สืบเนื่องจากการอธิบายความหมายสูเราะตุลฟาติหะฮฺ ซึ่งเป็นสูเราะฮฺที่เราอ่านทุกเวลาละหมาด ทุกเวลาที่มีการทำอิบาดะฮฺ การเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ทุกเวลาที่เราตั้งใจจะให้การละหมาดของเรานั้นมีลักษณะคุชุอฺ นอบน้อม ซึ่งเป็นคุณลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธาที่มีอีหม่านที่มั่นคง ดังที่มีการระบุคุณลักษณะดังกล่าวในสูเราะฮฺอัล-มุอฺมินีน ที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
﴿ قَدۡ أَفۡلَحَ ٱلۡمُؤۡمِنُونَ ١ ٱلَّذِينَ هُمۡ فِي صَلَاتِهِمۡ خَٰشِعُونَ ٢ ﴾ [المؤمنون : ١، ٢]
ความว่า “แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว คือบรรดาผู้ที่พวกเขามีความนอบน้อมในการละหมาดของพวกเขา” (อัล-มุอ์มินูน : 1-2)
เราได้พูดถึงความสำคัญที่ต้องมีตะดับบุร พิจารณาความหมายของอัล-กุรอานที่เราอ่านในขณะละหมาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺ ซึ่งเราอธิบายถึงอายะฮฺที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า
﴿ إِيَّاكَ نَعۡبُدُ وَإِيَّاكَ نَسۡتَعِينُ ٥ ﴾ [الفاتحة: ٥]
ความว่า “เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราจะเคารพสักการะ และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราจะขอความช่วยเหลือ” (อัล-ฟาติหะฮฺ : 5)
เป็นการประกาศว่าบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ที่ยืนเข้าเฝ้าพระองค์ ที่กำลังยืนละหมาด ที่กำลังทำหน้าที่แสดงการเคารพภักดี ในการแสดงการเป็นบ่าว ในการทำอิบาดะฮฺ ซึ่งเป็นลักษณะของบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา บ่าวของพระองค์ประกาศว่า เขาไม่มุ่งสู่ผู้หนึ่งผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา โดยเฉพาะในการทำอิบาดะฮฺ เพื่อพระองค์เท่านั้นที่เขาจะทำอิบาดะฮฺให้ พระองค์เท่านั้นที่เขาจะขอความช่วยเหลือ
﴿ إِيَّاكَ نَعۡبُدُ وَإِيَّاكَ نَسۡتَعِينُ ٥ ﴾ [الفاتحة: ٥]
เพื่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาเท่านั้นที่ฉันกำลังยืนทำอิบาดะฮฺ เพื่อพระองค์เท่านั้นที่ฉันจะขอความช่วยเหลือ
﴿ إِيَّاكَ نَعۡبُدُ... ٥ ﴾ [الفاتحة: ٥]
เราทำอิบาดะฮฺเพื่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลาเท่านั้น
﴿ ...إِيَّاكَ نَسۡتَعِينُ ٥ ﴾ [الفاتحة: ٥]
เราขอความช่วยเหลือจากพระองค์เท่านั้น
เป็นการยืนยันให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์อันดีงาม ว่าเมื่อเราไม่เชื่อในพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เมื่อเราเชื่อว่าไม่มีผู้ใดมีสิทธิในการที่ต้องเคารพสักการะ เราก็ต้องมีการยืนยันตรงนี้ ซึ่งสองประโยคนี้เป็นสองประโยคที่จะสรุปอะกีดะฮฺ หลักศรัทธาและหลักปฏิบัติของบรรดาผู้ศรัทธาที่มีอีหม่าน หลักอะกีดะฮฺที่บรรดาผู้ศรัทธานั้นเชื่อว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา นั่นคือหลักศรัทธาของทุกคนที่มีอีหม่านต่ออัลลอฮฺต้องเชื่อ ไม่มีผู้อภิบาลในโลกนี้นอกจากอัลลอฮฺ ไม่มีพระเจ้าที่ต้องทำอิบาดะฮฺแก่พระองค์นอกจากอัลลอฮฺ และเมื่อเชื่อเช่นนี้ก็ต้องเชื่อเช่นกันว่าจะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นจากอัลลอฮฺ ถือว่าไร้สาระ ไม่มีผล ไม่ประสบความสำเร็จ ตราบใดที่มุอ์มินตระหนักในความสามารถ ในเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ก็ไม่ควรที่จะไปขอต่อสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ
เราจะขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺเท่านั้น ในทุกๆ เรื่องของชีวิต ทั้งเรื่องอิบาดะฮฺ เราเชื่อว่าเราไม่สามารถอิบาดะฮฺอย่างต่อเนื่องเว้นแต่อัลลอฮฺจะช่วยเหลือ เราต้องเชื่อว่าชีวิตของเราขึ้นอยู่กับการดูแล การบริหารของอัลลอฮฺ ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาที่มีอีหม่านที่มั่นคงถึงระดับตะวักกุล หรือมอบหมายต่ออัลลอฮฺในทุกๆ สิ่ง ว่าบ่าวจะทำอะไรไม่สำเร็จเลยนอกจากอัลลอฮฺจะช่วยเหลือหรืออนุมัติให้ประสบความสำเร็จ
ฉะนั้นผู้ศรัทธาที่มีอีหม่านที่มั่นคงต้องมีความเชื่อมั่น สรุปได้ว่าการที่ผู้ศรัทธาผูกพันหัวใจและความเชื่อของเขากับการกำหนดของอัลลอฮฺ กับการอีหม่านว่าอัลลอฮฺทรงกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง และบ่าวของอัลลอฮฺไม่สามารถจะพ้นจากการกำหนดของอัลลอฮฺและการอนุมัติของพระองค์ได้ เมื่อบ่าวผู้ศรัทธาได้เชื่อเช่นนี้ก็จะมีความตระหนักว่าอิบาดะฮฺของเขานั้นขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ
อิมามอิบนุลก็อยยิมเขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่อธิบายตำแหน่งต่างๆ 100 ตำแหน่งของผู้ศรัทธา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ผู้ศรัทธาต้องบรรลุ ต้องปฏิบัติ เพื่อเป็นบ่าวของอัลลอฮฺอย่างแท้จริง หนังสือ เล่มนี้เรียกว่า مدارج السالكين بين منازل إياك نعبد وإياك نستعين หมายถึงว่าระหว่าง คำว่า إياك نعبد وإياك نستعين จะมีหลายตำแหน่ง ระหว่างที่เราประกาศว่า เราเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺเท่านั้น และเราขอความช่วยเหลือจากพระองค์เท่านั้น ระหว่างสองตำแหน่งจะมีร้อยตำแหน่ง ตั้งแต่เราประกาศว่าเราเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา จนกระทั่งบรรลุว่าเราเป็นบ่าวของพระองค์อย่างแท้จริง เพราะระหว่างการอ้างว่าเราเป็นบ่าว จนกระทั่งเป็นบ่าวที่แท้จริง ก็จะมีหลายตำแหน่งที่เราต้องปฏิบัติเพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ คือการแสดงการเป็นบ่าวที่แท้จริง อิมามอิบนุลก็อยยิมบอกว่ามีอยู่หลายตำแหน่ง ถึงร้อยตำแหน่ง
ตำแหน่งแรกมีความสำคัญที่ยืนยันว่าเราเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา อย่างแท้จริง เพราะมนุษย์บางคนอาจจะมีความเชื่อว่าเขาอิสระ หมายถึงว่า ไม่เป็นทาส หรือเขาเป็นไท มีอิสระในการกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ในการปฏิบัติศาสนกิจหรือไม่ปฏิบัติ ในการฝ่าฝืนหลักการ หรือไม่ฝ่าฝืน บางคนเชื่อว่าเขาจะละหมาดหรือไม่ก็ได้ บางคนเชื่อว่าเขาจะทำมะอฺศียะฮฺหรือปฏิบัติโดยขัดกับหลักการหรือไม่ก็ได้ นั่นคือสิ่งที่เราเห็นในสังคม มีมนุษย์หลายคนและอ้างตัวว่าเป็นมุสลิม อ้างตัวว่าเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ถือว่าตนเองอิสระจากกฎเกณฑ์ จากกฎหมาย จากคำบัญชาจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ลักษณะดังกล่าวขัดกับคุณลักษณะของบรรดาผู้ศรัทธา ซึ่งบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ต้องเชื่อว่าเขาไม่พ้นจากคำบัญชาของพระองค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขา ดังนั้นเขาจึงประกาศว่า
﴿ إِيَّاكَ نَعۡبُدُ وَإِيَّاكَ نَسۡتَعِينُ ٥ ﴾ [الفاتحة: ٥]
อัลลอฮฺเท่านั้นที่เราทำอิบาดะฮฺ พระองค์เท่านั้นที่เราประกาศว่าเราเป็นบ่าวที่เคารพภักดีต่อพระองค์ ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่เราทำอิบาดะฮฺต่อเขา รุกูอฺให้แก่ใคร สุญูดให้แก่ใคร กราบให้แก่ใคร ไม่ได้เว้นแต่ อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา การนอบน้อม การคุชูอฺ การแสดงความต่ำต้อยต่อผู้หนึ่งผู้ใดมิได้ นอกจากให้แก่อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น นั่นคือการยืนยันที่มุอ์มินต้องมี ตราบใดที่เราขาดความเชื่อตรงนี้ก็หมายถึงว่าเราขาดลักษณะการเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา
ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้สอนประชาชาติอัล-อิสลาม โดยที่ตัวท่านเองคือแบบอย่างให้ประชาชาติอัล-อิสลามได้ทราบว่า เมื่อเรากล่าวว่าตนเองคือมุสลิม ด้วยคำกล่าวว่า
أشهد أن لا إله إلا الله وأشهد أن محمدا رسول الله
เราต้องมีความเชื่อว่าเราเป็นสมาชิกบ่าวของอัลลอฮฺ เราเป็นสมาชิกที่ประกาศตนว่า ไม่มีผู้ใดที่มีอำนาจเหนือกว่าเราควบคุมชีวิตของเรา เป็นเจ้าของชีวิตของเรานอกจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ถ้าเรามีความตระหนักตรงนี้ เราก็ต้องเชื่อว่าการขอความช่วยเหลือจากผู้หนึ่งผู้ใด นอกจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลานั้น ก็ไร้สาระ เชื่อในอัลลอฮฺแต่ไปขอความช่วยเหลือจากมนุษย์ขาดลักษณะการเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ เชื่อในอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา แต่ไปขอความช่วยเหลือจากอำนาจคนหนึ่งคนใด จากอายุ ตำแหน่ง บารมี ความสามารถหรือพลังของคนหนึ่งคนใดและไม่เชื่อในอาวุธของอัลลอฮฺ พลังของพระองค์ อำนาจของพระองค์ ก็หมายถึงว่าเราขาดคุณลักษณะความเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา
พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ เราต้องมีช่วงที่บกพร่องในความเชื่อต่ออัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ช่วงที่มันขาดตอน ขาดความศรัทธาในอัลลอฮฺอย่างมั่นคง แต่เมื่อเราอ่านในทุกเวลาที่มีการละหมาดว่า
﴿ إِيَّاكَ نَعۡبُدُ وَإِيَّاكَ نَسۡتَعِينُ ٥ ﴾ [الفاتحة: ٥]
เราก็จะเพิ่มเติมอีหม่าน สร้างความศรัทธา ส่งเสริมอีหม่านของเราให้เพิ่มขึ้น ยิ่งใหญ่ ให้ใหญ่โต ให้มั่นคง และนั่นคือวัตถุประสงค์อันยิ่งใหญ่ที่เราต้องปฏิบัติในทุกเวลาที่มีการละหมาด ที่มีการอ่านอายะฮฺนี้ ขอพระองค์อัลลอฮฺ สุบหานะฮูวะตะอาลา ให้เรามีอีหม่านที่มั่นคง ให้มีอีหม่านที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เรียบเรียงจาก สู่อีมานที่มั่นคง ครั้งที่ 20, ชัยคฺริฎอ อะหมัด สมะดี
ผู้เรียบเรียง อบูซัยฟุลลอฮฺ-อุมมุซัยฟุลลอฮฺ
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 376 views