กฎเกณฑ์ในการกล่าวหาบุคคลเป็นกาฟิร (มุรตัด)

Submitted by dp6admin on Mon, 30/11/2009 - 09:34

 

ทุกคนที่เป็นมุสลิมโดยกำเนิด หรือผู้ที่เข้ารับอิสลามอย่างชัดแจ้ง  ได้รับสิทธิอยู่ในความปลอดภัยจากการถูกกล่าวหาจากผู้อื่นในเรื่องหนึ่งเรื่องใด จนกว่าจะมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าเขามีความผิดในเรื่องหนึ่งเรื่องใด แต่การจะกล่าว หาตัวบุคคลที่เป็นมุสลิมว่าเป็นกาฟิร(มุรตัด) จำเป็นต้องมีหลักฐานที่น่าเชื่อถืออย่างไม่มีข้อสงสัยว่าบุคคลเหล่านั้นออกนอกกรอบศาสนาอย่างแน่นอน

ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ กล่าวว่า ใครก็ตามที่เป็นมุสลิม จะไม่ออกนอกกรอบอิสลามด้วยความสงสัย และจะพิพากษาว่าเขาเป็นกาฟิรมิได้ จนกว่าจะได้ชี้แจงหลักฐานให้แก่เขา เพื่อแก้ไขและให้คำตอบต่อข้อคลุมเครือที่เขามีอยู่..แต่มนุษย์จำนวนมากพิพากษากลุ่มบิดอะฮฺและกลุ่มที่หลงผิดว่าเป็นกาฟิร โดยไม่ยึดในมาตรการดังกล่าว (มัจญฺมูอฺฟะตาวาอิบนุตัยมียะฮฺ – สารานุกรมคำฟัตวาของอิบนุตัยมียะฮฺ, ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ, เล่ม 12 หน้า 466)  การกล่าวหาผู้อื่นเป็นกาฟิรมีผลกระทบต่อบุคคลนั้นมากมาย เพราะการชี้ว่าคนหนึ่งคนใดเป็นกาฟิร เป็นการยืนยันว่า ชีวิตและทรัพย์สมบัติของเขาไม่เป็นที่ต้องห้ามในทัศนะของอัลอิสลาม และในวันกิยามะฮฺเขาจะพำนักอยู่ในนรกตลอดกาล ด้วยผลกระทบที่รุนแรงเช่นนี้ ทำให้เราต้องระมัดระวังในการพิพากษาผู้อื่นว่าเป็นกาฟิร ซึ่งหลักฐานที่ใช้ในการตัดสิน อาจเป็นหลักฐานอยู่ในระดับยะกีน(หมายถึงแน่นอนและมั่นคง) หรืออาจเป็นหลักฐานที่น้ำหนักเหนือกว่าหลักฐานฝ่ายตรงข้าม หรืออาจจะเป็นหลักฐานที่น้ำหนักอ่อนกว่าก็ได้

ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ กล่าวว่า

การกล่าวหาผู้อื่นเป็นกาฟิรไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานระดับยะกีนหรือก๊อฏอียฺ (หลักฐานที่ไม่มีข้อสงสัย)ในทุกกรณี เพราะการกล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นกาฟิรนั้นเป็นหุกุมชัรอียฺ(คำตัดสินแห่งบทบัญญัติ) ซึ่งจะส่งผลให้ชีวิตและทรัพย์สมบัติของผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นที่ต้องห้าม และเขาจะพำนักอยู่ในนรกตลอดกาล

ดังนั้น การพิพากษาเรื่องนี้เหมือนกับการพิพากษาในกรณีอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติแห่งศาสนา ซึ่งบางครั้งมีหลักฐานที่แน่นอนและมั่นคง บางครั้งมีหลักฐานที่มีน้ำหนักมากกว่าหลักฐานฝ่ายตรงข้าม และบางครั้งมีหลักฐานที่มีข้อสงสัย ในกรณีเช่นนี้การยุติการกล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นกาฟิรมีความสมควรอย่างยิ่ง ส่วนการด่วนพิพากษาผู้อื่นว่าเป็นกาฟิรทั้งๆที่ยังมีข้อสงสัยนั้น เป็นการกระทำของคนโง่เขลา (บุฆยะตุลมุรตาด, ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ เล่ม 1 หน้า 345)

มุสลิมต้องรู้ว่าหน้าที่ของเขา มิใช่เป็นผู้พิพากษาการศรัทธา(อีมาน)ของผู้อื่น แต่หน้าที่ของเขาคือเรียกร้องและพยายามเพิ่มพูนอีมานของผู้อื่นต่างหาก แต่เมื่อเราตกอยู่ในสภาวะที่ต้องทำหน้าที่สำรวจอีมานผู้อื่น เพื่อตัดสินสภาพความเป็นมุสลิมของเขา ก็จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดในการดำเนินการ เพราะเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับคนที่พิพากษาผู้อื่นโดยปราศจากหลักฐานและเหตุผล หรือมีความ สงสัย(ไม่แน่ใจ)ในคำกล่าวหานั้น

ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ กล่าวว่า

การกล่าวหาบุคคลที่เรารู้ว่าเขามีอีมานชัดเจน เป็นสิ่งอันตรายใหญ่หลวง เพราะมีบทหะดีษในอัศศ่อฮี้ฮฺ รายงานโดยษาบิต อิบนุฎเฎาะฮาก จากท่าน นบี กล่าวว่า “การสาปแช่งมุอฺมินเปรียบเสมือนการเข่นฆ่าเขา และใครก็ตามที่กล่าวหามุอฺมินว่าเป็นกาฟิร ก็เปรียบเสมือนการเข่นฆ่าเขา” และมีบทหะดีษในอัศศ่อฮี้ฮฺว่า ท่านนบีมุฮัมมัด   กล่าวว่า “ใครก็ตามที่กล่าวถึงพี่น้องของเขาว่า “โอ้กาฟิร” แน่นอนคนหนึ่งในสองคน(คนกล่าวหาและคนที่ถูกกล่าวหา) จะประสบกับคำกล่าวหานั้น” (อัลอิสติกอมะฮฺ, ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ  เล่ม 1 หน้า 165) 

    ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ ยังยืนยันอีกว่า กฎเกณฑ์ดังกล่าวเป็นกฎเกณฑ์ของบรรดาสะลัฟ (บรรพชนยุคแรก) ซึ่งท่านกล่าวว่า

บรรดาสะลัฟหลายท่านเคยผิดพลาดในหลายประเด็น แต่พวกเขามีมติเอกฉันท์ว่า ไม่อนุญาตให้กล่าวหาคนหนึ่งคนใดเป็นกาฟิรในเรื่องที่มีทัศนะไม่ตรงกัน เช่น ศ่อฮาบะฮฺบางท่านปฏิเสธว่ามัยยิต(ผู้เสียชีวิต)นั้นไม่ได้ยินเสียงผู้มีชีวิต, บางท่านปฏิเสธว่า เมียะอฺรอจ(การขึ้นสู่ฟากฟ้า) เป็นการฝัน, บางท่านปฏิเสธว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ไม่ได้เห็นพระองค์อัลลอฮฺ และพวกเขาก็ยังมีข้อขัดแย้งในเรื่องคิลาฟะฮฺ(การปกครอง) และการเปรียบเทียบระหว่างบรรดาศ่อฮาบะฮฺ ซึ่งเป็นประเด็นที่เรารู้กันดี ศ่อฮาบะฮฺบางท่านก็เคยต่อสู้ สาปแช่งและกล่าวหากัน

ท่านกอฎีชุร็อยฮฺ (อยู่ในยุคตาบิอีน) เคยปฏิเสธกิรออะฮฺ (สำนวนอายะฮฺ) ที่อัลลอฮฺตรัสว่า “บัลอะยิบตุ” และได้ปฏิเสธคุณลักษณะหนึ่งของอัลลอฮฺที่มีหลักฐานยืนยันจากอัลกุรอานและซุนนะฮฺ แต่ประชาชาติอิสลามมีมติเอกฉันท์ว่าท่านเป็นอิมาม(ผู้นำ)ท่านหนึ่งในบรรดาอิมามทั้งหลาย (มัจญฺมูอฺฟะตาวาอิบนุตัยมียะฮฺ , เล่ม 3 หน้า 229)

    ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ ได้วางมาตรการอันเข้มงวดในการกล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นกาฟิร ถึงแม้ว่าผู้นั้นจะกล่าวหาว่าเราเป็นกาฟิร เราก็ต้องปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรมกับเขา ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

บรรดาผู้รู้และชาวซุนนะฮฺจะไม่กล่าวหาผู้ที่มีข้อขัดแย้งกับเขาว่าเป็นกาฟิร ถึงแม้ผู้นั้นจะกล่าวหาเขาว่าเป็นกาฟิร เพราะ “กุฟรฺ” นั้นเป็นคำตัดสินพิพากษา และไม่บังควรอย่างยิ่งสำหรับใครก็ตาม ที่จะตอบแทนผู้อื่นในความผิดที่ได้รับจากเขาด้วยความผิด เช่น ผู้ที่พูดโกหกกับฉันหรือผิดประเวณี(ซินา) กับครอบครัวของฉัน ฉันไม่มีสิทธิ์ที่จะลงโทษเขาด้วยการโกหกเขา หรือผิดประเวณีกับครอบครัวของเขา เพราะการพูดเท็จหรือการผิดประเวณีเป็นสิ่งที่ต้องห้าม เนื่องจากเป็นพระบัญญัติแห่งสิทธิของพระผู้เป็นเจ้า เช่น เดียวกันการกล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นกาฟิร ก็เป็นพระบัญญัติแห่งสิทธิของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น ไม่มีใครมีสิทธิที่จะกล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นกาฟิร นอกจากผู้ที่อัลลอฮฺและร่อซูลยืนยันว่าเขาเป็นกาฟิร

อีกประการหนึ่ง การจะตัดสินตัวบุคคลว่าเป็นกาฟิรและการอนุญาตให้ประหารชีวิตเขานั้น ขึ้นอยู่กับว่าเขา(ผู้ถูกกล่าวหา)ได้รับหลักฐานอันชัดแจ้งจากบทบัญญัติที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ใครที่ขัดกับหลักฐานดังกล่าวจะถือว่าเป็นผู้ปฏิเสธ(กาฟิร)หรือไม่ ส่วนผู้ที่ไม่รู้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดของศาสนา จะถือว่าเขาปฏิเสธเรื่องนั้นหรือเป็นผู้ปฏิเสธ(กาฟิร)ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อศ่อฮาบะฮฺและตาบิอีนบางท่าน (เช่น กุดามะฮฺ อิบนุมัซอูน) มีความเห็นว่า การดื่มสุราเป็นที่อนุญาตในบทบัญญัติและเชื่อว่ามันหะล้าลสำหรับผู้ที่ประกอบความดี ซึ่งเขาตีความจากอายะฮฺหนึ่งในซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ บรรดาอุละมาอฺในกลุ่มศ่อฮาบะฮฺ เช่น ท่านอุมัร, ท่านอาลี และท่านอื่นๆ มีมติว่า ต้องสอบสวนเขาก่อน(อิสติตาบะฮฺ) คือให้แสวงหาเหตุผลในการกระทำของเขาและแนะนำให้เตาบัต(กลับเนื้อกลับตัว) จากความผิดที่เขาได้กระทำ หากว่าเขาดื้อดึงและยืนยันในความเห็นว่าสุราไม่หะรอม ก็จะถือว่าเขาเป็นกาฟิร แต่ถ้าหากเขายอมรับในความผิดพลาดก็ต้องเฆี่ยน แต่ไม่ถือว่าเขาตกศาสนา (อัรร็อดดุ อะลา อัลบักรี , เล่ม 2 หน้า 487)

    ข้อความดังกล่าว แสดงถึงความสำคัญแห่งการสอบสวนและแสวงหาเหตุผล เพื่อพิจารณาบุคคลที่มีข้อหาว่าเป็นกาฟิร เพราะเป็นอันตรายสำหรับผู้รู้และผู้ที่ไม่รู้ เมื่อพิพากษาผู้อื่นว่าเป็นกาฟิรแล้ว ก็จะต้องรับผิดชอบในผล กระทบที่จะเกิดขึ้นจากคำพิพากษาของเขา

คำพูด ข้อความ หรือการกระทำ(ของคนหนึ่งคนใด) ที่เป็นกุฟรฺ(การปฏิเสธ)อย่างชัดเจน ต้องมีเงื่อนไขสำคัญเพื่อชี้ขาดว่าผู้ทำกุฟรฺนั้นเป็นกาฟิร หมายถึง ผู้กล่าว ผู้เขียน หรือผู้กระทำสิ่งที่เป็นกุฟรฺนั้น อาจไม่เป็นกาฟิรก็ได้ อันเนื่องจากองค์ประกอบแห่งการยืนยันว่าเขาเป็นกาฟิรยังไม่เป็นรูปธรรม เช่น คนที่กราบมนุษย์อื่น ซึ่งการกราบ(สุญูด)ให้แก่ผู้อื่นนอกจากอัลลอฮฺถือเป็นชิริก(การตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ)ชนิดหนึ่ง ยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าเขาเป็นกาฟิร เพราะการที่จะตัดสินตัวบุคคลว่าเป็นกาฟิรนั้น ต้องมีองค์ประกอบหลายประการดังนี้

    1. ต้องมีหลักฐานชัดเจนว่าผู้กล่าวหรือผู้กระทำสิ่งที่เป็นกุฟรฺ ได้มีพฤติกรรมที่เป็นกุฟรฺอย่างชัดเจนโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ เช่น ถูกบังคับ(อิกรอฮฺ)หรือไม่มีความรู้ในเรื่องนั้น(อัลญะฮลฺ) คือเขาได้กล่าวหรือกระทำกุฟรฺโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นกุฟรฺ (อัษษะวาบิตวัลมุตะฆ็อยรอต , หน้า 164)

    2. จำเป็นต้องมีการชี้แจงแก่บุคคลที่กล่าวหรือกระทำ กุฟรฺว่าพฤติกรรมของเขาอยู่ในข่ายของกุฟรฺ แต่ถ้าหากว่าไม่มีการชี้แจงอย่างละเอียดกว้างขวางให้ผู้กล่าวหรือกระทำกุฟรฺเข้าใจอย่างดี ก็ไม่อนุญาตให้พิพากษาเขา ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ กล่าวว่า ก่อนการกล่าวหาตัวบุคคลว่าเป็นกาฟิร และอนุญาตให้ประหารชีวิตเขานั้น เขาจะต้องได้รับการชี้แจงในเชิงหลักฐานอันชัดเจนแห่งพระบัญญัติ ที่จะทำให้เขารู้ว่าเขาได้กระทำหรือกล่าวสิ่งที่เป็นกุฟรฺ (อัรร็อดดุ อะลา อัลบักรี , เล่ม 2 หน้า 487) 

และท่านกล่าวอีกว่า การกล่าวหาว่า คำกล่าวหรือการกระทำใดๆเป็นกุฟรฺ มิได้หมายถึงว่า ผู้กล่าวหรือผู้กระทำนั้นเป็นกาฟิร จนกระทั่งมีการชี้แจงและอ้างถึงหลักฐานอันชัดแจ้งต่อผู้กล่าวหรือผู้กระทำ ซึ่งมีหะดีษศ่อฮี้ฮฺที่ท่านนบี ได้เล่าถึงชายคนหนึ่งที่กล่าวกับลูก ๆ เขาว่า “เมื่อฉันตายแล้วพวกท่านจงเผาฉันจนเป็นผง และนำไปทิ้งในแม่น้ำ ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺว่า ถ้าหากว่าพระองค์อัลลอฮฺสามารถถึงฉัน(ทำให้ฉันฟื้นคืนชีพ)ได้ จะลงโทษต่อฉันโดยไม่ได้ลงโทษต่อคนอื่นในโลกนี้” อัลลอฮฺ   ทรงถามเขาว่า “เหตุใดเจ้าจึงทำเช่นนี้” เขาตอบว่า “เพราะยำเกรงพระองค์ท่าน” อัลลอฮฺ   จึงทรงอภัยโทษให้แก่เขา 

ชายคนนี้เชื่อว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ไม่สามารถรวบรวมผงกระดูกของเขาได้ เขาสงสัยในพระเดชานุภาพของพระองค์ที่จะทำให้เขาฟื้นคืนชีพได้ ความเชื่อดังกล่าวเป็นการปฏิเสธ (กุฟรฺ) สำหรับคนที่รู้ว่าการสงสัยในเรื่องนั้นเป็นกุฟรฺ แต่สำหรับชายคนนี้เขาไม่รู้ว่าคำพูดของเขาเป็นกุฟรฺ และไม่ได้รับการชี้แจงให้เข้าใจ การที่เขาอีมานต่ออัลลอฮฺ อีมานในคำบัญชา คำห้าม คำสัญญา และคำตักเตือนของพระองค์ ทำให้เขาเกรงกลัวการลงโทษของอัลลอฮฺ จึงได้สั่งลูกๆ ให้เผา และด้วยความยำเกรงของเขาต่ออัลลอฮฺนี่เอง พระองค์จึงได้ทรงอภัยโทษแก่เขา

เพราะฉะนั้น ใครก็ตามในบรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ และในวันปรโลก และประกอบการงานที่ดีงาม ที่มีความผิดพลาดในบางประเด็นที่เกี่ยวกับหลักศรัทธา(อะกีดะฮฺ) จะไม่ถือว่าเลวร้ายกว่าชายคนนี้... (อัลอิสติกอมะฮฺ , เล่ม 1 หน้า 165)