หน้าที่ของผู้ศรัทธา (สู่อีมานที่มั่นคง 66)

Submitted by dp6admin on Wed, 28/02/2024 - 13:24

พี่น้องผู้ศรัทธาที่เคารพทั้งหลายครับ อัสสลามุอลัยกุม วะเราะหฺมะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮฺ 

มุอฺมินในสังคมจะมีหน้าที่ประกาศสัจธรรมและปฏิบัติสัจธรรม เผยแผ่สัจธรรม และอดทนในแนวทางของสัจธรรม การยืนหยัดของมุอฺมินไม่ขึ้นอยู่กับว่าต้องรู้จักสัจธรรมเท่านั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้กล่าวไว้ว่า

وَالْعَصْرِ ۝ إِنَّ الْإِنْسَانَ لَفِي خُسْرٍ ۝ إِلَّا الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ وَتَوَاصَوْا بِالْحَقِّ وَتَوَاصَوْا بِالصَّبْرِ [العصر:1-3]
อัลลอฮฺได้สาบานด้วยเวลา ด้วยชีวิตอันมีคุณค่า ว่ามนุษย์นั้นย่อมจะอยู่ในการขาดทุนเสมอยกเว้นบรรดาผู้ศรัทธาที่ประกอบอะมัลศอลิห์ ประกอบอิบาดะฮฺ ประกอบสิ่งดีงาม คุณธรรมและมีการตักเตือนซึ่งกันและกันในเรื่องสัจธรรม และมีการตักเตือนซึ่งกันและกันในการอดทนบนแนวทางแห่งสัจธรรม

แสดงว่าการศรัทธาที่อัลลอฮฺถือว่าเป็นอีหม่านเป็นความศรัทธาที่มีคุณค่า มีประโยชน์ คือความศรัทธาที่จะส่งผลในชีวิตของมุอฺมินและสังคม และโดยเฉพาะในตัวของสัจธรรมนั่นเอง มาตรฐานแห่งสัจธรรมจะขึ้นอยู่กับการอดทนของมุอฺมิน เพราะหากว่ามุอฺมินนั้นเชื่อในความจริงในสัจธรรมแต่ไม่สามารถที่จะปฏิบัติสัจธรรมซึ่งจะเป็นการประกอบอะมัลอิบาดะฮฺที่จะให้ปรากฏในชีวิตของมุอฺมินเป็นบรรทัดฐานให้คนอื่นสามารถมองเห็นได้ว่าสัจธรรมอยู่ตรงนี้ หรือมุอฺมินไม่สามารถอดทนที่จะเผยแผ่เรียกร้องสู่สัจธรรม ต่อสู้เพื่อสัจธรรม แน่นอนว่าสัจธรรมนั้นก็จะล้มเหลว ไม่สามารถปรากฏในสังคม 

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นสมัยบรรดานบีและร่อซูล ดังที่มีบรรดานบีและร่อซูลทำหน้าที่ประกาศสัจธรรมแห่งพระผู้เป็นเจ้า นำความจริงนำอีหม่านมาเผยแผ่ให้แก่ประชาคมโลกในทุกยุคทุกสมัย เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสำหรับมุอฺมินทุกคนว่า สัจธรรมที่อัลลอฮฺมอบให้กับมนุษย์และโลกนี้ได้ปฏิบัติเพื่อเป็นความดี เป็นคุณธรรม เป็นเครื่องประดับในชีวิตของมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่เราต้องรักษาอย่างเคร่งครัดและให้สัจธรรมความดีหรือคุณธรรมที่อัลลอฮฺประทานไว้ ให้เป็นสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบ เรียกร้อง ยืนหยัดและรักษาอย่างเคร่งครัด ดังที่ศาสนาอัลอิสลามมีมาตรการอันเข้มงวดที่จะทำให้มุอฺมินนั้นเป็นบุคคลที่เฝ้าดูหรือเป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบมีหน้าที่รักษาความจริง สัจธรรม คุณธรรมและความดีให้ดำรงไว้ในโลกนี้ 

ท่านนบีถือว่ามุอฺมินนั้นมิใช่เพียงแต่ผู้กระทำความดีแต่ยังเป็นผู้เรียกร้องไปสู่การทำความดีด้วย

ان الدال على الخير كفاعله
ความว่า “แท้จริงผู้ที่ชี้แนะสู่ความดี เปรียบเสมือนผู้กระทำความดีนั้นด้วยตัวเอง”

คนที่ไม่สามารถเศาะดะเกาะฮฺ บริจาค แต่เขาไปหาคนมั่งมี คนรวยและแนะนำ ตักเตือนให้เขาเศาะดะเกาะฮฺ ให้เขานำทรัพย์สินของเขาไปจ่ายในแนวทางที่ถูกต้องที่มีความดี บุคคลที่แนะนำนั้นก็จะได้ผลบุญเหมือนกับคนที่เศาะดะเกาะฮฺ ท่านนบีต้องการที่จะส่งเสริมให้บุคคลที่ไม่มีความสามารถในการปฏิบัติความดีเรื่องหนึ่งเรื่องใดให้เขามีส่วนเกี่ยวพัน ส่วนรับผิดชอบในการเรียกร้องสู่ความดีเหล่านั้นที่เขาไม่สามารถกระทำได้

บุคคลที่ชอบหรือรักความรู้แต่เขาไม่สามารถศึกษาเนื่องจากอุปสรรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตของเขา แต่ในขณะเดียวกันเขาจะเป็นบุคคลที่แนะนำผู้อื่นให้ศึกษา แสวงหาความรู้ ด้วยทรัพย์สินของเขา หรือการให้คำปรึกษาของเขาหรือการเรียกร้องของเขา บุคคลเหล่านี้ก็จะมีส่วนผลบุญเหมือนกับผู้ที่ศึกษาแสวงหาความรู้เช่นเดียวกัน 

คนที่อยากจะไปฟังบรรยายศาสนธรรมหรือจะไปศึกษาเรียนรู้ในที่หนึ่งที่ใดแต่ไม่มีเวลา แต่เขาก็อยากจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับความดีเหล่านี้ เขาก็เอื้ออำนวยให้คนอื่นนั้นได้ศึกษาแสวงหาความรู้ อาจจะให้ค่าเดินทาง หรือเอื้ออำนวยให้มีสถานที่ เตรียมให้มีการศึกษามีการแสวงหาความรู้ เขาก็จะมีผลบุญส่วนนึงสำหรับการกระทำดีที่เกิดขึ้นทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ทำแต่เขาเป็นผู้แนะนำ เป็นผู้เอื้ออำนวยให้ความดีเหล่านั้นเกิดขึ้น 

นั่นเป็นสิ่งที่ท่านนบีถือว่าเป็นความรับผิดชอบของมุอฺมินทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเป็นเรื่องความชั่ว มุอฺมินก็ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกัน มุอฺมินไม่ใช่ผู้ที่หลีกเลี่ยงจากความเท็จหรือความผิด แต่เขาต้องเป็นผู้ที่มีข้อเกี่ยวข้องกับการปราบปรามความชั่ว หลีกเลี่ยงจากความชั่วแล้วต้องช่วยให้คนอื่นหลีกเลี่ยงจากความชั่วเช่นเดียวกัน ท่านนบีถือว่าถ้าสังคมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการปราบปรามความชั่วนั้น สังคมนั้นจะได้รับการลงโทษจากอัลลอฮฺอย่างเจ็บปวด

إنَّ النَّاسَ إذا رأَوُا الظَّالمَ فلم يأخُذوا على يدَيْه أوشك أن يعُمَّهم اللهُ بعقابٍ منه
ความว่า “แท้จริงมนุษย์ที่เห็นผู้อธรรมในสังคม คือทำสิ่งที่เป็นความชั่วหรือข่มเหงคนอื่น แล้วเขาไม่มีข้อเกี่ยวข้องในการปราบปราม ต่อต้านความอธรรม ในการที่จะต่อสู้กับสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมนั้น การลงโทษจากอัลลอฮฺก็เป็นสิ่งที่ใกล้จะเกิดขึ้นกับเขาแล้ว”

หมายถึงว่ามนุษย์จะมีส่วนหรือมีสิทธิ์จะถูกลงโทษหากไม่ทำหน้าที่ในการปราบปรามความชั่ว เขาอาจจะไม่ทำความชั่ว เขาอาจจะเป็นบุคคลที่หลีกเลี่ยงตลอดจากความชั่ว ความเลวร้าย ความผิดต่างๆ แต่ไม่พอเพียงสำหรับมุอฺมินที่มีอีหม่านที่จะหลีกเลี่ยงจากความชั่ว แต่ยังปล่อยให้ความชั่ว ความเลวร้ายนั้นเกิดขึ้นในสังคม มุอฺมินต้องมีหน้าที่ในการทำความดี เรียกร้องสู่ความดี หลีกเลี่ยงจากความชั่วและปราบปรามความชั่วไม่ให้เกิดขึ้นในสังคมด้วย และนั่นคือความประเสริฐของประชาชาติอัลอิสลามดังที่มีระบุในอัลกุรอานว่า

كُنتُمْ خَيْرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَتْ لِلنَّاسِ تَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَتَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ
ความว่า “สูเจ้าเป็นประชาชาติที่ประเสริฐ ดีเลิศ ดีที่สุด เนื่องจากสูเจ้าเป็นผู้เรียกร้องไปสู่ความดีและปราบปรามความชั่ว”

ท่านนบีถือว่าการที่เราเรียกร้องไปสู่ความดีนั้นจะมีผลบุญมหาศาล ไม่ใช่ความดีที่เราจะเรียกร้องสู่ความดีนั้น แต่เราจะได้รับผลบุญจากผู้ที่กระทำความดีนั้นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการทำดีนั้นจะเกิดจากผู้กระทำหนึ่งคน สองคน หรือล้านคน เนื่องจากการทำหน้าที่เรียกร้องสู่ความดีของเรา

مَنْ دَعَا إِلَى هُدىً كانَ لهُ مِنَ الأجْر مِثلُ أُجورِ منْ تَبِعهُ لاَ ينْقُصُ ذلكَ مِنْ أُجُورِهِم شَيْئًا
ความว่า “ใครก็ตามที่เรียกร้องสู่ความดี สู่สัจธรรม สู่คำแนะนำ สู่ทางนำอันเที่ยงธรรม เขาจะมีผลบุญเหมือนผลบุญของผู้ที่ปฏิบัติตามคำเรียกร้องสู่ความดีของเขา โดยที่บุคคลที่ปฏิบัติตามเหล่านั้นผลบุญของพวกเขาจะไม่บกพร่องลงเลย”

หมายถึงว่า หากมีคนหนึ่งคนใดไม่ละหมาด แต่เราแนะนำให้เขาละหมาด ตักเตือนเขาจนกระทั่งเขายอมรับในความจริงในความถูกต้อง ยอมละหมาด ผลบุญแห่งการละหมาดของบุคคลเหล่านั้นเราก็จะมีส่วนได้ด้วย และหากว่าเขาไปตักเตือนคนอื่นที่ไม่ได้ละหมาดจนกระทั่งยอมละหมาด การละหมาดของบุคคลที่สองนี้เราก็จะได้ผลบุญด้วยเช่นกัน และนั่นเป็นผลบุญอย่างต่อเนื่อง ทุกสิ่งที่เรากระทำเป็นความดีแล้วมันกระจายทั่วไปเราก็จะรับผลบุญของมันอย่างต่อเนื่อง

ในทำนองเดียวกันบุคคลที่เรียกร้องสู่ความชั่ว ความไม่ถูกต้อง บุคคลเหล่านั้นก็จะรับความผิด มีส่วนเกี่ยวข้องในความผิดที่เกิดขึ้นในแผ่นดินนี้ ท่านนบีกล่าวว่า

ومَنْ دَعَا إِلَى ضَلَالَةٍ كَانَ عَلَيْهِ مِنَ الإِثْمِ مِثْلُ آثَامِ مَنْ تَبِعَهُ، لا يَنْقُصُ ذلكَ مِنْ آثَامِهِمْ شَيْئًا
ความว่า “ใครก็ตามที่เรียกร้องสู่ความผิดหรือการหลงผิด เขาก็จะมีส่วนเกี่ยวข้องในความผิดของบุคคลที่ปฏิบัติตามการเรียกร้องของเขา โดยที่บุคคลที่กระทำความผิดนั้นผลบาปของเขาก็จะไม่พร่องลงแต่อย่างใด”

เพราะฉะนั้นเราต้องมีความระมัดระวังในการที่เราจะสั่งสอนให้ผู้อื่นกระทำความชั่ว คนที่สอนให้ผู้อื่นสูบบุหรี่ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยสูบบุหรี่ เขาจะมีความผิดของเขาและความผิดของคนที่ปฏิบัติตามเขา และหากบุคคลนั้นไปสอนให้คนอื่นสูบบุหรี่ต่อ ความผิดจากการสูบบุหรี่ของคนที่สองนี้ก็จะตกสู่ผู้ที่สอนให้คนแรกสูบบุหรี่เช่นกัน และความผิดเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

เป็นสิ่งอันตรายมากถ้าหากว่าเรานึกถึงความผิดที่เราเคยสอนผู้อื่นและคนอื่นนั้นไปสอนต่อ ทุกความผิดที่เกิดขึ้นจากเรา เราก็ต้องแบกรับทั้งหมด เช่นเดียวกัน ผู้นำที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมในการที่ต้องเรียกร้องสู่ความดี ต้องปราบปรามความชั่ว หากว่าเขามีข้อเกี่ยวข้องในการปราบปรามความชั่วโดยมีอำนาจมีบารมีที่จะกระทำได้แต่กลับไม่ยอมทำ เขาก็จะมีความผิดจากความชั่วที่เกิดขึ้นเช่นกัน และหากเขามีหน้าที่รับผิดชอบในการเรียกร้องไปสู่ความดีให้เกิดขึ้นในสังคมแต่กลับยอมไม่ทำหน้าที่นั้น เขาก็ต้องแบกรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในสังคม

หน้าที่ของมุสลิม ต้องปฏิบัติคุณธรรมและเรียกร้องสู่คุณธรรม และนั่นคืออีหม่านที่มั่นคง

วัสสลามุอะลัยกุมวะเราะห์มะตุลลอฮิวะบะเราะกาตุฮฺ
 

หน้าที่ของผู้ศรัทธา