สู่อีมานที่มั่นคง ตอนที่ 63 - "การเป็นผู้นำเป็นหัวหน้าเป็นผู้ดูแลสังคมนั้น กิจการแรกของพวกเขาคือการถูกตำหนิจากสังคม กิจการที่สองคือความเสียใจ (กล่าวคือเขาจะได้รับความเสียใจอย่างแน่นอนในตำแหน่งนั้น) และกิจการที่สามก็คือการลงโทษอย่างเจ็บปวดในวันกิยามะฮฺ ยกเว้นผู้ที่มีความยุติธรรม”
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะหฺมะตุลลอฮิ วะบะเราะกาตุฮฺ
ขณะนี้เรากำลังพูดถึง ระบบชูรอ หรือ วิธีเลือกตั้งผู้นำ ในสังคมมุสลิม ซึ่งการเลือกตั้งผู้นำด้วยการปรึกษาหารือ ด้วยการชูรอในศาสนาอิสลามนั้นมีกติกามารยาทหรือมีกฎเกณฑ์ที่ศาสนาระบุไว้ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับความศรัทธาที่มีอยู่ในสังคมมุสลิม เราจะแปลกใจนะครับว่าท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮะลัยฮิวะสัลลัม ได้อาศัยความซื่อสัตย์ของบรรดาผู้ศรัทธาในการที่จะทำงานในสังคมอิสลามโดยให้บรรดาผู้ศรัทธานั้นใช้จริยธรรมของเขา มารยาทของเขา ความศรัทธาของเขาในการที่จะเป็นผู้นำที่ทำงานอย่างสุจริต
ในกระบวนการเลือกตั้งหรือระบบชูรอการปรึกษาหารือในศาสนาอิสลามนั้นมีเงื่อนไขสำคัญมากสำหรับบุคคลที่จะเป็นผู้นำ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ไม่ได้ถือว่าตำแหน่งผู้นำนั้นเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ ไม่ได้เป็นตำแหน่งที่จะได้รับการสรรเสริญจากสังคม แต่ท่านนบีถือว่าการเป็นผู้นำ เป็นผู้ดูแลผู้ปกครองนั้นเป็นตำแหน่งที่มีภารกิจ มีความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงโดยที่ทุกคนต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบตรงนี้ ท่านนบีได้กล่าวว่า
إن شئتم أنبأتكم عن الإمارة، وما هي؟ أولها ملامة ، وثانيها ندامة ، وثالثها عذاب يوم القيامة إلا من عدل
ความว่า “หากพวกท่านต้องการที่จะทราบกิจการของผู้นำนั้น ฉันก็จะอธิบายแก่พวกท่าน การเป็นผู้นำเป็นหัวหน้าเป็นผู้ดูแลสังคมนั้น กิจการแรกของพวกเขาคือการถูกตำหนิจากสังคม กิจการที่สองคือความเสียใจ (กล่าวคือเขาจะได้รับความเสียใจอย่างแน่นอนในตำแหน่งนั้น) และกิจการที่สามก็คือการลงโทษอย่างเจ็บปวดในวันกิยามะฮฺ ยกเว้นผู้ที่มีความยุติธรรม”
นี่คือ 3 ประการที่บุคคลที่จะเป็นผู้นำนั้นจะประสบทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และท่านนบีได้กล่าวว่า “ยกเว้นผู้ที่มีความยุติธรรม”
เมื่อได้เป็นอะมีร เป็นผู้นำเป็นหัวหน้าในสังคมแล้วและเขามีความยุติธรรม ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือกฎหมายอย่างเที่ยงธรรม บุคคลเหล่านั้นก็จะถูกยกเว้นจากการถูกตำหนิ ความเสียใจ และการลงโทษในวันกิยามะฮ์ เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นผู้นำ ท่านนบีไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องสนุกหรือเรื่องที่จะมีเกียรติยศมีศักดิ์ศรี แต่อาจจะเป็นเรื่องที่จะนำความหายนะหรือความขาดทุนมายังเขา
ท่านนบียังเคยแจ้งว่าในยุคหนึ่งยุคใดในประชาชาติของท่านนั้นจะมีคนที่สนใจหรือปรารถนาที่จะเป็นผู้นำ
إنكم ستحرصون على الإمارة، وإنها ستكون حسرة وندامة يوم القيامة
ความว่า “พวกท่านจะมีความปรารถนา มีความประสงค์ มีความต้องการที่จะเป็นผู้นำ และแท้จริงแล้วมันจะกลายเป็นความเสียใจและความขาดทุนในวันกิยามะฮ์”
เปรียบเสมือนว่าท่านนบีได้ตักเตือนประชาชาติของท่านว่า ใครที่อยากเป็นผู้นำนั้นมันจะเป็นสิ่งที่จะนำความขาดทุนมายังเขาในวันกิยามะฮ์ ด้วยเหตุผลนี้นะครับในกฎเกณฑ์ของหลักการอิสลามจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญมากในการที่จะเป็นผู้นำนั้น ไม่อนุญาตให้เป็นผู้ที่แสวงหาตำแหน่ง อยากจะเป็นผู้นำ ถ้าหากเขาเป็นผู้เสนอตัว เรียกร้องให้ประชาชานเลือกเขาให้เป็นผู้นำนั้นศาสนาถือว่าเป็นลักษณะที่จะทำให้บุคคลเหล่านั้นไม่ได้รับตำแหน่งผู้นำ ไม่อนุญาตให้ผู้นำนั้นเป็นบุคคลที่แสวงหาตำแหน่งด้วยตนเอง ก็หมายถึงว่าการเสนอตัวนั้นเป็นลักษณะหรือเป็นการกระทำที่ไม่อุนมัติตามหลักการชูรอหรือการปรึกษาหารือเพื่อเลือกตั้งผู้นำในสังคม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
إنا لن نستعمل على عملنا من أراده
ความว่า “ในกิจการของเรา ในการปกครองบริหารสังคมของเรา เราจะไม่แต่งตั้งบุคคลที่ประสงค์หรือแสวงหาตำแหน่ง”
อาจมีคนถามว่าคนที่ไม่เสนอตัวเพื่อให้สังคมเลือกตั้งเขา แล้วจะเป็นผู้นำได้อย่างไร สังคมจะรู้ได้อย่างไรว่าใครที่จะเหมาะสมสำหรับการเป็นผู้นำเป็นผู้บริหารสังคม? ในระบบอิสลามระบบชูรอต้องมีการสรรหา โดยสภาที่ปรึกษาหรือสภาผู้แทนของสังคมนั้นจะเป็นผู้เสนอบุคคลที่มีความเหมาะสม และนั่นคือความโปร่งใสที่ละเอียดอ่อนมากในการเลือกตั้งโดยระบบชูรอของศาสนาอิสลาม ถ้าหากว่าถูกเสนอจากสภาผู้แทนของสังคมโดยมีกติกาและมีคุณลักษณะที่ต้องปฏิบัติตามก็จะเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมมีมารยาทมีจริยธรรมมีความซื่อสัตย์สุจริตในการทำงานกับผู้อื่นโดยที่เขาผู้นั้นไม่ได้เสนอตัวเองแต่จะมีผู้อื่นเสนอให้
การที่จะมีการเสนอหรือการรับรองจากผู้อื่นนั้นจะสร้างความมั่นใจในบุคคลที่จะเป็นผู้ เพราะเรารู้ว่าคนเหล่านั้นไม่ต้องการตำแหน่ง ไม่ต้องการผลประโยชน์จากตำแหน่ง แต่ถ้าหากคนหนึ่งคนใดเสนอตัวมีการแสวงหาตำแหน่งอย่างชัดเจนเราก็อาจจะสงสัยว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงต้องการอยู่ในตำแหน่ง ทำไมต้องการเป็นผู้นำ ทำไมต้องการได้นี้ แต่ถ้าหากว่าถูกเสนอจากคนอื่น หรือคนอื่นได้เห็นว่าคนเหล่านี้มีความเหมาะสมทั้งที่เขาไม่ได้ขอหรือไม่ได้อยากจะเป็นผู้เป็นลักษณะที่จะบ่งบอกถึงความสุจริตของเขา
จนกระทั่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ถือว่าคนที่แสวงหาตำแหน่งนั้นเป็นคนที่มีความทุจริตอย่างใหญ่หลวง
اتقوا الله، فإن أخونكم عندنا من طلب العمل
ความว่า “พวกท่านจงยำเกรงอัลลอฮ์ แท้จริงคนที่มีความทุจริต คนที่คดโกงมากที่สุดในหมูพวกท่านก็คือคนที่แสวงหาตำแหน่ง แสวงหาการเป็นผู้นำ”
นั่นคือคนที่น่าจะเป็นบุคคลที่น่าสงสัยนะครับ เพราะฉะนั้นท่านนบีจึงได้ตั้งกติกาตรงนี้ไว้ว่าคนที่แสวงหาตำแหน่งในสังคมนั้นเขาไม่ควรจะได้รับตำแหน่งนั้น
ดังนั้นการปรึกษาหารือเพื่อเลือกตั้ง การชูรอเพื่อเลือกตั้งผู้นำหรือผู้บริหารสังคมนั้น อิสลามได้ตั้งระบอบหรือวิถีทางเพื่อให้มีความโปร่งใสในการเลือกผู้นำในสังคม ในสังคมจะไม่มีใครมีโอกาสเป็นผู้นำอย่างถาวร บุคคลที่จะเป็นผู้นำนั้นก็ต้องมีคุณลักษณะมีเงื่อนไขที่อิสลามได้ตั้งไว้ หากเป็นผู้นำอย่างถาวรก็ไม่ถือว่าเป็นการชูรอ ไม่ถือว่าเป็นระบอบอิสลามในการที่จะใช้ระบบการปรึกษาหารือเพราะในศาสนาอิสลามต้องการจะให้ผู้นำนั้นเป็นบุคคลที่สังคมนับถือ ให้เกียรติ ให้ความเคารพ ถ้าหากว่าจะมีบุคคลที่จะเป็นผู้นำอย่างถาวรโดยที่ไม่มีการปรึกษาหารือไม่ปรึกษาสังคมว่าคนเหล่านี้เหมาะหรือไม่เหมาะ บุคคลเหล่านี้ควรที่จะเป็นหรือไม่เป็น ควรเป็นผู้นำต่อหรือไม่ หากไม่มีแบบนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นระบบชูรอเพราะไม่มีการปรึกษาหารือกับประชาชนว่าคนเหล่านี้มีความเหมาะสมหรือไม่
เพราะฉะนั้นทุกคนที่จะเป็นผู้นำในสังคม เป็นผู้บริหารมีอำนาจในสังคม อิสลามได้ตั้งกติกาสำหรับการเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสม และความเหมาะสมที่สำคัญมากสำหรับการเลือกผู้นำก็คือ การที่ผู้นำนั้นเป็นบุคคลที่มีความสุจริต มีความบริสุทธิ์ในการทำงานในการบริหารสังคม
ศาสนาอำนวยความสะดวกในการที่จะให้ประชาชนเลือกบุคคลที่จะมาเป็นผู้นำ โดยการสรรหาบุคคลที่จะเป็นผู้นำนั้น ศาสนาได้ให้ประชาชนเลือกสภาผู้แทนของสังคมของประชาชน ผู้แทนที่จะถูกเลือกจากประชาชนหรือที่เราเรียกว่า “มัจญ์ลิสชูรอ” หรือสภาที่ปรึกษา คือสภาที่ถูกคัดเลือกจากสังคม สังคมจะเลือกสภาผู้แทนหรือที่ปรึกษาและที่ปรึกษาก็จะเลือกตั้งผู้นำ นั่นเป็นวิธีหนึ่งในการเลือกผู้นำ
อีกวิธีหนึ่งก็คือการเลือกตั้งผู้นำจากประชาชนโดยตรง ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคเศาะหาบะฮ์ ท่านอุมัร อิบนุลค็อฏฏอบ ก่อนที่จะเสียชีวิตก็ได้เสนอบุคคลที่เป็นเศาะหาบะฮ์ที่ท่านนบีถือว่าเป็นคนใกล้ชิดมากที่สุดกับท่านนบี แล้วอุมัรก็ให้ประชาชนปรึกษาหารือและเลือกว่าใครจะมีความเหมาะสมมากที่สุด มีกรรมการเลือกตั้งที่ถูกแต่งตั้งเพื่อเป็นการปรึกษากับประชาชนในการสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมมากที่สุด อับดุรเราะห์มาน อิบนุเอาฟ์ ก็กลับไปถามชาวบ้านถามประชาชนว่าควรที่จะเลือกใคร ถามทุกคนแม้กระทั่งสตรีที่อยู่ในบ้าน หมายถึงมีการปรึกษาหารือกับประชาชนโดยตรง ทุกคนมีสิทธิในการเลือกผู้นำแม้กระทั่งสตรีที่อยู่ในบ้าน นี่คือการปรึกษาหารือที่กว้างขวางและจะสร้างความมั่นคงในตัวผู้นำ เพราะหากว่าผู้นำได้รับการเลือกตั้งหรือคำปรึกษาจากประชนโดยตรง การนับถือหรือให้เกียรติผู้นำก็จะมีอยู่อย่างมั่นคงในอนาคต
การศึกษาระบบชูรอจะทำให้เรามีความมั่นคงในการที่จะเลือกผู้นำของเรา และในการที่จะสร้างการบริหารสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ฝากไว้กับพี่น้องเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ
วัสสลามุอะลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 61, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 141 views