ชูรอ (การปรึกษาหารือ) ตอนที่ 1

Submitted by dp6admin on Sat, 24/09/2022 - 17:43
เนื้อหา

สู่อีมานที่มั่นคง ตอนที่ 61

พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์ 

ในหลักการศาสนาอิสลามไม่มีการแยกระหว่างเรื่องดุนยา เรื่องสากลกับเรื่องศาสนา เรื่องปฏิบัติศาสนกิจ เรื่องการศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า อันเนื่องจากอีหม่านความศรัทธาที่มีอยู่ในศาสนาอิสลามนั้นย่อมจะควบคุมหรือปกครองทุกประการในชีวิตของเรา การที่อิสลามจะควบคุมหรือปกครองชีวิตของเรานั้นเป็นสิ่งที่เราต้องเชื่อมั่นและต้องตระหนักในบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม เพราะฉะนั้นในลักษณะบรรดาผู้ศรัทธาที่มีการมอบหมายต่ออัลลอฮ์ มีความเชื่อมั่นในปรโลกนั้น ก็จะมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับจริยธรรม เกี่ยวกับการปฏิบัติศาสนกิจและเกี่ยวกับเรื่องโลกเช่นเดียวกัน อัลลอฮ์ได้ตรัสไว้ว่า

فَمَآ أُوتِيتُم مِّن شَىْءٍ فَمَتَـٰعُ ٱلْحَيَوٰةِ ٱلدُّنْيَا ۖ وَمَا عِندَ ٱللَّـهِ خَيْرٌ وَأَبْقَىٰ لِلَّذِينَ ءَامَنُوا۟ وَعَلَىٰ رَبِّهِمْ يَتَوَكَّلُونَ
ความว่า “และสิ่งใดที่พวกเจ้าได้รับนั้นเป็นเพียงการสนุกสนานเพลิดเพลินแห่งชีวิตของโลกนี้เท่านั้น แต่สิ่งที่มีอยู่ ณ ที่อัลลอฮ์นั้น ดีกว่าและจีรังกว่า (หมายถึงสวนสวรรค์) สำหรับบรรดาผู้ศรัทธาและพวกเขามอบหมายไว้วางใจแด่พระเจ้าของพวกเขา” (อัชชูรอ อายะอ์ที่ 36)

وَٱلَّذِينَ يَجْتَنِبُونَ كَبَـٰٓئِرَ ٱلْإِثْمِ وَٱلْفَوَٰحِشَ وَإِذَا مَا غَضِبُوا۟ هُمْ يَغْفِرُونَ
ความว่า “และบรรดาผู้ที่หลีกเลี่ยงการทำบาปใหญ่และการทำลามก และเมื่อพวกเขาโกรธพวกเขาก็อภัยให้” (อัชชูรอ อายะอ์ที่ 37)

وَٱلَّذِينَ ٱسْتَجَابُوا۟ لِرَبِّهِمْ وَأَقَامُوا۟ ٱلصَّلَوٰةَ وَأَمْرُهُمْ شُورَىٰ بَيْنَهُمْ وَمِمَّا رَزَقْنَـٰهُمْ يُنفِقُونَ
ความว่า “และบรรดาผู้ตอบรับต่อพระเจ้าของพวกเขาและดำรงละหมาด และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขาและเขาบริจาคสิ่งที่เราได้ให้เครื่องปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา” (อัชชูรอ อายะฮ์ที่ 38)

وَٱلَّذِينَ إِذَآ أَصَابَهُمُ ٱلْبَغْىُ هُمْ يَنتَصِرُونَ
ความว่า “และบรรดาผู้ที่เมื่อมีความยุติธรรมเกิดขึ้นแก่พวกเขา พวกเขาก็แก้แค้นตอบแทน” (อัชชูรอ อายะฮ์ที่ 39)

นั่นคือคุณลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธาที่มีอยู่ในซูเราะฮ์อัชชูรอ สิ่งที่ผมอยากจะตีความและขยายความตรงนี้นะครับ ก็คือดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า “และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา” การปรึกษาหารือที่ศาสนาอิสลามเรียกว่า “อัชชูรอ” ซึ่งเป็นระบอบในการปกครองในการสร้างความมั่นคงในสังคม สร้างความหนักแน่นในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องเกิดขึ้นในสังคมมุสลิม ดังที่อัลลอฮ์ถือว่าเป็นคุณลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธาโดยตรง หมายถึงว่า เรื่องปรึกษาหารือในกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมของบรรดาผู้ศรัทธานั้นเกี่ยวข้องกับความศรัทธาโดยตรง บรรดาผู้ศรัทธาที่ไม่มีการปรึกษาหารือ ที่ไม่มีชูรอ ก็ถือว่าขาดคุณลักษณะชนิดหนึ่งหรืออย่างหนึ่งจากบรรดาคุณลักษณะของบรรดามุอ์มินที่มีอีหม่าน

การที่เราให้มีการปรึกษาหารือ สร้างระบบการปกครองหรือการดูแลสังคมด้วยการปรึกษาหารือขณะนี้ก็ถือว่าเป็นระบบการปกครองที่เจริญมากทันสมัยมากทีเดียว แต่เราต้องแยกระหว่างการปกครองในระบบประชาธิปไตยกับระบบชูรอของศาสนาอิสลาม ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะที่คล้าย ๆ กัน เพราะระบบประชาธิปไตยย่อมจะให้สิทธิแก่ประชาชนในการเลือกผู้นำ ในการให้ประชาชนนั้นมีเสียงในการประกาศจุดยืน ประกาศความเห็น ระบบชูรอก็เช่นเดียวกัน แต่ลักษณะที่ต่างกันเราต้องศึกษาเพื่อที่จะได้แยกแยะและรู้ว่าสิ่งใดที่เป็นชูรอเพื่อนำสู่การปฏิบัติและเป็นคุณสมบัติของบรรดาผู้ศรัทธาที่มีอีหม่านที่มั่นคง
สิ่งสำคัญสำหรับระบบชูรอของศาสนาอิสลามนั้นคือการปรึกษาหารือโดยคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติมีคุณลักษณะที่ศาสนาอิสลามกำหนดไว้ว่าจะมีสิทธิ์ในการดูแลปกครองสังคม นั่นคือผู้ที่มีศักยภาพสูงมากตามมาตรฐานของศาสนาอิสลาม และนี่คือข้อแตกต่างระหว่างระบบชูรอและประชาธิปไตย

ใครที่จะปฏิบัติระบบชูรอในกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคม ไม่จำเป็นจะต้องเป็นการเลือกผู้นำหรือเลือกผู้แทนราษฎรนะครับ การเลือกหรือการปรึกษาหารือที่เรียกว่าระบบชูรอในศาสนาอิสลามนั้น ในทุกสิ่งในชีวิตของเราต้องมีการปรึกษาหารือแม้กระทั่งการปกครองครอบครัว พ่อแม่จะปกครองครอบครัวจะมีการดูแลในครอบครัวก็ต้องมีการปรึกษาหารือกับลูกหลาน กับเครือญาติ การปรึกษาหารือตรงนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้ปฏิบัติ เป็นคุณลักษณะของผู้ศรัทธาที่มีอีหม่าน ตั้งแต่ครอบครัวจนถึงการปกครองบ้านเมือง ศาสนาก็ส่งเสริมให้มีการปรึกษาหารือให้มีชูรอ คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นผู้นำ ผู้ที่จะชี้ขาดเมื่อมีความขัดแย้งในสังคม ผู้ที่จะฟันธงว่าเรื่องใดที่ควรหรือไม่ควรปฏิบัติ คนเหล่านั้นต้องมีคุณสมบัติที่เราเรียกว่า ผู้นำ ผู้ดูแลหรือผู้ที่มีอำนาจในการดูแลปกครองแผ่นดิน บุคคลเหล่านี้ตามทัศนะอิสลามต้องมีคุณสมบัติสูงมาก 

เรื่องแรกที่ต้องมีคือ เรื่องศาสนา ต้องมีอีหม่าน มีคุณธรรมจริยธรรม เคร่งครัดในการปฏิบัติศาสนกิจ มีอมานะฮ์ มีความซื่อสัตย์ ต้องปกครองแผ่นดินด้วยความสุจริต ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีประวัติการทรยศ การทุจริตในทรัพย์สินของสังคมหรือในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหลักการศาสนา นี่คือบุคคลที่ไว้ใจได้ในการจะนำสังคมไปสู่ความเจริญความถูกต้อง

คุณสมบัติที่สองคือ บุคคลเหล่านั้นต้องมีศักยภาพ มีความรู้ในด้านการปกครอง มีความฉลาด ต้องมีสมองที่ดีมีสติปัญญา เป็นนักคิดนักวิเคราะห์ ไม่ใช่บุคคลที่รีบตัดสินรีบฟันธง รีบนำข้อมูลที่อาจจะไม่แน่นอนมาใช้กับชาวบ้าน หรือเรียกว่าเป็นคนที่ไม่หนักแน่น ชาวบ้านก็หูเบา บุคคลเหล่านี้ที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากคนอื่นเพื่อเป็นสาระในการปกครองแผ่นดิน พวกเขาก็ไม่ควรจะเป็นผู้นำ ศาสนาอิสลามต้องการให้ผู้นำนั้นเป็นบุคคลที่มีความมั่นคงในการปกครอง จึงต้องมีความฉลาด

คุณสมบัติข้อที่สามคือ ต้องมีมนุษย์สัมพันธ์ มีความสงสาร มีความเมตตาต่อสังคม ไม่ใช่บุคคลที่แข็งกระด้าง ไม่สนใจว่าใครจะเป็นอย่างไร จะมีคนตาย คนป่วย คนมีปัญหา คนถูกกล่าวหา เขาก็ไม่สนใจ บุคคลที่ไม่มีความสงสารต่อสังคม ไม่มีความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับสมาชิกของสังคมนั้น เขาก็ไม่ควรจะเป็นผู้นำในสังคม เพราะความรับผิดชอบ ความสงสาร ความเมตตา เป็นคุณสมบัติสำคัญที่สำหรับผู้นำ

นั่นคือคุณสมบัติที่สำคัญมากสำหรับผู้นำในระบบชูรอ นอกจากนั้นก็ยังมีคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเคาะลีฟะฮ์ หรือผู้นำสูงสุดในประชาชาติอิสลาม แต่เรื่องนี้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราต้องการพูดในสังคมของเรา สิ่งที่เราต้องการขยายความหรือให้ความสำคัญก็คือ การที่จะเลือกผู้นำของเราที่มีอำนาจในการปกครองสังคมมุสลิม ซึ่งตรงนี้เราต้องผูกพันกับเรื่องอีหม่านโดยตรง มันจะสร้างอีหม่านที่มั่นคงอันเนื่องมาจากการที่เราจะปฏิบัติคุณลักษณะของผู้ศรัทธาดังที่มีระบุในอัลกุรอาน และจะสร้างความมั่นคงในสังคมก็อันเนื่องมาจากการที่เราปฏิบัติตามคำบัญชาของอัลลอฮ์ เป็นการรับประกันว่าอัลลอฮ์จะจัดการเรื่องในสังคมเมื่อเราปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ ตราบใดก็ตามที่เราไม่ให้ความสำคัญต่อคำบัญชาของอัลลอฮ์ หรือไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดในการปกครองแผ่นดิน ในการปกครองสังคมดังที่มีอยู่ในหลักการอิสลามนั้นก็จะถือเป็นการฝ่าฝืนหลักการศาสนา 

การปรึกษาหารือที่เราเรียกว่าชูรอนั้นมีผลดีมากสำหรับบรรดาผู้ศรัทธาในวินัยของเขา ในจริยธรรมมารยาทของเขา และจะมีผลดีมากทีเดียวด้วยสำหรับสังคม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราจะต้องศึกษากันอย่างต่อเนื่อง และเราคงจะนำข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่ในหลักการศาสนาอิสลามที่เกี่ยวกับการชูรอเพื่อเป็นเผยแผ่หลักการศาสนาอิสลาม สร้างความมั่นคง ความรู้ที่เกี่ยวกับอีหม่านเพราะเรื่องนี้เป็นคุณลักษระของบรรดาผู้ศรัทธา และสร้างความมั่นคงในสังคมเพื่อเป็นการนำข้อมูลของหลักการศาสนาอิสลามในการปกครองให้พี่น้องมุสลิมนำไปปฏิบัติเพื่อเป็นการปฏิบัติตามคำดำรัสของอัลลอฮ์ หวังว่าจะเป็นการดำเนินการชีวิตของเราตามคำบัญชาของอัลลอฮ์และหวังว่าผู้ศรัทธาที่มีความตระหนักในหลักการของอัลลอฮ์นั้นจะมีความเคร่งครัดในการนำอิสลามของเรามาเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตเพื่อเป็นความสำเร็จทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

อัสสลามุอะลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์


 


เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 61, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ

ชูรอ (การปรึกษาหารือ) ตอนที่ 1