ในโลกของเรามีการเผชิญหน้าระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ และสิ่งที่กำลังเป็นการท้าทายที่ยิ่งใหญ่คือการแข่งขันระหว่างระบอบการปกครอง อันเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกปัจจุบันนี้สับสนอลหม่านวุ่นวายไปหมด เนื่องด้วยผลประโยชน์ของแต่ละระบอบที่ต้องการล่าอาณานิคม เพื่อกระจายอำนาจของตนในการควบคุมประชาชน ทรัพยากร และดินแดน มันเป็นจักรวรรดินิยมที่เปลี่ยนรูปแบบไปทุกยุคทุกสมัย ในยุคโลกาภิวัตรนี้ระบอบการปกครองที่ถูกนำเสนอยังประชาคมโลกก็นำมาจากวัฒนธรรมตะวันตก(เจ้าแห่งจักรวรรดินิยม)ซึ่งก็คือระบอบประชาธิปไตย อันเป็นสาระสำคัญในเนื้อหาของโลกาภิวัตร ซึ่งระบอบประชาธิปไตยนั้นมีหลายทฤษฎี หลายรูปแบบ หลายมุมมอง แต่ระบอบประชาธิปไตยที่ถูกเสนอต่อโลกให้เป็นแบบฉบับแห่งประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองประชาธิปไตยในทัศนะของประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งๆที่ประเทศอื่นที่เป็นผู้นำในการใช้ระบอบประชาธิปไตยนี้ก็มีส่วนที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยในบางประการเกี่ยวกับระบอบการปกครองประชาธิปไตยในทัศนะของอเมริกา
เมื่อสหภาพยุโรปได้เริ่มมีอำนาจมีบารมีในโลกนี้ในด้านเศรษฐกิจ กลุ่มประเทศยุโรปก็กลายเป็นศัตรูของสหรัฐอเมริกาไป โดยเฉพาะในกรณีที่สหภาพยุโรปมีเงินตรา(ยูโร)ที่กำลังแข่งขันกับเงินตราของสหรัฐอเมริกา(ดอลลาร์)ในการกระจายอำนาจไปยังประเทศอื่นๆ แม้กระทั่งประเทศจีนที่ได้ปฏิวัติตนเองโดยเปลี่ยนระบอบเศรษฐกิจและการปกครองจนกระทั่งเป็นส่วนหนึ่งจากตลาดโลกที่ใช้ระบอบเศรษฐกิจอย่างเสรี ก็ยังเป็นคู่แข่งกับอเมริกา และเป็นศัตรูที่อเมริกาหวาดกลัวอย่างมากต่อบทบาทของประเทศจีนในเศรษฐกิจโลก ในทำนองเดียวกัน เมื่อมุสลิมใช้ระบอบประชาธิปไตยเพื่อเป็นวิถีทางรับตำแหน่งในรัฐบาลบริหารบ้านเมืองประเทศหนึ่งประเทศใดและนำอิสลามมาเป็นวิถีชีวิตในสังคมนั้นๆ ก็จะถูกปฏิวัติและโจมตีจากบรรดาผู้เรียกร้องสู่ประชาธิปไตย ดังที่เคยเกิดในประเทศอัลจีเรียเมื่อ ค.ศ.1990 เมื่อพรรคญับฮะตุลอินกอซได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้งและมีสิทธิตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ แ ต่ฝ่ายทหารที่เลื่อมใสกับประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นอดีตจักรวรรดินิยมที่ยึดครองเมืองอัลจีเรียนั้นก็รีบโจมตีกระบวนการการเลือกตั้งและปฏิวัติประธานาธิบดี อัชชาซลี บินญะดี๊ด และประกาศใช้กฎอัยการศึก ในประเทศตุรกีก็เช่นกัน พรรคมุสลิมเคยถูกบังคับให้ยุบตัวไปเหตุเพราะเรียกร้องสู่กฎหมายอิสลาม ทั้งหัวหน้าพรรคอัรรอฟา คือ ท่านนัจมุดดีน อัรบะกาน อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศตุรกีก็ยังถูกจำคุกด้วยข้อกล่าวหาว่าเรียกร้องสู่ระบอบอิสลามที่ขัดกับระบอบประชาธิปไตยของกาม้าลอะตาเติร์ก(ผู้ก่อตั้งประเทศตุรกีภายหลังระบอบคิลาฟะฮฺถูกยกเลิกในสมัยอาณาจักรอุสมาน)
ความบิดพลิ้วของระบอบประชาธิปไตยในโลกนี้มีหลายตัวอย่างให้เห็น แม้กระทั่งระหว่างผู้เลื่อมใสในระบอบประชาธิปไตยด้วยกันเอง ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับสังคมโลก คือองค์การสหประชาชาติที่ได้กำหนดให้สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีสมาชิก 15 ประเทศ ส่วน 5 ประเทศจะเป็นสมาชิกถาวรคือประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน ซึ่งเป็นการกำหนดของประเทศมหาอำนาจในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้จัดระเบียบสังคมโลกตามวิสัยทัศน์ของตนโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประเทศและเชื้อชาติอื่นๆที่เป็นสมาชิกในประชาคมโลก จึงทำให้หลายประเทศทักท้วงสิทธิของตน เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีส่วนร่วมในงบประมาณของสหประชาชาติมากกว่าหลายประเทศที่เป็นสมาชิกถาวรในสภาพความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือประเทศอินเดียที่มีประชากรเกือบพันล้านซึ่งมีบทบาทในโลกนี้ไม่ด้อยกว่าประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ หรือรัสเซีย ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกาที่ดูเหมือนเป็นเจ้าพ่อขององค์การสหประชาชาติ ก็ได้ปฏิบัติการทุกสิ่งทุกอย่างให้ประชาคมโลกเห็นว่าตนเองไม่ได้เลื่อมใสกับประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง ดังจะเห็นได้จากสงครามหลายครั้งที่ประเทศอเมริกาได้ปฏิบัติโดยพลการ ไม่ได้ผ่านกระบวนการการปรึกษาและขอคำอนุมัติจากสหประชาชาติ เช่น สงครามอัฟฆอนิสถานหรือสงครามอิรัก จนกระทั่งนักวิเคราะห์ชาวตะวันตกกล่าวกันว่า สหรัฐอเมริกานั้นเรียกว่าเป็นเจ้าพ่อของโลกดีกว่าเรียกว่าเป็นตำรวจโลก
ที่ระบุข้างต้นฉายให้ผู้อ่านเห็นว่าถึงแม้ระบอบประชาธิปไตยจะมีคะแนนนิยมสูงที่สุดในโลกขณะนี้ แต่มิได้หมายรวมว่าเป็นระบอบที่ถูกต้อง และถ้าระบอบอิสลามอันบริสุทธิ์ถูกเสนอในโลกนี้แก่ประชาคมโลก จะมีอะไรเหลือจากความดีเด่นของระบอบประชาธิปไตย แต่ปัญหาขณะนี้คือความบกพร่องของชาวมุสลิมที่ยังไม่ทำหน้าที่อย่างครบถ้วนในการเผยแผ่นระบอบการปกครองของอัลอิสลาม
ผู้เขียนขอกำชับปัญหานี้ให้อยู่ในวงองค์กรมุสลิมในสังคมของเรา และเปรียบเทียบระหว่างอำนาจของระบอบการปกครองของอัลอิสลามกับระบอบการปกครองประชาธิปไตย ผู้เขียนจะไม่มองถึงข้อบังคับทางกฎหมายว่าเราสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่จะมองถึงหน้าที่ของมุสลิมเราในการเรียกร้องสู่ระบอบการปกครองของอิสลาม โดยเฉพาะในองค์กรมุสลิมของเรา ซึ่งอาจเป็นขั้นแรกสู่การเรียกร้องให้ระบอบอิสลามนั้นเป็นระบอบการปกครองของโลกทั้งหมด
พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการกลางอิสลาม ตลอดจนผู้บริหารองค์กรต่างๆที่สังกัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะมีมาตราหนึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารองค์กรดังกล่าวว่า จำเป็นต้องเลื่อมใสต่อระบอบประชาธิปไตยและพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มาตรานี้จะถูกติดประกาศกับบรรดามาตราต่างๆที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารองค์กรดังกล่าวในทุกครั้งที่มีกระบวนการเลือกตั้ง ผู้เขียนขอใช้สิทธิที่ระบุทางรัฐธรรมนูญว่า ทุกคนในประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงความเห็นอย่างบริบูรณ์ว่า มาตรานี้เป็นบทบัญญัติที่ผิดต่อหลักการอิสลามและค้านกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และยังค้านกับตัวเองเสียด้วย
ในความเชื่อของมุสลิม ความเลื่อมใสในระบอบหนึ่งระบอบใดถือว่าเป็นความศรัทธาส่วนหนึ่ง และสำหรับมุสลิมจำเป็นต้องศรัทธาในระบอบของอัลอิสลามอย่างเดียว ดังที่มีพระบัญญัติในอัลกุรอานหลายโองการทีเดียว อาทิเช่น
إِنَّ الدِّيْنَ عِنْدَ اللهِ الإسْلام
“แท้จริงศาสนา ณ อัลลอฮฺนั้นคืออัลอิสลาม” (อาละอิมรอน 19)
ซึ่งคำว่า ศาสนา หมายรวมภาคศรัทธาและภาคปฏิบัติ
وَمَنْ يَبْتَغِ غَيْرَ الإسْلامِ دِيْنَاً فَلَنْ يُقْبَلَ مِنْهُ
“และใครที่แสวงหาอื่นจากอิสลามเป็นศาสนา จะไม่ถูกตอบรับจากเขา” (อาละอิมรอน 85)
وَاللهَ يَحْكُمُ لا مُعَقِّبَ لِحُكْمِهِ
“และพระองค์อัลลอฮฺทรงตัดสิน ไม่มีผู้ใดเปลี่ยนแปลงการตัดสินของพระองค์” (อัรเราะอดฺ 41)
فَاحْكُمْ بَيْنَهُمْ بِمَا أنَزَلَ اللهُ
“และสูเจ้า(โอ้มุฮัมมัด)จงพิพากษาระหว่างพวกเขาด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานลงมา(หมายถึงคัมภีร์)” (อัลมาอิดะฮฺ 48)
أَلا لَهُ الحُكْمُ
“พึงรู้เถิดว่าการชี้ขาดพิพากษานั้นเป็นสิทธิของพระองค์(อัลลอฮฺ)เท่านั้น” (อัลอันอาม 62)
إِنِ الحُكْمُ إِلا للهِ
“แท้จริงการพิพากษาตัดสินไม่เป็นสิทธิของผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น” (ยูซุฟ 40)
และอายะฮฺหลายๆอายะฮฺที่ได้พูดถึงอำนาจของพระบัญชาของอัลลอฮฺในการชี้แนะเรื่องต่างๆในชีวิตของมุสลิม ซึ่งมุสลิมไม่สามารถเลื่อมใสและศรัทธาต่อระบอบหนึ่งระบอบใดนอกจากอัลอิสลาม ส่วนข้อบังคับของกฎหมายบ้านเมืองถ้าไม่ตรงกับหลักการอัลอิสลามก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยง แต่ถ้ามีความจำเป็นก็จะเป็นข้อบังคับที่ศาสนาไม่เอาโทษหากมุสลิมหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีที่มุสลิมอยู่ในสังคมที่ไม่ได้ใช้ระบอบอิสลาม ได้มีข้อวินิจฉัยจากนักปราชญ์อิสลามมานานแล้ว โดยเป็นสาระเฉพาะในนิติศาสตร์อิสลามเรียกว่า ฟิกฮุลอิสติฆรอบ หมายถึง กฎหมายเกี่ยวกับมุสลิมที่อยู่ในสังคมอย่างคนแปลกหน้า หรือสาระที่เรียกว่า อะหฺกามุลอะก็อลลียาต คือกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวกับชนมุสลิมที่เป็นส่วนน้อยในสังคมที่ไม่ใช่มุสลิม หรือศาสนิกชนอื่นที่เป็นส่วนน้อยในสังคมมุสลิม ซึ่งมุสลิมไม่ขัดข้องที่จะอยู่ในสังคมที่ไม่ใช้ระบอบอิสลามหรือมีประมุขที่ไม่ใช่มุสลิม หากมุสลิมสามารถดำรงชีวิตในสังคมนั้นๆด้วยหลักการอัลอิสลามอย่างสะดวก แต่การที่บังคับให้มุสลิมต้องเลื่อมใสต่อระบอบหนึ่งระบอบใดที่ไม่ใช่อิสลาม นอกจากจะเป็นข้อบังคับทางความรู้สึกซึ่งมิสามารถพิสูจน์ได้ทางกฎหมายแล้ว ยังเป็นข้อบังคับที่มุสลิมปฏิบัติไม่ได้
ประเด็นนี้ผมได้สัมผัสเมื่อได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งและได้คิดว่าทำไมองค์กรมุสลิมเท่านั้นที่จะมีระเบียบข้อบังคับหรือ พรบ.ที่จะกำหนดคุณสมบัติของผู้บริหารองค์กร จนกระทั่งระบุข้อบังคับเกี่ยวกับความรู้สึกด้วย ทั้งๆที่องค์กรศาสนาอื่นๆไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวเลย ดูเสมือนว่ามุสลิมในประเทศนี้มีข้อครหาอยู่ตลอด จึงต้องระบุเงื่อนไขดังกล่าว และถ้าถามนักกฎหมายว่าจะพิสูจน์อย่างไรว่าคนหนึ่งคนใดเลื่อมใสต่อระบอบประชาธิปไตยหรือต่อพระมหากษัตริย์ ก็จะไม่มีคำตอบอย่างแน่นอน เพราะข้อบังคับนี้มีอะไรแฝงอยู่เบื้องหลัง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว
ในประเทศที่เป็นแบบฉบับแห่งประชาธิปไตย อนุโลมให้พรรคการเมืองที่แข่งขันหาเสียงจากประชาชนเพื่อรับตำแหน่งบริหารบ้านเมือง อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และประเทศยุโรปอื่นๆ ให้ตั้งพรรคคอมมิวนิสต์และสังคมนิยม ทั้งๆที่แนวคิดของคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมไม่เลื่อมใสกับระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงต้องให้คิดว่าความเคร่งต่อระบอบประชาธิปไตยมีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน แม้กระทั่งคำว่า “ประชาธิปไตย” ที่ถูกใช้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง ตลอดจนระเบียบข้อบังคับต่างๆ จะตีความหรือจะให้คำนิยามตามแบบฉบับประเทศไหน
ก่อนที่ผู้อ่านจะสับสนว่าถ้าไม่เลื่อมใสกับระบอบประชาธิปไตยแล้วจะร่วมในกระบวนการเลือกตั้งของประชาธิปไตยอย่างไร ขอบอกว่าจุดสำคัญที่หลักศาสนาอิสลามไม่ยอมรับในระบอบประชาธิปไตยคือ เสรีภาพเกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมายทุกประการ รวมถึงสิทธิของประชาชนในการบัญญัติกฎหมาย ถึงแม้ว่าจะขัดกับพระบัญญัติของอัลลอฮฺก็ตาม จุดนี้มุสลิมต้องสงวนสิทธิคัดค้าน เพราะพระบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่มีใครสามารถล้มหรือคัดค้านได้ แต่รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีเลือกตั้งและประเด็นที่เกี่ยวข้อง ถึงแม้ว่าไม่เหมือนระบอบของอัลอิสลามตรงๆ แต่มีบางอย่างที่มุสลิมพอรับได้ และระบอบชูรอของอัลอิสลามจะแตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยในบางเรื่องบางอย่าง ซึ่งอาจไม่เป็นประเด็นสำคัญ แต่ต้องการพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ในสิ่งที่สมควรแก้ไขและปรับปรุง
ยกตัวอย่าง ในองค์กรมุสลิมการใช้เสียงในการเลือกตั้งคณะบริหารองค์กรมุสลิม สมาชิกในองค์กรนั้น(เช่นสัปบุรุษมัสยิด)มีสิทธิเลือกตั้งอิมาม คอเฏบ บิล้าล และคณะกรรมการบริหารมัสยิด ทั้งๆที่ตำแหน่งอิมามนั้นจะไม่ถูกเลือกด้วยการนับเสียงของมะอฺมูมตามหลักศาสนาอิสลาม หากต้องมีคุณสมบัติที่บทบัญญัติของอิสลามได้กำหนดไว้อย่างชัดเจน เช่น การท่องจำและเชี่ยวชาญในคัมภีร์อัลกุรอานและพจนารถของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แต่ในระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกตั้งอิมามหรือคณะกรรมการมัสยิดไม่มีระบุ เพราะผู้ร่างกฎหมายคงไม่ได้ศึกษากฎหมายอิสลามอย่างลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น พรบ. หรือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับองค์กรมุสลิม ก็ควรที่จะมอบให้มุสลิมร่างเอง เพราะจะถูกนำมาใช้ในวงสังคมมุสลิมเท่านั้น
อย่างไรก็ตามที่ระบุข้างต้นเป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่าการใช้ระบอบประชาธิปไตยกับสังคมมุสลิมโดยเป็นข้อบังคับนั้นไม่เป็นธรรมด้วยมาตรฐานของประชาธิปไตยเอง และเมื่อถึงจุดนี้แล้วมุสลิมทุกคนต้องมีคำถามสำคัญที่จะเกิดขึ้นในจิตสำนึกของตนและด้วยความห่วงใยต่อสังคมมุสลิมที่ต้องรักษาหลักการอิสลามว่า แล้วจะให้มุสลิมใช้ระบอบอะไรในการปกครอง ? ขอตอบว่า ขณะที่สังคมมุสลิมอยู่ระหว่างสภาวะเรียกร้องสิทธิและเคลื่อนไหวเพื่อให้สังคมมุสลิมอยู่ใกล้ชิดกับหลักการอิสลามมากที่สุด ถึงแม้ว่ายังไม่ได้สัมฤทธิ์ผล แต่จำเป็นต้องพยายามทำเท่าที่สามารถทำได้ โดยไม่ต้องรอให้มีพระราชบัญญัติออกมาให้มุสลิมบริหารองค์กรด้วยระบอบอิสลาม เพราะจำเป็นต้องมีช่องว่างในกฎหมายบ้านเมืองที่จะเอื้ออำนวยให้มุสลิมสามารถดำรงชีวิตภายใต้หลักการอิสลามอย่างมากที่สุด และผมเชื่อเหลือเกินว่ากฎหมายไทยถึงแม้ว่ามีหลายข้อหลายประเด็นที่มุสลิมไม่พอใจ แต่ถือว่าเป็นกฎหมายที่เปิดกว้างให้แก่มุสลิมมากกว่าหลายๆประเทศ แม้กระทั่งในประเทศมุสลิมเอง
ในการหาช่องว่างของกฎหมายผมขอยกตัวอย่างระบบเศรษฐกิจของมุสลิมในประเทศไทยได้ดิ้นรนทำหลายโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงจากระบบดอกเบี้ยเช่น กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ และบัยตุ้ลมาลแห่งแต่ละมัสยิดก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติอนุมัติให้ก่อตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย แสดงถึงความสามารถของสังคมมุสลิมที่จะปรับตัวให้อยู่กับหลักการถึงแม้ว่าทางกฎหมายบ้านเมืองจะขัดข้องบางประการ และอีกตัวอย่างคือระเบียบข้อบังคับของการเลือกตั้งอิมามและคณะกรรมการบริหารมัสยิด ทางกฎหมายไม่ค่อยเคร่งครัดในการปฏิบัติมาตรการต่างๆในระเบียบข้อบังคับ จึงมอบให้ผู้หลักผู้ใหญ่และผู้นำในชุมชนของมัสยิดให้เลือกวิธีการเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เพราะฉะนั้นทางชุมชนมุสลิมสามารถตกลงกันได้ในวิธีที่จะให้การเลือกตั้งนั้นสอดคล้องกับหลักการอัลอิสลาม
แต่ปัญหาทุกวันนี้เกิดใน 2 กรณี คือ กรณีที่ผู้นำและชุมชนยอมในระบอบประชาธิปไตยและในกระบวนการของกฎหมายถึงแม้ว่าจะขัดกับหลักการ จนกระทั่งมุสลิมบางคนจะเคร่งครัดต่อกฎหมายบ้านเมืองมากกว่ากฎหมายอิสลาม และบางคนจะท่องจำ พรบ. เกี่ยวกับการเลือกตั้งได้มากกว่าพระบัญญัติของอัลอิสลาม จึงสะท้อนให้เห็นถึงจุดปัญหาในสังคมมุสลิม และอีกกรณีคือ ชุมชนมุสลิมและผู้นำที่อยากใช้ระบอบอิสลามในการเลือกตั้ง แต่ใช้ไม่ถูกหรือไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบอบอิสลาม และนี่คือประเด็นสำคัญที่สุดที่ผมได้นำพาผู้อ่านมาถึงจุดนี้เพื่อให้เห็นว่าจุดแก้ไขปัญหาจะเริ่มจากการศึกษาระบอบอิสลามเกี่ยวกับการปกครอง ซึ่งการแก้ไขตรงนี้ย่อมเป็นขั้นตอนแรกสู่การนำสังคมไปยังสภาพสังคมที่พร้อมปฏิบัติกฎหมายอิสลาม เมื่อถึงเวลาที่กฎหมายบ้านเมืองจะสอดคล้องกับหลักการอิสลาม หรือเปิดโอกาสให้มุสลิมบริหารตัวเองด้วยระบอบอิสลาม มุสลิมจึงจะสามารถทำหน้าที่ด้วยความพร้อม แต่ขณะนี้เป็นบกพร่องอย่างมหันต์ที่เห็นผู้คนระดับนักบริหาร ผู้นำสังคมมุสลิม แม้กระทั่งผู้รู้หลายคนยังไม่เข้าใจระบอบอิสลามเกี่ยวกับการปกครอง และผมเชื่อว่าประเด็นนี้เมื่ออธิบายและเผยแพร่อย่างกว้างขวางในสังคมมุสลิมจะเป็นจุดแก้ไขทุกปัญหาในองค์กรต่างๆของมุสลิม ทุกวันนี้มีปัญหาเกี่ยวกับผู้นำ ผู้บริหารสังคม และระบบบริหารองค์กรต่างๆ จึงทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพและสังคมมุสลิมได้ขาดทุนอะไรมากมายในเหตุการณ์ต่างๆ
จะเป็นหน้าที่สำคัญของผู้รู้และนักเคลื่อนไหวที่ห่วงใยต่อสังคมมุสลิมที่จะปฏิรูปความเข้าใจต่อหลักการอิสลามเกี่ยวกับการปกครองและปรับปรุงความเชื่อที่เคยใช้กันมาโดยไร้เหตุผลหรือที่สืบทอดกันมาจากศาสนาและวัฒนธรรมอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม คงมีเรื่องมากมายที่จะนำเสนอกับผู้อ่านเกี่ยวกับระบอบการปกครองของอิสลาม แต่ในบทความนี้ผมได้ตั้งเป้าหมายให้ผู้อ่านบรรลุและเข้าใจ คือ สังคมมุสลิมทุกวันนี้ได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงจากการบริหารตัวเองด้วยระบอบประชาธิปไตย โดยห่างไกลจากระบอบอัลอิสลาม และข้อบกพร่องส่วนมากเกิดจากตัวมุสลิมเองที่ไม่ค่อยพร้อมที่จะใช้ระบอบอัลอิสลาม พอถึงจุดนี้เราจะสามารถตอบตัวเราได้ว่า ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารสังคมมุสลิมด้วยอิสลามเกิดจากใคร ?
- Log in to post comments
- 64 views