ฆุรอบาอฺ (คนแปลกหน้า)

Submitted by dp6admin on Sun, 18/10/2009 - 11:56



ในการบันทึกของอิหม่ามอะฮฺหมัด  ท่านนบี กล่าวว่า

 

(( بدأ الإسلام غريبا وسيعود غريبا كما بدأ، فطوبي للغرباء ))

 

“ อิสลามนี้เริ่มด้วยลักษณะแปลกหน้า อิสลามเกิดมาในโลกนี้เปรียบเสมือนเป็นคนแปลกหน้าและจะกลับสู่สภาวะแปลกหน้าดังเดิม ดังนั้น ความดี(หรือผลบุญ, หรือสวนสวรรค์)จงประสบแก่คนแปลกหน้าทั้งหลาย”

 

คนแปลกหน้าที่ท่านนบี หมายถึงคือ คนที่ยึดมั่นในหลักเกณฑ์ศาสนาในขณะที่คนไม่เอาศาสนา คนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์อันถูกต้องของอัลอิสลาม ในขณะที่สังคมปฏิเสธหรือไม่ยอมรับหลักการของอัลอิสลาม  นั่นคือลักษณะดั่งเดิมที่อัลอิสลามได้เกิดขึ้น ท่านนบี เรียกร้องไปสู่เตาฮีด คือการให้เอกภาพแก่พระผู้เป็นเจ้าในขณะที่ผู้คนทั้งหลายตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ 

เมื่อท่านนบีบอกว่าจงสักการะพระเจ้าองค์เดียว พวกกุฟฟาร พวกมุชริกีน กล่าวว่า “มุฮัมมัดจะทำให้บรรดาพระเจ้าเป็นพระเจ้าพระองค์เดียว นั่นเป็นเรื่องที่แปลกที่สุด" ตำหนิท่านนบีที่จะให้ทำอิบาดะฮฺต่อพระเจ้าพระองค์เดียว  การสักการะต่อพระเจ้าพระองค์เดียวจึงกลายเป็นเรื่องแปลกประหลาด  เมื่อท่านนบี เรียกร้องให้ละเว้น ให้ละทิ้งความชั่วร้าย อาทิเช่น ฆ่าผู้หญิง การเนรคุณต่อบิดามารดา ความชั่วทั้งหลาย ท่านนบีได้ต่อต้าน   แต่ขณะนั้นคนยังไม่พร้อมที่จะรับคุณธรรมและศีลธรรมของท่านนบี   ท่านนบีจึงถูกประณาม !

ถูกประณามว่าห้ามดื่มเหล้า !

ถูกประณามว่าห้ามทำซินา !

ถูกประณามว่าห้ามกินริบา !

ท่านนบี ไม่ได้ทำอะไรนอกจากสิ่งที่เป็นพระบัญชาของอัลลอฮฺ อันเป็นระบอบชีวิตของมุสลิมผู้ศรัทธา ที่ต้องเป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่แท้จริง แต่ในขณะนั้น คนที่ตอบสนองต่อท่านนบี คือใคร คนที่ยอมเชื่อนบีว่ากราบเจว็ดไม่ได้ ดื่มเหล้าไม่ได้ คนที่เชื่อท่านนบี มีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น



คนเหล่านั้นแหละที่ถูกต่อต้าน ถูกเนรเทศ คนเหล่านั้นแหละที่อยู่ที่มักกะฮฺไม่ได้  เนื่องจากสิ่งแวดล้อมทั้งหลายไม่ยอมรับ

กลายเป็นคนแปลกหน้า !

กลายเป็นคนประหลาด !

กลายเป็นคนที่ถูกต่อต้านจากสังคม !

ทั้งๆที่เป็นเจ้าของแผ่นดินแท้ๆ เป็นไปได้อย่างไรที่สังคมไม่ยอมรับคุณธรรมและศีลธรรม นั่นคือสภาพที่ท่านนบี ได้พูด คือ “อิสลามเริ่มเสมือนเป็นคนแปลกหน้า และในตอนช่วงสุดท้ายของอิสลามก็จะกลับมาเหมือนเดิม”  คือเสมือนเป็นคนแปลกหน้า มุสลิมในสังคมจะเป็นคนแปลกหน้า แต่ไม่ใช่มุสลิมธรรมดา ไม่ใช่มุสลิมแบบเอาอะไรก็ได้ เพราะว่าหากมุสลิมแบบที่  กินเหล้า กินริบา มุสลิมแบบที่ทำความชั่วเหมือนคนทั่วไป โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลยนั้นไม่เรียกว่ามุสลิม หรือไม่เรียกว่ามุสลิมที่เคร่งครัดในหลักการอิสลาม มุสลิมแบบสมานฉันท์ ร่วมงานหล่อพระพุทธรูปก็ได้ ร่วมงานสวดของต่างศาสนิกก็ได้  เข้าโบสถ์ของชาวคริสต์ก็ได้ เข้าร่วมพิธีของชาวยิวก็ได้ ร่วมงาน 5 ศาสนา 100 ศาสนาก็ไปได้ แบบสมานฉันท์นั้นมุสลิมกระทำไม่ได้

แต่เมื่อมุสลิมบอกกล่าวถึงจุดยืนว่าสิ่งเหล่านั้นผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์ในคำสั่งสอนของอัลอิสลามกระทำไม่ได้ ก็จะถูกต่อต้าน ถ้ามุสลิมละหมาด เหมือนท่านนบี ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนแปลกหน้า ไม่เหมือนคนทั่วไป เพราะคนทั่วไปไม่ละหมาดเหมือนท่านนบี ละหมาดตามมัซฮับบ้าง ละหมาดตามบรรพบุรุษบ้าง ไม่ยึดมั่นในรูปแบบอันบริสุทธิ์ที่มาจากท่านนบี   ฉะนั้นคนที่ละหมาดเหมือนท่านนบีก็จะกลายเป็นคนแปลกหน้า มุสลิมะฮฺที่คลุมหิญาบ ไม่แต่งตัวเหมือนแฟชั่น มุสลิมะฮฺที่คลุมหิญาบมิดชิดเมื่อเดินตามท้องถนนกับผู้หญิง แม้ว่าจะเป็นมุสลิมะฮฺหรือไม่ใช่มุสลิมะฮฺ ก็จะถูกมองว่าเป็นคนประหลาด เพราะแต่งตัวไม่เหมือนกระแสนิยม ไม่เหมือนคนทั่วไป เป็นคนประหลาด เป็นคนแปลกหน้า เพราะยึดมั่นในหลักการอัลอิสลามที่สั่งไว้ว่าให้คลุมหิญาบ ให้ดึงหิญาบให้มิดชิด ให้ปิดบัง ให้สงวนไว้ซึ่งความสวยงามของเธอ



เมื่อมุสลิมมีพิธีญะนาซะฮฺ การละหมาดญะนาซะฮฺก็ดี การฝังมัยยิตก็ดี ล้วนแล้วเป็นพิธีทางศาสนา เมื่อประพฤติตามหลักศาสนาก็จะถูกประณามว่านี่เป็นคนประหลาด นี่เป็นคนประหลาด เพราะอะไร? เพราะไม่ทำเหมือนคนทั่วไป คนทั่วไปเอาสิ่งที่ไม่ใช่อิสลามมาประดับประดา จนกระทั่งสิ่งที่เป็นอุตริกรรมเป็นเรืองประดิษฐ์ขึ้นมากลายเป็นรูปแบบของอิสลาม ใครไม่ทำก็จะถูกต่อต้าน ว่าไม่เข้าใจศาสนา รูปแบบของศาสนกิจหลายประเภท ถ้ามุสลิมปฏิบัติตามส่วนที่มีแต่ในหลักการเท่านั้นก็จะถูกประณามว่าเป็นคนแปลกหน้า เป็นคนประหลาด ทำไมไม่ทำเหมือนชาวบ้าน มิหนำซ้ำ บางมัสยิด บางสัปบุรุษ ต่อต้านคนที่ยึดมั่นอยู่ในหลักการของศาสนาที่เที่ยงแท้ จนกระทั่งไม่อนุญาตให้ฝังในกุโบร์ด้วยซ้ำไป นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม



ท่านนบี บอกว่า “อิสลามก็จะกลับเหมือนเดิมคือเสมือนเป็นคนแปลกหน้า” แต่สำหรับคนที่ยึดมั่นในหลักการอิสลาม ก็คือคนที่รักษาซึ่งความบริสุทธิ์ของอิสลาม 2 ประเด็นสำคัญคือ  



1.ไม่ตัด ไม่ขาด ไม่ลดส่วนของหลักการอิสลามออกไป

คนที่ลดหลักการอิสลาม อาทิเช่น เรื่องละหมาดเป็นฟัรดู เป็นรูก่นสำคัญที่ต้องปฏิบัติ แต่เดี๋ยวนี้สังคมมองว่าการละหมาดเป็นเรื่องธรรมดา ละหมาดก็ได้ ไม่ละหมาดก็ได้ ไม่ละหมาดก็ไม่ว่า ถือศีลอดก็ดี ไม่ถือก็ไม่ว่ากัน เรื่องความชั่วบางประการก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาๆ เรื่องดื่มเหล้าก็เป็นสิทธิส่วนตัว ใครดื่มเหล้าก็อย่าไปยุ่งกับเค้า  ใครไม่ดื่มก็ดีแล้ว หลักการศาสนาจึงถูกตัดออกเป็นชิ้นเป็นส่วน คนที่มาเรียกร้องว่าส่วนที่ลดออกไป ส่วนที่ตัดออกไปนั่นคือการบิดเบือนศาสนา เค้าก็จะถูกประณามว่าเคร่งครัดเกินไป รักษาการละหมาดตรงเวลา ไม่ละทิ้งการละหมาดเลย ก็จะหาว่าเคร่งครัดเกินไป   เวลากินอาหารก็จะต้องมีตราหะล้าล ต้องรักษาไว้ซึ่งหลักการอิสลาม ก็จะหาว่าเคร่งเกินไป และส่วนมากจะเป็นการกระแนะกระแหน  ถูกตำหนิติเตียน หรือถูกเยาะเย้ยด้วยซ้ำไป คนที่เคร่งครัดในหลักการศาสนาก็จะถือว่าเป็นคนเลยเถิดเกินเหตุผล ทั้งๆที่เค้าไม่ได้ทำอะไรนอกจากรักษาหลักการศาสนาแท้ๆ



2. ไม่เพิ่มเติม

หลักการศาสนาตรงนี้คือ ไม่ประดิษฐ์ ไม่เพิ่มเติมหลักการศาสนาที่แท้จริง ท่านนบี ได้เตือนประชาชาติอิสลามไว้ว่า “พวกเจ้าทั้งหลายจงระมัดระวัง อย่าเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ สิ่งประดิษฐ์ ในกิจกรรมของศาสนา  นั่นเป็นการบิดเบือนศาสนา” คนที่รักษาหลักการไม่เพิ่มเติม เช่น คนที่ไม่ฉลองเมาลิดนบี ก็จะถูกกล่าว ไม่รักนบี   ทั้งๆที่ท่านนบีไม่ได้สั่งใช้  คนที่ไม่ร่วมเศาะลาวาตนบี ก็จะถูกกล่าวหาว่าไม่รักนบี ทั้งๆที่ท่านนบีไม่ได้ใช้ให้กระทำ    บางครั้งก็จะเป็นสังคมที่รู้เรื่องศาสนา ปฏิบัติศาสนาอย่างเคร่งครัดแต่แบบเพิ่มเติม ปฏิบัติศาสนกิจตามอารมณ์ของตนเอง ตามความสะดวกของตนเอง เมื่อใครเรียกร้องให้ปฏิบัติตามหลักการตามที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้บัญชาไว้ ก็จะถูกกล่าวหาเช่นเดียวกัน

 

เมื่อท่านนบี ถูกดูถูกลบลู่ ชาวเดนมาร์กทั้งชาติ ลบลู่ท่านนบี วาดภาพการ์ดูหมิ่นท่านนบี การตอบโต้ที่ถูกต้องคือ การประณามพฤติกรรมที่ไม่หวังดีต่ออิสลาม  เมื่อมีมุสลิมออกมาตอบโต้ ประท้วง ประณาม พฤติกรรมของคนเลวร้ายดังกล่าว  คนที่ออกไปประณามคนกาเฟร คนเหล่านี้ก็ถูกประณามว่าทำได้อย่างไร เป็นบิดอะฮฺ นี่ก็เช่นเดียวกัน คนที่ไม่รู้เรื่องศาสนาจึงมองคนที่ปฏิบัติตามหลักการศาสนาว่าเป็นคนแปลกหน้า สื่อมวลชนต่างๆ ก็ออกมากล่าวหาว่ามุสลิมที่ออกมาประท้วงเป็นพวกหัวรุนแรง  หัวรุนแรงที่ออกมาปกป้องท่านนบี ปกป้องศาสนาของตัวเอง แต่คนที่เพิกเฉย คนที่นอนกินแตงโมอยู่บ้าน นั่นคือคนปกติ คนที่เห็นท่านนบี ถูกด่าก็ยังมีพฤติกรรมที่นิ่งเฉย  เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นั่นคือคนปกติในสังคม องค์กรศาสนาจัดงานเมาลิด ใช้งบประมาณ 12 ล้านบาท ทุกปี นั่นน่ะปกติ !!! แต่ถ้าหากเรียกร้องว่าให้ปกป้องนบี ไม่ต้องใช้จ่าย 12  ล้านบาท แค่ออกหนังสือประณาม ใช้กระดาษ A4 ใช้งบประมาณ 3 บาท ทำไม่ได้ !!! นั่นน่ะหรือปกติ

 

อิสลามเรียกร้องให้สมานฉันท์จริง แต่อิสลามไม่ได้บอกว่าถ้าสมานฉันท์นั้นจะต้องละเว้นหลักการของศาสนา ต้องทิ้งหลักการศาสนาออกไป อิสลามไม่ได้บอกว่าต้องหย่อนบ้าง ต้องลดอัตราบ้าง อย่างที่บางคนเข้าใจ ว่าสมานฉันท์ที่สังคมมุสลิมต้องประพฤติ ต้องดำรงก็คือ มุสลิมต้องร่วมพิธีกับศาสนาอื่น ถึงขึ้นที่คนบางคนบอกว่า สมานฉันท์นั่นคือการที่เราไม่กล่าวหาว่าความเชื่อของศาสนิกอื่นเป็นความเชื่อที่ผิด  นักวิชาการบางคนที่ออกมาบอกว่า ศาสนิกอื่นหรือศาสนาอื่น ก็ถูกต้องเหมือนกัน ไปว่าศาสนาอื่นผิดไม่ได้ หรือเป็นกุโฟรก็ไม่ได้  ความเชื่อเหล่านี้เสมือนบอกกับชาวมุสลิมว่า การที่พวกท่านยึดมั่นในหลักการอิสลาม ยึดมั่นใน “ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ มุฮัมมะดุรฺรอซูลลุลลอฮฺ” นั้นไม่เข้าท่า ไม่ได้เรื่อง ท่านเป็นพุทธก็ถูกเหมือนกัน ท่านเป็นคริสต์ก็ไม่ผิดอะไรเลย จะเป็นยิวก็เหมือนกันหมด ดีกันหมด  ทุกศาสนาดี

สมานฉันท์ที่เราเรียกร้องคือ การให้เกียรติซึ่งกันและกัน เห็นใจซึ่งกันและกัน แต่ไม่ใช่ว่าลบลู่หรือเหยียดหยามหลักการของศาสนา เพราะไม่มีศาสนาใดเลยที่บอกว่ามุสลิมทำถูกต้อง ยิวไม่เคยพูด พุทธก็ไม่เคยพูด สมานฉันท์คือมีความหลากหลายแต่อยู่ด้วยกันอย่างสันติภาพ ต่างศาสนิกเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี ไม่เคยเห็นต่างศาสนิกเข้ามาละหมาดร่วมกันในมัสญิดกับมุสลิม ไม่เคยมี ส.ส.  มาบอกว่าขอละหมาดด้วย ขอละหมาดญะนาซะฮฺด้วย เค้าก็จะรออยู่ข้างนอก คือรู้ว่านี่ของเค้าไม่ใช่ของเรา  แต่มุสลิมเรา ไฉนเลยถึงเข้าในวัดร่วมพิธีสวดมนต์ให้ผู้เสียชีวิตร่วมกับต่างศาสนิก หมายรวมว่า ต่างศาสนิกเข้าใจหลักการอิสลามมากว่าเรา เค้าไม่ร่วมพิธีทางศาสนากันเรา แต่เราร่วมพิธีทางศาสนากับเค้า นั่นแสดงว่าสังคมกำลังเปลี่ยนแปลงสภาพหลักการอิสลามที่เป็นรูปแบบ แม้กระทั่งคนที่เรียกร้องให้ยืนหยัดในหลักการศาสนา ก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนแปลกหน้า บางท้องที่ ผู้นำศาสนาบอกว่าสิ่งเหล่านั้นทำได้ แบบนี้แหละที่ทำให้ศาสนาเสื่อมเสีย

ท่านนบี บอกว่า “สวนสวรรค์ ผลบุญการตอบแทนอันดี จงประสบแด่คนแปลกหน้า”

เราเป็นคนแปลกหน้ามั้ย !! คนแปลกหน้าจะมีความรู้สึกส่วนตัว เมื่ออยู่ที่ไหนก็จะถูกมองในแง่ที่ไม่ดีเสมอ คนแปลกหน้าจะรู้สึกว่าการดำรงชีวิตมีความลำบากหลายประการ ท่านเป็นคนแปลกหน้าหรือไม่ ? ท่านใช้ชีวิตแบบสะดวกง่ายดายหรือใช้ชีวิตแบบลำบาก บ้านไหนไม่ดูทีวีก็ถูกมองเป็นเรื่องประหลาด แต่งตัวก็ไม่เหมือนคนทั่วไป แต่งแฟชั่น แต่งตัวเหมือนชาวตะวันตก หรือแต่งตัวเหมือนท่านนบี หรือรักษาหลักการอัลอิสลาม จึงถูกมองว่าท่านกำลังประพฤติหรือท่านกำลังทำในสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ สังคมไม่ยอมรับให้ท่านสวมหมวกแล้วเดินตามท้องถนน ประกาศจุดยืนว่าท่านเป็นมุสลิม แต่ถ้าท่านสวมเสื้อผ้าที่ชาวตะวันตกนิยมกัน ก็จะถูกยกย่อง ถูกสรรเสริญว่าท่านตามกระแสถูกต้องแล้ว แบบนี้เป็นต้น

    สังคมของเราต้องการตรวจสอบอีมานของเรา นั่นเป็นการทดสอบที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา กำลังทดสอบบรรดาผู้ศรัทธาทุกยุคทุกสมัย ว่าเขาเหล่านั้นยึดมั่นในหลักการอิสลามหรือเปล่า ท่านบี ได้วางหลักการไว้ชัดเจน “ฏูบาลิลฆุรอบาอฺ” ท่านเป็นคนแปลกหน้าหรือไม่ ? ท่านเป็นคนที่ทำตามหลักการศาสนาอย่างเคร่งครัดหรือไม่ เมื่อเราตรวจสอบชีวิตของเรา ครอบครัวของเรา สิ่งแวดล้อมของเรา ถ้ามันสอดคล้องกับหลักการอิสลามแล้ว นั่นคือลักษณะของคนแปลกหน้า เพราะคนที่ยึดมั่นในหลักการอิสลามแล้ว ในยุคสุดท้ายเป็นคนส่วนน้อย   อัลลอฮฺกล่าวไว้ในอัลกุรอานว่า คนที่จะอดทนเป็นคนส่วนน้อย  ผู้ศรัทธาก็น้อย ผู้อดทนก็น้อย ผู้ที่ชุโกรต่ออัลลอฮฺก็น้อย น้อยคนที่จะปฏิบัติตามหลักการอัลอิสลามอย่างถูกต้อง  ตราบใดมีมุสลิมที่เรียกว่าแปลกหน้า ในทุกส่วนในชีวิตของตน เมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นคนแปลกหน้า ท่านอย่าเสียใจ เพราะท่านกำลังได้รับการสรรเสริญจากท่านนบี ว่าท่านจะเป็นคนที่ได้รับการตอบแทนจากอัลลอฮฺอย่างแน่นอน

คนแปลกหน้านั้นท่านนบี หมายรวมถึงคนที่ยึดมั่นในหลักการอิสลามทั้งหมด อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา กล่าวว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย สูเจ้าจงยึดมั่นในหลักการอิสลามทั้งหมด”  ไม่ใช่คนแปลกหน้าคือคนที่ยึดมั่นอยู่ในหลักการอิสลามบางส่วน อาจจะแต่งตัวเหมือนมุสลิม แต่ชีวิตประจำวันอื่นๆ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับหลักการศาสนา เมื่อเขาถูกประณามว่าแต่งตัวไม่เหมือนคนอื่น เขาจะภูมิใจที่เป็นคนแปลกหน้า หาใช่เช่นนั้นมั้ย? นั่นไม่ได้หมายรวมว่า เขาเป็นคนแปลกหน้าแล้ว คนแปลกหน้าคือคนที่มีอุดมการณ์ของอิสลามทั้งหมดที่สังคมไม่ยอมรับ บางคนอาจจะเข้าใจว่า เขาจะถูกประณามบางเรื่อง ถูกต่อต้านบางเรื่อง นั่นเป็นคนแปลกหน้าที่ท่านนบี พูดถึง แต่ชีวิตของเขายังกลมกลืนกับสังคมในเรื่องอื่น ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับหลักการอิสลามเลย นั่นไม่ใช่คนแปลกหน้าที่ท่านนบี ยกย่อง  พี่น้องต้องระวัง !

ลักษณะที่ท่านนบี พูดถึง  ท่านนบี ได้ถูกถามว่า “โอ้ท่านร่อซูล คนแปลกหน้าคือใคร” ท่านนบีบอกว่า “คนแปลกหน้าคือคนที่เปลี่ยนแปลงปรับปรุง สิ่งเสียหายที่สังคมประพฤติ”   หมายถึงคนที่เรียกร้องให้สังคมเปลี่ยนแปลง  ปรับปรุง  ความชั่วร้าย  อีกรายงานบอกว่า กล่าวว่า “คนที่แปลกหน้าคือคนที่รักษาซึ่งความดี ในขณะที่สังคมปล่อยปละละเลย ซึ่งความชั่ว”  นั่นคือลักษณะเด่นของคนแปลกหน้า ไม่นิ่งเฉย ไม่ยอมรับว่าตัวเองมีข้อผิดพลาด แต่ต้องปรับปรุงแก้ไข มีคนใกล้ชิดมีข้อผิดพลาดต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไข

คนที่จะอยู่ในสภาพเดิมของอิสลามต้องประพฤติ ปฏิบัติเหมือนท่านนบี คือยึดมั่น ต่อสู้ เผยแผ่่และเรียกร้องต่อหลักการอิสลามที่เที่ยงตรง

 


เรียบเรียงจาก ฆุรอบาอฺ (คนแปลกหน้า)

 





 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง