กิยามุลลัยลฺ : ละหมาดตะรอวีหฺและวิตรฺ

Submitted by dp6admin on Sun, 12/05/2019 - 19:47

ความประเสริฐ

    การละหมาดกลางคืน(กิยามุลลัยลฺ) เป็นอิบาดะฮฺที่เป็นเอกลักษณ์ของประชาชาติอิสลาม มุสลิมคือผู้ที่ฟื้นฟูช่วงกลางคืนด้วยการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ไม่เหมือนคนอื่นที่มักใช้ช่วงกลางคืนเพื่อความสนุกสนานหรือนอนหลับ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ทรงทำให้กลางคืนเป็นเสมือนเครื่องอาภรณ์และเป็นเวลาส่วนตัว ดังที่พระองค์ตรัสว่า

وَجَعَلْنَا اللَّيْلَ لِبَاساً

ความว่า “และเราได้ทำให้กลางคืนเสมือนเครื่องปกปิดร่างกาย” (อันนะบะอฺ 78/10)

اللَّيْلَ لِتَسْكُنُواْ فِيهِ ... هُوَ الَّذِي جَعَلَ لَكُمُ

ความว่า “พระองค์คือผู้ทรงประทานกลางคืนให้แก่พวกท่าน เพื่อพวกท่านจะได้พักผ่อน ...” (ยูนุส 10/67)

     อัลกุรอานได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ศรัทธาฟื้นฟูช่วงเวลากลางคืนบางส่วนด้วยการลุกขึ้นละหมาด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  สั่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ตั้งแต่ได้รับวะฮียฺช่วงแรก ๆ ให้ลุกขึ้นละหมาดกลางคืนทั้งคืนหรือส่วนหนึ่ง

يَا أَيُّهَا الْمُزَّمِّلُ ﴿١﴾ قُمِ اللَّيْلَ إِلَّا قَلِيلاً ﴿٢﴾

ความว่า “โอ้ผู้คลุมกายเอ๋ย จงยืนขึ้น (ละหมาด) เวลากลางคืน เว้นแต่เพียงเล็กน้อย” (อัลมุซซัมมิล 73/1-2)

และเป็นเอกลักษณ์ของผู้ศรัทธาที่จะเข้าสวรรค์ในวันกิยามะฮฺ

﴿١٨﴾ كَانُوا قَلِيلاً مِّنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ ﴿١٧﴾ وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ

ความว่า “พวกเขาเคยหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน  และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ (ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา )”  (อัซซาริยาต 51/17-18) ช่วงท้ายของกลางคืน (อัสฮาร) มีซุนนะฮฺในการกล่าวอิสติฆฟาร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาวสวรรค์ และเป็นช่วงเวลาดุอาอฺมุสตะญาบ (ดุอาอฺถูกตอบรับ)

    ซอฮาบะฮฺบอกว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ไม่ชอบการพูดคุยหลังอิชาอฺ แต่มีรายงานว่าท่านนบีเคยนั่งคุยกับท่านอบูบักร อัศศิดดีก ถึงเรื่องราวของประชาชนหลังละหมาดอิชาอฺ อุละมาอฺจึงตีความว่าท่านนบี ﷺ ไม่ชอบให้พูดคุยเรื่องไร้สาระหลังละหมาดอิชาอฺ แต่สามารถพูดคุยประเด็นที่มีสาระและความจำเป็นได้ เพื่อให้เวลากลางคืนผ่านไปตามเจตนารมณ์ของอัลอิสลามเท่าที่กระทำได้

    ในเดือนรอมฎอนบรรดาอัสสะละฟุศซอลิหฺและนักวิชาการจะหยุดสอนวิชาอื่นนอกจากอัลกุรอาน เพื่อรักษาให้กิจการในเดือนรอมฎอนมุ่งสู่เรื่องอิบาดะฮฺเพียงอย่างเดียว

    นอกจากนี้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ยังให้ความสำคัญกับบางคืนในเดือนรอมฎอนเป็นพิเศษ ดังที่ท่านกล่าวว่า “และผู้ใดยืนละหมาดในคืนอัลกอดรฺ อัลลอฮฺ  จะให้อภัยโทษต่อความผิดที่ทำในอดีต” (แสดงถึงความพิเศษอีกระดับหนึ่งของคืนอัลกอดรฺ) เมื่อท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ย้ำเช่นนี้ เราจึงต้องเข้าใจว่าการศึกษาเรื่องการละหมาดกิยามุลลัยลฺในเดือนรอมฎอนนั้น ไม่ด้อยไปกว่าการศึกษาวิธีถือศีลอดหรือวิธีการละหมาด

ความเป็นมาของการละหมาดตะรอวีหฺ

    คำว่า “ตะรอวีหฺ” تَرَا وِيْعٌ ซึ่งหมายถึงการละหมาดกิยามุลลัยลฺในเดือนรอมฎอน มาจากการพักระหว่างยืนละหมาด 4 ร็อกอัต ซึ่งเรียกว่า “ตัรวีฮะหฺ” ในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ส่วนมาก (รวมทั้งเยาวชน) จะใช้ไม้เท้าพยุงยืนละหมาด เพื่อรักษาผลบุญที่มากกว่าการนั่งละหมาดซึ่งได้เพียงครึ่งหนึ่ง

    หะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  บังคับให้ละหมาดฟัรฎูที่มัสญิด ใครมีความสามารถต้องไป ถ้าไม่ไปอาจถูกสงสัยว่าเป็นมุนาฟิก และถึงขั้นที่ท่านนบีขู่จะเผาบ้านคนที่ไม่ไปละหมาดมัสญิด แต่สำหรับละหมาดซุนนะฮฺทุกประเภท ท่านนบี ﷺ  ส่งเสริมให้ละหมาดที่บ้าน ส่วนมากท่านนบีจะละหมาดซุนนะฮฺที่บ้าน ดังที่ท่านได้พูดชัดเจนว่า “การที่คนหนึ่งคนใดละหมาดที่บ้าน ดีกว่าการละหมาดที่มัสญิด ยกเว้นฟัรฎู”

อุละมาอฺได้ยกเว้นละหมาดบางประเภทที่เป็นซุนนะฮฺมุอักกะดะฮฺหรือฟัรฎูกิฟายะฮฺที่สมควรละหมาด เช่น ละหมาดกูซูฟ (สุริยคราสหรือจันทรคราส) ละหมาดญะนาซะฮฺ (ถ้าจะละหมาดที่มัสญิด) (ตามซุนนะฮฺท่านนบี  ละหมาดญะนาซะฮฺที่มุศ็อลลา ท่านนบี   เคยละหมาดญะนาซะฮฺที่มัสญิดเพียงครั้งเดียวเพื่อบอกว่าละหมาดได้)

ในรอมฎอนปีช่วงท้ายชีวิตของท่านนบี   ท่านได้ถือศีลอดและละหมาดกิยามุลลัยลฺที่บ้าน ซอฮาบะฮฺได้รายงานว่าท่านนบี   ส่งเสริม เรียกร้อง และกระตุ้นให้พวกเราละหมาดกิยามุลลัยลฺที่บ้านโดยไม่บังคับ บรรดาซอฮาบะฮฺก็ละหมาดที่บ้าน และบางคนละหมาดที่มัสญิดแต่ไม่ใช่ญะมาอะฮฺ จนครั้งหนึ่งที่ท่านนบี  ได้ออกมาละหมาดที่มัสญิด

มีหะดีษของอบูซัร บันทึกโดยอิมามอบูดาวูด “เราได้ถือศีลอดกับท่านนบี  เดือนรอมฎอน จนถึงคืนที่ 24 (เหลืออีก 7 วัน) ท่านนบี ﷺ นำละหมาดที่มัสญิดช่วง 1 ใน 3 ของกลางคืน คืนที่ 25 ไม่ได้ละหมาด ต่อมาคืนที่ 26 ท่านนบี ﷺ นำละหมาดตะรอวีหฺจนผ่านไปครึ่งกลางคืน(ประมาณ 5 ชั่วโมง 30 นาที)

อบูซัรได้ขอร้องให้ท่านนบี ﷺ ละหมาดจนถึงซุบฮฺ เพื่อจะได้ละหมาดทั้งคืน

ท่านนบี  ﷺ จึงได้ตอบว่า “แท้จริง เมื่อคนหนึ่งคนใดละหมาดพร้อมอิมามจนสำเร็จ จะถูกบันทึกเสมือนละหมาดตลอดคืน” (นี่แสดงถึงความประเสริฐของการละหมาดตะรอวีหฺกับญะมาอะฮฺที่มัสญิด ถึงแม้ไม่ได้ละหมาดตลอดคืน แต่ถือว่าสมบูรณ์ในการบันทึก)

ต่อมาคืนที่ 27 ไม่ได้ละหมาด คืนที่ 28 ท่านนบี   เชิญชวนครอบครัวและผู้คนละหมาดตะรอวีหฺ ท่านได้นำละหมาดจนกระทั่งเรากลัวว่าจะไม่ทันรับประทานอาหารสะฮูร และคืนที่เหลือท่านนบี   ไม่ได้ละหมาดกับเรา”

(1)   กลางคืนนับตั้งแต่มัฆริบถึงซุบฮฺ สมมติซุบฮฺตีห้าและมัฆริบหกโมง รวม 11 ชั่วโมง ดังนั้น 1 ใน 3 จึงประมาณ 3 ชั่วโมง 40 นาที นี่คือเวลาที่ท่านนบี ﷺ ละหมาดกลางคืน (ในสมัยก่อนไม่มีนาฬิกา ใช้นับเวลาด้วยการกะ เช่น ช่วงรีดนมแพะหนึ่งถ้วย ช่วงตัดต้นไม้หนึ่งต้น แต่เมื่อรับอิสลามแล้วการกะเวลาจึงเปลี่ยนไป เช่น ช่วงเวลาระหว่างกินสะฮูรกับซุบฮฺประมาณอ่านอัลกุรอาน 50 อายะฮฺ เห็นได้ว่าบรรดาซอฮาบะฮฺได้บูรณะเวลาของพวกเขาด้วยการซิกรุลลอฮฺ เพราะใช้การอ่านอัลกุรอานเป็นมาตรฐานในการกะเวลา)

สาเหตุที่ท่านนบี   ไม่นำละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสญิดเป็นประจำ

ท่านหญิงอาอิชะฮฺ  ได้ให้เหตุผลไว้ มีปีหนึ่ง ท่านนบี ﷺ  ละหมาดคืนหนึ่งแล้วเว้น ซอฮาบะฮฺมาเรียกให้ท่านนบีออกมานำละหมาด แต่ท่านไม่ออก ตอนเช้า ท่านนบี ﷺ ได้บอกว่า “ฉันเห็นคนเต็มมัสญิดรอฉันนำละหมาด แต่ฉันตั้งใจไม่ออกไปนำละหมาด เพราะเกรงว่าจะถูกบัญญัติให้การละหมาดตะรอวีหฺเป็นวาญิบ และพวกท่านคงไม่ไหว”

แสดงว่าตลอดชีวิตท่านนบี   ไม่มีการละหมาดตะรอวีหฺที่มัสญิดเป็นประจำ มีเพียงบางครั้งบางคราว แต่เมื่อท่านนบี   เสียชีวิตแล้ว จึงไม่มีโอกาสบัญญัติให้การละหมาดนี้เป็นวาญิบ

สมัยท่านอบูบักร ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือใครอยากละหมาดที่บ้านก็ทำ ใครจะละหมาดที่มัสญิดก็ได้ แต่ไม่เป็นญะมาอะฮฺเดียว ละหมาดคนเดียวบ้างหรือเป็นกลุ่มบ้าง หรือมีอิมามนำละหมาดให้เป็นบางครั้ง ช่วงแรกของคิลาฟะฮฺอุมัรก็เช่นเดียวกัน จนครั้งหนึ่งท่านอุมัรเข้ามัสญิดเห็นคนละหมาดตะรอวีหฺกันหลายกลุ่ม แล้วมีความคิดว่าถ้ารวมกันน่าจะดีกว่า จึงแต่งตั้งให้อุบัย อิบนิ กะอฺบ เป็นอิมามประจำมัสญิดสำหรับผู้ชาย และแต่งตั้งตะมีม อัดดารียฺ ให้เป็นอิมามสำหรับผู้หญิง นั่นคือ ในสมัยท่านอุมัรเริ่มรวมเหลือ 2 ญะมาอะฮฺ เป็นหลักฐานว่าจัดอิมามให้เฉพาะสำหรับผู้หญิง

การละหมาดตะรอวีหฺที่บ้านสามารถทำได้ (สำหรับเรื่องที่ว่าแบบใดมีความประเสริฐมากกว่า จะกล่าวในเนื้อหาต่อ ๆ ไป)  เพราะสมัยท่านนบี   และสมัยท่านอบูบักรก็ทำ และหากที่มัสญิดไม่จัดอิมามนำละหมาด ก็สามารถตั้งญะมาอะฮฺหลายกลุ่มที่มัสญิดได้ แต่อุละมาอฺบอกว่าอย่าให้รบกวนกัน เพราะเคยปรากฏในสมัยท่านนบี   มีการอ่านอัลกุรอานกวนกันในมัสญิด ท่านนบี ﷺ  บอกว่า “พวกท่านอย่าอ่านอัลกุรอานเสียงดังซึ่งกันและกัน (อย่ากวนกันด้วยอัลกุรอาน)” เราต้องการความสงบในการอ่านอัลกุรอาน จะอ่านเพื่อรบกวนคนอื่นไม่ได้ หากอยู่กันหลายคนก็อ่านด้วยเสียงพอให้ตัวเองได้ยิน


เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, กิยามุลลัยลฺ 1

 -- ดาวน์โหลดหนังสือ ---

--- ดาวน์โหลดเอกสาร ---

การละหมาดตะรอวีหฺ