1010 อัลลอฮฺตะอาลาสั่งให้อิบลีสไปพบท่านนบีจริงหรือ?

Submitted by dp6admin on Thu, 09/04/2009 - 02:09

คำถาม : อ่านพบในหนังสือสำหรับเด็ก เกี่ยวกับการที่อัลลอฮฺตะอาลาสั่งให้อิบลีส(ชัยฏอน) ไปพบท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จริงหรือ? ถ้าจริง..มีหลักฐานจากฮะดีษ หรือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือไม่

ตัวอย่างบางตอนจากหนังสือ...

"อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงใช้ให้มะลาอิกะห์ของพระองค์ไปพบอิบลีสเพื่อสั่งให้อิบลีสมาหาท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ (ซ.บ.) เพื่อที่จะตอบคำถามต่างๆ ของท่าน มะลาอิกะฮ์ได้เตือนอิบลีสว่าไม่ให้พูดโกหก.... 

..และอิบลีสก็ไปหาท่านร่อซูลุ้ลลอฮ์ (ซ.ล.) โดยจำแลงร่างเป็นชายแก่คนหนึ่งตาบอดข้างหนึ่งมีเครายาว..."

...แล้วอิบลีสก็ตอบคำถามต่างๆที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถาม

 

 

คำตอบ

 

อัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ

หะดีษนี้เป็นหะดีษเมาฎูวอฺที่ถูกแต่งมาโดยไม่มีสายสืบใดๆที่จะปรากฏให้ตรวจสอบ และไม่ถูกบันทึกในบรรดาตำรับตำราที่น่าเชื่อถือของผู้รายงานหะดีษที่ถูกต้อง และสำหรับทุกส่วนที่เกี่ยวกับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ไม่เพียงพอที่จะมีรายงานทางประวัติศาสตร์ แต่ต้องมีสายสืบที่แน่นอนโดยตรวจสอบได้ และสำหรับสิ่งที่เกี่ยวกับสิ่งเร้นลับ เช่น มลาอิกะฮฺ อิบลีส ฯลฯ ไม่เพียงพอที่จะเป็นรายงานทางประวัติศาสตร์ เพราะมีส่วนที่เป็นหลักศรัทธา และหลักศรัทธาย่อมต้องมีหลักฐานจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺอย่างถูกต้อง แต่รายงานของประวัติศาสตร์บอกเล่าได้เพื่อเป็นอุทาหรณ์ แต่ห้ามเชื่อหรือศรัทธา และถ้าหากมีส่วนเกี่ยวกับการอ้างว่าเป็นพจนารถของท่านนบี ก็ต้องเล่าด้วยการระวังตำแหน่ง(สถานะ)ของหะดีษว่าถูกต้องอย่างไร เพราะการเล่าหะดีษเมาฎูวอฺไม่อนุญาต เว้นแต่เมื่อเตือนว่าเป็นหะดีษเมาฎูวอฺเท่านั้น สำหรับเรื่องราวหรือนิยายที่จะใช้สอนเด็กหรือเยาวชนมุสลิม ก็สมควรคัดเลือกเฉพาะเรื่องที่เป็นจริง โดยเฉพาะถ้าเกี่ยวกับบุคคลที่มีตัวตน อาทิเช่น ท่านนบีและบรรดาศ่อฮาบะฮฺ แต่หากไม่มีตัวตน(คือเป็นบุคคลสมมติ) ก็อนุญาตให้แต่งนิยายที่มีอุทาหรณ์และบทเรียน โดยให้เนื้อหาของนิยายนั้นเป็นอุปมา โดยไม่กล่าวถึงบุคคลที่มีตัวตน

วัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ

ริฎอ อะหมัด สมะดี

30 ก.ย. 48

วันที่ตอบ