จะรู้ได้อย่างไรว่าคนหนึ่งคนใดเป็นก๊อดยานียฺ ?

Submitted by dp6admin on Mon, 30/11/2009 - 10:01

หลักความเชื่อมั่นของก๊อดยานียะฮฺ  แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. หลักเชื่อมั่นที่ตรงกับอิสลามและหลักเชื่อมั่นที่ตรงกับทัศนะของนักปราชญ์อิสลามบางท่าน

หลักเชื่อมั่นที่ตรงกับหลักเชื่อมั่นของอิสลาม (อะหฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ) ก็อย่างเช่น การที่ก๊อดยานียฺเชื่อว่า ท่านนบีอีซา   ไม่ได้ถูกชาวยิวฆ่า ส่วนความเชื่ออื่นๆที่ตรงกับทัศนะของนักปราชญ์อิสลามบางท่าน โดยเป็นทัศนะที่มีน้ำหนัก(จะมากหรือน้อยก็ตาม) เช่น ความเชื่อที่ว่านบีอีซาตาย ซึ่งเป็นทัศนะหนึ่งที่มีระบุไว้ในตำราของชาวซุนนะฮฺที่น่าเชื่อถือ เช่น ตัฟซีรอิบนุกะษีร และตัฟซีรอัลมะนาร ของชัยคฺมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ แม้ว่าทัศนะดังกล่าวจะเป็นทัศนะที่อ่อนแอในเชิงหลักฐานและหลักภาษา แต่ไม่ถือว่าเป็นทัศนะที่จะประณามได้ เนื่องจากมีเหตุผลในเชิงวิชาการและนักปราชญ์ ให้ความนับถือ
ความเชื่อเหล่านี้ แม้จะระบุในตำราของกลุ่มก๊อดยานียฺ แต่ทว่ามันไม่ใช่ทัศนะของก๊อดยานียฺโดยเฉพาะ จึงนำมาเป็นข้ออ้างอิงในการกล่าวหาผู้ที่มีความเชื่อเช่นนี้ว่าเป็น ก๊อดยานียฺไม่ได้ ดังเช่นการที่ชีอะฮฺเชื่อในความประเสริฐของท่านอัลหะซันและอัลหุซัยนฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา บุคคลที่มีความเชื่อเช่นนี้จะไม่ถือว่าเป็นชีอะฮฺ เนื่องจากเป็นความเชื่อที่อะหฺลุซซุนนะฮฺก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน

2. หลักเชื่อมั่นที่เป็นทัศนะของก๊อดยานียะฮฺและของกลุ่มอื่นๆ ที่มิใช่อิสลาม หรือมิใช่ซุนนะฮฺด้วย

ทัศนะเหล่านี้ต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยให้การตัดสินของเราต่อบุคคลที่มีความเชื่อเช่นนี้ สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะการที่จะชี้ขาดว่าผู้หนึ่งผู้ใดเป็นก๊อดยานียฺ ชีอะฮฺ หรือซูฟี ต้องมีเงื่อนไขสำคัญในการพิสูจน์นิกายของบุคคลนั้น ซึ่ง ดร.ศ่อลาฮฺ อัศศอวียฺ ได้วิจัยประเด็นนี้ไว้ ในตำราของท่าน โดยกล่าวว่า จำเป็นสำหรับการพิสูจน์นิกายของผู้หนึ่งผู้ใด ต้องพบหลักฐานยืนยันว่าเขาเชื่อในส่วนมากของหลักเชื่อมั่นในนิกายหนึ่งนิกายใด จึงจะสามารถยืนยันได้ว่าเขาเป็นผู้ที่ยึดมั่นในนิกายนั้นๆ (อัษษะวาบิตวัลมุตะฆ็อยรอต , หน้า 216)

กรณีที่เราพบว่าคนหนึ่งคนใดเชื่อในทัศนะของก๊อดยานียะฮฺบางประการ อันเป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้องที่มีอยู่ในนิกายอื่นที่มิใช่ซุนนะฮฺเช่นกัน แต่มิใช่ทัศนะเฉพาะของก๊อดยานียะฮฺ ดังเช่นบุคคลที่ปฏิเสธญินซึ่งเป็นทัศนะของมุอฺตะซิละฮฺบางกลุ่ม (เช่น กลุ่มอันนัซซอมียะฮฺในนิกายมุอฺตะซิละฮฺ ซึ่งปฏิบัติตามทัศนะของ อิบรอฮีม อิบนุซัยยาร อิบนุฮานิ อันนัซซอม ที่ปฏิเสธญินโดยสิ้นเชิง, หนังสืออัลมิละลุ วัลนิฮะลุ , อิมามอัชชะฮฺริสตานียฺ เล่ม 1 หน้า 49, เบรุต ค.ศ.2000)  แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเป็นทัศนะของก๊อดยานียะฮฺด้วย  จึงเป็นประเด็นที่ไม่สามารถนำมายืนยันว่าบุคคลที่ปฏิเสธญินนั้นเป็นก๊อดยานียฺ อันเนื่องจากว่า ความเชื่อของเขาที่ผิดหลักศรัทธาของชาวซุนนะฮฺนั้น ไม่ใช่หลักศรัทธาของก๊อดยานียะฮฺอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าหลักศรัทธาดังกล่าวอาจทำให้ผู้นั้นเป็นกาฟิรหรือเป็นฎอล(ผู้หลงผิด) หรือเป็นมุบตะดิอฺก็ตาม

3. หลักเชื่อมั่นของก๊อดยานียะฮฺโดยเฉพาะ 

บุคคลที่มีหลักเชื่อมั่นเช่นนี้ สามารถยืนยันได้ว่าเขาเป็นก๊อดยานียฺอย่างแน่นอน เช่น การที่คนหนึ่งคนใดเชื่อว่า มิรซา ฆุลาม อะหมัด เป็นมุญัดดิ๊ด(วีรบุรุษที่ฟื้นฟูกิจการของอิสลามที่ถูกละเลย)  หรือเป็นนบี หรือมะซีหฺเมาอูด(ศาสนทูตที่ถูกสัญญาว่าจะมาก่อนวันสิ้นโลก)  ซึ่งความเชื่อเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าผู้ที่เชื่อเช่นนี้เป็นก๊อดยานียฺ

อย่างไรก็ตาม เมื่อจะกล่าวหาคนหนึ่งคนใดว่าเขามีความเชื่อของก๊อดยานียะฮฺ, มุอฺซะติละฮฺ, หรือกลุ่มอื่นๆ จำ เป็นต้องมีหลักฐานยืนยันว่า ความเชื่อนั้นเป็นความเชื่อของกลุ่มนั้นๆโดยเฉพาะ โดยใช้ตำราของกลุ่มนั้นหรือตำราของนักปราชญ์ที่มีความรู้กว้างขวางในกลุ่มและนิกายต่างๆ เป็นหลักฐานอ้างอิง แต่การกล่าวหาว่าคนหนึ่งคนใดมีทัศนะของก๊อดยานียฺ โดยไม่อ้างอิงว่าทัศนะนั้นเป็นก๊อดยานียฺอย่างไรและนำมาจากไหน การกล่าวหาเช่นนี้ถือว่าเป็นโมฆะ ไร้คุณค่าในทางวิชาการ หรือเป็นการใส่ร้ายโดยปราศจากหลักฐาน

ในการกล่าวหา อิบรอฮีม กุเรชี ว่าเป็นก๊อดยานียฺนั้น อาลี อีซา มักจะปะปนความเชื่อของก๊อดยานียะฮฺกับความเชื่อของนิกายและกลุ่มอื่นๆ โดยไม่แยกแยะหรือคัดเลือกลักษณะความเชื่อที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ซึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาอ้างเป็นหลักฐานยืนยันคำกล่าวหานั้นคือ

1.    เชื่อว่านบีอีซา อะลัยฮิสสลาม  มีพ่อ
2.    กล่าวในทำนองปฏิเสธการมีญิน
3.    อ้างว่าการกำหนดสภาวะ (อัลกอฎออฺและอัลกอดัร) ไม่มีในอัลกุรอาน
4.    มีข้อความในลักษณะปฏิเสธมุอฺญิซาต
5.    ตีความคุณลักษณะ(ศิฟาต)ของอัลลอฮฺ
6.    ตีความโองการอัลกุรอานว่าเป็นการทำนายหรือเป็นอุปมาเปรียบเทียบเท่านั้น (เช่น การที่ อิบรอฮีม กุเรชี ตีความอายะฮฺที่ 31 ซูเราะฮฺอัลกะฮฟฺ ว่า อายะฮฺนี้เป็นการพยากรณ์อีกโสดหนึ่งว่า อาหรับจะได้รับชัยชนะเหนือพวกเปอร์เซีย และจักรวรรดิทั้งสองนี้จะได้ครองความมั่งคั่ง (กุรอานมะญีดฉบับพิมพ์ครั้งแรก เล่ม 1 หน้า 654))

นั่นคือประเด็นหลักที่พบในข้อกล่าวหาต่ออิบรอฮีม กุเรชี ซึ่งถูกนำมาจากข้อกล่าวหาของ อาลี อีซา และสถาบันอื่น แม้ว่าจะมีตัวอย่างหลายประเด็น แต่ทั้งหมดก็จะกลับมาสู่หกประการที่ระบุข้างต้น

แท้จริง 6 ประเด็นนี้เป็นข้อกล่าวหาที่ต้องมีหลักฐานยืนยันอย่างชัดแจ้งว่าเป็นความเชื่อของก๊อดยานียฺ โดยอ้างหลักฐานจากตำราของก๊อดยานียะฮฺหรืออะหฺมะดียะฮฺ และพิสูจน์อย่างลึกซึ้งว่าเป็นทัศนะของก๊อดยานียฺโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้กล่าวหาที่ต้องกระทำเช่นนี้ ตราบใดที่ข้อกล่าวหาไม่มีหลักฐานดังกล่าว จะถือว่าการกล่าวหานั้นเป็นการใส่ร้ายป้ายสีโดยปราศจากหลักฐาน

แต่ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า ประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นข้อกล่าวหาต่อ อิบรอฮีม กุเรชี ว่าเป็นก๊อดยานียฺนั้น ส่วนมากไม่เกี่ยวกับก๊อดยานียฺโดยสิ้นเชิง เช่น การปฏิเสธกอฎออฺและกอดัร, การปฏิเสธการมีญิน, การปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮฺ และการตีความมุอฺญิซาตและโองการในอัลกุรอานให้ตรงกับกฎธรรมชาติและหลักวิทยาศาสตร์ เป็นต้น 

เพราะการปฏิเสธกอฎออฺและกอดัรเป็นอะกีดะฮฺของ อัลก็อดรียะฮฺหรือมุอฺตะซิละฮฺโดยเฉพาะ, การปฏิเสธญินก็เป็นอะกีดะฮฺของมุอฺตะซิละฮฺบางกลุ่ม และมีนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงในกลุ่มซุนนะฮฺที่ปฏิเสธญิน เช่น ชัยคฺมุฮัมมัด อับดุฮฺ และชัยคฺมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ เป็นต้น, การปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮฺนั้นเป็นอะกีดะฮฺของมุอฺตะซิละฮฺ ญะฮฺมียะฮฺและอะชาอิเราะฮฺ,  ส่วนการตีความมุอฺญิซาตและโองการอัลกุรอานให้ตรงกับกฎธรรมชาติและหลักวิทยาศาสตร์ (อัตตัฟซีร วัลมุฟัสสิรูน , อัชชัยคฺมุฮัมมัดหุซัยนฺ อัซซะหะบียฺ เล่ม 2 หน้า 346-361) ก็เป็นแนวทางของมุอฺตะซิละฮฺเช่นเดียวกัน และนักปราชญ์ที่ระบุชื่อข้างต้นก็ได้ปฏิบัติตามแนวนี้ด้วย (เล่มเดียวกัน หน้า 381-419)

ถึงแม้ว่าในตำราของก๊อดยานียะฮฺหรืออะหฺมะดียะฮฺจะมีแนวหรือทัศนะเหมือนทัศนะดังกล่าวข้างต้น เช่นที่ปรากฏในตัฟซีรของมุฮัมมัดอาลี หัวหน้าก๊อดยานียะฮฺฝ่ายละโฮร์ ซึ่งมีบางทัศนะที่คล้ายกับทัศนะของมุอฺตะซิละฮฺ แต่จะเป็นทัศนะส่วนตัวของมุฮัมมัดอาลี หรือเป็นทัศนะเฉพาะก๊อดยานียฺหรืออะหฺมะดียะฮฺก็หาไม่ บางคนที่ไม่มีความรู้เมื่อพบว่าบุคคลหนึ่งมีบางทัศนะเหมือนในตัฟซีรของมุฮัมมัดอาลี (หัวหน้าก๊อดยานียะฮฺฝ่ายละโฮร์) ก็รีบชี้ขาดว่าบุคคลนั้นเป็น ก๊อดยานียฺโดยไม่มีการตรวจสอบ การตัดสินเช่นนี้เปรียบ เสมือนการมองนิสัยบุคคลจากผิวหนังของเขาเท่านั้น และนั่นคือสิ่งที่ อาลี อีซา กระทำตลอดมา พบความเชื่อของ อิบรอฮีม กุเรชี บางประเด็นที่ปรากฏในตัฟซีรของมุฮัมมัดอาลี ก็รีบพิพากษาว่า อิบรอฮีม กุเรชี เชื่อในทัศนะของก๊อดยานียะฮฺหรืออะหฺมะดียะฮฺ แต่คำถามที่ อาลี อีซา ตอบไม่ได้คือ ถ้าหากว่า อิบรอฮีม กุเรชี เป็นก๊อดยานียฺจริง ทำไมเขาจึงไม่แปลทัศนะของมุฮัมมัดอาลีเกี่ยวกับมิรซา ฆุลาม อะหมัด ที่ระบุในตัฟซีรของมุฮัมมัดอาลีฉบับภาษาอังกฤษด้วย (“The Holy Qu’ran” โดย มุฮัมมัดอาลี คำนำ หน้า 7 และอีกหลายแห่ง)  และทำไมตลอดชีวิตของ อิบรอฮีม กุเรชี จนถึงปัจจุบันนี้ เขาจึงไม่เคยกล่าวถึง มิรซา ฆุลาม อะหมัด ในเชิงยกย่องหรือด้วยความศรัทธาเลย นอกจากนั้น อิบรอฮีม กุเรชี ยังได้ประณามลัทธิมุอฺตะซิละฮฺและอะหฺมะดียะฮฺ พร้อมทั้งประณาม มิรซา ฆุลาม อะหมัด และอุบายของเขาในการสร้างความแตกแยกในสังคมมุสลิม ด้วยการเผยแพร่ ความเชื่อของก๊อดยานียะฮฺที่ไม่อยู่ในกรอบอิสลาม

เมื่อพิจารณาข้อกล่าวหาของ อาลี อีซา ต่อ อิบรอฮีม กุเรชี หลายประเด็นดังที่ปรากฏในเอกสารนี้ เราจะพิสูจน์ได้ว่า อาลี อีซา เจตนาบิดเบือนข้อความของ อิบรอฮีม กุเรชี เพื่อโจมตีและใส่ร้ายป้ายสีโดยปราศจากหลักฐาน และเราจะทราบได้ว่าเรื่องก๊อดยานียฺที่ อาลี อีซา มักจะกล่าวถึงทุกครั้งที่มีการกล่าวหา อิบรอฮีม กุเรชี นั้นเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลพื้นฐาน เป็นเพียงฉากบังหน้าเพื่อให้การโจมตีใส่ร้ายป้ายสีนั้นมีความ รุนแรงและสัมฤทธิ์ผลในสายตาของคนทั่วไป

ส่วนความเชื่อที่อาจเป็นทัศนะของก๊อดยานียฺหรืออะหฺมะดียะฮฺ เช่น การเชื่อว่านบีอีซามีพ่อ หรือการเชื่อว่านบีอีซาเสียชีวิตที่แคชเมียร์ เป็นทัศนะที่ไม่ทำให้ผู้ที่เชื่อเช่นนี้เป็นก๊อดยานียฺอย่างชัดเจน เพราะการเชื่อว่าท่านนบีอีซามีพ่อ ไม่ใช่ทัศนะของก๊อดยานียะฮฺทุกกลุ่ม แต่เป็นทัศนะของมุฮัมมัดอาลีที่ปรากฏในตัฟซีรของเขาเท่านั้น ซึ่งในตัฟซีรอัลมะนาร ของชัยคฺมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ ก็มีทัศนะที่ตีความการกำเนิดของท่านนบีอีซา   ในเชิงหลักวิทยาศาสตร์และกฎธรรมชาติ

ข้าพเจ้าไม่ได้หาทางออกหรือแก้ตัวแทน อิบรอฮีม กุเรชี เพราะข้าพเจ้ายืนยันว่าความเชื่อดังกล่าวเกี่ยวกับนบีอีซา   ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อของมุฮัมมัดอาลี, อิบรอฮีม กุเรชี หรือชัยคฺมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ ก็ถือเป็นความผิดอย่างมหันต์ โดยเฉพาะการเชื่อว่าท่านนบีอีซามีพ่อ แต่ในเชิงวิชาการเราต้องมีความละเอียดและสอบสวนอย่างลึกซึ้งเพื่อไม่เป็นการอธรรมผู้อื่น ดังที่พระองค์อัลลอฮฺใช้ให้เราปฏิบัติดังอายะฮฺกุรอานที่ว่า

﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنَوْا إِنْ جَاءَكُمْ فَاسِقٌ بِنَبَأٍ فَتَبَيَّنُوا أَنْ تُصِيْبُوا قَوْمَاً بِجَهَالَةٍ فَتُصْبِحُوا عَلَى مَا فَعَلْتُم نَادِمِيْنَ ﴾

ความว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย หากคนชั่วนำข่าวใดๆมาแจ้งแก่พวกเจ้า พวกเจ้าก็จงสอบสวนให้แน่ชัด หาไม่แล้วพวกเจ้าจะก่อเคราะห์กรรมแก่พวกหนึ่งโดยไม่รู้ตัว แล้วพวกเจ้าจะกลายเป็นผู้เสียใจในสิ่งที่พวกเจ้าได้กระทำไป” (อัลหุญุรอต 6)

ในคำนำภาษาอาหรับของหนังสือ คำอธิบายความ หมายอัลกุรอานญุซอฺที่ 3 ของสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับ มีข้อความประณามความหมายอัลกุรอานของก๊อดยานียะฮฺหรือ อะหฺมะดียะฮฺ และระบุถึงความพยายามของลัทธินี้ที่จะเผย แพร่คำแปลอัลกุรอานของพวกเขาให้ถึงร้อยภาษา อาลี อีซา เชื่อว่าความหมายอัลกุรอานของ อิบรอฮีม กุเรชี เป็นความหมายอัลกุรอานฉบับภาษาไทยของก๊อดยานียะฮฺหรืออะหฺมะดียะฮฺ (คำอธิบายอัลกุรอานซูเราะฮฺยูนุส , เชคอาลี อีซา หน้า 72-73,  215)  แต่ อาลี อีซา กลับไม่สามารถชี้แจงได้ว่า ทำไมกลุ่มก๊อดยานียฺหรืออะหฺมะดียะฮฺ จึงไม่เคยอ้างถึงหนังสือกุรอานมะญีดของ อิบรอฮีม กุเรชี ทั้งๆที่เป็นคำแปลอัลกุรอานที่ได้รับความนิยมในสังคมไทย จากความสำเร็จของกุรอานมะญีดและด้วยการยืนยันจากสาขาก๊อดยานียะฮฺ(ตัวจริง) ในประเทศไทยและจาก อิบรอฮีม กุเรชี เองว่า กุรอานมะญีดฉบับภาษาไทยไม่ใช่ตำราที่เผยแพร่ทัศนะของก๊อดยานียะฮฺหรืออะฮฺมะดียะฮฺ นี่ก็เพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่า ข้อกล่าวหาของ อาลี อีซา เป็นการหาเรื่องเพื่อโจมตีคู่กรณีเท่านั้น

ข้าพเจ้าขอให้พี่น้องพิจารณาว่า ในเมื่อ อาลี อีซา ชำนาญในเรื่องก๊อดยานียะฮฺ และได้ใช้ชีวิตของเขาในการติดตามผลงานของก๊อดยานียะฮฺ (ตามที่เขาอ้าง) ทำไม อาลี อีซา จึงไม่ติดตามผลงานของสาขาก๊อดยานียฺฝ่ายร็อบวะฮฺที่มีสำนักงานอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย หรือผลงานของสาขาก๊อดยานียะฮฺฝ่ายละโฮร์ที่ประกาศตัวในกรุงเทพ(มีที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ในเว็บไซต์ของอะหฺมะดียะฮฺ)  หรือหนังสือของก๊อดยานียะฮฺพันธุ์แท้ฉบับภาษาไทย ซึ่งพี่น้องหลายท่านได้เห็นเองในร้านหนังสือทั่วไป แต่ อาลี อีซา ไม่เคยมีบทบาทในการชี้แจงหรือต่อต้านผลงานเหล่านี้ ถ้าหากว่าเขามีความห่วงใยต่อสังคมมุสลิมในเรื่องก๊อดยานียะฮฺ ดังที่ ขบวนการของเขาได้พูดอยู่เสมอ เหตุใดจึงไม่มีบทบาทเลยในการปกป้องสังคมจากภยันตรายเช่นนี้

อิบรอฮีม กุเรชี อาจมีข้อผิดพลาดหรือข้อน่าสงสัยในความเชื่อของเขา แต่จากผลงานของเขาและบุคคลที่รู้จักเขาสามารถยืนยันได้ว่า อิบรอฮีม กุเรชี ไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิก๊อดยานียะฮฺด้วยประการทั้งปวง เพราะพวกก๊อดยานียฺไม่ว่าสาขาใดก็ตามจะไม่ละหมาดในมัสยิดของมุสลิม ไม่สนับสนุนองค์กรเผยแพร่ศาสนาของมุสลิม ไม่ทำธุรกิจหรือกิจกรรมในสังคมมุสลิม และจะพยายามแยกตัวออกจากสังคมมุสลิมอย่างชัดเจน ดังที่เกิดขึ้น ณ ประเทศปากีสถานและในทุกประเทศที่มีกลุ่มก๊อดยานียะฮฺ แต่ อาลี อีซา กลับพูดว่าลัทธิก๊อดยานียฺหรืออะหฺมะดียะฮฺแฝงตัวในกลุ่มมุสลิมหรือซุนนะฮฺเพื่อหลอกลวงคนทั่วไป(คำอธิบายอัลกุรอานซูเราะฮฺยูนุส , หน้า 215)  แต่สิ่งที่น่าประหลาดและน่าขันคือ เขาจะแฝงตัวไปถึงเมื่อไหร่ อิบรอฮีม กุเรชี ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมาเป็นเวลานานมากแล้ว แต่ลัทธิก๊อดยานียะฮฺหรือผู้ที่เป็นก๊อดยานียฺกลับไม่มีปรากฏในองค์กรมุสลิมใดๆในประเทศไทย นอกจากนี้ การที่ อิบรอฮีม กุเรชี ให้การสนับสนุนโรงเรียนศาสนามาตลอด โดยไม่เคยบังคับให้ยึดในตำราของเขา เช่นที่เขาเคยปฏิบัติกับโรงเรียนศาสนูปภัมภ์ จะบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าข้อกล่าวหาของ อาลี อีซา มีน้ำหนักแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่า อิบรอฮีม กุเรชี เคยมีทัศนะที่ตรงกับก๊อดยานียฺบางประเด็น(โดยสมมติ) เมื่อห้าสิบกว่าปีมาแล้ว นั่นมิได้หมายความว่าเขาต้องเชื่อในทัศนะนั้นตลอดชีวิต มีความเป็นไปได้สำหรับมนุษย์ทุกคนที่อาจเปลี่ยนหรือปรับปรุงความเชื่อของเขาอย่างต่อเนื่อง สำนึกตัว เตาบัตตัว และกลับสู่ความถูกต้อง ซึ่งเป็นกรณีที่ อาลี อีซา ไม่เคยเผื่อไว้ ข้าพเจ้าก็เคยถามผู้ใหญ่อาวุโสหลายท่านว่า ณ วินาทีนี้ มีใครสามารถสาบานหรือยืนยันได้ว่า อิบรอฮีม     กุเรชี เป็นก๊อดยานียฺ เขาตอบว่า ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ ทั้งๆที่ตั้งแต่มีปัญหาเกิดขึ้นระหว่าง อาลี อีซา กับ อิบรอฮีม กุเรชี เขาไม่เคยใกล้ชิด อิบรอฮีม กุเรชี และไม่เคยทำหน้าที่ในการสอบสวน อิบรอฮีม กุเรชี ก่อนที่จะพิพากษาอย่างเด็ดขาด อันเป็นความกล้าหาญในการตัดสินตัวบุคคลโดยไม่ปฏิบัติตามกระบวนการแห่งความยุติธรรม

ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธว่ามีความสงสัยต่อ อิบรอฮีม กุเรชี ในบางประเด็น แต่ความสงสัยนี้มิใช่หลักฐานที่พอเพียงสำหรับการตัดสินคนอื่น และนั่นคือจุดยืนของข้าพเจ้าต่อทุกคนในสังคมที่ถูกกล่าวหาโดยปราศจากหลักฐาน และข้าพเจ้า เรียกร้องให้สังคมมุสลิมไทยสนับสนุนจุดยืนนี้ เพราะเป็นจุดยืนแห่งความถูกต้อง ที่ศาสนาอิสลามได้สั่งสอนไว้อย่างชัดเจน ที่น่าแปลกใจก็คือ เหตุใดเมื่อเกิดปัญหาระหว่างคู่กรณีในสังคมมุสลิมไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ปัญหานั้นจะไม่ยุติจนกว่าศาลที่ไม่ใช่มุสลิมจะตัดสินให้ ทั้งๆที่กฎหมายอิสลาม จริยธรรมอิสลาม และระเบียบแห่งสังคมมุสลิมที่สมบูรณ์แบบมีให้เราใช้ปฏิบัติอยู่แล้ว แต่กลับเป็นกฎหมายที่ถูกละเลย และอาจถูกต่อต้านจากบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นมุสลิมด้วย จึงขอเรียกร้องบรรดามุสลิมีนและมุสลิมาตในประเทศไทยและโลกมุสลิมโดยทั่วไป ให้ยึดมั่นในหลักการของศาสนา และอย่านำกฎหมายอื่นมาแทนกฎหมายแห่งพระผู้เป็นเจ้า เพราะนั่นคือการกระทำของผู้เนรคุณ


มาตรการพิสูจน์ลัทธิหรือนิกายของบุคคล

ในหนังสืออัลอิอฺติศอม ของอิมามอัชชาฏิบียฺ เล่มที่ 2 หน้า 200-201 มีข้อความที่มีความหมายว่า

ผู้ที่เชื่อในหลักเชื่อมั่นใหญ่หรือประเด็นสำคัญของนิกายหรือลัทธิที่มิใช่ซุนนะฮฺ จะเป็นผู้ที่ห่างจากพวกที่ถูกต้อง ส่วนการเชื่อในประเด็นเล็กหรือส่วนย่อยจะไม่ทำให้เขาห่างจากกลุ่มซุนนะฮฺที่ถูกต้อง แต่สำหรับผู้ที่เชื่อในประเด็นเล็กของนิกายหรือลัทธิที่ไม่ใช่ซุนนะฮฺหลายประเด็น จะบ่งบอกว่าเขามีหลักเชื่อมั่นของนิกายนั้น....ส่วนบุคคลที่มีความเชื่อในมัสอะละฮฺหนึ่ง (หมายถึงเชื่อในประเด็นหนึ่งที่เป็นบิดอะฮฺ) แต่ความเชื่อนั้นไม่ถึงขั้นตอนที่เรียกว่าหลักเชื่อมั่นหรือไม่ถึงระดับเป็นแนวคิด กรณีเช่นนี้จะถือว่าเป็นความผิดที่ต้องตอบโต้และชี้แจง แต่ทว่าไม่ทำให้คนเหล่านั้นออกนอกวงชาวซุนนะฮฺและญะมาอะฮฺ

ศาสนามีแนวทางอันเที่ยงธรรม ตรงกับกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ อะกีดะฮฺ(หลักศรัทธา)ในแนวทางนี้มีทั้งประเด็น หลักที่ถือว่ามีความสำคัญ และประเด็นเล็กที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับอะกีดะฮฺ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นเล็กประเด็นหนึ่ง ไม่ถือว่าออกนอกแนวทางของกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ แต่ถ้าหากว่าเขาไม่เห็นด้วยกับประเด็นเล็กหลายประเด็น จนถึงขั้นเป็นแนวคิดหรือบรรทัดฐานที่ค้านกับแนวทางของกิตาบุลลอฮฺ และซุนนะฮฺ ก็จะทำให้บุคคลนั้นออกนอกแนวทางของกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺ

เรื่องเหล่านี้จะทำให้การวินิจฉัยทัศนะของบุคคลหนึ่งจำต้องมีการค้นคว้าผลงานของบุคคลนั้นอย่างละเอียด และกว้างขวาง จึงจะมีสิทธิ์ตัดสินได้ว่า เขาอยู่ในแนวทางของกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺหรือไม่ แต่ตราบใดที่เราพบความผิดของบุคคลหนึ่งโดยไม่ทราบทัศนะอื่นๆของเขา ก็สมควรที่จะกล่าวถึงความผิดของเขาเท่าที่เรารู้เท่านั้น และไม่ควรตัดสินว่าตัวบุคคลนั้นอยู่ในแนวทางกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺหรือไม่ เนื่องจากว่าเราไม่มีปัจจัยแห่งการพิสูจน์ผลงาน หรือทัศนะ ต่างๆของผู้นั้น นี่คือมาตรการที่ผู้วินิจฉัยต้องปฏิบัติ เพื่อให้คำตัดสินมีความโปร่งใสและจะทำให้ผลการวินิจฉัยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ จนทำให้ผู้แสวงหาสัจธรรมนั้นรับคำตัดสินด้วยเหตุผล

ชัยคุลอิสลาม อิบนุตัยมียะฮฺ กล่าวในหนังสือมัจญฺมูวอฺฟะตาวา อิบนิตัยมียะฮฺ , เล่มที่ 20 หน้า 33-36 ว่า

ผลจากการวินิจฉัยในเชิงวิชาการที่เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง แม้ว่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับอุศูล(อะกีดะฮฺ) หรือฟุรูอฺ(หลักปฏิบัติที่มิใช่อะกีดะฮฺ) เป็นความผิดที่ศาสนาไม่เอาโทษ เช่น บุคคลที่เชื่อว่าไม่มีใครจะเห็นอัลลอฮฺได้ โดยยึดในโองการที่ว่า  لا تُدْرِكَهُ الأَبْصَارُ     หรือบุคคลที่ท่านนบีแจ้งว่า เขาสั่งลูกของเขาให้เผาร่างกายหลังเสียชีวิตเพื่อไม่ให้ถูกสอบสวน เพราะยำเกรงอัลลอฮฺ ซึ่งเป็นการปฏิเสธเดชานุภาพของอัลลอฮฺในการให้ฟื้นคืนชีพ  ความเชื่อดังกล่าว แม้ว่าจะผิดหลักศรัทธาที่ถูกต้อง แต่เนื่องจากมีหลักฐานและมีเหตุผลอ้างอิง จึงเป็นกรณีที่ย่อมได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺได้

ในประวัติศาสตร์อิสลาม มีนักปราชญ์บางท่านที่มีความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง อันเป็นผลจากการวินิจฉัยเชิงวิชาการ แต่เนื่องจากความผิดของนักปราชญ์เหล่านั้นอยู่ในประเด็นที่ไม่ใช่แนวคิดหรือหลักเชื่อมั่นสำคัญ จึงไม่ทำให้นักปราชญ์เหล่านั้นถูกประณามด้วยทัศนะที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ไม่มีการเผยแพร่ในกลุ่มนักวิชาการและผู้ สนใจในเรื่องราวของศาสนามากนัก จึงทำให้การกล่าวหาผู้อื่นในสังคมปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ไม่มีหลักการหรือมาตรฐาน แต่ใช้อารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัว หรือข้อมูลเพียงน้อยนิดในการกล่าวหา

ตัวอย่างนักปราชญ์ที่มีความเชื่อไม่ถูกต้อง (ไม่ตรงกับอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ) บางประเด็น

1. ท่านชุร็อยฮฺ อัลกอฎียฺ นักปราชญ์ยุคตาบิอีน (ลูกศิษย์ของศ่อฮาบะฮฺ) ได้ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮฺ   ที่เรียกว่า “อัลอุจญฺบุ – ความแปลกใจ” ทั้งๆที่คุณลักษณะ นี้ถูกระบุในซูเราะฮฺอัศศ็อฟฟาต และเป็นคุณลักษณะที่ชาวสะลัฟยอมรับและยืนยัน โดยท่านชุร็อยฮฺให้เหตุผลว่า ความแปลกใจนั้นจะมาด้วยความโง่เขลาหรือการที่ขาดความรู้ ซึ่งไม่เหมาะสมกับคุณลักษณะของพระองค์อัลลอฮฺที่ทรงรอบรู้อย่างกว้างขวาง แต่นักปราชญ์ในวงซุนนะฮฺไม่ถือว่าการที่ท่านชุร็อยฮฺปฏิเสธคุณลักษณะนี้จะทำให้ท่านออกนอกกรอบซุนนะฮฺ ทั้งๆที่เหตุผลที่ท่านชุร็อยฮฺอ้างข้างต้นนั้นเป็นเหตุผล เดียวกับกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺที่ปฏิเสธคุณลักษณะของอัลลอฮฺอย่างสิ้นเชิง (มัจญฺมูวอฺฟะตาวา อิบนิตัยมียะฮฺ , เล่มที่ 20 หน้า 33-36)

2. ท่านอิมามอิบนุตัยมียะฮฺและอิบนุลก็อยยิม มีทัศนะว่า นรกมีวันสิ้นสุด (รัฟอุลอัสตาร ฟี อิบฏอล อะดิลละติ อัลกออิลีนะ บิ ฟะนาอินนาร, ท่านอิมามอัศศ็อนอานียฺ)  และท่านอัชชัยคฺอัลก็อรฎอวียฺก็มีความเห็นใกล้เคียงกัน (ฟะตาวา มุอาสิเราะฮฺ , ชัยคฺยูซุฟ ก็อรฎอวียฺ เล่ม 2 หน้า 185-191)  แม้ทัศนะเช่นนี้จะค้านกับทัศนะของอุละมาอฺส่วนมากในกลุ่มอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ แต่ไม่มีผู้ใดถือว่าเป็นทัศนะที่เป็นกุฟรฺ หรือทำให้ผู้มีทัศนะเช่นนี้ออกนอกกรอบอิสลาม แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีความเห็นหนึ่งที่ไม่ใช่ของชาวซุนนะฮฺปรากฏในทัศนะของผู้รู้ชาวซุนนะฮฺคนหนึ่งคนใด จำเป็นต้องสำรวจแนวทางและทัศนะส่วนมากของเขา ก่อนที่จะตัดสินว่าคนเหล่านี้เป็นอะฮฺลุซซุนนะฮฺหรือไม่

ท่านชัยคฺยูซุฟ อัลก็อรฎอวียฺ ถูกถามว่า ชัยคฺมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ ได้ปฏิเสธหะดีษศ่อฮี้ฮฺที่บันทึกโดยอิมามบุคอรียฺ เกี่ยวกับพวกยิวที่ทำไสยศาสตร์อันส่งผลเลวร้ายต่อท่านนบี ผู้ถามกล่าวว่า ในเมื่อเขาปฏิเสธหะดีษศ่อฮี้ฮฺเช่นนี้ จะถือว่าเป็นผู้นำในศาสนาได้อย่างไร มีคำตอบจากท่านชัยคฺอัลก็อรฎอวียฺว่า สมมติว่าท่านอิมามมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ รอฮิมะฮุลลอฮฺ มีความผิดพลาดดังที่ท่านกล่าว คือปฏิเสธหะดีษที่บันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม แต่นั่นมิใช่สาเหตุที่จะทำให้เราปฏิเสธบุญคุณของท่าน และปลดตำแหน่งของท่านคือการเป็นผู้นำในศาสนา เพราะเป็นความผิดพลาดด้วยการวินิจฉัย ไม่มีมนุษย์คนใดปราศจากความผิด และไม่มีผู้รู้คนใดปราศจากความพลาด 

3. อัชชัยคฺ มุฮัมมัด อับดุฮฺ (เสียชีวิตประมาณ พ.ศ.2444) ตีความมุอฺญิซาตหลายเรื่องในอัลกุรอาน เช่น  พระดำรัสของอัลลอฮฺ   ในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 73

﴿ فُقُلْنَا اضْرِبُوْهُ بِبَعْضِهَا كَذَلِكَ يُحْيِيْ اللهُ المَوْتَى ﴾  

ซึ่งมีความหมายว่า  แล้วเราได้กล่าวว่า พวกเจ้าจงตีเขาด้วยบางส่วนของวัวตัวนั้น ในทำนองนั้นแหละ อัลลอฮฺจะทรงให้ผู้ที่ตายมีชีวิตขึ้นมา  แต่ท่านมุฮัมมัด อับดุฮฺ กล่าวว่าเป็นอุปมาหรืออุทาหรณ์ (ตัฟซีรุลมะนาร , ชัยคฺมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ เล่ม 1 หน้า 351)

และในซูเราะฮฺเดียวกัน อายะฮฺที่ 259

   ﴿ أَوْ كَالَّذِيْ مَرَّ عَلَى قَرْيَةٍ وَهِيَ خَاوِيَةٌ عَلَى عُرُوْشِهَا قَالَ أَنَّى يُحْيِيْ هَذِهِ اللهُ بَعْدَ مَوْتِهَا فَأَمَاتَهُ اللهُ مِائَةَ عَامٍ ثُمَّ بَعَثَه ﴾   

ซึ่งมีความหมายว่า  หรือเช่นผู้ที่ได้ผ่านเมืองหนึ่ง โดยที่มันพังทับลงบนหลังคาของมัน เขาได้กล่าวว่า อัลลอฮฺจะทรงให้เมืองนี้มีชีวิตขึ้นได้อย่างไร หลังจากที่มันได้ตายพินาศไปแล้ว และอัลลอฮฺก็ทรงให้เขาตายเป็นเวลาร้อยปี ภายหลังพระองค์ได้ทรงให้เขาฟื้นคืนชีพ  ชัยคฺมุฮัมมัด อับดุฮฺ ได้ตีความอายะฮฺนี้ว่า มิใช่เป็นการฟื้นคืนชีพ เพียงแต่เป็นการนอนหลับ (ตัฟซีรุลมะนาร , เล่ม 3 หน้า 49)

และในอายะฮฺที่ 260

    ﴿ وَإِذْ قَالَ إِبْرَاهِيْمُ أَرِنِيْ كَيْفَ تُحْيِيْ المَوْتَى قَالَ أَوَلَمْ تُؤْمِنْ قَالَ بَلَى وَلَكِنْ لِيَطْمَئِنَّ قَلْبِيْ قاَلَ فَخُذْ أَرْبَعَةً مِنَ الطَّيْرِ فَصرْهُنَّ إِلَيْكَ ثُمَّ اجْعَلْ عَلَى كُلِّ جَبَلٍ مِنْهَنَّ ُجُزْءَاً ثُمَّ ادْعُهُنَّ يَأْتِيْنَكَ سَعْيَاً وَاعْلَمْ أَنَّ اللهَ عَزِيْزٌ حَكِيْم ﴾   

ความว่า  “และจงรำลึกถึง ขณะที่อิบรอฮีมกล่าวว่า โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ โปรดให้ข้าพระองค์เห็นด้วยเถิดว่า พระองค์จะทรงให้บรรดาผู้ที่ตายมีชีวิตขึ้นอย่างไร พระองค์ตรัสว่า เจ้าไม่เชื่อดอกหรือ อิบรอฮีมกล่าวว่า หามิได้ แต่ทว่าเพื่อหัวใจของข้าพระองค์จะได้สงบ พระองค์ตรัสว่า เจ้าจงเอานกมาสี่ตัว แล้วจงเลี้ยงมันให้คุ้นแก่เจ้า และตัดมันออกเป็นท่อน ๆ ภายหลังเจ้าจงวางไว้บนภูเขาทุกลูกซึ่งส่วนหนึ่งจากนกเหล่านั้น แล้วจงเรียกมัน มันก็จะมายังเจ้าโดยรีบเร่ง  และพึงรู้ไว้เถิดว่า แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเดชานุภาพ ผู้ทรงปรีชาญาณ” ท่านได้ตีความว่าเรื่องของ นบีอิบรอฮีมในอายะฮฺนี้เป็นอุปมาสำหรับการฟื้นคืนชีพในวันปรโลกเท่านั้น (ตัฟซีรุลมะนาร , เล่ม 3 หน้า 55) 

นอกจากนี้ ท่านชัยคฺมุฮัมมัด อับดุฮฺ ยังได้ตีความอัลกุรอานอายะฮฺ 55 ในซูเราะฮฺอาละอิมรอน

    ﴿ إِذْ قَالَ اللهُ يَا عِيْسَى إِنِّيْ مُتَوَفِّيْكَ وَرَافِعُكَ إِلَيَّ ﴾   

ความว่า  จงรำลึกถึงขณะที่อัลลอฮฺตรัสว่า โอ้อีซา ข้าจะเป็นผู้รับเจ้าพร้อมด้วยชีวิตและร่างกายของเจ้า และจะเป็นผู้ยกเจ้าขึ้นไปยังข้า  ว่า นบีอีซาเสียชีวิตจริงๆ และหลักฐานการลงมาของท่านก่อนวันสิ้นโลกเป็นหะดีษอาฮาด (มีสายสืบเพียงกระแสเดียว) จะหยิบยกมาใช้ในหลักศรัทธาเชื่อมั่นไม่ได้ หรือเป็นอุปมาว่า จริยธรรมของท่านนบีอีซาจะกระจายไปทั่วโลกก่อนวันสิ้นโลก (ตัฟซีรุลมะนาร , เล่ม 3 หน้า 316)

การตีความของ ชัยคฺมุฮัมมัด อับดุฮฺ ในอายะฮฺต่างๆ ข้างต้น  เป็นแนวทางที่ขัดกับอะหฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺโดยสิ้นเชิง  แต่ไม่มีนักวิชาการท่านใดกล่าวหา ชัยคฺมุฮัมมัด อับดุฮฺ ว่าเป็นก๊อดยานียฺหรือเป็นกาฟิร (มุรตัด)

4. อัชชัยคฺ มุฮัมมัดรอชีด ริฎอ  (เสียชีวิตเมื่อประมาณ พ.ศ.2475) ได้ตีความอายะฮฺอัลกุรอานและหะดีษเกี่ยวกับมหัศจรรย์ของบรรดานบีและรอซูลไว้มากมาย เช่น

  • การแยกของดวงจันทร์ออกเป็นสองซีกในยุคท่านนบีมุฮัมมัด (มันฮัจญฺ อัลมัดรอซะฮฺ อัลอักลียะฮฺ อัลหะดีษะฮฺ ฟิตตัฟซีร مَنْهَجُ المَدْرَسَةِ العَقْلِيَّةِ الحَدِيْثَةِ فِيْ التَّفْسِيْرِ للدكتورفَهْد الرُّوْمِي  , ดร.ฟะฮดฺ อัรรูมียฺ  หน้า 580-586  และ ตัฟซีรุลมะนาร เล่ม 5 หน้า 372)
  • ตีความบรรดาหะดีษที่เกี่ยวกับอัดดัจญาล (ตัฟซีรุลมะนาร , เล่ม 9 หน้า 490-499)
  • ตีความว่า เชื้อโรคต่างๆ อาจเป็นชนิดหนึ่งของญิน (เล่ม 3 หน้า 96)
  • ตั้งข้อสงสัยในบรรดาหะดีษเกี่ยวกับอัลมะหฺดี (เล่ม 9 หน้า 499-504)
  • ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการยกท่านนบีอีซา   และการลงมาของท่านก่อนวันสิ้นโลก (มันฮัจญฺ อัลมัดรอซะฮฺ อัลอักลียะฮฺ อัลหะดีษะฮฺ ฟิตตัฟซีริ, หน้า 712 )
  • ตีความการที่น้ำไหลออกจากนิ้วของท่านนบีมุฮัมมัด ในสงครามครั้งหนึ่ง ว่าเป็นอุปมาสำหรับพระเมตตาและการสนับสนุนจากอัลลอฮฺแด่ท่านนบีมุฮัมมัด แต่มิใช่ความจริง (ตัฟซีรุลมะนาร, เล่ม 1 หน้า 159)
  • ชัยคฺมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ และชัยคฺมุฮัมมัด อับดุฮฺ ยังได้ตีความว่า มลาอิกะฮฺนั้นเป็นพลังธรรมชาติแห่งความดีที่อัลลอฮฺทรงสร้างไว้ในมนุษย์ทั่วไป มิใช่ดังที่อะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺเชื่อว่า เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้างจากรัศมี โดยมีหลายท่านปฏิบัติหน้าที่ตามที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้ (เล่ม 1 หน้า 267-275)

นี่คือตัวอย่างทัศนะของ ชัยคฺมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ เกี่ยวกับเรื่องมุอฺญิซาต ซึ่งท่านได้แสดงความเห็นของท่านเกี่ยวกับมุอฺญิซาตในหนังสือตัฟซีรุลมะนารว่า เรื่องมหัศจรรย์เกี่ยวกับท่านนบีมูซาและนบีอีซา ถ้าหากไม่ได้ระบุในคัมภีร์อัลกุรอานนั้น ชาวฝรั่งจะรีบเร่งในการศรัทธาต่ออัลกุรอาน เพราะบรรทัดฐานของอัลกุรอานนั้นอยู่เบื้องบนสติปัญญา วิทยาศาสตร์ และกฎธรรมชาติ (เล่ม 11 หน้า 155)

ทัศนะเหล่านี้เป็นทัศนะที่ขัดกับหลักเชื่อมั่นของอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺโดยสิ้นเชิง และอุละมาอฺหลายท่านที่ต่อต้านแนวคิดเหล่านี้ เช่น อัชชัยคฺมุฮัมมัดนาศีรุดดีน อัลอัลบานียฺ, อัชชัยคฺอับดุลอะซีซ บินบาส, อัชชัยคฺ มุกบิล บินฮาดี อัลวาดิอียฺ, ดร.ฟะฮดฺ อัรรูมียฺ และท่านอื่นๆ ได้ตำหนิ ชัยคฺมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ ในส่วนที่ท่านผิดพลาด แต่ไม่มีใครเคยกล่าวหาว่าท่านเป็นก๊อดยานียฺหรือกาฟิร(มุรตัด) ดังที่ อาลี อีซา กล่าวหา อิบรอฮีม กุเรชี ทั้งๆที่แนวการตีความมุอฺญิซาตของชัยคฺมุฮัมมัดรอชีด ริฎอ นั้นถือว่าเข้ม แข็งและชัดเจนกว่า อิบรอฮีม กุเรชี