สู่อีหม่านที่มั่นคง ตอนที่ 64 - “บุคคลสองประเภทที่จะไม่ได้รับชะฟาอะฮ์จากฉัน (การที่นบีจะช่วยเหลือ จะขอจากอัลลอฮ์ให้คนหนึ่งคนใดจากประชาติของท่านนบีได้ออกจากนรก ให้เข้าสวรรค์ ยกตำแหน่งในสวรรค์ให้สูงขึ้น) คือ 1.ผู้นำที่อยุติธรรม ไม่มีความยุติธรรม ผู้นำที่ละเมิดสิทธิผู้อื่น เป็นผู้แข็งกระด้าง ไม่ทำหน้าที่ ไม่มีความเมตตาต่อสังคม 2.บุคคลที่ทรยศทรัพย์สินของสังคม บุคคลที่ทุจริตละเมิดเงินส่วนรวม บุคลลที่พยายามออกจากแนวญะมาอะฮ์ของสังคมมุสลิม (โดดเดี่ยวตนเอง)”
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
ผู้นำของสังคมมุสลิมนั้นต้องมีความรับผิดชอบด้วยตำแหน่งที่สังคมมอบหมายให้ปฏิบัติให้ทำหน้าที่และความรับผิดชอบของเขานั้นเป็นสิ่งที่จะสร้างความมั่นคงในสังคม เป็นสิ่งที่จะทำให้บรรดาผู้ศรัทธานั้นมีประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิตของเขา เพราะฉะนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เน้นมากนะครับสำหรับผู้นำที่มีความรับผิดชอบ มีอะมานะฮ์ มีความสุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ โดยที่จะเป็นผู้รักษาความมั่นคงความถูกต้องในสังคม จนกระทั่งท่านนบีถือว่าผู้นำที่ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่เอื้ออำนวยให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคมนั้น เป็นบุคคลที่จะรับการลงโทษ การทรมานในวันกิยามะฮ์อย่างเจ็บปวดมากกว่าทุกคน ท่านนบีกล่าวว่า
أشد الناس يوم القيامة عذابا أمام جائر
ความว่า “มนุษย์ที่จะประสบการลงโทษที่เจ็บปวดที่สุดในวันกิยามะฮ์นั้นคือผู้นำที่ไม่ยุติธรรม (ผู้นำที่ไม่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน)”
และท่านนบีเกรงว่าในยุคหนึ่งยุคใดในประชาชาติของท่านนั้นจะมี إمارة السفهاء การที่จะมีผู้นำที่ขาดสติหรือไม่มีสติปัญญา หรือผู้นำที่มีสติปัญญาแต่ไม่ใช้ในการสร้างความมั่นคงในสังคม และคุณสมบัติของผู้นำที่จะทำให้ผู้นำนั้นอยู่ในลักษณะที่ถูกต้องหรือมีความถูกต้องมีหน้าที่ที่น่าสรรเสริญยกย่องนั้น คือผู้นำที่มีความรับผิดชอบ ดังที่ท่านนบีกล่าวว่า
كلكم راع وكلكم مسؤول عن رعيته
ความว่า “มุสลิมทุกคนนั้นเป็นผู้นำ และผู้นำทุกคนนั้นมีความรับผิดชอบต่อบุคคลหรือหมู่ชนที่อยู่ภายใต้อำนาจของเขา”
فالإمام راع وهو مسؤول عن رعيته
“อิมามนั้นคือผู้นำ และเขาจะต้องมีความรับผิดชอบต่อบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา”
จะเป็นผู้นำชุมชน ประธานสมาคมหรือมูลนิธิ หรือจะเป็นผู้มีอำนาจ ผู้ดูแลกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใดในสังคม ท่านนบีถือว่าเป็นผู้นำผู้ดูแล และเขาต้องมีความผิดชอบต่อบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา
والرجل راع في أهله وهو مسؤول عن رعيته
“ผู้เป็นบิดานั้นก็เป็นผู้นำผู้ดูแลในครอบครัวของเขา และเขาต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวของเขา”
والمرأة راعة في بيت زوجها وهي مسؤولة عن رعيتها
“และสตรีนั้นก็ถือว่าเป็นผู้นำผู้ดูแลในบ้านของสามีของนาง และนางก็มีความรับผิดชอบที่ต้องดูแลผู้ที่อยู่ใต้อำนาจหรือการปกครองการดูแลของนาง” เช่นลูกหลานของนาง
والخادم راع في مال سيده وهو مسؤول عن رعيته
“แม้กระทั่งคนรับจ้างที่อยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าของทรัพย์สิน เขาก็เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของหัวหน้าของเขา และเขามีความรับผิดชอบต้องดูแลทรัพย์สินของหัวหน้าของเขา”
คนที่ทำงานเป็นข้าราชการ เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยหนึ่งหน่วยใด หรือทำงานบริษัท เขาก็จะเป็นผู้นำในทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้อำนาจการดูแลของเขา
والرجل راع في مال أبيه وهو مسؤول عن رعيته
“แม้กระทั่งคนที่เป็นลูกหลาน เขาก็เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของบิดาของเขา และต้องมีความรับผิดชอบในทรัพย์สินของบิดาของเขา”
فكلكم راع وكلكم مسؤول عن رعيته
“ฉะนั้นพวกท่านทั้งหลายเป็นผู้นำ เป็นผู้ดูแล และพวกท่านทั้งหลายมีความรับผิดชอบต่อผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจการดูแลของพวกท่าน”
ในสายตาของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านนบีถือว่าทุกคนในสังคมเป็นผู้นำ เป็นผู้ดูแล เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ แต่ท่านนบีถือว่าคนที่มีความรับผิดชอบมากที่สุด คนที่ต้องมีมานะในการปฏิบัติหน้าที่ก็คืออิมาม คือผู้นำ ฉะนั้นท่านนบีจึงถือว่าอิมามที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ให้แก่สังคม นั่นคือบุคคลที่จะได้รับความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ ท่านนบีจึงขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ให้พระองค์ช่วยเหลือผู้นำที่ช่วยเหลือสังคม และให้พระองค์สร้างความยากลำบากกับอิมามที่สร้างความยากลำบากแก่ประชาชนหรือสังคม
اللهم من ولي من أمر أمتي شيئاً فشق عليهم فاشقق عليه، ومن ولي من أمر أمتي شيئاً فرفق بهم فارفق به
ความว่า “โอ้อัลลอฮ์ ผู้ใดก็ตามในประชาชาติของฉันได้ตำแหน่งเป็นผู้นำในส่วนหนึ่งส่วนใดในสังคมแล้วเขาสร้างความยากลำบากให้แก่ประชาชาติของฉัน ขอพระองค์ได้ให้เขาเหล่านั้นได้มีความยากลำบากในชีวิตของเขาด้วย และผู้ที่ได้รับตำแหน่งในประชาชาติของฉัน และได้อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชาติของฉัน ขอพระองค์เอื้ออำนวยให้เขามีความสะดวกในชีวิตของเขาด้วย”
นี่คือดุอาอ์ที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ขอให้กับอิมามหรือผู้นำที่ทำหน้าที่ในตำแหน่งของเขา ท่านนบียังถืออีกว่าบรรดาผู้นำหรือผู้ที่มีอะมานะฮ์หรือความรับผิดชอบก็คือบรรดาผู้ที่มีสิทธิ์จะได้รับความช่วยเหลือในวันกิยาะฮ์ หมายถึงจะได้รับชะฟาอะฮ์จากท่านนบี ในทางตรงกันข้ามบรรดาผู้นำในสังคมที่มีความอธรรม ข่มเห่ง ไม่ยุติธรรมต่อประชาชน มีการละเมิดขอบเขตของตำแหน่ง ท่านนบีก็ถือว่าคนเหล่านี้ไม่สมควรได้รับชะฟาอะฮ์จากท่านนบี หรือจะเป็นผู้นำที่ทรยศตำแหน่งหน้าที่ของเขา ละเมิดทรัพย์สินส่วนรวมของสังคม บุคคลเหล่านี้ก็ไม่สมควรได้รับชะฟาอะฮ์จากท่านนบีเช่นกัน
صنفان من أمتي لن تنالهما شفاعتي :إمام ظلوم غشوم وكل غال مارق
ความว่า “บุคคลสองประเภทที่จะไม่ได้รับชะฟาอะฮ์จากฉัน (การที่นบีจะช่วยเหลือ จะขอจากอัลลอฮ์ให้คนหนึ่งคนใดจากประชาติของท่านนบีได้ออกจากนรก ให้เข้าสวรรค์ ยกตำแหน่งในสวรรค์ให้สูงขึ้น) คือ 1.ผู้นำที่อยุติธรรม ไม่มีความยุติธรรม ผู้นำที่ละเมิดสิทธิผู้อื่น เป็นผู้แข็งกระด้าง ไม่ทำหน้าที่ ไม่มีความเมตตาต่อสังคม 2.บุคคลที่ทรยศทรัพย์สินของสังคม บุคคลที่ทุจริตละเมิดเงินส่วนรวม บุคลลที่พยายามออกจากแนวญะมาอะฮ์ของสังคมมุสลิม (โดดเดี่ยวตนเอง)”
ยิ่งกว่านั้นท่านนบีได้ถือว่าผู้นำหรืออิมามที่จะเก็บตัว ไม่เสนอตัวให้สังคม ไม่ช่วยเหลือสังคม เมื่อมีปัญหาก็ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ปกปิดตัวเองจากสถานการณ์ที่จำเป็นต้องอยู่และเสนอตัวแก้ไขปัญหา ท่านนบีถือว่าเขาจะต้องได้รับการลงโทษในวันกิยามะฮ์อย่างรุนแรงมากจากอัลลอฮ์ ท่านนบีกล่าวว่า
من وَلِيَ من أمورِ المسلمين شيئًا ، فاحتجب دون خلَّتِهم وحاجتِهم ، و فقرِهم ، و فاقتِهم ، احتجب اللهُ عنه يومَ القيامةِ ، دون خَلَّتِه ، و حاجتِه ، و فاقتِه و فقرِه
“ใครก็ตามในบรรดาผู้นำที่รับตำแหน่งดูแลประชาชาติของฉันในส่วนหนึ่งส่วนใดในสังคม แต่ไม่ได้ทำหน้า เก็บตัว ปลีกจากตำแหน่งของตนเอง ปกปิดตนเองจากความต้องการของสังคม การที่สังคมลำบากยากจนมีความต้องการแต่ผู้นำก็ไม่เสนอตัว เก็บตัวจากการแก้ไขปัญหา ในวันกิยามะฮ์อัลลอฮ์ก็จะไม่เปิดเผยหรือเสนอตัวให้แก่ผู้นำเหล่านั้น โดยที่พวกเขาจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอัลลอฮ์ แม้ว่าพวกเขาจะลำบาก มีความจำเป็น มีความต้องการในวันกิยามะฮ์ แต่อัลลอฮ์ก็จะไม่ให้ความช่วยเหลือพวกเขา”
อันตรายมากนะครับสำหรับผู้นำหรือผู้ที่มีอำนาจในสังคมแล้วไม่ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ ท่านนบีกล่าวว่า
ما من أمير يلي أمر المسلمين ثم لا يجهد لهم وينصح إلا لم يدخل معهم الجنة
ความว่า “ไม่มีผู้นำคนใดในประชาชาติอิสลามที่ได้รับตำแหน่งการดูแลสังคมแล้วไม่ปฏิบัติสุดความสามารถในตำแหน่งของเขา โดยการนะศีหะฮ์ ตักเตือน ปรับปรุง แก้ไข ทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เว้นแต่ในวันกิยามะฮ์พวกเขาจะไม่ได้เข้าสวรรค์ร่วมกับบรรดามุสลิมีน” หมายถึงว่าไม่มีสิทธิ์จะไปอยู่กับบรรดามุสลิมีนเพราะบรรดามุสลิมีนนั้นไม่ได้รับผลดีจากผู้นำเหล่านี้
ท่านนบีถือว่าอิมามหรือผู้นำนั้นต้องเปิดประตูของเขาให้แก่คนยากจน คนที่มีความต้องการ ต้องเปิดประตูเสมอไม่อนุญาตให้ปิดประตู อิมามที่ปิดประตูไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมาหาตนเอง มาพูดคุย เรียกร้อง มาเสนอปัญหาต่อเขา อัลลอฮ์ก็จะปิดประตูชั้นฟ้า (ประตูแห่งความเมตตาของพระองค์) ต่ออิมามคนนี้
وما من إمام يغلق بابه دون ذوي الحاجة والخلة والمسكنة إلا أغلق الله أبواب السماء دون خلته وحاجته ومسكنته
“ไม่มีอิมามหรือผู้นำคนใดที่ปิดประตูของเขาต่อความต้องการของประชาชน เว้นแต่อัลลอฮ์จะต้องปิดประตู้ชั้นฟ้าทั้งหลายต่อความต้องการของผู้นำคนนั้น”
นี่คือข้อเตือนอันรุนแรงสำหรับผู้นำของเรา สำหรับทุกคนที่มีอีหม่าน และมีตำแหน่งหน้าที่ในการดูแลส่วนหนึ่งส่วนใดในสังคม
อัสสลามุอะลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 61, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 93 views