَرَ فَافْتَدَى بِطَعَامِ مِسْكِيْنٍ حَتَّى نَزَلَتْ هَذِهِ الآيَةُ 

ความว่า “ ปรากฎว่าพวกเราอยู่ในเดือนรอมฎอนในสมัยของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ผู้ใดประสงค์เขาก็ถือศีลอด และผู้ใดประสงค์เขาก็ละศีลอด แล้วเขาก็ชดใช้การถือศีลอดด้วยการให้อาหารแก่คนยากจนขัดสนคนหนึ่งทุกวัน" จนกระทั่งอายะฮฺนี้ถูกประทานลงมาคือ

( فَمَنْ شَهِدَ مِنْكُمْ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ ) رواه مسلم

ความว่า “ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าปรากฎตัวอยู่ในเดือนนั้นก็จงถือศีลอดของเดือนนั้น” (2/185)   บันทึกโดย : มุสลิม

ดังกล่าวมานี้จึงเป็นประจักษ์ได้ว่า ความหมายของอายะฮฺนี้ถูกยกเลิก สำหรับผู้ที่มีความสามารถในการถือศีลอดและไม่ถูกยกเลิกสำหรับผู้ที่ไม่มีความสามารถในการถือศีลอด

เมื่อเป็นที่ประจักษ์เช่นนั้นแล้ว   ย่อมพิสูจน์ได้ว่าความหมายของอายะฮฺนี้ถูกยกเลิกในส่วนของผู้ที่มีความสามารถในการถือศีลอด และไม่ถูกยกเลิกสำหรับผู้ที่ไม่มีความสามารถในการถือศีลอด บัญญัติแรกถูกยกเลิกด้วยหลักฐานจากอัลกุรอาน บัญญัติที่สองเป็นที่ยืนยันด้วยหลักฐานจากอัซซุนนะฮฺ และไม่ถูกยกเลิกจนกระทั่งวันกิยามะฮฺ

และเป็นการยืนยันสนับสนุนทัศนะดังกล่าวตามที่อิบนฺอับบาส ได้กล่าวไว้ในรายงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการยกเลิกคือ และเป็นที่ยืนยันสำหรับชายชราและหญิงชรา ในเมื่อทั้งสองไม่สามารถจะถือศีลอดได้ และเช่นเดียวกัน หญิงที่มีครรภ์และหญิงแม่ลูกอ่อน หากนางกลัวว่าจะเกิดโทษแก่ตัวเองหรือเด็กแล้ว ก็ให้นางจ่ายอาหารแก่คนยากจนขัดสนแทนทุกๆ วัน

และหะดีษของมุอ๊าซ อิบนญะบัลจะทำให้เป็นที่กระจ่างชัดยิ่งขึ้น ที่กล่าวว่า “ส่วนกรณีต่าง ๆ ของการถือศีลอดนั้นคือ เมื่อท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้เดินทางมาถึงนครอัลมะดีนะฮฺ ท่านได้ถือศีลอด 3 วันของทุกๆ เดือน และถือศีลอดวันอาชูรออฺ (วันที่ 10 มุฮัรรอม) ต่อมาอัลลอฮฺได้บัญญัติการถือศีลอดให้แก่ท่าน โดยพระองค์ได้ประทานอายะฮฺที่ว่า

﴿ فَمَنْ شَهِدَ مِنكُمْ الشَّهْر فَلْيَصُمْه ﴾

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้า ……” (2/183)

และอีกอายะฮฺหนึ่งในซูเราะฮฺเดียวกันว่า

 ﴿ شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِيَ أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ ﴾

ความว่า “เดือนรอมฎอนนั้นเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา ……” (2/185)

ดังนั้นอัลลอฮฺจึงทรงบัญญัติยืนยันการถือศีลอดของพระองค์ แก่ผู้ที่พำนักอยู่ประจำมีสุขภาพดี และทรงผ่อนผันการถือศีลอดแก่คนป่วยและผู้เดินทาง และยืนยันการจ่ายอาหารสำหรับคนชราที่ไม่สามารถจะถือศีลอดได้

หะดีษทั้งสองดังกล่าวเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งในการชี้แจงว่า อายะฮฺดังกล่าวถูกยกเลิกสำหรับผู้ที่มีความสามารถในการถือศีลอด และไม่ถูกยกเลิกสำหรับผู้ที่ไม่มีความสามารถในการถือศีลอด

ดังนั้นอิบนฺอับบาสจึงมีความเห็นสอดคล้องกับบรรดาศ่อฮาบะฮฺ และหะดีษของเขาก็สอดคล้องกับหะดีษของอับดุลลอฮฺ อิบนฺอุมัร และหะดีษของสะละมะฮฺ อิบนฺอั้กว๊ะอฺอีกด้วย

และจำเป็นที่เราจะต้องรับรู้ด้วยว่า หะดีษทั้งสองของอิบนฺอับบาส และมุอ๊าซ อิบนฺญะบัลนั้น บรรดาผู้รู้มีความเห็นตรงกันว่า เป็นฮุกุ่มมั้รฟูอฺเทียบเท่าหะดีษของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม   ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้มุอฺมินผ้ศรัทธาที่รักอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์จะคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับท่านทั้งสอง เมื่อท่านทั้งสองได้กล่าวยืนยันเช่นนั้น เพราะสาวกทั้งสองนี้ได้ร่วมเป็นพยานขณะที่วะฮีย์ถูกประทานลงมากล่าวถึงอายะฮฺต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ดังนั้นหะดีษนี้จึงอยู่ในระดับมั้รฟูอฺถึงท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยปราศจากการสงสัยแต่อย่างใด

สำหรับหญิงแม่ลูกอ่อนและหญิงที่มีครรภ์

อิบนฺอับบาส ได้ยืนยันว่าข้อตัดสินนี้เป็นผลสำหรับหญิงแม่ลูกอ่อนและหญิงที่มีครรภ์ ดังนั้นอิบนฺอับบาสได้เอาข้อตัดสินนี้มาจากไหน ? แน่นอนท่านจะต้องเอามาจากซุนนะฮฺ เฉพาะอย่างยิ่งท่านมิได้มีความคิดเห็นแต่ผู้เดียว แต่อับดุลลอฮฺ อิบนอุมัร ซึ่งรายงานว่าอายะฮฺนี้ถูกยกเลิกก็มีความคิดเห็นตรงกันด้วย

มีรายงานจากมาลิกจากนาเฟี๊ยะอฺว่า อิบนฺอุมัรถูกถามถึงหญิงที่มีครรภ์ เมื่อนางมีความกลัวต่อลูกของนางเขาตอบว่า “ให้นางละศีลอดและให้อาหารเป็นข้าวโพดหรือข้าวโอ๊ดหนึ่งมุดแก่คนยากจนขัดสนคนหนึ่งทุกวัน”  บันทึกโดย : อัลบัยฮะกีย์

และมีบันทึกโดยอัดดารุกุฎนีย์ จากรายงานของอิบนฺอุมัร เป็นหะดีษศ่อฮี้ฮฺ กล่าวว่า “หญิงที่มีครรภ์และหญิงแม่ลูกอ่อนให้นางละศีลอดและไม่ต้องถือศีลอดใช้”

อิบนฺกุดามะฮฺได้กล่าวไว้ในหนังสืออัลมุฆนีย์ (3/21) ว่า “บรรดาศ่อฮาบะฮฺมิได้ขัดแย้งกับอิบนฺอับบาส” ดังนั้นในความคิดเห็นของเขาจึงไม่มีบรรดาอุละมาอฺคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยและถือได้ว่าเป็นการยอมรับโดยปริยาย

ส่วนผู้ที่อ้างว่าการละศีลอดของหญิงที่มีครรภ์และหญิงแม่ลูกอ่อน เหมือนกับการละศีลอดของผู้เดินทาง และจัดให้การถือศีลอดใช้จำเป็นแก่นางทั้งสองนั้น เป็นคำพูดที่ถูกโต้แย้งเพราะเป็นการเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีหลักฐานชัดเจนอยู่แล้ว คือ อัลกุรอานได้ชี้แจงความหมายการละศีลอดของผู้เดินทางว่า “ดังนั้นผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเจ็บป่วยหรืออยู่ในระหว่างเดินทางก็ให้ถือศีลอดใช้ในวันอื่น “ และได้ชี้แจงความหมายการละศีลอดของผู้ที่ไม่มีความสามารถในการถือศีลอดว่า “และสำหรับบรรดาผู้ที่ถือศีลอดโดยลำบากยิ่งก็ให้ชดใช้ (การถือศีลอด) ด้วยการให้อาหารแก่คนยากจนขัดสนหนึ่งคน” จึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าหญิงมีครรภ์และหญิงแม่ลูกอ่อนอยู่ในสภาพที่อายะฮฺนี้กล่าวถึงโดยเฉพาะ

**หมายเหตุ จำนวนฟิดยะฮฺ คือ 1 มุด (คือ กอบมือสองข้างตักอาหารชนิดหนึ่ง เช่น ข้าว, อินทผลัม ฯลฯ (สำหรับข้าว 1 มุด มีน้ำหนักประมาณ 5-6 ขีด)) จะให้เป็นอาหารดิบหรือสุกก็ได้ เรื่องที่อุละมาอฺขัดแย้งกันคือ ควรให้ 1 หรือ 2 มุด, จะให้ 1 หรือ 2 มื้อ ทัศนะหนึ่งเห็นว่าควรให้สองมื้อก็เพื่อให้มิสกีนอิ่มทั้งวัน แนะนำให้ออกเกินไปคือ 1 กิโลครึ่ง ซึ่งเพียงพอที่จะให้ผู้รับอิ่มได้ทั้งวัน (เป็นเรื่องดีกว่าแต่ไม่ได้วาญิบ) อีกทัศนะหนึ่งเห็นว่าควรออกฟิดยะฮฺ 1 มื้อ คือประมาณครึ่งกิโล (5-6 ขีด) ก็ทำได้เช่นกัน  ท่านอนัส อิบนิมาลิก เมื่ออายุมากแล้วท่านไม่ได้ถือศีลอด และจะเชิญมิสกีน 30 คนมาเลี้ยงอาหารที่บ้านทีเดียวเลย ก็ทำได้เช่นกัน [ที่มา]

 


ตอบปัญหาเกี่ยวกับฟิดยะฮฺ


ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ

 

 

WCimage
17. อัลฟิดยะฮฺ หรือการชดใช้