ผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์นั้น คือผู้ที่ทำประโยชน์มากที่สุด

Submitted by dp6admin on Sat, 04/04/2009 - 12:59

นี่คือสำนวนหะดีษท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่เชคอัลบานียฺได้ให้ทัศนะว่าเป็นหะดีษหะซันในหนังสือ السلسلة الصحيحة หะดีษที่ 425 และอีกรายงานหนึ่งมีสำนวนว่า “ผู้ที่อัลลอฮฺทรงรักที่สุดในหมู่มนุษย์คือผู้ที่ทำประโยชน์มากที่สุด” ซึ่งไม่มีความขัดแย้งระหว่างสองรายงานนี้แต่อย่างใด เพราะผู้ที่ทำประโยชน์มากที่สุดนั้นก็ย่อมสมควรที่จะเป็นบุคคลที่อัลลอฮฺทรงรักมากที่สุดเช่นกัน เนื่องจากผู้ที่ทำประโยชน์มากที่สุดในหมู่มนุษย์นั้นย่อมเป็นผู้ที่ได้รับผลบุญและการตอบแทนมากที่สุดนั่นเอง และผู้ใดที่มีความดีมากเขาก็เป็นหนึ่งในบรรดาคนศอลิหฺซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮฺทรงรักนั่นเอง

แต่กระนั้นก็ตามเราจำเป็นต้องมาทบทวนและถามตัวเราว่า ใครคือมนุษย์ที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง? และเมื่อใดที่เขาจะเป็นคนที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง?

ในสังคมเรานั้นเราอาจประสบปัญหาหลายอย่างที่ต้องการการแก้ไข และเราอาจได้เห็นคนดีๆมากมายที่เสียสละเวลาและทรัพย์สินของเขาในการกระทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อสังคม แต่คนที่เสียสละเหล่านั้นมิได้เสาะหาหนทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ปัญหาต่างๆที่เราเห็นในสังคมนั้นหลากหลาย ส่วนหนึ่งนั้นก็เกี่ยวข้องกับศาสนา บางส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ซึ่งกลุ่มคนที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมเหล่านั้นสามารถแบ่งออกได้สองประเภท ดังนี้

หนึ่ง กลุ่มที่ทำประโยชน์ต่อมนุษย์ในทุกๆด้านโดยที่มิได้พิจารณาว่าสิ่งนี้เป็นที่อนุมัติหรือไม่ในศาสนา ซึ่งพวกเขาจะทำงานทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจโดยคิดว่าสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมุสลิม เราอาจเห็นพวกเขาเสียสละหลายๆอย่างเพื่อสังคม แต่ที่น่าแปลกใจคือสิ่งมีประโยชน์ที่พวกเขากระทำนั้น เป็นสิ่งที่พวกเขาคิดไปเองว่ามันมีประโยชน์แต่มิใช่ในทัศนะของหลักการศาสนา

ยกตัวอย่างเช่น บางโรงเรียนเราได้เห็นคนบริจาคเครื่องดนตรีราคาแพงโดยพวกเขาคิดว่าสิ่งนี้มีประโยชน์ต่อโรงเรียนและนักเรียน แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่บริจาคนี้กลับกลายเป็นคนที่มีส่วนในการสร้างความเสียหายต่อเยาวชนโดยการทำให้พวกเขาหันไปสนใจในดนตรีอันเป็นสิ่งที่อิสลามได้ห้ามไว้เพราะมันจะทำลายธรรมชาติของมนุษย์และหันเหชีวิตจิตใจของมนุษย์จากแนวทางที่อัลลอฮฺทรงสร้างมา(นั่นคือการสรรเสริญพระผู้สร้าง สักการะพระผู้อภิบาลผู้ทรงเอกะ)ให้มุ่งไปสู่การลุ่มหลงในดนตรีที่จะกักจิตใจของมนุษย์ให้เป็นเชลยและควบคุมชีวิตของพวกเขา หากผู้ที่ได้บริจาคเครื่องดนตรีนั้นได้ถามผู้รู้เสียก่อน เขาก็จะรู้ว่าคุณประโยชน์ที่เขาคิดนั้นเป็นเพียงสิ่งที่มนุษย์คิดไปเอง(แต่ไม่เรียกว่าคุณประโยชน์ที่แท้จริง ณ อัลลอฮฺ)โดยที่เขาจะไม่ได้รับผลบุญในการบริจาคของเขา แต่กลับจะต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง

ฉะนั้นแล้วประโยชน์นั้นมิใช่สิ่งที่เรามองและคิดว่ามันคือประโยชน์ แต่ประโยชน์ที่แท้จริงคือสิ่งที่ศาสนาระบุว่าเป็นประโยชน์ อัลกุรอานได้ยืนยันถึงประโยชน์บางด้านของบางสิ่งที่เป็นโทษ เช่น สุราและการพนัน อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

فِيهِمَا إِثْمٌ كَبِيرٌ وَمَنَافِعُ لِلنَّاسِ وَإِثْمُهُمَا أَكْبَرُ مِنْ نَفْعِهِمَا

ความว่า “ในทั้งสองนั้นมีโทษมาก และมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้น มากกว่าคุณของมัน” [2.219]

เพราะสุรานั้นผู้ขายก็อาจได้กำไร ผู้ซื้อก็ได้ดื่มได้ความสำราญในการดื่ม แต่แน่นอนผลเสียหรือโทษของสุรานั้นย่อมมีมากกว่าประโยชน์ จึงทำให้ศาสนาตัดสินให้มันเป็นสิ่งที่ก่อความเสียหายและเป็นสิ่งต้องห้าม

 และในสังคมของเรานั้นมีคนที่อบรมสั่งสอนลูกในสิ่งที่พวกเขาคิดว่ามีประโยชน์ต่อลูก เช่นสั่งสอนในเรื่องเสรีภาพอย่างไร้ขอบเขตในการตัดสิน ใจถึงแม้ว่ามันจะมีโทษ และมีพ่อแม่บางคนก็อาจจะปล่อยให้ลูกชายหรือลูกสาวได้เลือกความเบี่ยงเบนทางเพศจนทำให้พวกเขามีอิสระที่จะเป็นคนเพศที่สาม ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานตามต้องการบนผืนแผ่นดินของอัลลอฮฺ ซึ่งพวกเขาจะก่อความเสียหายบนแผ่นดิน และอัลลอฮฺจะไม่ทรงโปรดปรานผู้ที่ก่อความเสียหาย

แท้จริงแล้วเสรีภาพนั้นเป็นสิ่งที่อิสลามได้กำหนดมาแล้วแต่มิได้ระบุว่ามันคือสิ่งที่มีประโยชน์ในทุกๆกรณี ฉะนั้นเมื่อใดที่เสรีภาพเป็นสาเหตุของความเสียหายแล้วสังคมจำเป็นต้องห้ามปราม ดังที่ท่านนบีได้สาปแช่งเพศที่สามและรุนแรงกับพวกเขา เพราะการปล่อยปละละเลยนั้นจะทำให้สังคมวิปริต(ไม่ปกติ) และจะก่อให้เกิดฟิตนะฮฺ(ความสับสนวุ่นวาย)ทำให้สังคมนั้นเสียหายในที่สุด ดังที่เราเห็นในปัจจุบันซึ่งสังคมในหลายๆประเทศต้องประสบกับความแหลกเหลวทางจิตใจ การระบาดของโรคที่ร้ายแรงอันเกิดจากความวิปริตทางเพศ แต่กระนั้นมนุษย์ก็ยังคงยืนยันที่จะอยู่ในความหลงทาง ความอธรรม การละเมิดและทำร้ายตัวเอง ทั้งๆที่อิสลามได้เรียกร้องอยู่เสมอว่า

وَلَا تُفْسِدُوا فِي الْأَرْضِ بَعْدَ إِصْلَاحِهَا ... (56)

ความว่า “และพวกเจ้าอย่าก่อความเสียหายไว้ในแผ่นดิน หลังจากได้มีการปรับปรุงแก้ไขมันแล้ว” [7.56]

 เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษย์ต้องเสาะแสวงหาสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม โดยการศึกษาเรียนรู้หลักการของศาสนาหรือถามผู้รู้นักวิชาการเพื่อที่จะไม่ตกอยู่ในการกระทำความชั่วหรือสิ่งต้องห้ามที่มีโทษ และเพื่อทราบถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

สอง กลุ่มที่ทำประโยชน์ให้กับมนุษย์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงตามทัศนะของศาสนาแต่พวกเขาขาดการค้นหา คัดสรร และเปรียบเทียบระหว่างสิ่งต่างๆ พวกเขามองสิ่งต่างๆอย่างผิวเผิน โดยคิดว่าทุกๆประโยชน์ในทัศนะของศาสนานั้นเป็นสิ่งที่น่าปฏิบัติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพวกเขาได้กระทำสิ่งที่ภายนอกดูเหมือนเป็นประโยชน์แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นโทษ เช่นคนที่ตักเตือนพี่น้องของเขาให้ละทิ้งการทำความชั่วบางอย่างแต่เขาขาดวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมในการตักเตือน เขาอาจจะแข็งกร้าวกับผู้ที่ถูกตักเตือน หรือตำหนิผู้ถูกตักเตือนต่อหน้าคนหมู่มาก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้กลับกลายเป็นตรงข้ามกับจุดประสงค์ กล่าวคือแทนที่ผู้ถูกตักเตือนจะเชื่อถือปฏิบัติตามการตักเตือนนั้นเขากลับดึงดันในการกระทำความผิด อันเนื่องมาจากความแข็งกร้าวและการประจานที่เขาได้รับจากผู้ที่ทำการตักเตือนนั่นเอง ทั้งๆที่การตักเตือนดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นประโยชน์ในตัวมันเองแต่ผู้ที่ตักเตือนนั้นไม่ได้ค้นหาวิธีการที่ดีที่สุดในการตักเตือน

 หากการทำประโยชน์บางอย่างให้มนุษย์แต่ศาสนากลับมองว่าเป็นความเสียหาย แล้วผู้ที่ขัดขวางมนุษย์จากการได้รับประโยชน์และผู้ที่ก่อความเสียหายบนผืนแผ่นดินเล่า?(ศาสนาย่อมมองเป็นเรื่องที่ร้ายแรงกว่าและต้องได้รับโทษอันสาหัส)!!??

 แท้จริงแล้วในสังคมเรานั้นมีคนกลุ่มหนึ่งที่ดูเหมือนว่าพวกเขามิได้ก่อความเสียหายใดๆในสายตาของมนุษย์ ซึ่งพวกทำงานอย่างแข็งขันเพื่อขัดขวางมิให้มนุษย์ได้รับประโยชน์ เช่นพยายามห้ามดาอียฺหรือผู้รู้มิให้ทำการเผยแผ่เรื่องราวของศาสนาและการเชิญชวนสู่อัลลอฮฺตะอาลาเพียงเพราะพวกเขาเกลียดชังผู้รู้นั้น หรือพวกเขาพยายามขัดขวางมิให้พิมพ์หนังสือที่มีประโยชน์หรือห้ามมิให้แจกจ่ายเทปหรือซีดีศาสนา หรือรูปแบบอื่นๆที่มองดูครั้งแรกอาจนึกว่าพวกเขามิได้ก่อความเสียหายให้มนุษย์คนใด แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขาได้กระทำในสิ่งที่เป็นความเสียหายอย่างใหญ่หลวงนัก เพราะไม่มีสิ่งใดที่มีประโยชน์มากกว่าวะฮียฺ(ความรู้ศาสนาที่มาจากอัลลอฮฺ)อันบริสุทธิ์ ซึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสว่ามันคือ “แสงสว่าง” และ “วิญญาณ” เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความสว่างจากความมืดมนหลงทางและทำให้พวกเขาได้มีชีวิตจิตวิญญาณจากการกุฟรฺ(ปฏิเสธศรัทธา)และการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ฉะนั้นผู้ที่ขัดขวางมนุษย์มิให้ได้รับแสงสว่างและวิญญานนี้ แน่นอนเขาคือผู้ที่ก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงนั่นเอง

 และสิ่งที่บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาได้กระทำต่อบรรดานบีและรอซูลนั้นคือการต่อต้านและขัดขวางมิให้เผยแผ่สาสน์แห่งอัลลอฮฺ ดังนั้นอัลลอฮฺจึงทรงกำหนดให้เรื่องนี้เป็นการอธรรมที่ร้ายแรงที่สุด พระองค์ตรัสว่า

وَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنْ مَنَعَ مَسَاجِدَ اللَّهِ أَنْ يُذْكَرَ فِيهَا اسْمُهُ وَسَعَى فِي خَرَابِهَا(114)

ความว่า “และผู้ใดเล่าที่อธรรมยิ่งไปกว่าผู้ที่ห้ามการเข้าไปในมัสญิดทั้งหลายของอัลลอฮฺเพื่อกล่าวรำลึกถึงพระนามของพระองค์ภายในนั้นและพยายามที่จะทำลายมัน” [2.114]

 ฉะนั้นแล้วการปฏิเสธและหันหลังให้กับโองการต่างๆของอัลลอฮฺ(อัลกุรอาน)คือการอธรรมอย่างใหญ่หลวงเช่นกัน ทั้งๆที่ผู้กระทำอาจจะไม่ได้ทำให้ใครเสียหาย(ในความคิดของเขา)แต่แท้จริงแล้วเขากำลังทำลายสังคมด้วยการสั่งสมพลพรรคเพื่อต่อสู้กับพรรคของอัลลอฮฺต่อต้านหลักการศาสนาของพระองค์ คนเหล่านี้มีมากเหลือเกินในสังคมปัจจุบัน อัลลอฮฺตรัสว่า

وَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنْ ذُكِّرَ بِآَيَاتِ رَبِّهِ فَأَعْرَضَ عَنْهَا(57) 

ความว่า “และผู้ใดจะอธรรมยิ่งไปกว่าผู้ที่ถูกตักเตือนให้รำลึก ด้วยโองการทั้งหลายของพระผู้เป็นเจ้าของเขา แล้วเขาก็หันหลังห่างออกไป” [18.57]

แท้จริงแล้วการอธรรมของคนเหล่านี้มีมากกว่าการอธรรมของบรรดาเผด็จการที่ก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์ เพราะความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินนั้นทดแทนได้ แต่ความเสียหายทางศาสนานั้นความพินาศจะเกิดขึ้นอย่างถาวรตลอดไปไม่อาจทดแทนได้

 ในสังคมของเรานั้น อาจได้เห็นตัวอย่างของคนที่คอยขัดขวางการทำความดีและทำประโยชน์ให้กับมนุษย์ ซึ่งเมื่อพวกเขาได้เห็นคนกลุ่มหนึ่งขยันขันแข็งในการเผยแผ่เรียกร้องเยาวชนไปสู่ศาสนา พวกเขาจะล้อเลียนกล่าวหาใส่ร้ายว่าคนกลุ่มนั้นทำสิ่งบิดอะฮฺ(อุตริกรรม) และเมื่อพวกเขาได้ยินบางคนตำหนิและตักเตือนผู้ที่ล้อเลียนศาสนา พวกเขาก็จะต่อว่าคนนั้น พวกเขามิได้เป็นทั้งผู้ช่วยเหลืออิสลามและมิได้เป็นผู้ต่อสู้กับการปฏิเสธศรัทธา พวกเขาไม่กระตือรือร้นยกเว้นในเรื่องการกล่าวหาและทำลายภาพพจน์ของผู้อื่น ส่วนเรื่องราวกิจการที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงนั้นพวกเขาห่างไกลอย่างสิ้นเชิง พวกเขาเพียรพยายามในการรวบรวมสมัครพรรคพวกเพื่อสร้างความปั่นป่วนและทำให้สังคมแตกแยกในเรื่องที่ตกลงกันได้ แต่พวกเขากลับเกียจคร้านในการร่วมมือเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ธงศาสนาสูงส่งและกิจการของมุสลิมเจริญก้าวหน้า

 สัญลักษณ์ของพวกเขาคือการขาดความรู้ และการระบาดของโรคญาฮิล(การไม่มีความรู้)ในหมู่พวกเขา, การถูกปกคลุมด้วยความชั่วและมะอฺศิยัต(การฝ่าฝืนหลักการศาสนา)ที่ชัดแจ้ง, การลุ่มหลงจมปลักและพอใจอยู่กับโลกดุนยา, และอีกสัญลักษณ์ที่ชัดเจนคือการที่พวกเขาขัดแย้งกันเองในเรื่องเล็กน้อยที่ไม่มีความสำคัญ แตกแยกกันในเรื่องที่ไร้สาระ สับสนในตนเอง นอกจากนี้พวกเขายังเข้มงวดในเรื่องเล็กๆแต่กลับปล่อยปละละเลยในเรื่องใหญ่ๆที่มีความสำคัญ

 หากเราได้ไตร่ตรองพิจารณาสิ่งที่เราได้อธิบายข้างต้นและได้เข้าใจในบทความนี้แล้ว เราสามารถกล่าวได้ว่าความหมายที่ตรงข้ามกับหะดีษบทที่ว่า “ผู้ที่ประเสริฐที่สุดในหมู่มนุษย์นั้นคือผู้ที่ทำประโยชน์มากที่สุด”  คือ ผู้ที่ชั่วที่สุดในหมู่มนุษย์คือผู้ที่ทำประโยชน์น้อยที่สุด และความหมายที่ตรงข้ามกับหะดีษที่ว่า “ผู้ที่อัลลอฮฺทรงรักที่สุดในหมู่มนุษย์คือผู้ที่ทำประโยชน์มากที่สุด”  คือ ผู้ที่อัลลอฮฺรังเกียจที่สุดในหมู่มนุษย์คือผู้ที่ทำประโยชน์น้อยที่สุด

 

 

โอ้พี่น้องมุสลิมและมุสลิมะฮฺ ขอท่านพึงระมัดระวังมิให้กลายเป็นผู้ที่ชั่วที่สุดหรือผู้ที่น่ารังเกียจที่สุด ณ อัลลอฮฺตะอาลา

 

 

 


วันที่ลงบทความ : 2 ม.ค. 49
ที่มา :  วารสารร่มเงาอิสลาม, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี