คำถาม : การจ่ายซะกาต ในการทำธุรกิจเช่นธุรกิจรถขนส่งสินค้า หรือธุรกิจอื่น ๆ มีกฎเกณฑ์การจ่ายซะกาตอย่างไร เช่น 1. จ่ายจากผลกำไรที่ได้รับ 2. จ่ายจากรายได้ที่ได้รับก่อนหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ 3. จ่ายจากทรัพย์สินที่มีอยู่ในกิจการ เช่น รถ อาคาร เครื่องใช้หรือเครื่องมือต่าง ๆ และถ้ากิจการมีภาระจะต้องจ่ายชำระหนี้สิน จะต้องจ่ายซะกาตหรือไม่ หรือจะต้องชำระซะกาตควบคู่ไปกับการจ่ายชำระหนี้สิน ขอบคุณครับ
วัสสลามมุอะลัยกุม
คำตอบ
อัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ
การจ่ายซะกาตธุรกิจ ไม่ต้องนับเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆในต้นทุน แต่นับมูลค่าของสินค้าที่จำหน่าย อันเป็นเป้าหมายธุรกิจของเรา รวมถึงกำไรด้วย ดังนั้นเมื่อครบ 1 ปี(จันทรคติ) ให้คำนวณทรัพย์สินที่เป็นกำไรรวมกับต้นทุนสินค้าที่ทำการค้าอยู่(ในกรณีธุรกิจขนส่งไม่มีสินค้าแต่เป็นการขายบริการ) และหักค่าใช้จ่ายตลอดระยะ 1 ปี ส่วนที่เหลือให้ออก 2.5%
ถ้าหากกำไรงอกมาเป็นระยะๆตลอด 1 ปี รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเป็นระยะๆตลอด 1 ปี เราก็คำนวณกำไรตลอด 1 ปีและค่าใช้จ่ายตลอด 1 ปี และหักไป ส่วนเหลือก็คือจำนวนทรัพย์สินที่ต้องออกซะกาต
หรือเราจะใช้จ่ายจากกำไรไปเรื่อยๆตลอด 1 ปี และตอนสิ้นปีให้นับส่วนเหลือและออกซะกาตจากส่วนนั้น
หากเรามีหนี้สินที่ไม่ต้องชำระอย่างรีบด่วน หมายถึง เราชำระสบายๆ ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะของเราที่จะต้องออกซะกาตด้วย แต่ถ้าหากหนี้สินต้องชำระอย่างรีบเร่ง โดยการชำระหนี้นั้นจะกินเนื้อของต้นทุนและกำไรจนกระทั่งจะไม่เหลือจำนวนมูลค่าทรัพย์สินที่ต้องออกซะกาต ก็ไม่ต้องออกซะกาต เพราะหนี้สินนั้นเป็นค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งที่ต้องหักออกจากต้นทุนและกำไร
วัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ
ริฎอ อะหมัด สมะดี
13 ต.ค. 48
- Log in to post comments
- 360 views