หน้าที่ตรงนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องอีมาน พ่อแม่ต้องตักเตือนลูกเพราะพ่อแม่เป็นมุอฺมิน เชื่อว่ามีพระเจ้า เชื่อว่ามีนรกและต้องหนีให้พ้นจากนรก อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงนำความเชื่อต่อสิ่งเหล่านี้มาเตือนผู้ปกครองว่า
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا قُوا أَنفُسَكُمْ وَأَهْلِيكُمْ نَاراً وَقُودُهَا النَّاسُ وَالْحِجَارَةُ عَلَيْهَا مَلَائِكَةٌ غِلَاظٌ شِدَادٌ لَا يَعْصُونَ اللَّهَ مَا أَمَرَهُمْ وَيَفْعَلُونَ مَا يُؤْمَرُونَความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย พวกเจ้าทั้งหลายจงคุ้มครองตัวของพวกเจ้า และครอบครัวของพวกเจ้า ให้พ้นจากไฟนรก เพราะเชื้อเพลิงของมันคือมนุษย์และก้อนหิน มีมลาอิกะฮฺผู้แข็งกร้าวและรุนแรงคอยเฝ้ารักษามันอยู่ พวกเขาจะไม่ฝ่าฝืนอัลลอฮฺในสิ่งที่พระองค์ทรงบัญชาแก่พวกเขา และพวกเขาจะปฏิบัติที่ถูกบัญชา” [อัตตะหฺรีม 66:6]

ท่านอะลี อิบนิ อบีฏอลิบ ได้อธิบายอายะฮฺนี้ว่า “ให้พ้นจากนรก” หมายถึงให้อบรมสั่งสอนและขัดเกลา และท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิมัสอูด ได้บอกกับผู้ปกครองว่า “พวกท่านจงดูแลลูกหลานของพวกท่านตอนละหมาด และจงอบรมให้ลูกหลานของพวกท่านเคยชินกับความดี เพราะความดีนั้นย่อมเป็นธรรมชาติของมนุษย์”
การดูแลลูกหลานขณะที่กำลังละหมาดเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยทำกัน แต่ท่านอิบนิมัสอูดบอกว่าต้องดูแล ก่อนละหมาดต้องสั่งสอนว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรในมัสญิด ละหมาดซุนนะฮฺอย่างไร นั่งอย่างไร ไม่ไปยุ่งกับเด็กที่เล่น เมื่อละหมาดเสร็จแล้วก็เรียกลูกมาสั่งสอน การสั่งสอนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอจะปลูกฝังความดีงามเข้าไปในจิตใจลูกหลานของเรา
การอบรมให้ลูกหลานเคยชินในความดี หมายถึงปฏิบัติความดีโดยธรรมชาติ เพราะความดีเป็นธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์ทุกคนเกิดมาด้วยธรรมชาติที่ชอบทำความดี ความชั่วต้องมีคนสอน ไม่มีเด็กคนไหนที่เกิดมาแล้วสูบบุหรี่เป็น แต่เด็กที่ทำดีกับพ่อแม่หรือสังคมมาจากฟิฏเราะฮฺ(ธรรมชาติ)ที่อัลลอฮฺ ทรงสร้างไว้ พ่อแม่สามารถสอนให้ลูกบริจาคทุกวัน วันละ 1 บาท สอนให้เขาทำความดีกับคนอื่น สอนให้ตักเตือนรุ่นน้อง ต้องฝึกให้สิ่งเหล่านี้เป็นความเคยชินของลูกหลานของเรา
ท่านรอซูลลุลลอฮฺ
กล่าวว่า

كُلُّكُمْ رَاعٍ وَكُلُّكُمْ مَسْؤُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ؛ الإِمَامُ رَاعٍ وَمَسْؤُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ، وَالرَّجُلُ رَاعٍ في أَهْلِهِ وَمَسْؤُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ، وَالمَرْأَةُ رَاعِيَةٌ فِيْ بَيْتِ زَوْجِهَا وَمَسْؤُوْلَةٌ عَنْ رَعِيَّتِهَا، وَالخَادِمُ رَاعٍ فِيْ مَالِ سَيِّدِهِ وَمَسْؤُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ، وَكُلُّكُمْ رَاعٍ وَمَسْؤُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ
ความว่า “ทุกคนในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบ และต้องถูกสอบสวนต่อความรับผิดชอบของเขา ผู้นำ เป็นผู้รับผิดชอบและเขาต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา สามีเป็นผู้รับผิดชอบในครอบครัวของเขาและเขาต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา ภรรยาเป็นผู้รับผิดชอบในครอบครัวของสามีของนางและนางต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของนาง ผู้รับจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในทรัพย์สินของผู้จ้างและเขาต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา และชายคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบในทรัพย์สมบัติของบิดาของเขา และเขาต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา ดังนั้น ทุกคนในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบ และทุกคนต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา”
หะดีษนี้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนส่วนมากมักละทิ้งความรับผิดชอบของตน ไม่ว่าจะในฐานะพ่อ แม่ ผู้นำ ครู นักการเมือง กรรมการกลางอิสลาม หรือกรรมการมัสญิด มักละทิ้งหน้าที่ของตนไปสนใจในสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่
ไม่ว่าใครที่เป็นผู้นำมีหน้าที่ต้องดูแลผู้อยู่ภายใต้อำนาจของเขา และจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ ทุกคน ทุกสตางค์ และทุกเรื่องที่ผ่านอำนาจของเขา ท่านนบี
ยกตัวอย่างอิหม่ามเป็นผู้ดูแลและจะถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺว่าดูแลสรรพบุรุษหรือไม่ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเป็นผู้นำในสังคม ครูก็มีหน้าที่ดูแลสั่งสอนลูกศิษย์ เห็นอะไรผิดก็ต้องตักเตือน ผู้ชายเป็นผู้ดูแลครอบครัวและจะถูกสอบสวนต่อครอบครัวของเขา แม้กระทั่งสตรีก็เป็นผู้ดูแลครอบครัวในบ้านของสามีของเธอ และวันกิยามะฮฺจะถูกสอบสวนทุกอย่าง ใครเข้าออกบ้าน ใครทำอะไรในบ้าน เพราะพ่ออยู่ข้างนอกทำมาหากินอาจไม่มีเวลาดูแลในบ้าน แต่แม่มีหน้าที่ดูแลลูก อะไรที่ผ่านหูผ่านตาหรือเข้าสมองของลูกต้องถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺทั้งสิ้น ทุกคนจะต้องถูกสอบสวนในขอบเขตอำนาจของเขา ดังนั้นเขาต้องดูแลและปรับปรุงแก้ไขส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขาอยู่เสมอ

ท่านนบี
สอนให้เรามีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่ดูแลลูกหลาน เพราะพวกเขาคืออนาคตของประชาชาติอิสลาม คือความมั่นคงของสังคม การสร้างอนาคตให้กับลูกหลานไม่ได้สร้างจากวัตถุ แต่การสร้างอนาคตคือการสร้างคน

บทเรียนที่ท่านลุกมานได้ให้แก่บุตรของท่านเป็นอุทาหรณ์อย่างดี เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะอบรมสั่งสอนลูกหลาน โดยให้เวลาทุกวัน ทุกสองวัน หรือทุกสัปดาห์ เรียกทั้งครอบครัวมานั่งด้วยกันหรืออาจรวมกันหลายครอบครัว แล้วให้ผู้ใหญ่สั่งสอน สร้างความอบอุ่นในครอบครัว อาจนำเรื่องสถานการณ์มาวิเคราะห์ พ่อแม่เป็นผู้แนะนำ หรือเล่าเรื่องที่พบในชีวิตประจำวันและให้คำแนะนำตักเตือนกัน เหล่านี้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมมือกันสร้างความอบอุ่นในครอบครัว เพื่อให้สังคมโดยรวมมุ่งสู่ความถูกต้องในหลักการ
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 62 views