หะดีษบทนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก ควบคุมจริยธรรมและหลักศรัทธาหลายประการ ตลอดจนสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา กับพระผู้เป็นเจ้า อันจะบ่งบอกถึงความสำคัญที่เราจะต้องศรัทธาต่อพระองค์ซึ่งเป็นพื้นฐานอันมั่นคง
ในการบันทึกของอิมามอัตติรมีซี จากอบูซัร ญุนดุบ อิบนุ ญุนาดะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ด้วยสายรายงานที่หะสัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า
(( اتَّقِ اللَّهَ حَيْثُمَا كُنْتَ ، وَأَتْبِعِ السَّيِّئَةَ الْحَسَنَةَ تَمْحُهَا ، وَخَالِقِ النَّاسَ بِخُلُقٍ حَسَنٍ )) رَوَاهُ التِّرْمِذِيُّ وَقَالَ : حَدِيثٌ حَسَنٌ
ความว่า “ท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด, จงติดตามความชั่วด้วยการทำความดี และจงคบหาผู้คนด้วยมารยาทที่ดีงาม”
หะดีษบทนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก ควบคุมจริยธรรมและหลักศรัทธาหลายประการ ตลอดจนสิ่งที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา กับพระผู้เป็นเจ้า อันจะบ่งบอกถึงความสำคัญที่เราจะต้องศรัทธาต่อพระองค์ซึ่งเป็นพื้นฐานอันมั่นคง และต้องมีภาคปฏิบัติ คือคุณธรรม การกระทำที่ประกอบด้วย อะม้าล อีหม่าน และความเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา
ในคำสั่งสอนแรกของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮฺวะสัลลัม ท่านกล่าวว่า “ท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺทุกเวลา ทุกเมื่อ ทุกสถานที่ ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ต้องมีลักษณะที่ยำเกรงพระองค์อย่างลึกซึ้ง แล้วเมื่อท่านได้กระทำความชั่ว ความเลวร้ายสักอย่างหนึ่งก็จงรีบกระทำสิ่งที่ดีงามติดตามไป ซึ่งมันจะไปลบล้างความชั่วนั้น และท่านจงมีมารยาทที่ดีงามกับมนุษย์ทั้งหลายอยู่สม่ำเสมอ”
ในสามประการที่ท่านนบี ศ็อลลัลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ฝากไว้กับประชาชาติของท่าน เราจะสังเกตเห็นหลายประการ เช่น การที่เราจะยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เป็นคุณลักษณะของจิตใจที่เราต้องพยายามปฏิบัติและทำให้มันปรากฏในชีวิตของเราทุกเวลา ทุกสถานที่ เป็นตักวาหรือความยำเกรงนั้นเป็นคุณลักษณะที่เกี่ยวกับอีหม่านหรือความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา ซึ่งการที่เราจะศรัทธาต่อพระองค์นั้นก็มีระดับที่ต่างกันไป
เช่น มุอ์มินบางคนเหมือนจะเป็นผู้มีอีหม่านต่ออัลลอฮฺจริงๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วอีหม่านของเขาเป็นเพียงแค่คำพูดเท่านั้น แต่มิได้มีความเข้าใจอันนำไปสู่ความศรัทธาที่ว่า อัลลอฮฺนั้นทรงรอบรู้ ทรงเฝ้าดู ทรงควบคุมกิจกรรมของเราในทุกสถานการณ์ รู้อย่างลึกซึ้งกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในโลกนี้ แม้ว่ามันจะเกิดจากอวัยวะใดของเรา หรือเกิดความมืด, ความสว่าง, ในเชิงลับหรือเปิดเผย ซึ่งล้วนแต่เป็นความเชื่อที่จะสร้างอีหม่านที่มั่นคง การที่เราเชื่อว่าเราอยู่ภายใต้เดชานุภาพ, ความรอบรู้และการควบคุมของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา แน่นอนว่ามุอ์มินเหล่านี้จะเป็นผู้ที่สามารถสร้างอีหม่านอันมั่นคงจนเกิดความยำเกรงต่ออัลลอฮฺอย่างลึกซึ้งในทุกๆ สถานการณ์ ไม่ว่าเขาจะอยู่บนรถ ในที่ทำงาน ในบ้านหรือนอกบ้าน ในมัสญิดหรือนอกมัสญิด เขาก็จะยำเกรงอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา นี่คือคุณลักษณะของมุอ์มินที่แท้จริง
اتَّقِ اللَّهَ حَيْثُمَا كُنْتَ
“ท่านจงยำเกรงอัลลอฮฺในทุกสถานที่ ในทุกเวลา”
ตราบใดที่เรามีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺแค่ในบางเวลาบางสถานที่ เช่น บางคนมีอะมาลศอลิหฺ มีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺในเดือนเราะมะฎอน เดือนแห่งการถือศีลอด หรือในช่วงพิธีหัจญ์ ในเวลาละหมาด เวลาอ่านอัลกุรอานหรือในช่วงเวลาที่ปฏิบัติศาสนกิจชนิดในก็ตามเขาก็จะมีความยำเกรงและความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ แต่เมื่อเขาออกห่างจากศาสนกิจเหล่านั้นเขาก็จะนึกว่าเขาไม่ควรมีข้อเกี่ยวข้องกับความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา อีกต่อไปแล้ว คนเหล่านี้จะไม่เข้าใจว่าอีหม่านของเขาขณะนั้นกำลังถูกแบ่งแยกเป็นสองประเภทอันเป็นอีหม่านของบรรดามุนาฟิก โดยพวกเขาจะมีหัวใจสองส่วน ส่วนหนึ่งสำหรับอัลลอฮฺและอีกส่วนหนึ่งสำหรับชัยฏอนมารร้าย ส่วนแรกเป็นหัวใจที่ใช้สำหรับคบหากับมุอ์มิน และส่วนที่สองใช้สำหรับคบหากับมุนาฟิกด้วยกัน นี่คือลักษณะที่อันตรายและเลวร้ายมากสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา ท่านนบีจึงสั่งสอนให้ผู้ศรัทธามีลักษณะของการยำเกรงต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างต่อเนื่อง ทุกเมื่อ ทุกสถานการณ์
เมื่ออยู่ในมัสญิดเขาก็จะยำเกรงอัลลอฮฺ มาละหมาดเพื่ออัลลอฮฺ ไม่ใช่เพื่ออิมามหรือสัปบุรุษ หรือเพื่อแสวงหาผลบุญจากมนุษย์หรือผลประโยชน์อื่นใดก็ตาม เมื่อออกจากมัสญิดไปแล้วเขาก็จะยังคงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา จะไปบริษัท ไปทำงาน ไปซื้อของ ขายของ ไปเยี่ยมเยียนหรือพูดคุยกับใครก็ตาม เขาก็จะนำความยำเกรงติดตัวไปเป็นบรรทัดฐานในชีวิตของเขา ดังนั้นบรรดาอุละมาอ์ที่พูดถึงจริยธรรมอิสลามจึงส่งเสริมให้ใช้เรื่องความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เป็นข้อตักเตือนในสังคมมุสลิม เมื่อพบใครสักคนทำผิดหรือประพฤติขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม จะดื่มสุราหรือทิ้งละหมาด ก็ควรที่จะเตือนเขาด้วยเรื่องความยำเกรงและใช้คำสั่งสอนจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ที่ว่า “ท่านจงกลัวอัลลอฮฺเถิด จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด จงนำความตักวาของเราต่อพระผู้เป็นเจ้ามาเป็นมาตรฐานในชีวิตของเราเถิด” นั่นคือสิ่งที่จะสร้างอีหม่านในจิตใจของเราและจะทำให้เรามีความสามารถในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องในทุกสถานการณ์...
ในคำสั่งสอนอีกสองประการที่เหลืออยู่จะมีข้อมูลและรายละเอียดมากมายที่ท่านนบีได้ฝากไว้กับประชาชาติอิสลาม ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าเพื่อสร้างอีหม่านที่มั่นคงในชีวิตของเรา ติดตามฉบับหน้าครับ อินชาอัลลอฮฺ...
เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 26, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 1174 views