ชูรอ (การปรึกษาหารือ) ตอนที่ 2

Submitted by dp6admin on Wed, 12/10/2022 - 22:10
เนื้อหา

สู่อีหม่านที่มั่นคง
ตอนที่ 62 ชูรอ ตอนที่ 2

 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์ 

เรากำลังพูดถึงคุณลักษณะหนึ่งของบรรดาผู้ศรัทธาที่ระบุในสูเราะฮ์อัชชูรอ ซึ่งอัลลอฮ์ตรัสว่า

... وَأَمْرُهُمْ شُورَىٰ بَيْنَهُمْ ...
ความว่า “...และกิจการของพวกเขามีการปรึกษาหารือระหว่างพวกเขา...” (อัชชูรอ อายะฮ์ที่ 38)

คือจะปรึกษาหารือพูดคุยและนำสิ่งที่เป็นประโยชน์มาปฏิบัติ นั่นคือ ระบบชูรอ ในศาสนาอิสลาม และต้องการขยายความหมายและอธิบายหลักการของชูรอในศาสนาอิสลามเพื่อชี้แจงให้พี่น้องทราบถึง ระบบมุชาวะเราะฮ์หรือชูรอในอิสลามนั้นมีหลักการอะไรบ้าง ประเด็นสำคัญที่เราต้องระบุเบื้องต้นนะครับ เมื่อสังคมมุสลิมของเราโดยเฉพาะผู้มีอีหม่านที่มีบทบาทหน้าที่ต้องปฏิบัติในสังคมมุสลิม ต้องมีความตระหนักในความสามารถของหลักการศาสนาอิสลามที่จะเข้ามาแก้ไขทุกๆ ปัญหาในสังคม หมายถึงผู้นำหรือผู้รู้หรือผู้ที่มีบทบาทในการที่จะทำงานในสังคมซึ่งมีความเข้าใจว่าสิ่งที่จะแก้ไขปัญหาในสังคมนั้นคือหลักการศาสนาอิสลาม ดังเช่นที่เราจัดรายการวิทยุประกาศสัจธรรมให้ความรู้ นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาในการที่เราเน้นในด้านหลักการศาสนาอิสลาม นำความรู้ด้านศาสนามาเป็นบรรทัดฐานให้พี่น้องรับทราบ นั่นคือความตระหนักที่เรามีอยู่ต่อหลักการศาสนาอิสลามที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า เพราะถ้าหากว่าหลักการอิสลามไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาของสังคมมุสลิมแล้วจะมีสิ่งใดหรือที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาของเรา? ถ้าหากอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี ไม่สามารถที่จะแก้ไขปรับปรุงปัญหาต่างๆ ของสังคมของเรานั้น เรื่องอื่นหรือวิถีทางอื่นก็จะไม่สามารถเข้ามาทำหน้าที่ได้เช่นกัน ผู้ศรัทธาจะต้องมีความตระหนัก มีความมั่นคง มั่นใจต่อกฎหมายหรือหลักการศาสนาอิสลาม 

พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ เราต้องเข้าใจว่าระบบชูรอหรือการปรึกษาหารือกันนั้นเป็นหลักการศาสนาอิสลาม เราต้องมีความตระหนักว่าใช้ระบบชูรอในการเลือกผู้นำ ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เราต้องเชื่อนะครับว่าระบบนี้คือระบบที่ดีที่สุดของเรา แต่มิใช่เป็นระบบที่เราจะเลือกปฏิบัติเป็นบางครั้งบางคราว เช่นบางครั้งจะเอาชูรอ บางครั้งเอาประชาธิปไตย บางครั้งเอาชูรอ บางครั้งก็ละเว้น ระบบชูรอเป็นระบบที่เราต้องใช้ในสถานการณ์ในชีวิตของเราเช่นที่ผมเคยระบุว่าแม้กระทั่งในครอบครัวของเรา พ่อแม่ก็ต้องปรึกษาหารือกับลูก ลูกก็ต้องปรึกษาหารือกับพ่อแม่ เมื่อมีการปรึกษาหารือชูรอเช่นนี้นะครับ ปัญหาต่างๆ ก็ย่อมจะมีโอกาสแก้ไขได้นะครับด้วยความร่วมมือจากคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจนะครับว่าระบบชูรอที่เราต้องการปฏิบัตินั้นมันไม่ใช่รูปแบบบของการปกครองหรือรูปแบบในการแก้ไขปัญหาอย่างเดียว แต่ชูรอคือวิถีชีวิตที่เราต้องปฏิบัติและเป็นวิถีทางที่ศาสนาอิสลามเสนอไว้ และเป็นคุณลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธาดังที่ระบุในสูเราะฮ์อัชชูรอ

ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ยกตัวอย่างเป็นแบบฉบับสำหรับการปฏิบัติระบบชูรอดังที่มีระบุในเหตุการณ์ของสงครามอุฮุดซึ่งท่านนบีได้ปรึกษาหารือกับเศาะหาบะฮ์ในการที่จะออกไปสู้รบกับชาวกุร็อยช์ บรรดามุชริกีนหรือผู้ที่เป็นศัตรูกับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้นำกองทัพออกจากเมืองมักกะฮ์เพื่อไปปะทะกับท่านนบี ท่านนบีจึงได้ปรึกษาหารือกับบรรดาเศาะหาบะฮ์ว่าควรจะออกจากมะดีนะฮ์ไปปะทะกับชาวกุร็อยช์หรือควรจะอยู่ในเมืองและให้การต่อต้านหรือการทำสงครามนั้นเกิดขึ้นในเมืองเพื่อความมั่นคง และความสามารถในการต่อต้านศัตรู เศาะหาบะฮ์เสนอสองแนวคิด แต่ท่านนบีต้องฟันธงชี้ขาดตรงนี้จึงต้องขอนับเสียงหรือปรึกษาหารือกับเศาะหาบะฮ์ อาจจะได้ข้อยุติในภาคปฏิบัติในหนทางครั้งนี้ ท่านนบีจึงได้เสนอเรื่องเหล่านี้บนมิมบัร ขึ้นคุฏบะฮ์ปราศรัยและขอให้เศาะหาบะฮ์แสดงความคิดเห็น ปรากฏว่าส่วนมากเห็นว่าให้ออกจากเมืองมะดีนะฮ์ไปปะทะกับชาวกุร็อยช์ข้างนอก ทั้งที่บรรดาเศาะหาบะฮ์อาวุโสเช่นอบูบักร อุมัร และอีกหลายคนที่เป็นผู้อาวุโสจากบรรดาเศาะหาบะฮ์มีความเห็นว่าไม่ควรออกจากมะดีนะฮ์ แม้แต่ตัวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็มีความเห็นเช่นเดียวกันแนวคิดนี้ แต่ท่านบีก็ได้ใช้การมุชาวะเราะฮ์ตามกฎเกณฑ์ของศาสนาอิสลามตามที่อัลลอฮ์ได้บัญชาให้ท่านนบีปรึกษาหารือกับบรรดาเศาะหาบะฮ์ และให้ตัดสินใจตามระบบมุชาวะเราะฮ์หรือการปรึกษาหารือดังที่มีปรากฏในอัลกุรอานว่า

... وَشَاوِرْهُمْ فِي الْأَمْرِ ۖ فَإِذَا عَزَمْتَ فَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ ۚ إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُتَوَكِّلِينَ (159) ...
“... และเจ้าจงปรึกษาหารือกับพวกเขาในกิจการงานทั้งหลาย ครั้นเมื่อเจ้าได้ตัดสินใจแล้วก็จงมอบหมายแด่อัลลอฮ์เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักใคร่ผู้มอบหมายทั้งหลาย” (อาละอิมรอน 159)

สำหรับผู้นำมีหน้าที่ต้องปรึกษาหารือกับผู้ที่มีอำนาจมีความรู้มีความสามารถในสังคม แต่ถ้าหากว่าผู้นำใช้ระบบเผด็จการ ถึงแม้ว่าจะมีการปรึกษาหารือแต่จะเป็นการปรึกษาหารือในวงใน หรือในกรอบที่เขาเลือกเอง โดยไม่นำผู้ที่มีความสามารถ มีความรู้มาให้คำปรึกษา ระบบเหล่านี้เป็นระบบที่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม เพราะศาสนาสั่งให้ปรึกษาหารือกับผู้ที่มีความสามารถในการให้ผลหรือมีเหตุผลหรือมีความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ในคำปรึกษาที่จะได้จากเขา นั่นก็คือผู้ที่มีความรู้ มีอำนาจ มีประสบการณ์ ผู้ที่สามารถนำความรู้และประสบการณ์ของเขานั้นมาเป็นบทเรียนที่จะร่างเป็นคำปรึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ต้องการคำปรึกษา นั่นคือบทบาทที่ผู้นำต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และเมื่อปรึกษาแล้วผู้นำก็ต้องมีความตั้งใจมีความมานะในการปฏิบัติตามคำปรึกษา ไม่ใช่ปรึกษาแล้วก็ละทิ้งคำปรึกษาของที่ปรึกษาของเขา เพราะฉะนั้นอุละมาอ์จึงกล่าวว่า “อุละมาอ์ส่วนมากจะเห็นว่าเมื่อผู้นำปรึกษาที่ปรึกษาของเขาแล้ว คำปรึกษาที่ได้ต้องถูกนำเข้าสู่การปฏิบัติทันที” มิใช่ปรึกษาแล้วก็ยังเผด็จการตามอารมณ์หรือความต้องการของผู้นำ มิฉะนั้นแล้วการปรึกษาหรือระบบชูรอก็จะไม่มีเป้าหมายหรือความสำคัญที่จะถูกนำมาปฏิบัติ

ระบบชูรอนั้นเป็นการแก้ไขหรือเป็นวิถีทางในการปรับอำนาจของผู้นำ เพราะถ้าหากผู้นำปฏิบัติตามความประสงค์หรือความต้องการของเขาอย่างเดียวบนความเผด็จการ แน่นอนว่าสังคมย่อมหายนะ อันเนื่องจากว่ามุมมองของคนคนเดียวในสังคมนั้นย่อมเป็นความเห็นหรือความประสงค์ที่ไม่กว้างขวางหรือมีเหตุผลลึกซึ้งหรือมีประโยชน์ส่วนรวมที่สังคมทั้งหมดจะประสบได้ แต่มักจะเป็นความเห็นที่มีผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้นำนั่นเอง แต่เมื่อมีการปรึกษาหารือกับผู้นำนั้น คำบัญชาที่จะออกจากผู้นำนั้นพร้อมกับการปรึกษาหารือหรือคำปรึกษาจากที่ปรึกษาที่มีความรู้และประสบการณ์นั้นย่อมจะเป็นคำบัญชาที่มีคุณค่าเพราะมาจากผู้ที่มีความรู้ อำนาจ และประสบการณ์จากสังคมทั้งปวง และจะเป็นคำบัญชาที่สังคมให้เกียรติและให้การเชื่อฟังอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในสงครามอุหุดเมื่อเห็นเศาะหาบะฮ์ส่วนมากให้คำปรึกษาว่าต้องออกจากมะดีนะฮ์ไปปะทะกับชาวกุร็อยช์ท่านนบีก็ปฏิบัติตามแนวทางนี้

ผู้รู้หลายท่านที่รายงานเหตุการณ์สงครามอุหุดระบุว่า ส่วนมากที่ให้คำปรึกษาว่าต้องออกจากเมืองมะดีนะฮ์ไปปะทะกับชาวกุร็อยช์นั้นยังเป็นเยาวชนคนหนุ่ม ยังไม่อาวุโส นั่นแสดงว่าคำปรึกษาที่ท่านนบีขอจากบรรดาเศาะหาบะฮ์ไม่จำกัดเฉพาะจากผู้อาวุโสเท่านั้น แต่ท่านนบีได้ถามบรรดาเศาะหาบะฮ์ทั้งปวงที่จะมีบทบาทในสงคราม ที่จะมีพลัง มีแรงให้แก่อิสลาม และนั่นคือบทเรียนหรือมาตรการที่เราจะใช้ในระบบชูรอ ไม่ใช่เพียงการขอคำปรึกษาจากอาวุโสเท่านั้นแต่ต้องมีผู้รู้ด้วยถึงแม้ว่าผู้รู้จะเป็นอาวุโสหรือไม่ ที่ปรึกษาของผู้นำก็ต้องมีผู้ที่มีอำนาจในสังคมที่สังคมเชื่อฟังเขาแม้ว่าจะเป็นอาวุโสหรือไม่ก็ตาม ที่ปรึกษาของผู้นำนั้นต้องเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ มีความสุจริต มีความบริสุทธิ์ แต่ถ้าหากว่าประวัติของที่ปรึกษามีประวัติเลวร้าย เป็นบุคคลที่ไม่มีความปรารถนาดีต่อสังคมหรือไม่มีบทบาทในสังคม แต่เป็นเพียงที่ปรึกษาที่ผู้นำดึงมาใช้เพราะเป็นเพื่อนสนิทหรือเป็นญาติหรือจะนำผลประโยชน์มาสู่ตัวผู้นำ นั่นคือสิ่งที่จะทำลายความบริสุทธิ์ของคำปรึกษาและนั่นคือสิ่งที่เราต้องปฏิเสธอย่างเด็ดขาด!

อัสสลามุอะลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์

เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 61, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ

 

ชูรอ (การปรึกษาหารือ) ตอนที่ 2