การทำงานศาสนาเป็นหน้าที่ของใคร ?

Submitted by dp6admin on Thu, 28/07/2011 - 00:00

พี่น้องที่อ่านอัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะพบหลายบทที่มีคำสั่งใช้ให้มุสลิมเผยแพร่ สั่งสอน เรียกร้อง และเชิญชวนผู้อื่นให้ทำความดีเลิกทำความชั่ว ซึ่งงานศาสนาที่บรรดานบีและร่อซูลได้ทำกันมาก็มิใช่อื่นใดจากงานเหล่านี้ แต่เหตุใดคนจำนวนมากจึงเข้าใจว่างานศาสนาก็จะต้องเป็นของนักศาสนา ผมคิดว่ามุสลิมในประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากศาสนาและวัฒนธรรมพุทธ ที่แบ่งแยกประชาชนเป็นนักศาสนาคือพระสงฆ์ และสามัญชนคือคนทั่วไป การแบ่งแยกนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และฮินดูด้วย ซึ่งการแบ่งวรรณะในศาสนาดังกล่าวเป็นหลักการสำคัญที่คนจะต้องเคารพนับถือ สังคมไทยพุทธก็ตระหนักว่าเรื่องศาสนาจะให้สามัญชนมาเกี่ยวข้องไม่ได้ กล่าวคือการเทศน์ในวัดหรือสถานที่ต่างๆ ก็เป็นหน้าที่ของพระ ถ้าสามัญชนบรรยายเรื่องศาสนาเขาก็จะไม่ใช้คำว่าคนนี้เทศน์หรือคนโน้นถูกนิมนต์ให้เทศน์ จึงมีคำศัพท์เฉพาะที่จะใช้กับนักศาสนา แม้กระทั่งพิธีกรรมต่างๆ ในด้านศาสนาเช่น พิธีสมรสหรือพิธีเผาศพ ก็จำต้องมีนักศาสนามาจัดการทั้งหมด ซึ่งสภาพเช่นนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสภาพของศาสนาอิสลาม ที่ไม่มีการแบ่งแยกสังคมเช่นนี้ แต่ศาสนาอิสลามได้แบ่งสังคมเป็นสองประเภทคือ ประเภทที่มีความรู้และประเภทที่ไม่มีความรู้

 

ประเภทที่มีความรู้ คือทุกคนที่สามารถสะสมความรู้ทางวิชาการ จนเป็นคนที่สามารถให้ความรู้แก่คนอื่นได้ คนเหล่านี้ก็จะถูกเรียกว่า “ผู้รู้” หรือ “อาลิม” ซึ่งจะถือว่าเป็นสามัญชนเหมือนกัน กล่าวคือไม่มีความศักดิ์สิทธิ์หรือลักษณะพิเศษเหนือกว่าคนอื่นๆ บทบาทหน้าที่ของเขาก็จะถูกตรวจสอบและวิจารณ์เช่นเดียวกับคนทั่วๆไป เพราะฉะนั้นในหลักการศาสนาอิสลามจึงไม่มีศีลเฉพาะคน แต่ศีลของศาสนาจะเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้รู้หรือไม่ก็ตาม แต่ผู้รู้จะมีความแตกต่างในด้านหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับความรู้ที่ตนเองมีอยู่ 

 

จากเหตุผลข้างต้นเราจึงต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อบทบาทหน้าที่ของมุสลิมทุกคนต่อศาสนาของตน ว่าการทำงานศาสนานั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีโต๊ะครูหรือผู้รู้มาทำหน้าที่ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวงะซัลลัม กล่าวว่า “บัลลิฆูอันนี วะเลาอายะฮฺ - พวกท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่ถ่ายทอด(ความรู้ของฉัน) แม้เพียงอายะฮฺเดียวก็ตาม” ดังนั้น การเผยแพร่เชิญชวนสู่คุณงามความดีจึงเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ในซูเราะฮฺยูซุฟมีความว่า “โอ้มุฮัมมัด จงประกาศเถิด นี่คือแนวทางของฉัน เชิญชวนสู่หนทางของอัลลอฮฺด้วยความรู้ที่ประจักษ์แจง ข้าพเจ้าและผู้ปฏิบัติตามข้าพเจ้า” ความเข้าใจเช่นนี้เป็นอุดมการณ์ที่ต้องนำมาเผยแพร่อย่างกว้างขวาง เพื่อขจัดให้สิ้นซึ่งความเข้าใจที่ซึมซับมาจากวัฒนธรรมและประเพณีที่ไม่ใช่อิสลาม 

ปัจจุบันนี้สังคมมุสลิมมีวิกฤติในด้านบุคลากรที่จะทำงานศาสนา เพราะเราจำกัดความ “งานศาสนา” ในงานบรรยายศาสนธรรมเท่านั้นหรือบางถิ่นก็จำกัดความ “งานศาสนา” ในด้านพิธี เช่น พิธีสมรส หรืองานญะนาซะฮฺ สังคมมุสลิมในประเทศไทยจึงมักจะเห็นนักวิชาการศาสนาในงานบรรยาย งานนิกาหฺ และญะนาซะฮฺ แต่ในด้านการเมืองและสังคมทั่วไปซึ่งไม่ถูกมองว่าเป็น “งานศาสนา” ก็จะไม่เห็นนักการศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องเลย และไม่มีผู้รู้ที่ลงสนามการเมืองหรือขึ้นเวทีสั่งสอนสังคมในเรื่องต่างๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นต้น ในการขจัดความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนเหล่านี้เราจะต้องปลูกฝังกับลูกหลานว่า ความรู้ด้านศาสนานั้นมิได้ขัดกับความรู้ด้านสามัญแต่อย่างใด กล่าวคือนักเรียนที่จบปอเนาะหรือสนใจความรู้ด้านศาสนาก็เป็นหมอหรือเป็นวิศวกรได้ ซึ่งจากประวัติศาสตร์ของมุสลิมในอดีตเราจะเห็นผู้รู้ด้านศาสนาที่เป็นแพทย์ เภสัชกร วิศวกร หรืออาชีพอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับโครงสร้างสังคมมุสลิมที่อิสลามได้ถือว่าความรู้ทุกประการที่จะให้มนุษย์ยำเกรงพระเจ้ามากกว่าเป็นความรู้ที่มีประโยชน์

ผมเข้าใจว่าโครงสร้างการศึกษาในบ้านเราที่เคยแบ่งการศึกษาออกเป็น “การศึกษาศาสนา” และ “การศึกษาสามัญ” เอื้อให้สังคมเลือกทิศทางชีวิตตามนั้นไปด้วย ส่วนการปฏิรูปการศึกษาล่าสุดที่เสนอให้มีการศึกษาแบบบูรณาการก็ยังไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพราะคำว่า “บูรณาการ” นั้นยังไม่สามารถพัฒนาความรู้ด้านศาสนากับความรู้ด้านสามัญให้ไปด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาโครงสร้างการศึกษาบ้านเราจึงส่งผลกระทบต่อวิกฤติบุคลากรที่จะทำงานศาสนาให้แย่ลง การปฏิรูปการศึกษาในสังคมมุสลิมจะต้องเริ่มที่อุดมการณ์และปรัชญาของครูบาอาจารย์ ผู้นำสังคม ตลอดจนผู้บริหารกิจกรรมต่างๆ ที่จะต้องสั่งสอนและเผยแพร่ให้ทุกคน แม้ว่าเขาเรียนสาขาใดก็ตามให้ตระหนักในหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติต่อศาสนาและสังคม ยกตัวอย่าง เชิญชวนให้ผู้รู้ด้านศาสนาลงมาบริหารกิจกรรมของสังคมที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา เพื่อให้ศีลธรรมของศาสนาสามารถกระจายไปยังทุกซอกทุกมุมของสังคม แล้วเชิญชวนนักบริหารสามัญให้มาช่วยทำงานศาสนา เพื่อให้งานศาสนาได้รับการพัฒนาจากความรู้ด้านบริหารของคนเหล่านี้ โครงสร้างนี้เมื่อจินตนาการแล้วย่อมเห็นอุปสรรคและปัญหาที่จะตามมา เช่น ความขัดข้องของผู้รู้ด้านศาสนาในการบริหารสังคม เนื่องจากขาดความรู้ด้านบริหาร  หรือความขัดข้องของนักบริหารสามัญที่เข้ามาช่วยงานศาสนา เนื่องจากขาดความรู้ด้านศาสนาด้วย แต่ปัญหาเช่นนี้จะเป็นเพียงปัญหาชั่วคราว จนกว่าจะลงตัว ซึ่งเป็นปัญหาที่จะปรากฏกับการปฏิรูปหรือการพัฒนาทุกวาระในสังคมมนุษย์ เรียกว่า ระยะเวลาปรับตัว แต่ผลดีที่จะตามมานั้นมหาศาลและคุ้มค่ากับการลงทุนเพื่ออนาคตของสังคมมุสลิมในประเทศไทย 

ผมฝันอยากเห็นนักการเมืองเชิญชวนนักวิชาการศาสนามาเป็นที่ปรึกษาแล้ววางกรอบการเล่นการเมืองให้สอดคล้องกับหลักการศาสนาและคำปรึกษาของผู้รู้ และฝันอยากเห็นนักวิชาการศาสนาเชิญนักการเมืองให้เข้ามาช่วยทำงานเพื่อศาสนาและสังคมมุสลิมด้วยกัน ผมฝันอยากเห็นบรรดาแพทย์ วิศวกร และผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ถึงแม้ว่าไม่มีความรู้ด้านศาสนาแต่มีบทบาทในการรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักต่อคำสั่งสอนของอิสลามมากขึ้น ถ้าใครเห็นว่าความฝันมันก็เป็นแค่ฝันและจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริง แต่ผมเห็นว่าการฝันให้สังคมมุสลิมพัฒนาขึ้นนั้นเป็นก้าวแรกสู่การพัฒนาที่แท้จริง ความเจริญทุกประการที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้มักเริ่มจากการฝัน ซึ่งคนที่ฝันก็อาจไม่เคยคาดคิดว่าการฝันนั้นจะปรากฏขึ้นจริง