คำตอบ :
อัสสลามุอะลัยกุม
ไม่ใช่ละหมาดเฆ็บครับ เรียกว่า "ละหมาดฆออิบ" หมายถึง บุคคลที่ไม่อยู่ ก็หมายถึงมัยยิตที่ศพของเขาไม่อยู่ขณะละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่เขา ซึ่งหลักฐานที่รับรองการละหมาดให้แก่ฆออิบมีอยู่หลักฐานเดียวกรณีเดียวที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ละหมาดฆออิบให้แก่นะญาชีซึ่งเป็นกษัตริย์ของฮะบะชะฮฺ (ปัจจุบันคือ เอธิโอเปียและซูดาน) ซึ่งเขาได้ศรัทธาด้วยอัลอิสลามและเสียชีวิตขณะที่อยู่ในเมืองนั้น และไม่มีใครเป็นมุสลิมที่สามารถญะนาซะฮฺให้แก่เขาได้ นบีจึงแจ้งศ่อฮาบะฮฺถึงการเสียชีวิตของนะญาชีและเรียกร้องให้ศ่อฮาบะฮฺลุกขึ้นละหมาดญะนาซะฮฺ ซึ่งอุละมาอฺได้วิจัยหะดีษบทนี้และได้ผลเป็น 3 ทัศนะ
ทัศนะที่หนึ่ง บอกว่ากรณีนี้เป็นกรณีเฉพาะสำหรับท่านนบี เพราะฉะนั้นไม่มีการละหมาดฆออิบให้แก่ผู้อื่นเลย
ทัศนะที่สอง เห็นว่าการละหมาดฆออิบกระทำได้ให้แก่มัยยิตทุกคน ถึงแม้ว่าจะได้รับการละหมาดญะนาซะฮฺในเมืองของเขาหรือไม่ก็ตาม
ทัศนะที่สาม ให้ไตร่ตรองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยึดองค์ประกอบของกรณีนั้นเป็นเงื่อนไข ซึ่งหากมะยัตมีคนละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่เขาแล้ว ก็ไม่อนุญาตให้แก่พี่น้องมุสลิมในเมืองอื่นๆละหมาดญะนาซะฮฺซ้ำให้แก่เขา เพราะไม่มีแบบฉบับจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพราะสาวกของท่านนบีหลายท่านที่ได้เสียชีวิตในเมืองอื่นๆ และนบีไม่เคยละหมาดฆออิบให้แก่พวกท่านเลย แต่ถ้าหากมะยัตได้เสียชีวิตในเมืองหนึ่งเมืองใดและไม่มีมุสลิมที่จะละหมาดญะนาซะฮฺให้แก่เขาในเมืองนั้น ก็สมควรที่พี่น้องมุสลิมในเมืองอื่นๆที่ทราบถึงการเสียชีวิตของเขาให้ทำการละหมาดญะนาซะฮฺแก่มัยยิตนั้น และทัศนะนี้เป็นทัศนะที่มีน้ำหนักมากที่สุดและสอดคล้องกับองค์ประกอบของตัวบท
หากท่านได้ละหมาดฆออิบโดยไม่รู้ถึงแบบฉบับที่แท้จริงก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากท่านตระหนักในเหตุผลข้างต้นก็ไม่ควรละหมาดฆออิบต่อไปให้แก่มัยยิตที่ได้รับการละหมาดญะนาซะฮฺแล้ว และนั่นไม่ได้หมายรวมว่าท่านไม่สามารถทำอะไรให้แก่มัยยิตนั้นได้ แต่ท่านสามารถขอดุอาอฺขอความอภัยโทษให้แก่มัยยิตนั้นได้ในทุกเวลา
วัสสลามุอะลัยกุม
ริฎอ อะหมัด สมะดี
15 ต.ค. 48
- Log in to post comments
- 1126 views