8.1 อัลฟัจรฺ (รุ่งอรุณ) มีสองชนิด
8.1.1 อัลฟัจรฺเทียม คือ เวลาที่ไม่อนุญาตให้ละหมาดศุบฮฺ แต่อนุญาตให้ผู้ถือศีลอดกินอาหารได้
8.1.2 อัลฟัจรฺแท้ คือเวลาที่ห้ามมิให้ผู้ถือศีลอดกินอาหาร แต่อนุญาตให้ละหมาดศุบฮฺได้
มีรายงานจากอิบนอับบาสแจ้งว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
الفجر فجران : فأما الفجر الذي يكون كذنب السرحان فلا يُحل الصلاة ولا يُحرم الطعام ، وأما الفجر الذي يذهب مستطيلاً في الأفق فإنه يُحل الصلاة ويُحرم الطعام "
“อัลฟัจรมีสองชนิด สำหรับชนิดแรกไม่อนุญาตให้ละหมาดศุบฮฺ แต่อนุญาตให้กินอาหารได้ ส่วนชนิดหลังห้ามกินอาหารแต่อนุญาตให้ละหมาดศุบฮฺได้”
บันทึกโดย : อิบนคุไซมะฮฺ อัดดารุกุฎนีย์ อัลฮากิม และอัลบัยฮะกีย์
ดังกล่าวข้างต้นก็เป็นที่ประจักษ์แล้ว ดังนั้นจงระงับการกิน การดื่ม และการร่วมเพศกับภริยาของท่าน แต่ถ้าในมือของท่านกำลังถือแก้วน้ำเพื่อจะดื่ม ก็จงดื่มเถิด เพราะเป็นการอนุญาตจากพระผู้ทรงไว้ซึ่งความเมตตาแด่ปวงบ่าวผู้ถือศีลอดของพระองค์ ถึงแม้ว่าท่านจะได้ยินเสียงอะซานก็ตาม เพราะท่านร่อซูลุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ว่า
( إِذَا سَمِعَ أَحَدُكُمْ النِّدَاءَ وَ الإِنَاءُ فِي يَدِهِ فَلا يَضَعْهُ حَتَّى يَقْضِيَ حَاجَتَهُ مِنْهُ )
أخرجه أحمد وأبوداود والحاكم بسند صحيح
ความว่า “เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านได้ยินเสียงอะซานในขณะที่แก้วน้ำอยู่ในมือของเขา ก็อย่าได้วางมันจนกว่าเขาจะดื่มให้เป็นที่พอใจของเขา”
บันทึกโดย : อะหมัด อะบูดาวู๊ด และอัลฮากิม และว่าเป็นสายสืบที่ศอฮี้ฮฺ
จุดุ่งหมายของคำว่า “อะซาน” ในที่นี้ก็คือ อะซานฟัจรครั้งที่สอง ซึ่งหมายถือแสงอรุณแท้ ด้วยหลักฐานที่มีคำเพิ่มซึ่งบันทึกโดยอะหมัด อิบนญะรีร อัฏฏ็อบรีย์และคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นคำเพิ่มจากหะดีษ ดังกล่าวเพื่อเป็นการยืนยันตามความหมายดังกล่าว ซึ่งมีรายงานจากอะบูอุมามะฮฺ กล่าวว่า “เมื่อมีการอะซานฟัจร ขณะที่แก้วน้ำอยู่ในมือของอุมัร เขาได้กล่าวขึ้นว่าฉันจะดื่มน้ำได้หรือไม่ โอ้ท่านร่อซูลุลลอฮฺ? ท่านร่อซูลุลลอฮตอบว่าดื่มได้ เขาจึงดื่มน้ำนั้น”
8.2 แล้วจงถือศีลอดให้ครบสมบูรณ์จนถึงพลบค่ำ
เมื่อเวลาพลบค่ำคืบคลานมาทางด้านทิศตะวันออกและเวลากลางวันได้ผ่านพ้นไปทางทิศตะวันตก และดวงอาทิตย์ได้ลับของฟ้าแล้ว ก็จงแก้ศีลอดได้
มีรายงานจากอุมัรแจ้งว่าท่านร่อซูลลุลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
إذا أقبل الليل من ههنا وأدبر النهار من ههنا، وغربت الشمس، فقد أفطر الصائم
“เมื่อเวลากลางคืนคืบคลานมาทางนี้ (ทิศตะวันออก) และเวลากลางวันได้ผ่านพ้นไปทางนี้ (ทิศตะวันตก) และดวงอาทิตย์ได้ลับของฟ้าแล้ว ผู้ถือศีลอดก็จงแก้ศีลอด”
บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ และมุสลิม
ในกรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นหลังจากการตกลับขอบฟ้าของดวงอาทิตย์ทันที ถึงแม้ว่าแสงของมันจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งก็ตาม เพราะตามแนวทางของท่านนะบี เมื่อท่านจะแก้ศีลอด ท่านจะกล่าวว่าดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้วท่านก็แก้ศีลอด
และเป็นที่ยืนยันว่าบรรดาสาวกของท่านนะบีได้ปฏิบัติตามคำพูดของท่าน เพราะการกระทำของพวกเขาสอดคล้องกับคำพูดของท่านนะบี เช่น อะบูสะอี๊ดอัลคุดรีย์จะแก้ศีลอด เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว
ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 137 views