ซูเราะฮฺอัลอะอฺลา อายะฮฺ 14 : แน่นอนผู้ที่ขัดเกลาตนเอง ย่อมบรรลุความสำเร็จ

Submitted by dp6admin on Tue, 10/09/2013 - 01:36

قَدْ أَفْلَحَ مَن تَزَكَّىٰ ﴿١٤﴾  / 

14. แน่นอนผู้ที่ขัดเกลาตนเอง ย่อมบรรลุความสำเร็จ
 
ซูเราะฮฺยังคงยืนยันในเรื่องทางนำ ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนทั้งหลายได้ประสบกับทางนำและความจริง ซึ่งอายะฮฺนี้ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้ที่มีโอกาสจะได้รับความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ   ด้วยทางนำ อัลลอฮฺได้ตรัสในช่วงท้ายของซูเราะฮฺ ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้แสวงหาสัจธรรมและทางนำ 

 
คำว่า “قَدْأَفْلَحَ” [ก็อด อัฟละหะ]  เป็นสำนวนที่ถูกระบุในอัลกุรอานบ่อยครั้ง เช่นในต้นของซูเราะฮฺอัลมุอฺมินูนและซูเราะฮฺอัชชัมสฺ
 
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ตรัสว่า “โดยแน่นอนผู้ที่ขัดเกลาจิตใจของตนเอง จะได้ประสบความสำเร็จ” และในอัลกุรอานมีหลายครั้งที่จะกล่าวว่า
 
 “وَأُولَـٰئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ” ความว่า “ชนเหล่านั้น คือชนที่ประสบความสำเร็จ” 
 
ซึ่งหมายถึงความพอพระทัยและการบรรลุเป้าหมายที่อัลลอฮฺทรงตั้งไว้ในบทบัญญัติของพระองค์ หากปฏิบัติอย่างครบถ้วนก็จะได้รับผลบุญที่พระองค์ได้ทรงกำหนดเอาไว้ นั่นคือความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จสูงสุดของผู้ศรัทธาก็คือการเข้าสวนสวรรค์ ถึงแม้ว่าในดุนยานี้จะประสบความสำเร็จในบรรทัดฐานของชาวโลกก็ตาม ก็จะไม่ถือว่าประสบความสำเร็จตราบใดที่ยังไม่ได้เข้าสวรรค์
 
สะลัฟบางท่านถูกถามว่า “เมื่อไหร่ที่เราจะรู้สึกถึงความสำเร็จและปลอดภัย” พวกเขาตอบว่า “เมื่อได้ก้าวสู่สวนสวรรค์ก้าวแรกด้วยเท้าของตัวเอง” กล่าวคือ เมื่อได้มั่นใจแล้วว่าได้เข้าสวรรค์ นั่นคือความปลอดภัย คือความสำเร็จ 
 
ในเรื่องนี้ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงยืนยันเอาไว้อย่างชัดเจนว่าความสำเร็จและชัยชนะอันยอดเยี่ยมของผู้คนทั้งหลายนั้นคือ  
 
“فَمَن زُحْزِحَ عَنِ النَّارِ وَأُدْخِلَ الْجَنَّةَ فَقَدْ فَازَ “
ความว่า “แล้วผู้ใดที่ถูกให้ห่างไกลจากนรก และถูกให้เข้าสวรรค์แล้วไซร้ แน่นอนเขาก็ชนะแล้ว" (ซูเราะฮฺอาละอิมรอน 185)
 
ความสำเร็จที่ถูกระบุในอายะฮฺดังกล่าว คือ ทางนำ ซึ่งจะเป็นหนทางสู่สวนสวรรค์อย่างแน่นอน เพราะต้นทางแห่งความสำเร็จอยู่ในโลกดุนยานี้ และปรากฏเป็นนามธรรมในทางนำที่เรายึดมั่นปฏิบัติอยู่ ตราบใดที่เราได้ยืนหยัดในทางนำตลอดระยะเวลาที่พำนักในดุนยาจนถึงอะญัลและจบชีวิตลงด้วยการยืนหยัดในทางนำ ก็จะเป็นสัญญาณว่าในโลกหน้าจะได้รับรางวัลอันใหญ่หลวง นั่นคือสวนสวรรค์ 
 
โดยมีเงื่อนไขที่ถูกระบุในอายะฮฺนี้คือ “تَزَكَّىٰ” คือ “ผู้ขัดเกลาจิตใจ” คำนี้มาจากคำว่า “تزكية” หมายถึง “ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ให้ปราศจากมลทิน ให้เป็นหัวใจที่ไร้ความผิด ไร้ความโสโครก อยู่ในกรอบคำสั่งสอนของบทบัญญัติศาสนา” นั่นคือการขัดเกลาจิตใจ และไม่มีใครสามารถขัดเกลาจิตใจนอกจากคนที่ได้แสวงหาหรือค้นหามลทินต่างๆ ที่อยู่ในจิตใจของตนเอง ว่ามีอะไรที่ควรชำระควรขัดเกลา หากมีอุปนิสัยบางอย่างที่ไม่ดีงามหรือกมลสันดานที่ชั่วร้าย ก็ต้องขจัดต้องขับไล่ออก หรือมีความปรารถนาในสิ่งชั่วร้ายที่ศาสนาห้ามไว้ ก็ต้องปรับความประสงค์ดังกล่าวให้สอดคล้องกับสิ่งดีงามที่ศาสนาเรียกร้องให้ปฏิบัติ
 
คนที่ชอบความบันเทิงและไม่ชอบการละหมาด ก็เป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องขัดเกลาจิตใจ ให้เป็นคนที่ชอบละหมาดและเกลียดความบันเทิงที่ขัดกับหลักการศาสนา ผู้ใดที่ชอบการเล่นฟุตบอล ดูการแข่งขันฟุตบอลมากกว่าการละหมาด ก็ถือเป็นความโสโครกอย่างหนึ่งที่ต้องขัดเกลา ใครที่ตระหนี่ถี่เหนียวและไม่ชอบบริจาค ก็ต้องขัดเกลาจิตใจตนเองให้เป็นคนที่ชอบให้ชอบทำความดีกับผู้อื่นและไม่ตระหนี่ หากเป็นผู้ที่ประสงค์ร้ายต่อผู้อื่น อยากให้ผู้อื่นประสบกับความหายนะ ความล้มเหลว หรือความตกต่ำโดยไร้เหตุผล ก็ต้องขัดเกลาจิตใจของเขาให้เป็นคนที่คิดดีประสงค์ดีกับผู้อื่น
 
สิ่งที่ประเสริฐที่สุดของจิตใจอันบริสุทธิ์ คือจิตใจที่ปรารถนายืนหยัดในทางนำ และปรารถนาให้ผู้อื่นได้ประสบกับทางนำด้วย เพราะไม่มีมุสลิมหรือมุอฺมินคนใดที่อยากให้ผู้อื่นหลงผิด หรือรู้สึกดีที่พี่น้องคนอื่นออกนอกรีตไปจากแนวทางศาสนาหรือไม่อยู่ในกรอบของศาสนา อันเป็นจิตใจที่โสโครกสกปรกสำหรับคนที่รู้สึกดีเมื่อเห็นผู้อื่นผิดพลาดและหลงผิด และนำมาทำเป็นเรื่องเฮฮาสนุกสนาน ใครก็ตามที่คิดว่าความผิดพลาดของผู้อื่นคือข่าวดีแก่ตัวเอง เป็นความคิดที่โสโครกเช่นกัน หรือคนที่ชีวิตของพวกเขาดำเนินไปด้วยการกล่าวหาใส่ร้ายผู้อื่น เหล่านี้เป็นสิ่งที่จำต้องขัดเกลาอย่างแน่นอน
 
อุละมาอฺได้กล่าวว่าภารกิจที่ต้องปฏิบัติทุกนาที คือการพยายามกวาดล้างจิตใจ เฉกเช่นการตรวจสอบฝุ่นหรือสิ่งสกปรกในบ้านให้หมด เพื่อให้บรรยากาศ พื้นที่ หรือสิ่งแวดล้อมสร้างความสดชื่นแก่จิตใจ เหมือนกับการเข้าไปดูแลจิตใจทุกซอกทุกมุม อะไรที่สกปรก สิ่งใดที่โสโครกก็ให้เราเข้าไปปัดกวาดเสียให้สะอาด เราต้องเฝ้าดูจิตใจของตนเองทุกวินาที ทำให้จิตใจสงบ สะอาด มีความผูกพันกับอัลลอฮฺ    เพราะยิ่งมีหัวใจที่สะอาดมากขึ้นเพียงใดก็จะยิ่งผูกพันกับอัลลอฮฺมากขึ้นตามไปด้วย 
 
คนที่มีหัวใจสกปรกโสโครก หัวใจของเขาก็จะยิ่งห่างไกลจากอัลลอฮฺ   เช่นกัน แม้ว่าจะขยันทำอิบาดะฮฺมากมายก็ตาม ดังที่เราได้พบเห็นในสังคมว่าการปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างมากมาย การบริจาคมากมาย หรือการทำบุญมากมายมิได้เป็นสัญลักษณ์ว่าจิตใจคนคนหนึ่งนั้นสะอาด เพราะเราได้เห็นคนที่บริจาคเป็นล้านแต่โอ้อวด  หรือคนที่ปฏิบัติอิบาดะฮฺมากมายเพื่ออวดชาวบ้านก็เรียกได้ว่าหัวใจโสโครก ถึงแม้ว่าจะขยันทำอิบาดะฮฺ ปฏิบัติตามหลักการศาสนา แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมาย เพราะเป้าหมายคือจิตใจ ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “إنَّمَا الأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ” ความว่า “แท้จริงการงานนั้นขึ้นอยู่กับเจตนา” ซึ่งเหนียตนั้นก็คือจิตใจ และการปรับเหนียตเจตนารมณ์ให้สะอาดและบริสุทธิ์ก็คือการตัซกียะฮฺ
 

เรียบเรียงจาก การอรรถาธิบายความหมายอัลกุรอาน (ตัฟซีร) ในซูเราะฮฺอัลอะอฺลา โดยชัยคฺริฎอ อะหฺมัด สมะดี