อิบลีสอิจฉานบีอาดัม
ตั้งแต่อัลลอฮฺทรงกำหนดให้ท่านนบีอาดัมเป็นคอลีฟะฮฺในโลกนี้ หมายถึงเป็นตัวแทนสืบทอดและปฏิบัติตามพระบัญชา อิบลีสจึงไม่พอใจ แสดงความโกรธแค้นและอิจฉาริษยาต่อท่านนบีอาดัม โดยกล่าวว่า
﴿ قَالَ أَنَاْ خَيْرٌ مِّنْهُ خَلَقْتَنِي مِن نَّارٍ وَخَلَقْتَهُ مِن طِينٍ ﴾
ความว่า : “ข้าพระองค์ดีกว่าเขา โดยที่พระองค์ทรงบังเกิดข้าพระองค์มาจากไฟ และบังเกิดเขามาจากดิน” (อัลอะอฺรอฟ 12)
ความโกรธแค้นของอิบลีสก่อให้เกิดความอิจฉาริษยาต่อท่านนบีอาดัม ซึ่งการอิจฉาของอิบลีสนั้นกลายเป็นความปรารถนาที่จะให้ท่านนบีอาดัมและลูกหลานของท่านหลงผิดไปจากหนทางของอัลลอฮฺ โดยมันกล่าวว่า
﴿ قَالَ رَبِّ بِمَا أَغْوَيْتَنِي لأُزَيِّنَنَّ لَهُمْ فِي الأَرْضِ وَلأُغْوِيَنَّهُمْ أَجْمَعِينَ ﴾
ความว่า : “โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ โดยที่พระองค์ทรงให้ข้าพระองค์หลงผิดไปแล้ว แน่นอนข้าพระองค์ก็จะทำให้เป็นที่เพริศแพร้วแก่พวกเขาในแผ่นดินนี้ และแน่นอนข้าพระองค์จะทำให้พวกเขาทั้งหมดหลงผิด” (อัลฮิจรฺ 39)
จากเหตุการณ์นี้กล่าวได้ว่าความผิดครั้งแรกที่เกิดต่อหน้าอัลลอฮฺคือการอิจฉาริษยา และสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นคือการที่ไม่ตระหนักในฮิกมะฮฺ(คือความรอบรู้และความเหมาะสม)ของอัลลอฮฺ จึงทำให้เกิดขึ้นซึ่งความไม่พอใจในกฎสภาวะที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้ และนั่นคือสาเหตุเดียวที่ทำให้มนุษยชาติทั้งหลายมีการอิจฉาริษยาซึ่งกันและกัน เนื่องด้วยความอ่อนแอแห่งความศรัทธาและการเชื่อมั่นต่อพระกำหนดของอัลลอฮฺ
พี่น้องของนบียูซุฟอิจฉาท่านนบียูซุฟ
เป็นเหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงในประวัติของบรรดานบีและร่อซูล กล่าวคือการที่พี่น้องของท่านนบียูซุฟอิจฉาริษยาท่านในฐานะที่เป็นบุตรชายคนโปรดของบิดาของพวกเขา(คือท่านนบียะอฺกู๊บ) จึงเกิดความรู้สึกว่ายูซุฟไม่ควรเป็นบุตรชายคนโปรดเลยและเกิดความโกรธแค้นโดยแสดงออกเป็นถ้อยคำ ซึ่งพวกเขากล่าวว่า
﴿ إِذْ قَالُواْ لَيُوسُفُ وَأَخُوهُ أَحَبُّ إِلَى أَبِينَا مِنَّا وَنَحْنُ عُصْبَةٌ إِنَّ أَبَانَا لَفِي ضَلاَلٍ مُّبِينٍ . اقْتُلُواْ يُوسُفَ أَوِ اطْرَحُوهُ أَرْضاً يَخْلُ لَكُمْ وَجْهُ أَبِيكُمْ وَتَكُونُواْ مِن بَعْدِهِ قَوْماً صَالِحِينَ ﴾
ความว่า : “แน่นอน ยูซุฟและน้องของเขาเป็นที่รักแก่พ่อของเรายิ่งกว่าพวกเรา ทั้งๆที่พวกเรามีจำนวนมาก แท้จริงพ่อของเราอยู่ในการหลงผิดจริงๆ พวกท่านจงฆ่ายูซุฟเถิดหรือเอาไปทิ้งในที่เปลี่ยวเสีย เพื่อความเอาใจใส่ของพ่อของพวกท่านจะเกิดขึ้นแก่พวกท่าน และพวกท่านจะเป็นกลุ่มชนที่ดีหลังจากเขา” (ยูซุฟ 8-9)
เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ย่อมปรากฏในทุกสังคม หรืออาจเกิดในทุกครอบครัวก็ได้ เพราะสาเหตุของมันคือความอยุติธรรมในการดูแลของบิดามารดา และการอิจฉาระหว่างพี่น้องอาจเกิดจากความหวงแหนของคนหนึ่งในบรรดาพี่น้อง เพราะอยากได้รับความสนใจมากกว่าพี่น้องเขา
ยิวอิจฉาท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ชาวยิวมีความหวังว่านบีสุดท้ายในโลกนี้จะเกิดจากวงศ์วานอิสรออีล แต่เมื่อนบีท่านนั้นมาจากวงศ์วานอาหรับ(คือลูกหลานท่านนบีอิสมาอีล ) ยิวจึงไม่พอใจและปฏิเสธท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยสิ้นเชิง ซึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสถึงการอิจฉาของพวกยิวว่า
﴿ أَمْ يَحْسُدُونَ النَّاسَ عَلَى مَا آتَاهُمُ اللّهُ مِن فَضْلِهِ فَقَدْ آتَيْنَا آلَ إِبْرَاهِيمَ الْكِتَابَ وَالْحِكْمَةَ وَآتَيْنَاهُم مُّلْكاً عَظِيماً. فَمِنْهُم مَّنْ آمَنَ بِهِ وَمِنْهُم مَّن صَدَّ عَنْهُ وَكَفَى بِجَهَنَّمَ سَعِيراً ﴾
ความว่า : “หรือว่าพวกเขาอิจฉาคนอื่นในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานให้จากความกรุณาของพระองค์แก่คนอื่น แท้จริงนั้นพระองค์ได้ประทานให้แก่วงศ์วานของอิบรอฮีมมาแล้ว ซึ่งคัมภีร์และความรู้เกี่ยวกับศาสนา และได้ทรงให้แก่พวกเขาซึ่งอำนาจอันยิ่งใหญ่ แล้วในหมู่พวกเขา(วงศ์วานของอิบรอฮีม)มีผู้ศรัทธาต่อเขา และในหมู่พวกเขามีผู้ที่ขัดขวางเขา และเพียงพอแล้วที่ญะฮันนัมเป็นเปลวเพลิงอันโชติช่วง” (อันนิซาอฺ 54-55)
ในพระดำรัสข้างต้นอัลลอฮฺทรงประณามการปฏิเสธของชาวยิวด้วยสองเหตุผล เหตุผลแรกคือการที่อัลลอฮฺทรงให้ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นศาสนทูตนั้นเป็นพระประสงค์และพระกรุณาของอัลลอฮฺ จึงไม่มีใครมีสิทธิที่จะคัดค้านพระประสงค์ของพระองค์โดยเด็ดขาด ฉะนั้นผู้ที่จะอิจฉาท่านนบีมุฮัมมัด ก็ประหนึ่งเป็นผู้คัดค้านพระประสงค์ของอัลลอฮฺอย่างชัดเจน เหตุผลที่สองคือ ชาวยิวได้รับพระกรุณาจากอัลลอฮฺ โดยให้มีบรรดานบีและร่อซูลหลายท่านถูกส่งมายังพวกยิวอย่างต่อเนื่อง และตามประวัติของชาวยิวเป็นที่ประจักษ์ว่าบรรดานบีและร่อซูลของพวกเขาส่วนมากถูกปฏิเสธ อัลลอฮฺจึงได้ทรงประณามชาวยิวที่อิจฉาวงศ์วานของท่านนบีอิสมาอีลที่มีร่อซูลท่านนี้ท่านเดียว ทั้งๆที่พวกเขาได้มีบรรดานบีและร่อซูลอย่างมากมายมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมศรัทธาต่อนบีท่านนี้ เพราะการอิจฉาริษยามาเป็นกำแพงขัดขวางมิให้จิตใจของพวกเขาบริสุทธิ์และน้อมรับต่อพระประสงค์ของอัลลอฮฺ และนั่นคือบทเรียนอันใหญ่หลวงสำหรับมนุษยชาติทุกยุคทุกสมัยทุกสถานที่ ว่าสัจธรรมย่อมมีเอกเทศในความเป็นสัจธรรม ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ สายตระกูล สัญชาติ หรืออื่นใด นอกจากว่าเป็นสัจธรรมที่มาจากอัลลอฮฺ เพราะฉะนั้นคนทุกคนมีหน้าที่ตรวจสอบจิตใจของตัวเอง ว่าความถูกต้องที่ปรากฏต่อหน้าเราเคยถูกปฏิเสธโดยไร้เหตุผล หรือด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับความเป็นสัจธรรมหรือไม่
การอิจฉาของเครือญาติท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
ในเผ่ากุเรชมีสายตระกูลสองสายคือ บนูฮาชิมและบนูอับดิชัมสฺ สองตระกูลนี้แข่งขันแย่งอำนาจบารมีในเมืองมักกะฮฺมาตั้งแต่โบราณ บนูฮาชิมเป็นสายตระกูลของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งมีผลงานในการอุปการะและบูรณะดูแลบัยตุลลอฮฺ ซึ่งบนูอับดิชัมสฺก็พยายามที่จะมีอุปการคุณกับบัยตุลลอฮฺเช่นเดียวกัน ซึ่งสองสายตระกูลนี้มีความขัดแย้งกันมาโดยตลอดเนื่องด้วยการอิจฉาริษยา พอท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เริ่มเทศนาและประกาศอิสลาม หัวหน้าตระกูลบนีอับดิชัมสฺได้กล่าวว่า “เราได้แข่งขันกับตระกูลบนูฮาชิมมาโดยตลอดจนถึงขั้นที่บนูฮาชิมจะอ้างว่าพวกเขามีนบี เราไม่สามารถนำนบีจากพวกเรามาแข่งขันกันได้ เพราะฉะนั้นเราจะยอมรับในนบีของพวกเขาไม่ได้เป็นอันขาด”
คำพูดนี้แสดงถึงความโกรธแค้นและการอิจฉาริษยาอย่างประจักษ์แจ้ง เพราะไม่เพียงอยากได้นบีจากพวกตนเองแล้ว ยังปฏิเสธท่านนบีมุฮัมมัดเพียงเพื่อมิให้ตระกูลบนูฮาชิมเหนือกว่าตระกูลบนีอับดิชัมสฺ เหตุการณ์คล้ายๆกันนี้เกิดขึ้นในทุกสังคม โดยเฉพาะที่มีตระกูลดังๆแต่ด้อยโอกาสในด้านการศึกษา จึงทำให้ตระกูลดังๆนี้ไม่ยอมรับในผู้รู้ที่อาจเป็นคนยากจนหรือไม่มีตระกูลที่มีชื่อเสียง จนกระทั่งได้ปฏิเสธความจริงและความถูกต้อง ดังที่เห็นในบางที่บางชุมชนผู้รู้ไม่สามารถเป็นอิมามหรือคอเฏบ เพราะไม่ได้อยู่ในตระกูลที่มีชื่อเสียง แต่คนไร้ความรู้สามารถกลับเป็นอิมามหรือคอเฏบโดยตำแหน่งทั้งๆที่ขาดคุณสมบัติและไม่ปฏิบัติหน้าที่ มิใช่อื่นใดนอกจากว่าเป็นคนที่มีฐานะและบารมีเนื่องด้วยตระกูลของตน และนั่นคือสิ่งที่ทำให้สังคมมุสลิมล่าช้าในการพัฒนาสถาบันและองค์กรต่างๆ เพราะโรคอิจฉาริษยาที่ทำให้ผู้คนไม่ยอมรับในความสามารถของคนอื่น สังคมจึงไม่ได้รับโอกาสพัฒนาจากผู้มีความสามารถ ซึ่งอัลอิสลามต่อต้านพฤติกรรมเหล่านี้ ทั้งยังใช้ให้ผู้ศรัทธายอมรับและเชื่อฟังผู้มีความสามารถ ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า
﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ كُونُواْ قَوَّامِينَ بِالْقِسْطِ شُهَدَاء لِلّهِ وَلَوْ عَلَى أَنفُسِكُمْ أَوِ الْوَالِدَيْنِ وَالأَقْرَبِينَ إِن يَكُنْ غَنِيّاً أَوْ فَقَيراً فَاللّهُ أَوْلَى بِهِمَا فَلاَ تَتَّبِعُواْ الْهَوَى أَن تَعْدِلُواْ وَإِن تَلْوُواْ أَوْ تُعْرِضُواْ فَإِنَّ اللّهَ كَانَ بِمَا تَعْمَلُونَ خَبِيراً ﴾
ความว่า : “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเป็นผู้ที่ดำรงไว้เพื่อความยุติธรรม จงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮฺ และแม้ว่าจะเป็นอันตรายแก่ตัวของพวกเจ้าเองหรือผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและญาติที่ใกล้ชิดก็ตาม หากเขาจะเป็นคนมั่งมีหรือคนยากจน อัลลอฮฺก็สมควรยิ่งกว่าเขาทั้งสอง(ควรที่จะเคารพเชื่อฟังและยำเกรง) ดังนั้นจงอย่าปฏิบัติตามความใคร่ใฝ่ต่ำในการที่พวกเจ้าจะมีความยุติธรรม และหากพวกเจ้าบิดเบือนหรือผินหลังให้ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วนในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน” (อันนิสาอฺ 135)
ผู้อิจฉาริษยาได้ตกเป็นทาสต่ออารมณ์ใฝ่ต่ำของเขา เพราะถึงไม่ว่าความถูกต้องความยุติธรรมจะอยู่ที่ไหน อารมณ์ที่เต็มไปด้วยความริษยาก็จะกีดกันมิให้ดวงใจปรารถนาสิ่งที่ถูกต้องหรือความยุติธรรม เพราะหัวใจของผู้อิจฉานั้นมักจะเป็นหัวใจบอด
ที่มา : หนังสือ โรคเอดส์แห่งอีมาน(อิจฉาริษยา), โดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 102 views