อัลกุรอานเป็นอัลหุดาวัลฟุรกอน (อัลบะเกาะเราะฮฺ 185)

Submitted by dp6admin on Fri, 03/04/2009 - 21:22

ริฎอ อะหมัด สมะดี
วารสารร่มเงาอิสลาม ตุลาคม 2548

ตัพซีร : ซูเราะตุลบะเกาะเราะฮฺ 185

﴿ شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِيْ أُنْزِلَ فِيْهِ القُرْآنُ هُدَىً لِلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الهُدَى وَالفُرْقَان  ﴾ البقرة 185

ความว่า : “เดือนรอมฎอนนั้นเป็นเดือนที่ อัลกุรอานถูกประทานลงมา ในฐานะเป็นข้อแนะนำสำหรับมนุษย์ และเป็นหลักฐานอันชัดเจนเกี่ยวกับข้อแนะนำนั้น และเกี่ยวกับสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ” 

เวลาเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และพระองค์ทรงมีเหตุผลในการกำหนดกิจกรรมในเวลานั้นต่อบรรดาบ่าวของพระองค์ เช่น การกำหนดเวลาของการละหมาดหรือเวลาของการถือศีลอด ทั้งนี้ก็ยังมีเหตุผลในการกำหนดความประเสริฐของเวลาบางเวลา ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า

﴿وَرَبُّكَ يَخْلُقُ مَا يَشَاءُ وَيَخْتَارُ﴾ القصص 68

ความว่า “และพระผู้อภิบาลของเจ้าทรงนิรมิตสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์ทรงคัดเลือก(ตามพระประสงค์ของพระองค์)” (อัลเกาะศ็อศ 68)

 

ในอายะฮฺที่ 185 ของซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺนี้ มีการกล่าวถึงเหตุผลที่เดือนรอมฎอนมีความประเสริฐยิ่ง อันเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในทำนองเดียวกับบทบัญญัติที่กล่าวถึงภาระหน้าที่ของผู้ศรัทธาในการถือศีลอดและรายละเอียดของวิธีปฏิบัติการถือศีลอด จึงเป็นเหตุผลที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติการถือศีลอดนั้นย่อมมีความตระหนักในการปฏิบัติของตน และมีความภูมิใจในความประเสริฐของเวลาที่อัลลอฮฺทรงช่วยเหลือให้มีโอกาสใช้ตามพระประสงค์ของอัลลอฮฺ

 เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา ซึ่งอัลกุรอานถูกนำมาโดยท่านญิบรีล อะลัยฮิสสลาม ยังฟากฟ้าชั้นแรกทั้งหมด และได้นำบรรดาอายาตต่างๆของอัลกุรอานตามกิจต่างๆ อัลกุรอานถูกประทานมายังชั้นฟ้าแรกในเดือนรอมฎอนและได้เริ่มถูกนำมายังโลกนี้ถึงท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในเดือนรอมฎอนเช่นเดียวกัน ซึ่งในอัลกุรอานมีการระบุช่วงเวลาด้วย ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ว่า

﴿ إِنَّا أَنْزَلْنَهُ فِيْ لَيْلَةِ القَدْرِ ﴾ القدر 1
ความว่า “เราได้ประทานมัน(อัลกุรอาน)ในคืนอัลก็อดร” (อัลก็อดรฺ 1)

ซึ่งตามบทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวกับคืนอัลก็อดรนั้นจะทราบดีว่ามันอยู่ในเดือนรอมฎอน

การที่อัลกุรอานถูกประทานลงมาในเดือนรอมฎอน เป็นการชี้ถึงความประเสริฐของเดือนรอมฎอน จึงทำให้เดือนรอมฎอนนั้นเป็นเดือนที่มีความศักดิ์สิทธิ์และความจำเริญ ดังนั้นเราควรศึกษาว่าความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดในเดือนรอมฎอนได้มาอย่างไร และมีบทเรียนแก่พวกเราตรงไหน  

ผู้ศรัทธาตระหนักดีว่าพระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงมั่งคั่ง มิต้องการมนุษย์ แต่มนุษย์ต่างหากที่ต้องการพระองค์ และผู้ศรัทธาย่อมรู้ว่ามนุษย์นั้นมีการละเมิดและท้าทายพระผู้เป็นเจ้าอย่างไร และย่อมรู้ด้วยว่าพระองค์ทรงเมตตาบรรดามนุษย์อย่างไร นี่คือภาพที่ต้องกล่าวถึงเมื่อจะพูดถึงอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมา ซึ่งเป็นแบบอย่างแห่งพระเมตตาของอัลลอฮฺที่เราต้องระลึกอยู่เสมอ เพราะการที่เรามีอัลกุรอานอยู่มาเป็นเวลานับพันปี ทำให้มีความเคยชินและละเลยความสำคัญของอัลกุรอาน แต่ถ้าหากมนุษยชาติได้ตระหนักว่าคัมภีร์อัลกุรอานนั้นมิได้ถูกประทานลงมาเพื่อเป็นประโยชน์กับพระผู้เป็นเจ้า แต่หากเป็นประโยชน์กับมนุษยชาติทั้งมวล ทั้งๆที่พระองค์อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ถูกปฏิเสธและถูกต่อต้านจากผู้ปฏิเสธศรัทธาและผู้ตั้งภาคี แต่ก็ยังทรงเมตตามนุษยชาติทั้งหลายและให้มีการติดต่อระหว่างฟากฟ้ากับโลกนี้ เพื่อให้มนุษยชาติรำลึกถึงที่มาของพวกเขา และตระหนักในแหล่งสัจธรรม

 และเนื่องจากว่าอัลกุรอานถูกประทานลงมาเพื่อเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติทั้งหลาย เราก็ต้องศึกษาว่าประโยชน์ของอัลกุรอานนั้นอยู่ตรงไหน ในสังคมปัจจุบันมีความคลาดเคลื่อนในความเข้าใจต่ออัลกุรอานว่าเป็นคัมภีร์ชนิดที่มีอิทธิพลด้านความศิริมงคล จึงถูกนำมาใช้ในทำนองนี้อย่างที่เห็นกัน อัลกุรอานจะถูกใช้เป็นพิธีในกิจกรรมต่างๆ หรือเป็นส่วนที่มีความศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่อัลกุรอานไม่ได้มีเพียงเท่านี้ เพราะส่วนสำคัญของอัลกุรอานคืออำนาจในพระบัญชาของพระองค์ต่อการปกครองแผ่นดินและนำชีวิตของมนุษยชาติไปสู่สัจธรรม และนั่นคือเนื้อหาอันชัดแจ้งที่ถูกระบุในอายะฮฺ 185 ของซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ ซึ่งนับได้ว่าเป็นวัตถุประสงค์ในการประทานอัลกุรอานลงมา อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

أُنْزِلَ فِيْهِ القُرْآنُ هُدَىً لِلنَّاسِ
ความว่า “ถูกประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำสำหรับมนุษยชาติ”

การที่อัลกุรอานเป็น ฮิดายะฮฺ(ทางนำ) หมายถึง มีอำนาจในการบริหารกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์ให้เป็นไปตามพระประสงค์ของอัลลอฮฺผู้ทรงสัจธรรม และนั่นคือรูปแบบชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และสาวกของท่าน ซึ่งอัลกุรอานจะครองเนื้อที่ทุกส่วนในชีวิตของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เกี่ยวกับครอบครัว เกี่ยวกับบุคลิกภาพ อุปนิสัย การทำธุรกิจ การปกครอง หรืออื่นๆ จะเห็นว่าพวกเขาเหล่านั้นถือว่าอัลกุรอานเป็นแนวทางสู่ความถูกต้อง และเป็นทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาทุกปัญหา และเป็นทางเลือกเดียวสำหรับผู้ศรัทธาที่ต้องการทางรอดในโลกนี้และในโลกหน้า

 พี่น้องลองศึกษาชีวประวัติของท่านนบีและศ่อฮาบะฮฺของท่าน ถ้าหากพวกเขาได้มีปัญหาหรือมีกิจกรรมใดๆ เขาจะยึดอะไรเป็นเกณฑ์ และอะไรที่จะมีอิทธิพลสูงที่สุดในการปกครอง คำตอบที่ไม่มีความขัดแย้งใดๆระหว่างนักปราชญ์คือ อัลกุรอาน เพราะอัลกุรอานเป็นธรรมนูญแห่งชีวิต หมายถึงเป็นกฎหมายเป็นข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงเทียบได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแม่ที่จะครองระบอบของสังคมในทุกส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตของมนุษย์ แต่เนื่องจากบรรดามุสลิมีนปัจจุบันห่างไกลจากระบอบการปกครองของอิสลาม จึงไม่มีใครเรียกอัลกุรอานว่าเป็น “รัฐธรรมนูญ” เพราะรัฐอิสลามได้สูญหายไปจากโลกนี้เมื่อระบอบคิลาฟะฮฺถูกยกเลิกด้วยอำนาจจักรวรรดินิยมที่เคยประกาศว่า อิทธิพลของมุสลิมในโลกนี้ขึ้นอยู่กับอัลกุรอาน เมื่ออัลกุรอานสูญหายจากชีวิตของมุสลิม นั่นคือจุดสูญหายของอำนาจของมุสลิมเช่นกัน

ก็ปรากฏเช่นนั้นจริงๆ เพราะรัฐอิสลามหมายถึงศูนย์การปกครองโลกมุสลิมที่จะใช้อัลกุรอานเป็นรัฐธรรมนูญ เมื่อถูกยกเลิกและไม่มีใครอยากฟื้นฟูระบอบนี้ กฎหมายอัลอิสลามก็จะไม่มีอำนาจสูงส่งในโลกนี้ เพราะไม่มีใครที่จะเป็นผู้ปกป้องเช่นในสมัยที่มีระบบคิลาฟะฮฺ ทั้งนี้ก็มิใช่หมายรวมว่าต้องมีรัฐจึงจะใช้อัลกุรอานเป็นกฎหมายบังคับ แต่หมายถึงอัลกุรอานต้องมีอำนาจในชีวิตของมุสลิมทุกคนด้วยตัวเอง หมายถึง ทุกคนต้องรับผิดชอบนำอัลกุรอานมาเป็นกฎหมายบังคับในชีวิตของตน โดยไม่ต้องคอยให้มีรัฐบาลจัดระเบียบการปฏิบัติกฎหมายอิสลาม เพราะอัลกุรอานเป็นทางนำในเนื้อหาของโองการและพระบัญญัติ โดยที่ทุกคนสามารถศึกษา ทำความเข้าใจ และนำไปปฏิบัติได้

 จากนี้ต้องมีคำถามเกิดในใจของผู้ศรัทธาทุกๆคน ว่าอัลกุรอานเป็นทางนำในชีวิตของเราหรือไม่ คำถามนี้ต้องได้คำตอบจากผู้ที่ใช้อัลกุรอานเป็นลายศิลปะประดับสุเหร่าหรือบ้านเท่านั้น พอเข้ามัสยิดหรือบ้านของตัวเองก็จะพบอัลกุรอานเป็นผนังทุกด้านอย่างสง่างาม และต้องถามผู้ที่ใช้อัลกุรอานในพิธีสมรสหรืออ่านอัลกุรอานขณะมีคนตายเท่านั้น ซึ่งจะพบว่าการอ่านอัลกุรอานในขณะนั้นมีความไพเราะอย่างน่าชื่นชม แต่หามีประโยชน์เช่นที่กล่าวข้างต้นไม่ ซึ่งเป็นสิ่งประหลาดอย่างยิ่งที่เราได้เห็นคนละหมาดอ่านบทบัญญัติที่ห้ามกินริบา แต่พอออกนอกมัสยิดเสมือนตั้งใจทำลายสิ่งที่เพิ่งอ่านในการละหมาด

นั่นเป็นภาพที่เห็นประจำในสังคมมุสลิมปัจจุบัน อัลกุรอานกลายเป็นสำนวนอ่านอย่างเดียว แต่เนื้อหาของสำนวนแทบไม่มีความสำคัญในชีวิตของมุสลิม ดังนั้นสังคมมุสลิมมีหน้าที่ทบทวนบทบาทอัลกุรอานและอำนาจของบทบัญญัติของอัลลอฮฺ โดยเฉพาะในเดือนรอมฎอนซึ่งเป็นเทศกาลที่ถูกผูกพันไว้กับการประทานอัลกุรอานลงมา อันเป็นจุดเด่นของเดือนรอมฎอนที่ทุกคนทราบดี สังคมมุสลิมรณรงค์การอ่านอัลกุรอานอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะช่วงละหมาดตะรอเวียะหฺ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันในเดือนรอมฎอน แต่เราต้องการให้การทบทวนอัลกุรอานนี้มีประสิทธิภาพด้วยการทบทวนตำแหน่งและคุณค่าของอัลกุรอานในความเชื่อของเรา

 เมื่อตรวจสอบสภาพสังคมมุสลิมจะพบว่าสิ่งที่นำหน้าและยึดอันดับแรกในบรรดาจุดประสงค์ของผู้คน คือเรื่องรายได้ ถัดมาก็คือการแสวงหาความสุขรวมถึงความบันเทิงและความสนุกสนาน ผลสรุปนี้ได้มาจากการตรวจสอบจำนวนสถาบันที่มีกิจกรรมในสังคม ซึ่งบริษัทร้านค้าและห้างหุ้นส่วนจะเป็นสถาบันที่มีจำนวนมากที่สุด ถัดมาก็คือบรรดาสถานที่อำนวยความบันเทิงและสนุกสนานแก่ประชาชน นั่นเป็นแง่คิดที่จะทำให้เราต้องพิจารณาสภาพความเป็นมุสลิมของเรา ด้วยการพิจารณาเนื้อที่ของอัลกุรอานในชีวิตของเรา การอ่าน ท่องจำ หรือฟังอัลกุรอานนั้น ไม่ใช่เครื่องวัดที่จะบ่งชี้ถึงความศรัทธาที่แท้จริงต่ออัลกุรอาน หากอัลกุรอานไม่มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรา

 ในอายะฮฺ 185 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสถึงหลักฐานอันชัดเจนซึ่งมีอยู่ในอัลกุรอาน สำหรับทุกประเด็นในชีวิตของมนุษยชาติ ทุกคำถามย่อมมีคำตอบ และทุกปัญหาย่อมมีการแก้ไขในอัลกุรอาน ปัญหาครอบครัว การปกครองแผ่นดิน หรือป ัญหาเศรษฐกิจ จะพบแนวทางแก้ไขในอัลกุรอานอย่างแน่นอน แต่มนุษย์ที่ไม่ตระหนักและไม่ยอมเชื่อในอำนาจของอัลกุรอาน มักจะห่างไกลจากโอกาสเข้าใจอัลกุรอาน จึงทำให้ผู้นั้นไม่สัมผัสความสำคัญของอัลกุรอาน และผลสุดท้ายอัลกุรอานจะกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายในชีวิตของเขา

 อนึ่ง อัลกุรอานเป็นบรรทัดฐานในการจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ ซึ่งอายะฮฺนี้ได้กล่าวถึงคำว่า อัลฟุรกอน หมายถึง สิ่งที่จำแนก อัลกุรอานเป็นบรรทัดจำแนกระหว่างทางนำกับทางหลง เพราะพระผู้ทรงบัญญัติอัลกุรอานคือพระผู้ทรงปรารถนาให้มนุษยชาติบรรลุสัจธรรม อันเป็นพระประสงค์ที่จะค้ำประกันพระดำรัสของอัลลอฮฺให้เป็นแนวทางที่ถูกต้องเสมอไป หมายถึง ผู้ใดใช้อัลกุรอานเป็นกฎเกณฑ์ในชีวิตของตน ย่อมมีโอกาสสูงที่จะยึดมั่นในสัจธรรม และผู้ใดที่ไม่ถืออัลกุรอานเป็นบรรทัดฐานในชีวิตของตน ย่อมมีโอกาสสูงที่จะสับสนและหลงผิด ดังนั้นมนุษย์ทุกคนต้องมีบรรทัดฐานที่อ้างถึงพระดำรัสของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นหลักฐาน และให้อิทธิพลของอัลกุรอานเหนืออิทธิพลของบรรทัดฐานอื่น เช่น สติปัญญา หลักประเพณี หรือความเชื่อที่มีกระแสแรงในสังคม เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีความสับสน ผู้ที่ใช้อัลกุรอานเป็นแนววิเคราะห์และตัดสิน จะประสบความกระจ่างและได้มีผลสัมฤทธิ์ในการแสวงหาความสบายใจต่อปัญหาต่างๆ เพราะการยึดมั่นในอัลกุรอานทำให้ผู้ศรัทธานั้นมีความเชื่อมั่นในขั้นตอนของการวิเคราะห์ปัญหา โดยอัลกุรอานนั้นเป็นสิ่งที่ประกันมิให้หลงผิด

 เดือนรอมฎอนทุกปี บรรดาผู้ศรัทธามีหมายนัดกับอัลกุรอาน มิใช่เพียงทบทวนสำนวนหรือความจำ แต่เพื่อทบทวนอำนาจของอัลกุรอาน ซึ่งเป็นความโปรดปรานอันใหญ่หลวงที่ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ฝากไว้กับมนุษยชาติ และเป็นเกียรติยศที่พวกเราจะถูกสอบสวนวันกิยามะฮฺ ว่าได้รักษาและอนุรักษ์เกียรติยศนี้อย่างไร อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า

﴿وَإِنَّهُ لَذِكْرٌ لَكَ وَلِقَوْمِكَ وَسَوْفَ تُسْأَلُوْنَ﴾ الزخرف 44

ความว่า “และมันเป็นเกียรติสำหรับเจ้าและประชาชาติของเจ้า และพวกเจ้าทั้งหลายจะถูกสอบสวนอย่างแน่นอน” (อัลซุครุฟ 44)

 


 

 

อัลหุดาวัลฟุรกอน (อัลบะเกาะเราะฮฺ 185)