1006 วิชาตะเซาวุฟ

Submitted by dp6admin on Thu, 09/04/2009 - 01:41
คำถาม
ความรู้ในวิชาตะเซาวุฟ มีที่มาอย่างไรครับ

 

คำตอบ

อัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ

วิชาตะเซาวุฟเป็นวิชาที่ถูกอุตริขึ้น เริ่มต้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 หรือ 5 หมายถึงรูปร่างและชื่อวิชา ซึ่งเป็นวิชาที่จะกล่าวถึงสมถะและจริยธรรมเป็นหลัก รวมถึงการปฏิบัติศาสนกิจอย่างมีศิลปะและความสวยงาม เนื้อหาของวิชานี้มีอยู่ในตัวบททั้งในอัลกุรอานและซุนนะฮฺ จนถึงคำปรัชญาของบรรดาศ่อฮาบะฮฺและอัสสะละฟุศศอลิหฺ ซึ่งในศตวรรษแรกๆ โดยเฉพาะในยุคอัสสะละฟุศศอลิหฺจะมีวิชานี้ผนวกอยู่ในวิชาหะดีษ ซึ่งบรรดาอุละมาอฺจะแต่งหนังสือที่รวบรวมตัวบทที่เกี่ยวกับเนื้อหาวิชานี้แต่จะใช้คำว่า "อัซซุหดฺ" คือ "สมถะ" อาทิเช่น "อัซซุหดฺ" ของอิมามวะกีอฺ อิบนุลญัรรอหฺ และหนังสือ "อัซซุหดฺ" ของอิมามอะหมัด อิบนุฮัมบาลียฺ และหนังสือ "อัซซุหดฺ" เช่นเดียวกันของอิมามอิบนุอบีอาศิม ต่อจากนั้นก็เริ่มมีนักปราชญ์ที่วิเคราะห์ปัญหาทางจิตใจอย่างลึกซึ้ง เช่น อัลฮาริษ อัลมุฮาสิบียฺ และอบูฏอลิบ อัลมักกียฺ สองท่านนี้เป็นผู้ริเริ่มขยายความเกี่ยวกับตัวบทที่เกี่ยวกับเรื่องสมถะ โดยจะเน้นความยำเกรงต่ออัลลอฮฺและปฏิบัติตัวให้เคร่งครัด ซึ่งเนื้อหาของตำราของสองท่านนี้ เช่น "อุตุลกุลูบ" ของอบีฏอลิบ อัลมักกียฺ และ "อัรริอายะฮฺ" ของอัลฮาริษ อัลมุฮาสิบียฺ ยังคงอยู่ในกรอบและหลักซุนนะฮฺเป็นส่วนมาก

แต่เมื่อถึงศตวรรษที่ 4 ที่ 5 กระแสการแต่งหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องสมถะเริ่มเข้มข้น ซึ่งจะปะปนกับเรื่องปรัชญาและแนวสมถะที่บ่าไหลมาจากวัฒนธรรมและศาสนาอื่น เช่น สมถะ ในศาสนาฮินดู พราหมณ์ และพุทธ อันเป็นบรรดาวัฒนธรรมที่อยู่ในดินแดนที่อิสลามได้พิชิต จึงได้รับอิทธิพลของประชาชาติที่เคยมีแนวสมถะดังกล่าวและเข้ามาเป็นมุสลิม ผู้แรกที่ได้ผนวกสมถะในแนวอิสลามบริสุทธิ์กับสมถะในลัทธิและศาสนาอื่นๆคือ อิมามอบูฮานีฟ อัลฆ่อซาลียฺ  ท่านได้เริ่มเปลี่ยนแปลงชีวิตหลังจากที่ได้รับการศึกษาทางนิติศาสตร์อิสลามอย่างกว้างขวาง จนถึงจุดที่พวกตะเซาวุฟเขาเรียน "ตรัสรู้" หรือ "อัลมะอฺริฟะฮฺ" หมายถึง ความรู้ที่แท้จริง อัลฆ่อซาลียฺจึงเริ่มกระบวนการตั้งหลักสูตรตะเซาวุฟอย่างเป็นวิชาการ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็จะเป็นเนื้อหาที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน โดยท่านได้ตั้งหลักสูตรสำหรับผู้แสวงหา ตรัสรู้ หรืออัลมะอฺริฟะฮฺ เป็น 3 ขั้น

  • ขั้นแรก ก็ได้แต่งหนังสือ ฮิดายะตุ้ลฮิดายะฮฺ
  • ขั้นที่สอง หนังสือมินฮาจ อัลกอสิดีน
  • ขั้นที่สาม อิหฺยาอุลูมุดดีน

 

กลุ่มซูฟีและตะรีกัตได้ถืออิมามฆ่อซาลียฺเป็นบุคคลสำคัญที่ก่อตั้งโครงสร้างวิชาตะเซาวุฟ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าในเนื้อหาของหนังสือของอิมามฆ่อซาลียฺ มีสาระที่เป็นประโยชน์ ดังที่อุละมาอฺหลายท่านได้กล่าว เช่น ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง อาทิเช่น หะดีษเมาฎูวฺและฎออีฟอย่างมากมาย จึงทำให้นักปราชญ์หะดีษ เช่น อิมามอัลอิรอกียฺ ต้องตรวจสอบและให้คำชี้แนะเกี่ยวกับตำแหน่งหะดีษของอิหฺยาอุลูมุดดีน ในหนังสือ "อัลอัสฟาร ฟีฮัมริลอัสฟาร บิตัครีจญฺมาฟียฺ อิหฺญาอิอุลูมิดดีน มินัลอาษาร" และอุละมาอฺอื่นๆที่รู้ถึงคุณค่าของเนื้อหาบางประการในอิหฺยาอุลูมุดดีน ต้องคัดหนังสือให้มีเพียงเนื้อหาที่ไม่คลาดเคลื่อน เช่น อิมามอิบนุกุดามะฮฺได้ย่อหนังสืออิหฺยาอุลูมุดดีน และอิมามญะมาลุดดีน อัลกอศิมียฺ ศตวรรษที่ 13 (ฮ.ศ.) ก็ได้ย่อหนังสืออิหฺยาอุอุลูมุดดีนเช่นเดียวกัน ไว้ในหนังสือเล่มหนึ่งเรียกว่า "เอาอิซอตุลมุอฺมินีน ฟิคติซอริ อิหฺยาอิอุลูมิดดีน" และอุละมาอฺอื่นๆเช่นเดียวกันที่พยายามย่อหนังสืออิหฺยาอุลูมุดดีน โดยคัดเนื้อหาที่ไม่มีความคลาดเคลื่อน อุละมาอฺเหล่านี้ล้วนเป็นนักวิชาการที่มีความเคร่งครัดด้านซุนนะฮฺและอะกีดะฮฺของอัสสะละฟุศศอลิหฺ จึงทำให้หนังสือที่พวกท่านได้ย่อมาจากอิหฺยาอุลูมุดดีน ปราศจากความคลาดเคลื่อนด้านอะกีดะฮฺและบิดอะฮฺต่างๆ เพราะอัลฆ่อซาลียฺโดยพื้นฐานการศึกษาอะกีดะฮฺของท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในอะกีดะฮฺอัชอารียะฮฺ และโดยพื้นฐานด้านตะเซาวุฟถือว่าเป็นกลุ่มซูฟีที่มความคลาดเคลื่อนมากพอสมควร ดังนั้นอุละมาอฺซุนนะฮฺจึงไม่มีใครแนะนำให้อ่านหนังสืออิหฺยาอฺอุลูมุดดีน เว้นแต่ผู้เชี่ยวชาญและหนักแน่นในแนวทางซุนนะฮฺและความรู้ด้านศาสนา

หนังสืออิหฺยาอุลูมุดดีนกลายเป็นต้นตำรับของกลุ่มตะรีกัตและซูฟี โดยเฉพาะในเรื่องอุตริกรรม(บิดอะฮฺ)และการปฏิบัติอิบาดะฮฺที่บิดเบือนไปจากแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อาทิเช่น การใช้ดนตรีเป็นวิธีสร้างความซาบซึ้งให้แก่จิตใจ ซึ่งฆ่อซาลียฺได้วิเคราะห์เรื่องนี้ในหัวข้อ "อัสสะมาอฺ" ในหนังสืออิหฺยาอุลูมุดดีน และเนื้อหานี้ส่วนมากถูกลอกมาจากหนังสือ "อัรริซาละฮฺ" ของอัลกุชัยรียฺ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิชาตะเซาวุฟในศตวรรษที่ 5 ก่อนยุคฆ่อซาลียฺไม่นานนัก ในหนังสืออัรริซาละฮฺมีการพูดถึงความสำคัญที่ซูฟียฺต้องฟังบทกลอนเกี่ยวกับความสมถะด้วยทำนองและดนตรี เพื่อสร้างจิตใจอันสงบและความซาบซึ้งในเนื้อหาแห่งสมถะ ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺรู้ถึงอันตรายของเนื้อหานี้ จึงได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งตอบโต้เรื่องนี้โดยเฉพาะ และได้กล่าวถึงแนวทางของอัสสะละฟุศศอลิหฺเกี่ยวกับเรื่องสมถะ ผู้ใดอ่านหนังสือเล่มนี้จะสามารถเข้าความคลาดเคลื่อนของกลุ่มซูฟียฺอย่างดี 

แนวตะเซาวุฟของฆ่อซาลียฺเป็นแนวทางที่มีความคลาดเคลื่อน แต่ก็ยังมีแนวที่รุนแรงและบิดเบือนมากกว่านี้ นั่นคือ "แนวตะเซาวุฟฟัลสะฟียฺ" ซึ่งเป็นวิชาตะเซาวุฟที่ปะปนกับแนวปรัชญาล้วนๆ จึงทำให้มีความเชื่อที่บิดเบือนหลักอะกีดะฮฺของอิสลามอย่างรุนแรง แนวตะเซาวุฟนี้ได้มีนักปราชญ์หลายคนที่แต่งตำรับตำราสนับสนุนผลักดันให้ความคิดดังกล่าวเป็นกระแสที่มีความรุนแรงตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 เป็นต้นมา โดยผู้ที่มีชื่อเสียงในแนวนี้คือ อิบนุอะรอบียฺ อิบนุสับอีน อัลฮัลลาจญฺ สามคนนี้ล้วนเป็นผู้ที่อุตริเรื่อง "วะหฺดะตุ้ลวุญูด" ให้เป็นจุดมุ่งหมายของบรรดาซูฟียฺทั้งหลาย วะหฺดะตุ้ลวุญูดนี้คือ "ตรัสรู้" แต่ได้ตีความให้มีรูปธรรมในเชิงเชื่อและปฏิบัติ เพราะ "ตรัสรู้" ในความคิดของกลุ่มนี้หมายถึง เชื่อและรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นส่วนหนึ่งจากพระเจ้า เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อนในวงผู้ที่กล่าวถึงวิชาตะเซาวุฟ จนกระทั่งถูกบรรจุเป็นตำแหน่งดีเลิศของซูฟียฺที่ขยันทำอิบาดะฮฺ และความคิดนี้ถูกพัฒนาด้วยการวิคราะห์ของกลุมตะรีกัตหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอัลฮัลลาจญฺ ซึ่งเป็นผู้แรกที่ประกาศว่าผู้ถึงจุดตรัสรู้จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นพระเจ้า จึงไม่ควรทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺแต่อย่างใด อุละมาอฺในยุคนั้นจึงดำเนินคดีกับอัลฮัลลาจญฺและพิพากษาประหารชีวิต เพราะความคิดของเขาได้แพร่ไปทั่วโลกมุสลิม จึงสร้างความเสื่อมเสียกับจริยธรรมและความมั่นคงในสังคม

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้วิชาตะเซาวุฟกลายเป็นวิชาที่ถูกบรรจุในกระบวนการการศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ และสถาบันการศึกษาที่มีความเลื่อมใสกับแนวตะเซาวุฟ ซึ่งอุละมาอฺได้มี 3 ทัศนะต่อวิชานี้ สองทัศนะที่รุนแรงคือ ทัศนะหนึ่งเห็นชอบและสนับสนุนให้ศึกษาเรียนรู้วิชานี้ถึงขั้นบรรจุเป็นหลักสูตรฟัรฎูอีน และอีกทัศนะที่ปฏิเสธวิชานี้อย่างสิ้นเชิง แต่มีทัศนะกลางที่กล่าวว่าบางตำราในวิชานี้ย่อมมีประโยชน์ระดับหนึ่ง ก็คัดส่วนที่เป็นประโยชน์และมีตัวบทให้เอามาใช้ และส่วนที่คลาดเคลื่อนก็ปฏิเสธและตักเตือนมิให้ใช้เสีย ส่วนตำราที่มีความคลาดเคลื่อนเป็นส่วนมากก็ไม่อนุญาตให้เอามาใช้เป็นอันขาด และนี่คือทัศนะโดยสรุปของชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺเมื่อถูกถามถึงหนังสืออิหฺยาอุลูมุดดีน ทั้งนี้ทั้งนั้นถ้าหากมุสลิมยังไม่มีความหนักแน่นในด้านวิชาการหรือความรู้และแนวทางซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องกับวิชาตะเซาวุฟโดยเด็ดขาด เพราะความไม่มั่นคงด้านวิชาการอาจเป็นประตูที่จะทำให้หลงผิด

สุดท้ายนี้ผมต้องพูดอย่างชัดเจนว่าถ้ามุสลิมไม่เรียนรู้วิชาตะเซาวุฟ ก็ไม่ถือว่าบกพร่องแต่อย่างใด และไม่ขาดทุนแต่อย่างใด ต่อเมื่อยึดมั่นในกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺอย่างครบถ้วน ซึ่งแนวทางของอัสสะละฟุศศอลิหฺเกี่ยวกับเรื่องความสมถะมีเพียงพอสำหรับชาวซุนนะฮฺ แต่สำหรับคนที่อยากเสาะหาความรู้ ก็ขอให้คำนึงถึงข้อแนะนำที่นำเสนอข้างต้น และขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ประทานความหนักแน่นและเข้มแข็งบนแนวทางซุนนะฮฺของท่านนบีโดยทั่วกัน

วัสสลามุอะลัยกุม วะเราะหฺมะตุ้ลลอฮฺ วะบะร่อกาตุฮฺ

ริฎอ อะหมัด สมะดี
29 ก.ย. 48

วันที่ตอบ