9. สะฮูร

Submitted by dp6admin on Mon, 17/08/2009 - 22:41

9.1 เคล็ดลับของการกินสะฮูร

อัลลอฮฺ ได้บัญญัติการถือศีลอดแก่เรา ดังเช่นที่พระองค์ได้บัญญัติแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเราคือพวกอะฮฺลุลกิตาบ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ ﴿١٨٣﴾

ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้า ดังเช่นได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง” (2/183)

ปรากฎว่าเมื่อการถือศีลอดได้ถูกบัญญัติให้แก่พวกอะฮฺลุลกิตาบในสมัยก่อนอิสลามนั้น ในเวลาถือศีลอด ถ้าพวกเขานอนหลับเสียก่อนการแก้ศีลอด   ในคืนนั้นทั้งคืนพวกเขาจะไม่มีโอกาสได้กินได้ดื่มและร่วมหลับนอนกับภรรยาของพวกเขาจนกระทั่งในวันรุ่งขึ้น ต่อมาการถือศีลอดได้ถูกบัญญัติให้แก่บรรดามุสลิมด้วยในระยะแรกของการถือศีลอด และต่อมาบัญญัติดังกล่าวได้ถูกยกเลิก ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงได้ใช้ให้มีการกินสะฮูร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการแตกต่างระหว่างการถือศีลอดของเรากับการถือศีลอดของพวกอะฮฺลุลกิตาบ

มีรายงานจากอัมรฺ อิบนุลอ๊าศ แจ้งว่า แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

(فصل مابين صيامنا وصيام أهل الكتاب أكلة السحر) رواه مسلم

“ข้อแตกต่างระหว่างการถือศีลอดของเรากับการถือศีลอดของพวกอะฮฺลุลกิตาบ คือการกินสะฮูร” บันทึกโดย : มุสลิม

 

9.2 คุณประโยชน์ของการกินสะฮูร

9.2.1 การกินสะฮูรมีความจำเริญ (บะร่อกะฮฺ)

ـ عن أبي عثمان النهدي عن سلمان الفارسي ـ رضي الله عنه ـ قال : قال رسول الله ـ صلى الله عليه وسلم ـ : " البركة في ثلاثة : في الجماعة والثريد والسحور "

มีรายงานจากซัลมาน อัลฟาริซีย์ แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ความจำเริญ (บะร่อกะฮฺ) นั้นมีอยู่ใน 3 ประการคือ การรวมกันเป็นหมู่คณะ (อัลญะมาอะฮฺ) น้ำซุปผสมกับขนมปัง (อัซซะรีด) และการกินสะฮูร”  บันทึกโดย : อัฏฏ็อบรอนีย์

มีรายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนิลฮาริซ จากชายคนหนึ่งที่เป็นสาวกของท่านนะบี   กล่าวว่าฉันได้เข้าไปหาท่านนะบี ในขณะที่ท่านกำลังกินสะฮูรอยู่ ท่านได้กล่าวว่า

إن السحور بركة أعطاكموها الله عزّ وجل فلا تدعوها

“แท้จริงสะฮูรนั้นเป็นความจำเริญ (บะร่อกะฮฺ) อัลลอฮฺได้ประทานให้แก่พวกท่านโดยเฉพาะ ดังนั้นพวกท่านอย่าละเว้นการกินสะฮูร”    บันทึกโดย : อะหมัดและอันนะซาอียฺ

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการกินสะฮูรนั้นมีความจำเริญ (บะร่อกะฮฺ) เพราะเป็นการปฏบัติตามซุนนะฮฺ ทำให้ผู้ถือศีลอดมีพลังในการประกอบอิบาดะฮฺ มีความแตกต่างกับพวกอะฮฺลุลกิตาบ เพราะพวกเขาไม่กินสะฮูร ด้วยเหตุนี้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เรียกชื่อสะฮูร ว่าเป็นอาหารเช้าที่มีความจำเริญ ทั้งนี้ตามรายงานหะดีษของท่านนะบี ซึ่งบันทึกโดยอัลอิรบาฎ อิบนฺ ซาริยะฮฺ และอะบีอัดดัรดาอฺ ที่กล่าวว่า

( هَلُمَّ إِلَى الغَدَاءِ الْمُبَارَك ) يعني السحور.  حديث صحيح رواه أحمد وابن حبان

ความว่า “จงมาร่วมกินอาหารเช้าที่มีความจำเริญ หมายถึงกินสะฮูร”  หะดีษศ่อฮี้ฮฺ บันทึกโดย : อะหมัด และอิบนฺฮิบบาน
 

9.2.2 อัลลอฮฺประทานความเมตตา และมะลาอิกะฮฺ จะขอพรให้ผู้กินสะฮูร
 

หวังว่าส่วนหนึ่งจากความยิ่งใหญ่แห่งความจำเริญของการกินสะฮูร คือการที่อัลลอฮฺ ทรงแผ่คลุมการอภัยโทษของพระองค์แก่บรรดาผู้กินสะฮูร และประทานความเมตตาของพระองค์ให้แก่พวกเขาอย่างสมบูรณ์ และมะลาอิกะฮฺของพระองค์ได้ขออภัยโทษให้แก่พวกเขา เพื่อที่พวกเขาจะได้ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสระในเดือนแห่งอัลกุรอาน

มีรายงานจากอะบีสะอี๊ีดอัลคุดรีย์ แจ้งว่าท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

( السَّحُوْرُ أَكْلُهُ بَرَكَةٍ ، فَلاَ تَدَعُوْهُ وَلَوْ أَنْ يَجْرَعَ أَحَدُكُمْ جَرْعَةً مِنْ مَاءٍ ،
 فَإِنَّ اللهَ وَالْمَلاَئِكَتَهُ يُصَلُّوْنَ عَلَى الْمُتَسَحِّرِيْنَ )

 أخرجه أحمد بإسناد قوي أنظر الترغيب

ความว่า “สะฮูรเป็นอาหารที่มีความจำเริญ (บะร่อกะฮฺ) ดังนั้นพวกท่านอย่าได้ละเว้นมัน แม้ว่าคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจะดื่มน้ำสักอึกหนึ่ง เพราะอัลลอฮฺจะประทานความเมตตา และมะลาอิกะฮฺของพระองค์จะขอพรให้แก่บรรดาผู้กินสะฮูร”  บันทึกโดย : อะหมัด ด้วยสายสืบที่แข็งแรง

ดังนั้นไม่เป็นการบังควรแก่มุสลิมที่จะพลาดผลบุญอันยิ่งใหญ่จากพระเจ้าผู้ทรงเมตตา และการกินสะฮูรที่ประเสริฐยิ่งของมุอฺมินคืออินทผลัม

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

نعم سحور المؤمن التمر

“อาหารสะฮูรที่เป็นที่โปรดปรานของมุอฺมินคืออินทผลัม”   บันทึกโดย : อะบูดาวู๊ด อิบนิฮิบบาน และอัลบัยฮะกีย์ จากรายงานของอะบูฮุรอยเราะฮฺ

ดังนั้นผู้ใดที่ไม่มีอินทผลัมก็ควรกินสะฮูร ถึงแม้จะดื่มน้ำสักอึกหนึ่งดังได้กล่าวมาแล้ว และคำกล่าวของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

تسحروا ولو بجرعة من ماء

“พวกท่านจงกินสะฮูรเถิด ถึงแม้ว่าจะเป็นน้ำสักอึกหนึ่ง”   บันทึกโดย : อะบูดาวู๊ด อิบนิฮิบบาน และอัลบัยฮะกีย์ จากรายงานของอะบูฮุรอยเราะฮฺ
 

9.2.3 กินสะฮูรให้ล่า

เป็นที่ชอบให้กินสะฮูรล่าออกไปจนกระทั่งก่อนเวลาฟัจรเล็กน้อย เพราะท่านนบี และเซดอิบนฺซาบิต ได้กินสะฮูรร่วมกัน เมื่อทั้งสองกินสะฮูรเสร็จแล้วท่านนะบี ได้ลุกขึ้นไปเพื่อทำละหมาด เวลาว่างระหว่างการกินสะฮูรกับการเข้าไปทำละหมาดของทั้งสอง เป็นระยะเวลาประมาณได้เท่ากับการอ่านอัลกุรอาน 50 อายะฮฺ

 أن نبي الله صلى الله عليه وسلم  وزيد بن ثابت  رضي الله عنه تسحرا فلما فرغا من سحورهما قام نبي الله صلى الله عليه وسلم إلى الصلاة فصلى فقلنا لأنس  كم كان بين فراغهما من سحورهما ودخولهما في الصلاة قال كقدر ما يقرأ الرجل خمسين آية

มีรายงานจากอะนัส จากเซดอิบนฺซาบิต กล่าวว่า ”เราได้กินสะฮูรพร้อมกับท่านนะบี แล้วท่านได้ลุกขึ้นไปละหมาด ฉันได้ถามท่านว่าระยะเวลาระหว่างการอะซานและการกินสะฮูรยาวนานเท่าใด ? ท่านตอบว่าประมาณ 50 อายะฮฺ”   บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ และมุสลิม

9.2.4 ข้อชี้ขาดเกี่ยวกับการกินสะฮูร

ด้วยเหตุดังกล่าวท่านร่อซูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงมีคำสั่งอย่างหนักแน่นว่า ผู้ใดประสงค์จะถือศีลอดก็ให้เขากินสะฮูร ได้กล่าวว่า

( مَنْ أَرَادَ أَنْ يَصُوْمَ فَلْيَتَسَحِّرْ بِشَيْءٍ )
حديث حسن رواه ابن أبي شيبة وأحمد

ความว่า “ผู้ใดประสงค์จะถือศีลอดก็จงกินสะฮูรด้วยสิ่งหนึ่ง”  หะดีษหะซัน บันทึกโดย : อิบนฺอะบีชัยบะฮฺ และอะหมัด

และท่านได้กล่าวห้ามมิให้ละเว้นการกินสะฮูรไว้โปรดดูข้อ 9.2.2

ดังนั้นจึงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า คำสั่งใช้ของท่านนะบี เป็นคำสั่งที่เน้นหนักถึงความสำคัญของการกินสะฮูร ซึ่งพอสรุปได้ 3 ประเด็นคือ

1.    เป็นคำสั่งใช้ให้ปฏิบัติ
2.    เป็นสัญลักษณ์แห่งการถือศีลอดของมุสลิมีน และเป็นข้อแตกต่างระหว่างการถือศีลอดของมุสลิมีนกับการถือศีลอดของบุคคลอื่น
3.    เป็นการห้ามมิให้ละเว้นการกินสะฮูร

และนี่คือความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและเป็นหลักฐานอันชัดเจน
 


ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ