“ท่านจงช่วยเหลือพี่น้องของท่านทั้งในสภาพที่เขาเป็นผู้อธรรมต่อผู้อื่น หรือถูกผู้อื่นอธรรมก็ตาม หากเขาเป็นผู้อธรรมก็จงยับยั้งเขาจากการอธรรมนั้น และหากเขาถูกอธรรมก็จงช่วยเหลือเขาให้พ้นจากสภาพดังกล่าว”
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
มารยาทของมุสลิมต่อมุสลิมอันเป็นคุณลักษณะของผู้ศรัทธาที่มีอีหม่านนั้นคือการที่ต้องช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมด้วยกันในทุกประเด็นที่เป็นความดี เป็นคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือกันให้มีคุณธรรม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
انصر أخاك ظالماً أو مظلوماً، إن يك ظالماً فاردده عن ظلمه، وإن يك مظلوماً فاردد عنه ظلمه
ความว่า “ท่านจงช่วยเหลือพี่น้องของท่านทั้งในสภาพที่เขาเป็นผู้อธรรมต่อผู้อื่น หรือถูกผู้อื่นอธรรมก็ตาม หากเขาเป็นผู้อธรรมก็จงยับยั้งเขาจากการอธรรมนั้น และหากเขาถูกอธรรมก็จงช่วยเหลือเขาให้พ้นจากสภาพดังกล่าว”
ในหะดีษอีกบทหนึ่งท่านนบีกล่าวว่า
انصر أخاك ظالماً أو مظلوماً
ความว่า “ท่านจงช่วยเหลือพี่น้องของท่านทั้งในสภาพที่เขาอธรรมต่อผู้อื่น หรือในสภาพที่เขาถูกอธรรม”
มีคนถามว่า “แล้วฉันจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไรหากเขาเป็นผู้อธรรม”
ท่านนบีจึงตอบว่า تحجزه عن الظلم فذلك نصرك إياه
“ท่านจงห้ามการอธรรมของเขา นั่นคือการช่วยเหลือเขา”
และนั่นคือคุณธรรมที่ศาสนาต้องการให้เกิดขึ้นระหว่างบรรดาผู้ศรัทธาที่ต้องมีความตระหนักในคุณธรรม ศีลธรรมของศาสนาอัลอิสลาม การที่เรามีมารยาท มีจุดยืน มีความยุติธรรม มีความตระหนักในหลักการศาสนานั้นไม่ได้หมายถึงว่า มีคุณธรรมกับคนที่อยากทำคุณธรรมเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องเผยแผ่คุณธรรมต่อผู้ที่ไม่อยากจะมีคุณธรรมด้วย ท่านนบีจึงส่งเสริมให้เรามีบทบาทกับผู้อธรรมด้วย สำหรับผู้ที่ถูกอธรรม ถูกรังแก ถูกข่มเหงนั้นเป็นมารยาทปกติของมุสลิมที่จะต้องช่วยเหลือเขา แต่สำหรับผู้อธรรม ผู้ข่มเหงที่เป็นมุสลิมที่มีลักษณะมารยาทเลวร้าย ท่านนบีก็ส่งเสริมให้เรามีบทบาทกับเขาด้วย โดยที่เราต้องห้าม ต้องยับยั้งการอธรรมของเขาไม่ให้เกิดขึ้น นี่คือการเผยแผ่ศีลธรรมแม้กระทั่งต่อคนที่ไร้ศีลธรรม
ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้สอนเหตุผลของการที่เราจะช่วยเหลือคนที่มีลักษณะเลวร้าย เช่น ผู้อธรรม ผู้ที่ไม่มีอมานะฮ์ ผู้ที่ทรยศ ทุจริตต่อสิทธิผู้อื่น ผู้ที่ไม่ทำหน้าที่ตามตำแหน่งของเขา ผู้ที่มีลักษณะมารยาทหรือนิสัยที่ชอบรังแกยุแหย่ชาวบ้าน หรือมีนิสัยเลวร้าย เช่น นินทาชาวบ้าน ใส่ร้าย ให้ร้ายต่อผู้อื่น ท่านนบีได้สอนเราให้เรามีบทบาทต่อพวกเขาเหล่านั้นในการยับยั้งความอธรรมของเขา ต่อสู้กับความอธรรมของเขาเพื่อให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นในสังคม ท่านนบีได้กล่าวว่า
المؤمن مرآة المؤمن
ความว่า “มุอ์มินนั้นเปรียบเสมือนกระจกของพี่น้องมุอ์มินของเขา”
หมายถึงว่าภาพของมารยาท นิสัย ศีลธรรมหรือแม้แต่สิ่งเลวร้ายต่างๆ ที่แอบแฝงอยู่จะถูกสะท้อนเมื่อมุอ์มินทำหน้าที่ต่อมุอ์มิน เมื่อเขาเห็นพี่น้องของเขามีความผิดใดๆ ก็จะพูด จะนะศีหะฮ์ จะกล่าวถึงสิ่งที่ทำให้พี่น้องของเขาสามารถแก้ไข ปรับปรุง กระทำสิ่งที่จะทำให้สิ่งเลวร้ายเหล่านั้นสิ้นสุดหรือหายไป นี่คือหน้าที่ที่มุอ์มินต้องปฏิบัติต่อพี่น้องมุอ์มินของเขาอย่างต่อเนื่อง ท่านนบีกล่าวอีกว่า
المؤمن للمؤمن كالبنيان يشد بعضه بعضا
ความว่า “มุอ์มินกับมุอ์มินนั้นเปรียบเสมือนอาคารหลังหนึ่งซึ่งแต่ละส่วนของอาคารนั้นจะทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อให้อาคารหลังนั้นมั่นคง”
อาคารนั้นก็คือสังคม มุอ์มินก็คือส่วนประกอบของสังคมที่ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงของสังคม นี่คือศีลธรรมของมุอ์มิน ในหะดีษอีกบทหนึ่งท่านนบีกล่าวว่า
المؤمن من أهل الإيمان بمنزلة الرأس من الجسد يألم المؤمن لأهل الإيمان كما يألم الجسد لما في الرأس
ความว่า “มุอ์มินกับบรรดาผู้ที่มีอีหม่านนั้นเปรียบเสมือนศีรษะกับร่างกาย เขาจะรู้สึกเจ็บปวดกับเมื่อมุอ์มินคนอื่นเจ็บปวด เหมือนที่ร่างกายจะเจ็บปวดหากว่าศีรษะนั้นเจ็บปวด”
นี่คือลักษณะมารยาท จริยธรรมของมุอ์มิน บทบาทหน้าที่ของเขาในการช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมนั้นเริ่มด้วยความรู้สึก ความรับผิดชอบ เห็นสังคมเดือดร้อน เห็นปัญหาเกิดขึ้นในสังคมแล้วไม่นิ่งเฉย ไม่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ทำนิสัยเด็กที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือไม่อยากจะรู้อิโหน่อิเหน่ แต่ศีลธรรมและมารยาทของมุอ์มินที่มีอีหม่านที่มั่นคงนั้นจะมีความรับผิดชอบเริ่มตั้งแต่ความรู้สึกของเขา เมื่อเห็นคนอื่นเดือดร้อนเขาก็เดือดร้อนด้วย เขาจะอึดอัด จะพยายามมานะเพื่อแก้ปัญหา โดยเฉพาะหากว่าเขามีตำแหน่งมีความรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาเช่น ผู้นำ ผู้รู้ ผู้มีอำนาจบารมีในสังคม เมื่อเป็นมุอ์มินแล้วเขาต้องมีความรับผิดชอบและต้องมีมานะในการแก้ไขปัญหา ต้องมีความพยายามในการช่วยเหลือพี่น้องมุสลิม เพื่อให้ความอยุติธรรมหรือสิ่งเลวร้ายในทุกรูปแบบถูกขจัดหรือถูกขับไล่ออกจากสังคม
พี่น้องครับ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ส่งเสริมให้เราทำหน้าที่ในการช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมของเราในทุกกรณี แม้กระทั่งกรณีที่จะพูดคุยกับคนอื่นให้ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนหากว่าเราไม่สามารถช่วยเหลือเองได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า “ชะฟาอะฮ์” หมายถึงการที่เราจะแสวงหาวิถีทางในการแก้ไขปัญหาด้วยอำนาจของเรา ด้วยเพื่อนฝูงของเราที่มีอำนาจมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ท่านนบีกล่าวว่า
اشفعوا تؤجروا
ความว่า “พวกท่านจงช่วยเหลือ จงหาวิธีแก้ปัญหาให้กับพี่น้องมุสลิมแล้วพวกท่านจะได้รับการตอบแทนจากพระผู้เป็นเจ้า”
นี่คือความรู้สึกคือหน้าที่รับผิดชอบที่มุสลิมต้องมีอยู่แล้ว เราจะรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยเหลือพี่น้องมุสลิม ไม่ละทิ้งพวกเขา ให้หะดีษบทหนึ่งท่านนบีกล่าวว่า
من ذب عن عرض اخيه بالغيبة كان حقا على الله ان يعتقه من النار
ความว่า “ใครที่ปกป้องเกียรติยศของพี่น้องมุสลิมของเขาในขณะที่เขาไม่อยู่ ก็เป็นหน้าที่ของอัลลอฮ์ที่จะนำเขารอดออกจากนรกในวันกิยามะฮ์”
กล่าวคือหากมีมุสลิมที่บริสุทธิ์ถูกกล่าวหา ใส่ร้ายป้ายสีต่อหน้าเราทั้งที่ตัวเขานั้นไม่อยู่ แล้วเราทำหน้าที่ในการปกป้องคนบริสุทธิ์เหล่านั้น ต่อต้านคนที่ใส่ร้ายป้ายสีผู้บริสุทธิ์โดยที่เรากล่าวความจริงหรือสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นความจริงของเขา ท่านนบีกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของอัลลอฮ์ที่จะทำให้เรารอดจากนรก ในหะดีษอีกบทหนึ่งท่านนบีกล่าวว่า
من رد عن عرض اخيه رد الله عن مجهه عن النار يوم القيامة
ความว่า “ใครก็ตามที่ปกป้องความบริสุทธิ์ของพี่น้องของเขา อัลลอฮ์ก็จะปกป้องใบหน้าของเขาจากนรกในวันกิยามะฮ์”
من رد عن عرض أخيه كان له حجابا من النار
ความว่า “ใครก็ตามที่ปกป้องเกียรติของพี่น้องของเขา การปกป้องดังกล่าวจะเป็นกำแพงป้องกันเขาจากนรกในวันกิยามะฮ์”
من نصر أخاه بظهر الغيب نصره الله في الدنيا والآخرة
ความว่า “ใครก็ตามที่ช่วยเหลือพี่น้องของเขาในขณะที่เขาไม่อยู่ อัลลอฮ์จะช่วยเหลือเขาทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์”
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ สิ่งที่เราต้องพยายามเข้าใจว่าหน้าที่ของเราในโลกนี้ไม่ใช่เพียงแต่เห็นแก่ตัว เอาประโยชน์ใส่ตัวเองแล้วลืมคนอื่น อยากจะรอดคนเดียว จากจะพ้นจากอันตรายคนเดียว แต่หน้าที่ของเราต้องห่วงใยพี่น้องของเราและต้องทำหน้าที่ในการช่วยเหลือเขา ดังที่ท่านนบีได้กล่าวว่า
من يكن في حاجة أخيه يكن الله في حاجته
ความว่า “ใครก็ตามที่ช่วยเหลือพี่น้องของเขาให้บรรลุสิ่งที่เขาต้องการ อัลลอฮ์ก็จะช่วยเหลือให้เขาได้บรรลุความต้องการของเขาเช่นกัน (ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์)”
พี่น้องมุสลิมของเราคนนึงที่ยากจนเราก็บริจาคให้ อีกคนเป็นเด็กกำพร้าเราก็ช่วยเหลือเขา เลี้ยงดูเขา คนหนึ่งต้องการความช่วยเหลือด้านการศึกษาเราก็ให้การศึกษาเขา การที่เราได้ช่วยเหลือพวกเขาเช่นนี้ก็จะเป็นสาเหตุให้อัลลอฮ์ สุบหานะฮูวะตะอาลา ได้ช่วยเหลือเราในขณะที่เรามีความต้องการ และนี่คือสิ่งที่เราต้องสั่งสอน เผยแผ่ในสังคมของเราเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคง สร้างคุณธรรม จริยธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจของพี่น้องมุสลิมของเรา
วัสสลามุอลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮ์
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 1945 views