คำตอบ
ผู้ตอบ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
-------
คำตอบ
ประการแรกและสำคัญที่สุด เขาต้องมีคำตอบว่าการที่เขาจะแต่งงานคนที่สองนั้นมีประโยชน์ (مَصْلَحَة) และไม่มีความเสียหาย (مَفْسَدَةٌ) ถ้ามีความเสียหายมากกว่าประโยชน์ต้องพิจารณาใหม่ หรือถ้ามีประโยชน์มากกว่าความเสียหายก็ต้องดูว่าความเสียหายนั้นพอที่จะรับได้ไหม
เป็นที่รู้กันว่าเมื่อมุสลิมแต่งงานคนที่สอง-สาม-สี่มักจะตามมาด้วยหลายปัญหาภายในครอบครัว และปัญหาที่ขอใช้คำว่า ‘ทางพาณิชย์’ เป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสตางค์ เกี่ยวกับความรับผิดชอบ
ถ้าเรามองสถาบันครอบครัว มันก็เหมือนกับบริษัทหนึ่ง คุณตั้งบริษัทแล้วมีพนักงานก็ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่เรียกเขามาใช้แล้วไม่มีเงินเดือนให้ มุสลิมแต่งงานแล้วก็ต้องรับผิดชอบครอบครัว ต้องรับผิดชอบภรรยาและลูกที่มี ไม่ใช่ว่าอยากมีภรรยาคนที่สองแล้วไปประหยัดค่าใช้จ่ายของครอบครัวแรกเพื่อเอามาแบ่งให้ครอบครัวที่สอง โดยให้ครอบครัวแรกเดือดร้อนไป หรือบางทีคนที่ไม่มีจรรยาบรรณเลยก็ถึงกับงดการจ่ายค่าใช้จ่ายให้ครอบครัวแรกไปเลย อ้างว่าภรรยาคนแรกทำงานหาเงินได้ อย่างนี้ไม่ถูกต้องตามหลักการศาสนา
อยากให้พี่น้องเข้าใจว่าตามหลักการศาสนาแล้ว ผู้ชายต้องรับผิดชอบทุกอย่างในครอบครัว ต่อให้ภรรยาเป็นมหาเศรษฐี ก็ไม่วาญิบสำหรับเธอที่จะต้องมาออกค่าใช้จ่ายให้ครอบครัว แต่ถ้าเธอสมัครใจก็ว่ากันอีกที เรื่องสตางค์นี่บางคนอาจบอกว่า โฮ้ย มันเรื่องเล็ก อย่าไปสนใจ ไม่ใช่นะครับ ถ้าเป็นเรื่องเล็ก ศาสนาจะไม่ให้น้ำหนักถึงขนาดเอาไปใช้เป็นสาเหตุฟ้องหย่าได้ เพราะสามีที่ไม่รับผิดชอบค่านะฟะเกาะฮ์นั้น ภรรยาสามารถฟ้องขอหย่าได้ จึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอย่างที่บางคนบอกว่าเรื่องริซกีเป็นเรื่องความเชื่อมั่น อย่าไปซีเรียส ไม่ใช่นะครับ มันเป็นปัจจัยสำคัญที่เราต้องคำนึง
ประการต่อมา มุสลิมจะแต่งงานไม่ว่าคนที่เท่าไหร่ต้องมีวัตถุประสงค์ คือเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต เราจะบอกได้อย่างไรครับว่าเราจะแต่งงานคนที่สอง สาม สี่ เพื่อความมั่นคงของชีวิต หากเห็นๆอยู่ว่ามันกำลังทำลายความมั่นคงของทั้งตัวคุณและครอบครัวคุณ
บางทีเราคิดอะไร อย่ายึดแค่ว่าศาสนาอนุญาต เช่น ศาสนาอนุญาตให้ทานน้ำตาลได้ แต่ถ้าเราเป็นเบาหวานเราต้องมาหาหลักฐานว่าน้ำตาลกินไม่ได้หรือ มันมีหลักการทั่วๆไปอยู่ว่าอันตรายอย่าไปยุ่ง (لاَ ضَرَرَ وَلاَ ضِرَارَ ) อย่าก่อความเสียหายบนแผ่นดิน ( وَلَا تُفْسِدُوا فِي الْأَرْض بَعْد إِصْلَاحهَا)
ความรับผิดชอบต่อครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเว้นไม่ได้ ท่านนบีบอกว่า “เป็นความผิดเพียงพอแล้ว สำหรับผู้ที่ละเว้นการให้ค่าใช้จ่ายแก่ครอบครัว” ฉะนั้นแม้หลักการศาสนาจะไม่ได้ให้รายละเอียดในเรื่องเงื่อนไขการแต่งงานภรรยาที่สอง แต่เราสามารถตีความได้เลยว่าเงื่อนไขของการมีคนที่สองก็เหมือนกับการมีคนที่หนึ่งนั่นแหละ
สมัยก่อนที่คุณจะแต่งงานคนแรกน่ะ คุณมีความสามารถจะแต่งงานได้ไหม ที่บางคนบรรลุศาสนภาวะแล้ว แต่ก็ยังไม่แต่ง เลื่อนไปเพราะอะไร คำตอบคือเพราะไม่พร้อม แสดงว่ามันเกี่ยวกับเรื่องความพร้อม ถามว่าความพร้อมนี่หมายถึงเรื่องสตางค์อย่างเดียวหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ บางทีก็พร้อมด้านสตางค์แล้ว แต่ไม่พร้อมด้านอื่น เอ้า ก็ไม่ว่ากัน ทีนี้พอจะแต่งงานคนที่สองทำไมเราถึงจะไม่คำนึงถึงปัจจัยและเงื่อนไขอื่นๆ ด้วยล่ะครับ
มันไม่สามารถกำหนดได้ตายตัว หนึ่ง สอง สาม สี่ ว่าถ้ามีครบอย่างนี้ก็แต่งได้ ไม่ครบก็แต่งไม่ได้ ขอให้วินิจฉัยสภาพของตัวเอง แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมาถามผมว่าแต่งงานคนที่สองได้ไหม ผมอกได้ สำหรับคุณน่ะได้ บางคนอาจวาญิบด้วยซ้ำไป แต่บางคนมาถามผมด้วยคำถามเดียวกัน ผมบอกว่าอย่าเลย แต่งไปแล้ว เกรงว่าชีวิตจะพัง ฉะนั้นผมบอกคำตอตายตัวไม่ได้ แต่ละคนรู้สภาพตัวเองดี รู้ว่าตัวเองจะบริหารได้มากน้อยแค่ไหน ขอให้ใช้ดุลยพินิจตามปัจจัยของชีวิตแต่ละคน
ขอให้ทราบนะครับว่าเรื่องแต่งงานคนที่สองนี่ ศาสนาระบุว่า
فَانكِحُوا مَا طَابَ لَكُم مِّنَ النِّسَاءِ مَثْنَىٰ وَثُلَاثَ وَرُبَاعَ
“จงแต่งงานกับสตรีที่มีความดีงามแม้ว่าจะสอง หรือสาม หรือสี่ ก็ตาม” (ซูเราะฮ์อันนิสาอ์ อายะฮ์ที่ 3)
طَابَ ในอายะฮ์นี้แปลว่าดี คือแต่งแล้วดี ลองพิจารณาดูว่าที่ท่านจะแต่งนี้ดีตามที่ตัวเองต้องการ หรือดีสำหรับครอบครัวทั้งหมด
บางคนมาถามผมว่า จะแต่งคนต่อไปต้องขออนุญาตคนแรกไหม ? ผมบอกไม่ต้อง แต่ถ้าขอก็ดี ทำไมล่ะ เพราะมันสร้างความมั่นคง ถามว่าถ้าแต่งงานโดยไม่บอกภรรยาคนแรก การแต่งงานใช้ได้ไหม ใช้ได้ครับ ถ้ามีเงื่อนไขครบ แต่มันต้องมีการประกาศ เพราะอย่างหนึ่งที่ทำให้การแต่งงานต่างกับซินาก็คือการประกาศให้สังคมรู้ แล้วถามว่าถ้าท่านประกาศแล้วโดยที่ภรรยาคนแรกไม่รู้ เขาจะรู้สึกอย่างไร จะเสียใจไหม คุณอาจบอกว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิดนี่ ก็ถ้าท่านไม่ได้ทำอะไรผิด เป็นลูกผู้ชาย เป็นผู้นำครอบครัว คุณก็บอกเธอไปสิ ว่าฉันจะแต่งงานนะ บอกไปตามตรง ขอความร่วมมือ
เป็นที่รู้กันว่าเรื่องนี้ในสังคมของเราผู้หญิงส่วนมากเขารับไม่ได้ ไม่ใช่ไม่รับหลักการนะ ไม่มีใครไม่รับหลักการ ไม่รับหลักการนี่มุรตัดเลย ไม่ใช่มุสลิมะฮ์แล้ว แต่เขาทำใจรับไม่ได้กรณีสามีตัวเอง ไม่อยากให้ไปแต่งงานใหม่ อันนี้เป็นเรื่องความหวงแหน ผู้ชายก็มี ผู้หญิงก็มี แต่ผู้หญิงอาจมากกว่า ถ้าเขาไม่ยอม เราก็ต้องบริหารให้เรื่องต่างๆสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่เราต้องการจะแต่งงาน
เรื่องนี้หลายคนเลยนะครับไปตามกระแส ไม่ค่อยคำนึงถึงจรรยาบรรณของหัวหน้าครอบครัว คนเป็นเจ้าของบริษัทจะไม่รับผิดชอบพนักงานได้ไหม ไม่ได้ แล้วนี่ไม่ใช่พนักงานนะครับ เป็นเลือด เป็นเนื้อของเรา เป็นภรรยาของเรา ลูกของเรา เราต้องคำนึงถึงพวกเขา เราจะได้มีเหตุมีผลในการดำรงชีวิตยู่
ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องรับทราบนะครับว่าการแต่งงานคนที่สอง สาม สี่นี้เป็นหลักการศาสนาที่ชัดเจน ไม่ต้องขออนุญาติใครทั้งสิ้น ถ้าสามีตัดสินใจจะแต่งงานก็เป็นเอกสิทธิ์ของเขา นี่เป็นหลักการที่เราต้องยืนยัน ละเมิดไม่ได้ครับ
ถอดความโดย คนคนหนึ่ง
Credit...Ummu Maryam wa Abdurrahman, Nurhayatee Binti Sulaiman
- Log in to post comments
- 92 views