วิกฤติที่ทดสอบอุดมการณ์ของผู้ศรัทธา

Submitted by dp6admin on Sat, 04/04/2009 - 01:24

วิกฤตในสังคมมุสลิมได้ปรากฏในหลายรูปแบบ ผู้เขียนขอนำเสนอสามประเด็นที่เป็นวิกฤตและก่อให้มีความวุ่นวายเกิดขึ้นในสังคมมุสลิม

ประเด็นแรก ปัญหาการดูหมิ่นท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่เป็นข่าวดังที่สุดในโลกนี้ตลอดระยะหนึ่งเดือนที่ผ่านไปแล้ว ซึ่งกระแสปัญหาดังกล่าวมายังประเทศไทยด้วยความรุนแรงเช่นเดียวกัน สังคมมุสลิมในประเทศไทยได้แสดงความกระตือรือร้นในการตอบโต้การดูหมิ่นท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่เนื่องจากปัญหาสองปัญหาที่จะพูดต่อไปจากนี้ ได้ทำให้สังคมมุสลิมไม่สามารถแสดงออกอย่างเต็มที่ซึ่งการตอบโต้เช่นที่ปรากฏในประเทศอื่นๆ

ปัญหาการดูหมิ่นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นบททดสอบที่สำคัญมากสำหรับประชาชาติอิสลามในยุคปัจจุบัน เพราะสถานการณ์ของปัญหาดังกล่าวกลายเป็นเครื่องวัดความรักต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในจิตสำนึกของมุสลิมทุกคนว่ามีมากน้อยแค่ไหน ในประเทศมุสลิมต่างๆก็มีการแสดงการตอบโต้ แต่บางรูปแบบอาจไม่เหมาะสมหรือไม่สมควร เช่น การเผาสถานทูตเดนมาร์ก ณ ประเทศซีเรียและเลบานอน และทำให้เจ้าหน้าที่รัฐปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง อาทิเช่น ในประเทศลิเบีย อัฟฆอนิสถาน และปากิสถาน ที่มีผู้เสียชีวิตหลายรายเนื่องด้วยการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม และมีหลายประเทศที่แสดงการตอบโต้ด้วยสันติวิธี เช่น การชุมนุมเดินขบวนอย่างสงบ ส่งจดหมายประท้วง และบอยคอตสินค้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว บางกลุ่มในโลกมุสลิมก็ได้ฉวยโอกาสนี้ในการขมักเขม้นเผยแผ่ศาสนาอิสลามและชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด  ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ให้แก่ชาวตะวันตกหรือผู้คนต่างศาสนิกที่อาจขาดข้อมูล อย่างไรก็ดี บทบาทของมุสลิมทั่วโลกต่อวิกฤตินี้เป็นที่น่าพึงพอใจในสายตาของผู้ศรัทธา ดังที่ เชคศอลิหฺ บินหุมัยดฺ อิมามมัสยิดหะรอม ณ มักกะฮฺนคร และสมาชิกสภาชูรอแห่งประเทศซาอุดิอาระเบียได้กล่าวไว้ในคุฏบะฮฺวันศุกร์ว่า วิกฤตินี้ได้นำมาซึ่งสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าและมุสลิมทุกคนเสียใจอย่างยิ่ง นั่นคือการดูหมิ่นท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และนำมาซึ่งความภูมิใจต่อปฏิกิริยาและท่าทีของประชาชาติอิสลามที่ออกมาลุกฮือคัดค้านและปกป้องศักดิ์ศรีของท่านนบีมุฮ้มมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

ในประเทศไทยได้มีสองเหตุการณ์ที่ผู้เขียนบอกกับท่านผู้อ่านทั้งหลายให้ทราบถึงท่าทีของสังคมมุสลิมในวิกฤติดังกล่าว เหตุการณ์แรกคือ การที่นักร้องคนหนึ่งได้ร้องเพลงโดยใช้การอ่านซูเราะฮฺอัลอิคลาศเป็นแบ็คกราวด์ แม้จะเป็นเพลงเก่าแต่ถูกนำมาบรรจุในอัลบั้มใหม่และจำหน่ายอย่างกว้างขวาง ซึ่งบรรดากลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนรีบแจ้งนักวิชาการและผู้นำในสังคม ตลอดจนองค์กรมุสลิม ในขณะนั้นกลุ่มมุสลิมรักสันติซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกก่อตั้งเพื่อแสดงจุดยืนของสังคมมุสลิมต่อความอธรรม ได้เดินขบวนประท้วงหน้าสถานทูตเดนมาร์กและนำเรื่องนักร้องดังกล่าวไปพูดปราศรัยต่อสื่อมวลชน จนกลายเป็นข่าวขึ้นหน้าแรกหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้นักร้องดังกล่าวออกมาขอโทษและเก็บอัลบัมจากท้องตลาดอย่างเป็นทางการ เหตุการณ์ที่สอง เว็บไซต์ของกลุ่มวัยรุ่นแห่งหนึ่งได้นำภาพล้อเลียนท่านนบีมาเผยโดยมีข้อความเสียดสีชาวมุสลิม ซึ่งกลุ่มผู้เข้าไปอ่านเว็บไซต์ดังกล่าวหลายคนที่เป็นมุสลิมต่างประณามและเรียกร้องให้ลบภาพออก และแจ้งนักวิชาการเพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ จึงมีการทำหนังสือโดยฝ่ายประชาสัมพันธ์ของกลุ่มมุสลิมรักสันติส่งทางอีเมล์ไปยังเว็บไซต์ดังกล่าว เรียกร้องให้ลบภาพดังกล่าวภายในเวลาสิบสองชั่วโมง มิฉะนั้นก็จะมีการดำเนินการทางกฎหมายถึงที่สุด ทางเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์ดังกล่าวก็ได้ปิดเว็บไซต์ชั่วคราวและลบภาพดังกล่าว พร้อมคำขอโทษที่ชัดเจนต่อชาวมุสลิม

สองเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นในระยะเวลาเดียวกับเหตุการณ์ภาพล้อเลียนท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์หลายฉบับทั่วโลก ซึ่งจะแสดงถึงการเคลื่อนไหวของมุสลิมในประเทศไทยที่ห่วงใยและมีความรับผิดชอบต่อศาสนาของตนอย่างน่าภูมิใจ ทั้งนี้ทั้งนั้น วิกฤติเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวก็มาในรูปแบบที่ไม่ได้คาดว่าจะเกิดขึ้นในสังคมมุสลิม เพราะในขณะนี้มุสลิมทุกคนได้มองเห็นศัตรูที่ตั้งใจทำลายล้างอิสลามอย่างเต็มที่ จึงเกิดจิตสำนึกเป็นเอกฉันท์ต่อปัญหาดังกล่าว แต่มีมุสลิมบางกลุ่มที่ออกมาสวนกระแสโลกมุสลิมทั้งปวง และเผยแพร่ทัศนะที่แปลกประหลาดต่อวิกฤติดังกล่าว คือคัดค้านการเดินขบวนและวิถีทางต่างๆที่กลุ่มมุสลิมรักนบีได้เสนอเพื่อตอบโต้กระแสการดูหมิ่นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จากชาวตะวันก รวมถึงกล่าวในทำนองว่าการดูหมิ่นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮ ิวะซัลลัม เป็นเรื่องเก่าแก่ ไม่มีหน้าที่ใดๆที่ควรปฏิบัตินอกจากการเผยแผ่ซุนนะฮฺของท่านนบีต่อไปและให้นิ่งเฉยต่อสถานการณ์อันร้อนระอุที่กำลังแพร่ไปทั่วโลกในขณะนี้ กลุ่มนี้ยังย้ำว่าการเดินขบวนเป็นบิดอะฮฺ พูดแล้วพูดเล่า ว่ากลุ่มเดินขบวนเป็นกลุ่มที่ก่อความวุ่นวายในสังคมมุสลิม จนกระทั่งเสียงของกลุ่มที่คัดค้านการเดินขบวนนั้นกลายเป็นมีเสียงดังกว่าเสียงของกลุ่มมุสลิมที่ตอบโต้ประเทศเดนมาร์กด้วยซ้ำ และสังคมมุสลิมแทนที่จะมีจุดยืนเดียวชัดเจนต่อการประณามและตอบโต้ประเทศเดนมาร์กและประเทศอื่นๆที่ดูหมิ่นท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กลับกลายเป็นประเด็นที่ยิ่งใหญ่สำหรับกลุ่มดังกล่าวว่าการเดินขบวนประท้วงเป็นบิดอะฮฺหรือไม่ จนกระทั่งมีการจัดงานจัดการวิเคราะห์เรื่องเดินขบวนว่าถูกต้องหรือไม่ ผู้เขียนคงจะไม่นำเสนอบทวิเคราะห์ต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องนี้(การเดินขบวนเป็นบิดอะฮฺหรือไม่) เพราะเป็นสาระที่กุขึ้นมาเพื่อกลบข้อบกพร่องของกลุ่มที่ไม่ได้ปกป้องศักดิ์ศรีของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่อย่างใด แต่ที่อยากจะวิเคราะห์ตรงนี้คือ ยังมีมุสลิมจำนวนหนึ่งที่ยังคล้อยตามกระแสที่ไม่มีสาระหรือกระแสที่ทำให้สังคมมุสลิมหันเหจากเรื่องสำคัญๆ ไปเอาใจใส่ต่อเรื่องที่ไม่เป็นสาระแต่อย่างใด นี่คือสภาพวิกฤติอีกนัยหนึ่งที่เกิดจากเหตุการณ์การดูหมิ่นท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทดสอบจรรยาบรรณและความรับผิดชอบของนักวิชาการและมุสลิมบางกลุ่ม  จึงได้เห็นว่ามุสลิมกลุ่มหนึ่งมีความต้องการอย่างยิ่งที่จะปลุกจิตสำนึกและความรับผิดชอบในฐานะเป็นมุสลิมหรือเป็นผู้นำในสังคม ตรงกันข้ามกับอีกกลุ่ม ซึ่งพฤติกรรมของพวกเขาไม่ต่างอะไรจากพฤติกรรมของมุนาฟิกที่ก่อกวนความสงบในนครมะดีนะฮฺ ดังที่มีระบุในซูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ อายะฮฺ 60 ซึ่งมีความหมายว่า “แน่นอน ถ้าพวกมุนาฟิกีนและบรรดาผู้ที่ในหัวใจของพวกเขามีโรค และกลุ่มผู้ก่อกวนความสงบในนรมะดีนะฮฺ ไม่ระงับ(การกระทำที่เลวทรามของพวกเขา) แน่นอน เราจะให้เจ้ามีอำนาจเหนือพวกเขา แล้วพวกเขาจะไม่กลับมาพำนักเป็นเพื่อนบ้านของเจ้าในนั้นอีก เว้นแต่เพียงชั่วเวลาอันเล็กน้อยเท่านั้น”

กลุ่มมุนาฟิกนี้ทุกยุคทุกสมัยจะเป็นสมุนอเป็นเครื่องมือของศัตรูอิสลามด้วยความตั้งใจหรือโดยไม่รู้สึกตัว เพราะมักจะก่อกวนความสงบและความเป็นเอกฉันท์ของสังคมมุสลิม(ซึ่งเป็นเรื่องที่หายากอยู่แล้ว) เพื่อให้เกิดความแตกแยกตามความประสงค์ของศัตรูอิสลาม ถึงแม้ว่าจะหวังดีก็ตาม ในเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ที่ประท้วงตอบโต้ผู้ดูหมิ่นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ยังคงทำงานต่อไปเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ด้วยจิตสำนึกและจรรยาบรรณของผู้ศรัทธาที่รักภักดีต่อท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่างแท้จริง และยังคงไม่ให้ความสำคัญต่อกลุ่มที่ก่อกวนความสงบและทำลายเอกฉันท์ของสังคมในประเด็นนี้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือสังคมมุสลิมที่จะต้องทำใจต่อกลุ่มนี้ ซึ่งจะเห็นว่าคนที่เห็นแก่ตัวหรือขาดความรู้วิชาการในสังคมของเราที่จะนำมาซึ่งข้อผิดพลาดในการตัดสินใจนั้นค่อนข้างเยอะพอสมควร เพราะฉะนั้นบรรดานักวิชาการและผู้นำสังคมจำเป็นต้องทำงานอย่างหนักเพื่อปลุกกระแสในสังคมมุสลิมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และอบรมสั่งสอนมุสลิมให้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อวิกฤติต่างๆ โดยเฉพาะในวิกฤติการณ์ที่เผชิญหน้ากับสังคมมุสลิมโดยทั่วไป

ประเด็นที่สอง กระแสทางการเมืองที่ต้องการขับไล่นายกรัฐมนตรีจากตำแหน่ง เป็นเรื่องที่ไม่ต้องบรรยายมากมาย เพราะคนในสังคมเราได้ให้ความสนใจอย่างมากทีเดียว ผู้เขียนได้สำรวจความสนใจของมุสลิมทั่วไป และเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์การดูหมิ่นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กับเหตุการณ์ขับไล่นายก ปรากฏว่ามีความสนใจและให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์หลังจะมีมากกว่า อันจะบ่งชี้ถึงอิทธิพลของสื่อมวลชนที่สามารถสร้างจุดมุ่งหมายให้แก่ประชาชน ถึงแม้ว่าจะมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญกว่าก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้หมายความว่าเรื่องไล่นายกไม่สำคัญ แต่อยากให้ผู้อ่านพินิจพิจารณาว่าทำไมวิกฤตินี้สังคมมุสลิมไม่ได้ออกมาแสดงซึ่งบทบาทที่ชัดเจน อันมีอุดมการณ์แห่งความศรัทธาและศีลธรรมของผู้ที่เป็นมุสลิม ผู้เขียนจะนำเสนอสองภาพที่ได้เห็นมาในวิกฤติดังกล่าว ภาพแรก ชาวมุสลิมภาคใต้บางจังหวัดที่เคยต่อต้านพรรคไทยรักไทยจนกระทั่งทำสถิติที่เป็นประวัติการณ์ คือคัดค้านไม่ให้ผู้แทนราษฎรจากพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมุสลิมเป็นจำนวนมาก ชาวมุสลิมกลุ่มดังกล่าวได้ออกมาให้กำลังใจกับนายกทักษิณ ซึ่งอาจเป็นทัศนคติของกลุ่มน้อย แต่ทำไมมุสลิมส่วนมากไม่มีเสียงคัดค้านนายกแม้แต่น้อย อันแสดงถึงปัญหาที่ผู้เขียนได้พิจารณาในประเด็นแรก คือจิตสำนึกและความรับผิดชอบ กล่าวคือท่าทีของสังคมมุสลิมที่ต้องแสดงออกเมื่อมีความเชื่อในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ภาพที่ สอง คือภาพกลุ่มมุสลิมบางคนที่ไปเดินขบวนชุมนุมและรวมตัวกับม็อบสนธิ ซึ่งผู้เขียนได้ทราบว่ามีการเช่ารถบัสไปร่วมชุมนุมด้วย แต่กลุ่มมุสลิมดังกล่าวไม่ได้เห็นความสำคัญที่จะร่วมประท้วงต่อสถานทูตเดนมาร์กแต่อย่างใด  จึงเป็นข้อสังเกตต่อกลุ่มดังกล่าวว่า ปัญหานายกทักษินสำคัญกว่าปัญหาการดูหมิ่นท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หรืออย่างไร

ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้เขียนมองถึงประเด็นนี้ด้วยมุมมองอื่นที่คนทั่วไปกำลังมอง กล่าวคือ ปัญหาการเมืองในประเทศไทยสมควรเอาใจใส่ต่อเมื่อจะมีผลในการพัฒนาซึ่งสภาพชีวิตของมุสลิม หรือจะนำมาซึ่งสิทธิของมุสลิมที่ยังไม่ได้รับตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง แต่ถ้าหากการเมืองจะใช้มุสลิมเป็นเครื่องมือ โดยผลประโยชน์ของมุสลิมแทบจะมองไม่เห็นนั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่ควรที่จะทุ่มเทเอาใจใส่มากนัก เพราะปัญหาของสังคมมุสลิมกับนายกทักษินไม่ใช่เรื่องทุจริตหรือการซุกหุ้น แต่ปัญหาใหญ่คือการปกครองสังคมด้วยความอธรรม และปัญหานี้นายกทักษินคงเป็นตุ๊กตาหรือหุ่นยนต์ที่มีผู้กำกับดูแลอยู่ ปัญหามุสลิมตรงนี้คือปัญหาระบอบการปกครองอันไร้จริยธรรมต่อชาวมุสลิม ขณะนี้สังคมมุสลิมกำลังรอคอยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรหลังจากการยุบสภาเพื่อบรรเทาสถานการณ์ให้เบาลง การเลือกตั้งครั้งนี้ก็จะไม่เป็นโอกาสสำหรับสังคมมุสลิมให้ต่อรองรัฐบาลชุดใหม่เพื่อพัฒนาและปรับปรุงข้อบกพร่องและผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพราะสังคมมุสลิมไม่ได้มีวิสัยทัศน์อันชัดเจนต่อสถานการณ์ดังกล่าวตั้งแต่แรก มัวแต่พิจารณาข้อมูลที่สื่อนำมาให้บริโภคโดยไม่กลับมาวิเคราะห์สภาพของตัวเองและสิ่งที่ต้องการ พอนายกยุบสภา สังคมมุสลิมจึงเริ่มคำถามว่า จะทำอะไรกันดี ? เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่องค์กรมุสลิม บรรดาผู้นำ นักการเมืองและนักวิชาการที่สังคมเคารพนับถือต้องออกมาครองเสียงมุสลิมที่จะเลือกผู้แทนราษฎร และสังคมต้องไว้วางใจองค์กรหนึ่งหรือสถาบันหนึ่งในสังคมมุสลิมให้เป็นตัวแทนในการเจรจาต่อรองกับพรรคการเมืองที่หวังว่าจเป็นรัฐบาลบริหารประเทศชาติในยุคใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นยุคแห่งการเรียกร้องสิทธิ และถ้าหากมุสลิมไม่มีผู้เรียกร้องสิทธิ มัวแต่เป็นเครื่องมือตะโกนตามกระแสของผู้อื่นนั้น ก็คงไม่มีอนาคตที่ดีงามสำหรับมุสลิมในประเทศไทย

ประเด็นที่สาม วิกฤติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คงยังเป็นปัญหาสำคัญที่อยู่ในสายตาของผู้ห่วงใยและติดตามปัญหาต่างๆในสังคมมุสลิมของเรา และปัญหานี้ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มุสลิมไทยไม่กล้าแสดงออกต่อสองปัญหาข้างต้น เพราะสถานการณ์ภาคใต้ไม่เอื้ออำนวยให้มุสลิมประกาศจุดยืนอย่างเสรีภาพ ก็เพราะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเปรียบเสมือนคุกเล็ก ซึ่งนักโทษที่อยู่ในคุกนี้ไม่สามารถแสดงความเห็นเหมือนคนทั่วไป รัฐบาลมองเห็นว่าประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประหนึ่งเป็นนักโทษ บางหน่วยในทหารและตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐมองสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีแต่อาชญากรที่ต้องปราบปราม ส่วนชาวพุทธหัวรุนแรงก็ยังมองเห็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าเป็นดินแดนของตนที่ต้องขับไล่แขกออกไป เพื่อรักษาเอกราชของประเทศชาติ ทั้งสามมุมมองนี้เป็นสายตาสั้นของคนที่ไม่พยายามรู้เท่าทันปัญหาและพยายามแก้ไขวิกฤติ ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะตำหนิฝ่ายบริหารบ้านเมือง แต่ยังมีความเชื่ออย่างหนักแน่นว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ไขได้จนกว่าชาวมุสลิมจะต้องหันหน้ามาคุยกัน เพื่อสร้างเอกภาพต่อวาระต่างๆที่ค้างอยู่มาเป็นสิบๆปีให้ประจักษ์แจ้งและเป็นทิศทางเดียว อันจะนำมาซึ่งพลังของสังคมมุสลิม อาทิเช่น กลุ่มแบ่งแยกดินแดนเรียกร้องเอกราชรัฐปัตตานีเพื่ออะไร  สังคมมุสลิมเห็นด้วยหรือไม่ ทำไม และส่วนมากเห็นอย่างไร ตัวแทนของมุสลิมที่จะเรียกร้องสิทธิของมุสลิมในแผ่นดินไทยตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมืองคือใคร และสิทธิของมุสลิมที่ถูกเหยียดหยาม ใครจะเป็นผู้ต่อรองกับฝ่ายเจ้าหน้าที่ กลุ่มต่างๆในสังคมมุสลิมพร้อมที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวในการปกป้องสิทธิของพี่น้องในแต่ละท้องถิ่นหรือจะปฏิบัติตัวตามนโยบายเดิมคือตัวใครตัวมัน สังคมมุสลิมมีความพร้อมที่จะพัฒนาองค์กรและสถาบันแกนนำให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพในการทำงานเพื่อส่วนรวมมากน้อยเท่าใด และอะไรคือมาตรการที่จะควบคุมการทำงานขององค์กรมุสลิมเพื่อส่วนรวม อนาคตอันใกล้นี้ถูกบดบังด้วยความคลุมเครือขององค์กรมุสลิมและผู้นำมุสลิม หลายๆองค์กรและหลายๆผู้นำยังไม่ให้ความประจักษ์แจ้งต่อบทบาทขององค์กรและผู้นำต่อสังคมมุสลิม ซึ่งถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องหันหน้ามาคุยกับผู้นำมุสลิมหรือตัวแทนมุสลิมอย่างเปิดใจและพยายามเสาะหาข้อบกพร่องอย่างสุจริต โดยไม่ปกป้องพวกพ้องหรือพรรคพวกเดียวกัน ปัญหากรือเซะ ตากใบ อุสตาซที่ถูกอุ้มและจำคุกโดยไร้ความยุติธรรม และทนายสมชาย ฯลฯ ต้องได้รับการแก้ไขจากฝ่ายรัฐอย่างรวดเร็ว เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจต่อสังคมมุสลิม ถึงเวลาแล้วที่สังคมมุสลิมต้องเจาะประเด็นให้ตรงเป้าหมายและสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมต้องการ เมื่อ นั้นปัญหาทุกปัญหาก็ย่อมจะได้รับการแก้ไขอย่างถูกที่ถูกทาง


ที่มา : วารสารร่มเงาอิสลาม, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

วันที่ลงบทความ : 1 มี.ค. 49