อิจฉาริษยา คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในจิตใจต่อความโปรดปรานที่คนอื่นได้รับ โดยมีความปรารถนาให้ความโปรดปรานนั้นสูญหายไป ดังนั้นหากมีความรู้สึกอยากได้ความโปรดปราน แต่ไม่ปรารถนาที่จะให้ความโปรดปรานนั้นสูญหายจากผู้อื่นแล้วไซร้ ก็ไม่ถือว่าเป็นอิจฉาริษยา
ข้อเท็จจริงของอิจฉาริษยาคือ มีความโกรธแค้นในความรู้สึกของผู้อิจฉาริษยา ซึ่งไม่อยากให้ผู้อื่นประเสริฐกว่าตนเอง และนั่นคืออิจฉาริษยาที่อัลกุรอานและหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ห้ามไว้ และมีเอกฉันท์ของปวงนักปราชญ์อิสลามว่าเป็นสิ่งต้องห้าม
แต่สำหรับผู้ที่มีความปรารถนาอยากได้สิ่งดีๆที่ผู้อื่นมีอยู่นั้นไม่ถือว่าเป็นการอิจฉา ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้ว่า
قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ
لَا حَسَدَ إِلَّا فِي اثْنَتَيْنِ رَجُلٌ آتَاهُ اللَّهُ مَالًا فَسُلِّطَ عَلَى هَلَكَتِهِ فِي الْحَقِّ
وَآخَرُ آتَاهُ اللَّهُ حِكْمَةً فَهُوَ يَقْضِي بِهَا وَيُعَلِّمُهَاความว่า : “ไม่มีการอิจฉายกเว้นในสองกรณีคือ บุคคลที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่เขาซึ่งทรัพย์สมบัติ เขาก็นำไปใช้ในหนทางของสัจธรรม และบุคคลที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่เขาซึ่งความรู้และวิจารณญาน เขาก็นำไปปฏิบัติและสั่งสอน” (บันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม)
ในหะดีษบทนี้ท่านนบีได้กล่าวถึงการอิจฉาริษยาที่อาจเกิดขึ้นแต่ไม่เป็นข้อห้าม จึงเป็นการให้คำนิยามว่า อิจฉาริษยานั้นอาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่ปรารถนาให้สิ่งดีๆสูญหายจากผู้อื่น หากมีความปรารถนาที่จะบรรลุสิ่งดีๆนั้น หรือมีความหวังและความปรารถนาดีต่อผู้อื่นด้วย เช่น ผู้ที่เห็นนักวิชาการคนหนึ่งมีความรู้และเกิดความรู้สึกอยากมีความรู้เช่นนักวิชาการคนนั้น หรือเห็นผู้อื่นมีทรัพย์สมบัติมากมายและนำไปใช้ในทางที่ดีก็เกิดความรู้สึกอยากมีทรัพย์สมบัติเช่นนั้นเพื่อนำไปใช้ในทางที่ดีเช่นเดียวกัน นั่นคือสภาพที่ท่านนบีเรียกว่าอิจฉา แต่ไม่เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นใครจะพูดว่า “ฉันอิจฉาคนนั้นคนโน้น” ถ้าไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ระบุข้างต้น คือไม่มีความปรารถนาให้ความโปรดปรานที่ผู้อื่นได้รับนั้นสูญหายไปแล้วไซร้ ก็จะเป็นการอิจฉาริษยาที่ต้องห้ามตามหลักศาสนา
ที่มา : หนังสือ โรคเอดส์แห่งอีมาน(อิจฉาริษยา), โดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 310 views