เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
แปลโดย อบูอุบัยยฺ นาแซ
7. ในขณะที่จะดื่มน้ำซัมซัมจงเตรียมเหนียตให้ดี
ในขณะที่จะดื่มน้ำซัมซัม (เมื่อเสร็จจากการเฏาะวาฟ และละหมาดซุนนะฮฺ 2 ร็อกอะฮฺแล้ว) จงเตรียมเหนียตให้ดี ก่อนที่จะดื่มน้ำด้วยสภาพของคนที่หิวกระหาย และให้รู้สึกว่าฉันดื่มน้ำซัมซัมนี้(นอกจากเป็นการปฎิบัติตามซุนนะฮฺแล้ว)ก็เพื่อที่จะได้ชำระมลทินต่างๆออกจากจิตใจของฉัน และเพื่อขจัดสิ่งที่จะขัดขวางฉันจากความเข้าใจในคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺและรอซูลที่อยู่ในอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺ พร้อมดุอาอฺ
(( اللَّهُمَّ قَوِّ حَفْظِيْ ، وَسَدِّدْ فَهْمِيْ ،وَارْزُقْنِي الْإِصَابَةَ فِي اجْتِهَادِيْ ، وَأَعْلِ هِمَّتِيْ وَأَمْضِ عَزْمِيْ ،
وَسَهِّلْ عَلَيَّ الْعِبَادَة وَحَبِّبْهَا إِلَى قَلْبِيْ يَا أَرْحَمَ الرَّاحِمِيْنَ )) .
ความหมาย โอ้อัลลอฮฺ ขอพระองค์โปรดทรงทำให้ความจำของฉันดี โปรดทรงทำให้ความรู้ความเข้าใจในศาสนาของบ่าวนั้นถูกต้องแม่นยำ และโปรดประทานความถูกต้องแก่การอิจติฮาดของฉัน(การวินิจฉัยประเด็นศาสนา) ให้ฉันได้มีกำลังใจที่สูงส่ง(ที่จะเป็นบ่าวที่ดีและรับใช้ศาสนาของพระองค์) ให้ทรงช่วยฉัน อำนวยความสะดวกให้ฉันได้ปฏิบัติอิบาดะฮฺ และให้หัวใจของฉันรักการอิบาดะฮฺต่อพระองค์ โอ้พระผู้ทรงเมตตาปราณี
8. เมื่อท่านเดินขึ้นภูเขาเศาะฟา ให้นึกถึงการขึ้นเขาเศาะฟาของท่านนบี
และจงกล่าวว่า เราจะเริ่ม(การสะแอ)ตามที่อัลลอฮฺได้(สั่งให้)เริ่ม โดยเหนียตทำตามที่อัลลอฮฺและรอซูลสั่งใช้ และจงระลึกถึงเหตุการณ์ที่ท่านหญิงฮาญัร(ภรรยานบีอิบรอฮีม)ได้ขึ้นเขาเศาะฟาและเดินไปเดินมาระหว่างเศาะฟากับมัรวะฮฺ (สะแอ) หรือให้ระลึกว่าการสะแอนี้ก็เปรียบเสมือนการเดินทางของมนุษย์จากโลกดุนยาสู่โลกอาคิเราะฮฺ หรือเปรียบเสมือนการเดินทางกลับไปสู่สรวงสวรรค์ที่มนุษย์ถูกขับออกมาและหวังว่าจะได้กลับเข้าไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคนที่จะได้กลับเข้าไปสู่สวรรค์คือคนที่สามารถเดินทางถึงเป้าหมายด้วยความมั่นคงสมบูรณ์ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง การสะแอจำนวนเจ็ดรอบระหว่างภูเขาทั้งสองก็เปรียบเสมือนระดับวัยต่างๆของมนุษย์ ตั้งแต่แบเบาะในเปล เข้าวัยเด็ก ผ่านร้อนผ่านหนาว เข้าสู่วัยรุ่น วัยหนุ่มที่อาจขาดความรู้และดื้อรั้น ล่วงเข้าวัยฉกรรจ์ที่เข้มแข็ง จนถึงวัยแก่เฒ่า กระทั่งเป็นศพในหลุมดิน จากนั้นก็จะไปสู่สวรรค์หรือนรก เราขอพระองค์ทรงประทานจุดจบที่ดีและสวยงามแก่เราด้วยเทอญ
9. เมื่อจะโกนหรือตัดผม(หลังเสร็จสิ้นการสะแอ) ให้รู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยและอ่อนแอต่ออัลลอฮฺ
ให้สัญญาต่ออัลลอฮฺอย่างจริงใจในขณะที่เส้นผมของท่านถูกโกนหรือตัดออกไปทีละเส้นๆ ว่าท่านจะยืนหยัดในการเป็นบ่าวของพระองค์ ในขณะที่ท่านก้มหัวเพื่อโกนหรือตัดผมก็ให้รู้สึกว่าท่านยอมสยบที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้พระองค์ทรงพอพระทัย ให้ตระหนักว่าท่านจะยอมก้มหัวแด่พระผู้อภิบาลพระองค์เดียวเท่านั้น
10. ในการเฏาะวาฟวิดาอฺ จงตระเตรียมพละกำลังที่ท่านมีเพื่ออำลาบ้านของอัลลอฮฺ
เฎาะวาฟวิดาอฺนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก การที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะตอบรับอิบาดะฮฺของท่านทั้งหมดที่ทำมาจะปรากฏให้เห็นในช่วงเวลานี้ ท่านจะรู้สึกและรับรู้ได้เอง ดังนั้นจงเพียรพยายามอยู่โดยลำพัง เพื่อพินิจพิจารณาการปฏิบัติอิบาดะฮฺที่ผ่านมา จงขยันดุอาอฺ อ้อนวอน วิงวอน และหวังในการตอบรับของพระองค์ ให้หัวใจมีความรู้สึกสองอย่างพร้อมๆ กัน นั่นคือเป็นห่วง ว้าวุ่นและกังวลว่าการงานของเราจะถูกตอบรับหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็คิดดีต่ออัลลอฮฺ หวังในพระเมตตาและการตอบรับจากพระองค์ โดยไม่คิดในแง่ร้ายต่อพระองค์โดยเด็ดขาด
11. ให้ละจากสิ่งที่ไร้ประโยชน์ ทั้งกาย วาจา หรือใจ ในทุกสภาพและทุกวาระของการทำฮัจญฺหรืออุมเราะฮฺ
จงพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะหลีกเลี่ยงการกระทำ คำพูด หรือแม้แต่ความคิดถึงสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ภารกิจของอิบาดะฮฺนี้ จงละทิ้งสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่ก่อประโยชน์ใดๆ แก่ตัวท่าน
ให้ลิ้นของท่านอยู่กับการซิกรุลลอฮฺ ระลึกถึง วิงวอน ขอพร ดุอาอฺต่อพระองค์ตลอดเวลา อย่าบ่นหรือแสดงอาการไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถติด คนแน่น อากาศร้อน อาหารไม่ถูกปาก หิว กระหาย โดนคนอื่นเอาเปรียบหรือแก่งแย่งต่างๆ หรืออะไรอื่นๆทำนองนี้
จงขยันตรวจสอบตนเอง เตาบัต กลับเนื้อกลับตัว ขออภัยโทษ สำนึกและรู้สึกผิดในสิ่งที่ผ่านมา
มีตัวอย่างจากบรรดาสลัฟ(บรรพชนยุคแรก)บางท่าน ที่จะถือถุงหรือภาชนะไว้ ถ้าวันใดที่เขารู้สึกว่าตนเองไม่ทำบาปหรือไม่โอ้อวดหรือทำสิ่งที่ไร้สาระ เขาจะนำเมล็ดหรือก้อนหินเล็กๆใส่ถุง จุดประสงค์คือเพื่อจะให้เห็นว่าวันที่เราปลอดภัยจากการกระทำสิ่งเหล่านี้ช่างน้อยเหลือเกิน ไม่อาจจะเป็นผลงานที่จะนำไปพบอัลลอฮฺได้เลย
ตัวอย่างเช่นนี้เราเองก็สามารถทำได้ หากเราจะทำภารกิจอุมเราะฮฺสัก 15 วัน ก็เตรียมเมล็ดหรือเม็ดอะไรก็ได้ 15 เมล็ด วันไหนที่รู้สึกว่าเราเริ่มต้นวันโดยไม่ได้ทำบาป ไม่ได้โอ้อวด ไม่ได้ทำสิ่งที่ไร้สาระหรือบกพร่องใดๆ ก็นำเมล็ดหนึ่งใส่ลงไปในถุง แต่ถ้าเมื่อเวลาผ่านไปยังไม่ครบวันแล้วรู้สึกว่าได้ทำอะไรบางอย่างข้างต้น ก็ให้ทิ้งเม็ดที่อยู่ในถุง และให้สำนึกว่าวันนี้ท่านพลาดไปแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะพลาดโดยตั้งใจหรือพลั้งเผลอก็อย่าได้หมดกำลังใจหรือท้อแท้ แต่ให้เตาบัตตัว สำนึกผิดและเริ่มต้นใหม่ด้วยความดี หวังว่าอัลลอฮฺจะทรงเมตตา
ที่สำคัญหลังจากทำอุมเราะฮฺหรือฮัจญฺแล้วก็ให้รู้สึกหวั่นใจหรือห่วงกังวลว่าอัลลอฮฺจะรับการงานของเราหรือไม่ นั่นคือต้องไม่ตะกับบุร มั่นใจในตนเองว่าฮัจญฺหรืออุมเราะฮฺของเรา อัลลอฮฺต้องรับแน่ๆไม่ต้องกลัว ต้องไม่ให้มีความรู้สึกเช่นนี้ในหัวใจ แต่ให้รู้สึกกังวลพร้อมกับความหวังในพระเมตตาของพระองค์
อีกประการคือต้องระมัดระวังเรื่องการเล่า พูดคุยเล่น คุยโม้โอ้อวดอิบาดะฮฺของเรา (เกรงว่าจะเกิดการโอ้อวดหรือตะกับบุร) ให้ระลึกอยู่เสมอว่า
﴿ قُلْ إِنَّ صَلَاتِي وَنُسُكِي وَمَحْيَايَ وَمَمَاتِي لِلَّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ ﴾ (162) الأنعام
ความหมาย (มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิด แท้จริงการละหมาดของฉัน พิธีกรรมของฉัน การมีชีวิตของฉัน และการตายของฉัน เพื่ออัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก
หมั่นตรวจสอบตัวของท่าน อิบาดะฮฺของท่านที่ได้ทำมา ว่าถูกต้องบริสุทธิ์ใจมากน้อยแค่ไหน และคอยแก้ไขปรับปรุงอะมั้ลของท่านอยู่เสมอ (นี่ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของผู้ที่อุมเราะฮฺหรือฮัจญฺของเขาถูกตอบรับ)
และเมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน ได้พบปะครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงแล้ว ก็อย่าลืมกะอฺบะฮฺเป็นอันขาด อย่าแม้แต่จะหยุดคิดถึงมัสญิดอัลหะรอม หมั่นตรวจสอบจิตใจ สร้างความรู้สึกคิดถึง อยากมุ่งไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธ์เหล่านั้น หวังว่าเราทุกคนจะอยู่ในดุอาอฺที่ท่านนบีอิบรอฮีมได้กล่าวว่า
﴿ رَبَّنَا إِنِّي أَسْكَنْتُ مِنْ ذُرِّيَّتِي بِوَادٍ غَيْرِ ذِي زَرْعٍ عِنْدَ بَيْتِكَ الْمُحَرَّمِ رَبَّنَا لِيُقِيمُوا الصَّلَاةَ فَاجْعَلْ أَفْئِدَةً مِنَ النَّاسِ تَهْوِي إِلَيْهِمْ ...﴾ (37) سورة الإبراهيم
ความหมาย โอ้พระเจ้าของเรา แท้จริงข้าพระองค์ได้ให้ลูกหลานของข้าพระองค์พำนักอยู่ ณ ที่ราบลุ่มนี้โดยไม่มีพืชผลใดๆ ซึ่งอยู่ใกล้บ้านอันเป็นเขตหวงห้ามของพระองค์ โอ้พระเจ้าของเรา เพื่อให้พวกเขาดำรงการละหมาด ขอพระองค์ทรงให้จิตใจจากปวงมนุษย์มุ่งไปยังพวกเขา..
--- ดาวน์โหลดเอกสาร umrah.pdf ---
*แปลและเรียบเรียงจาก البَوَارِقُ المَرْعِيَّةُ المَرْئِيَّةُ في العُمْرَةِ المَرْضِيَّة ومناسك الحج العلية ، رضا أحمد صمدي - حفظه الله
- Log in to post comments
- 582 views