หลักการอิสลามในการถอดถอนผู้นำ 1

Submitted by dp6admin on Mon, 06/04/2009 - 12:25

 

ตำแหน่งผู้นำสูงสุดนั้นเป็นที่รู้กันดีในอิสลามว่ามีความสำคัญมาก เพราะเรื่องราวทั้งทางศาสนาและโลกนั้นจะไม่สามารถดำเนินไปได้หากปราศจากตำแหน่งนี้ อะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺได้มีมติเอกฉันท์ว่า การแต่งตั้งผู้นำนั้นเป็นวาญิบและการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์เป็นสิ่งที่ไม่อนุมัติในอิสลาม ดังที่หนังสือศาสนาหลายเล่มได้อธิบายถึงรายละเอียดของการดำรงตำแหน่งอันสำคัญนี้ แต่ผู้นำในที่นี้นักวิชาการหมายถึงตำแหน่งผู้นำสูงสุดนั่นคือตำแหน่งคอลีฟะฮฺซึ่งว่างลงตั้งแต่การล่มสลายของอาณาจักรอุษมานียะฮฺ(ออตโตมัน)ซึ่งเป็นคิลาฟะฮฺสุดท้ายของอิสลาม ดังนั้นการที่นักนิติศาสตร์อิสลามกล่าวถึงผู้นำนั้นก็หมายถึงการเป็นผู้นำของมุสลิมในเมืองใดเมืองหนึ่งหรือประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีมุสลิมอาศัยอยู่และต้องการผู้นำเพื่อบริหารกิจการต่างๆของพวกเขา

บรรดานักนิติศาสตร์อิสลามได้อธิบายอย่างละเอียดถึงหลักเกณฑ์ของศาสนาทั้งในเรื่องการแต่งตั้งและการถอดถอนผู้นำ อันแสดงว่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นผู้นำและการเมืองการปกครองนั้นมีอยู่อย่างมากมายในบรรดาหนังสือนิติศาสตร์อิสลามและพอเพียงสำหรับมุสลิมที่จะไม่ต้องไปพึ่งพิงกฎหมายตะวันตกหรือรัฐธรรมนูญของผู้อื่น แต่สถานการณ์ปัจจุบันซึ่งมุสลิมถูกบังคับอยู่ภายใต้กฏหมายตะวันตกจึงทำให้สถานภาพของมุสลิมกลายเป็นประเด็นใหม่ที่จำเป็นต้องมีการวินิจฉัยเปรียบเทียบกับสิ่งที่นักวิชาการศาสนาได้เคยอธิบายมาในอดีต

 เนื่องจากช่วงที่ผ่านมานี้ได้มีการพูดถึงการถอดถอนจุฬาราชมนตรีออกจากตำแหน่ง จึงเป็นเรื่องเหมาะสมที่เราจะนำเสนอสิ่งที่บรรดานักวิชาการของอิสลามได้อธิบายไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเรียนรู้บทบัญญัติและคำอธิบายของศาสนาในเรื่องการแต่งตั้งและถอดถอนผู้นำ

 ณ ตรงนี้ สิ่งที่เราควรตระหนักคือการมีผู้นำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติในอิสลามเพื่อให้กิจการของโลกดำเนินได้ด้วยหลักการศาสนา ท่านอิหม่ามนะวะวียฺได้กล่าวไว้ในหนังสือเราเฎาะตุฏฏอลิบีนว่า “ประชาชาติจำเป็นต้องมีผู้นำเพื่อดำรงไว้ซึ่งศาสนา สนับสนุนแนวทางของท่านนบี อำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกอธรรม เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิ และจัดการสิทธิอย่างเหมาะสม”

 ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

 

 يَا دَاوُودُ إِنَّا جَعَلْنَاكَ خَلِيفَةً فِي الْأَرْضِ فَاحْكُم بَيْنَ النَّاسِ بِالْحَقِّ وَلَا تَتَّبِعِ الْهَوَىٰ فَيُضِلَّكَ عَن سَبِيلِ اللَّـهِ

ความว่า “โอ้ดาวู้ดเอ๋ย ! เราได้แต่งตั้งเจ้าให้เป็นตัวแทนในแผ่นดินนี้ ดังนั้น เจ้าจงตัดสินคดีต่างๆ ระหว่างมนุษย์ด้วยความยุติธรรมและอย่าปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำ มันจะทำให้เจ้าหลงไปจากทางของอัลลอฮฺ” (38:26)

 การสนับสนุนแนวทางของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม การช่วยเหลือและรักษาสิทธิของผู้ถูกอธรรมนั้นเป็นหน้าที่สำคัญของผู้นำ และการบกพร่องในเรื่องนี้จึงถือว่าเป็นการบกพร่องในหน้าที่และเป้าหมายของการเป็นผู้นำด้วย

 ฉะนั้นผู้นำที่ไม่สนับสนุนแนวทางของท่านนบี แต่กลับเรียกร้องสู่อุตริกรรมในสังคม ไม่ดูแลเอาใจใส่ทุกข์สุขของมุสลิมผู้อยู่ในการปกครอง การปล่อยปละละเลยไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง แม้กระทั่งการบั่นทอนสิทธิของผู้อื่นและเอนเอียงไปทางคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงเพื่ออารมณ์ของตัวเอง หรือเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นความจำเป็น(วาญิบ)ในศาสนาอันเที่ยงตรงและมาตรฐานแห่งความยุติ ธรรม ผู้นำที่มีลักษณะเหล่านี้จำเป็นต้องถูกปลดออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งผู้อื่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องแทนที่เขา

 ท่านอัลบากิลานียฺได้กล่าวในหนังสืออัตตัมฮีดของท่านว่า “ประชาชาติได้มีมติเอกฉันท์ว่าผู้นำจำเป็นต้องถูกถอดถอนและหมดสภาพที่ต้องได้รับการเชื่อฟังหากเขาปฎิเสธศรัทธาหลังจากที่เขาได้ศรัทธา หรือละทิ้งการละหมาดและการเรียกร้องไปสู่การละหมาด แต่ทั้งนี้นักวิชาการมีทัศนะที่ไม่ตรงกันในกรณีที่ผู้นำเป็นผู้ฝ่าฝืน(ฟาซิก) ผู้อธรรม ผู้ที่ยักยอกทรัพย์สินผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่น ทำลายความสงบสุขผู้อื่น ไม่ดำรงไว้ซึ่งบทลงโทษในศาสนา หรือขัดขวางสิทธิที่ผู้อื่นควรได้รับ จนทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เห็นต้องถอดถอนเขา”

 นักวิชาการและนักหะดีษส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ผู้นำจะไม่ถูกถอดถอนด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา และไม่จำเป็นต้องออกจากการเชื่อฟังของเขา แต่ต้องตักเตือนเขา ทำให้เขารู้สึกเกรงกลัว และไม่ปฏิบัติตามเขาในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ

 เรื่องนี้ท่านอัลบากิลานียฺ(ซึ่งอยู่ในกลุ่มอัลอะชาอิเราะฮฺ)ได้กล่าวอย่างชัดเจนในหนังสืออัตตัมฮีด(เป็นหนึ่งในหนังสือด้านอะกีดะฮฺของกลุ่มอะชาอิเราะฮฺ)ว่า เป็นที่เอกฉันท์ว่าจำเป็นต้องถอดถอนผู้นำหากเขาตกอยู่ในการกุฟรฺ(ปฏิเสธศรัทธา)หรือละทิ้งการดำรงไว้ซึ่งการละหมาดและไม่เรียกร้องสู่การละหมาด และเช่นเดียวกันในกรณีที่ต่อสู้ขัดขวางหลักการของอิสลาม(เช่นการเรียนรู้อัลกุรอานและซุนนะฮฺท่านนบี) ตลอดจนขัดขวางและเป็นศัตรูกับบรรดานักเผยแผ่ศาสนาและประกาศสงครามต่อต้านบรรดาผู้รู้และคนดีมีคุณธรรม ซึ่งในกรณีนี้บรรดานักวิชาการมีความเห็นตรงกันให้ถอดถอนผู้นำเช่นนี้และไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังเขา แต่สำหรับผู้นำที่ไม่ได้ปฏิเสธศรัทธา(กุฟรฺ)ท่านอัลบากิลานียฺระบุว่าบรรดานักวิชาการมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการไม่เชื่อฟังและการประกาศฝ่าฝืนคำสั่งผู้นำนั้น

 แน่นอนว่าตำแหน่งผู้นำหรือผู้ปกครองสังคมมุสลิมเช่นในประเทศไทยมิใช่ตำแหน่งผู้นำหรือคอลีฟะฮฺสูงสุด เพราะเป็นตำแหน่งทางราชการที่เลือกบุคคลหนึ่งให้เป็นผู้นำของมุสลิมโดยไม่คำนึงถึงหลักการปรึกษาหารือกัน(ชูรอ)ในศาสนาแต่อย่างใด แต่ถูกเลือกโดยหลักประชาธิปไตย คือใช้จำนวนเสียงข้างมากสนับสนุนโดยปราศจากการพิจารณาคุณสมบัติ(ตามทัศนะอิสลาม)ของผู้ถูกเลือกและผู้มีสิทธิเลือกผู้นำ

 อย่างไรก็ตามเนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวนั้นถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นผู้นำหรือตัวแทนของมุสลิม ฉะนั้นจึงไม่บังควรที่จะนำหลักการหรือกฏเกณฑ์อื่นจากกฎหมายอิสลามมาพิจารณาถึงความถูกต้องเหมาะสมของตำแหน่งนี้

 ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี อิหม่ามมัสยิด คณะกรรมการกลางอิสลามหรือประจำจังหวัด ล้วนได้ดำรงตำแหน่งบนพื้นฐานที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมุสลิมที่มีความแตกต่างจากคนทั่วไปในประเทศทั้งทางด้านศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีปฏิบัติ ฉะนั้นแล้วการรักษาซึ่งหลักการศาสนาในการแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้นำจึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่เป็นการสมควรที่จะเรียกตำแหน่งเหล่านั้นในชื่อของอิสลาม เช่น อิหม่าม หรือชัยคุลอิสลาม เป็นต้น

 สังคมมุสลิมในประเทศไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการอิสลามเป็นอย่างแรกในการที่จะแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้นำในสังคม ถัดจากนั้นจึงพิจารณาถึงประเด็นที่ระบุในกฎหมายทางโลกเพื่อดำเนินการตามที่ศาสนาได้กำหนด ดังนั้นหากศาสนาได้อธิบายโดยละเอียดถึงสาเหตุที่ต้องมีการถอดถอนอิหม่ามหรือผู้นำแล้ว หลังจากนั้นเราก็ควรหาวิธีการที่จะถอดถอนผู้นำนั้นโดยใช้วิธีการทางกฎหมายที่เอื้อให้โดยระบอบการปกครองของประเทศ

 อิหม่ามอัลมาวัรดียฺซึ่งเป็นนักวิชาการในมัซหับชาฟิอียฺได้ระบุในหนังสือที่มีชื่อเสียงของท่านคือ อัลอะหฺกาม อัซซุลฎอนิยะฮฺ (กฏเกณฑ์เกี่ยวกับการปกครอง) ถึงภาระหน้าที่ของอิหม่ามหรือคอลีฟะฮฺ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญว่า

 “สิ่งที่เขา(ผู้นำ)จำเป็นต้องปฏิบัติในเรื่องทั่วๆไปนั้นมีสิบอย่าง หนึ่งในนั้นคือ การปกป้องรักษาศาสนาให้เป็นไปตามหลักการและตามสิ่งที่บรรดากัลยาณชนยุคแรกได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ดังนั้นหากมีผู้หนึ่งผู้ใดทำอุตริกรรมหรือสร้างความสับสน(ในเรื่องราวศาสนา) ทำให้เขวไปจากทางอันเที่ยงตรง ผู้นำจะต้องชี้แจงหลักฐานและความถูกต้องให้แก่เขา และตักเตือนให้เขาเคารพในสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น รวมทั้งบทลงโทษที่เขาจะได้รับหากมีการละเมิด ทั้งนี้เพื่อให้ศาสนามีความปลอดภัยและป้องกันศาสนาจากสิ่งที่ก่อความเสียหาย และเพื่อให้ประชาชาติมีความปลอดภัยจากแนวทางที่บิดเบือน

 สอง - ตัดสินชี้ขาดระหว่างคู่กรณีสองฝ่าย(หรือมากกว่า)และขจัดความขัดแย้งระหว่างพวกเขาจนกว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้นในสังคม และจนกว่าผู้อธรรมจะไม่ละเมิดและผู้ถูกอธรรมจะไม่ถูกรังแก

 สาม - ป กป้องดูแลผู้อ่อนแอและสตรี เพื่อให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ สามารถเดินทางโดยสวัสดิภาพ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

 สี่ - ดำรงไว้ซึ่งบทลงโทษเพื่อปกป้องสิ่งต้องห้ามในศาสนามิให้ถูกละเมิด และรักษาสิทธิของมุสลิมมิให้ถูกทำลายหรือถูกทำให้เสียหาย

 ห้า - ป้องกันจุดอ่อนและสร้างป้อมปราการอันแข็งแกร่ง(ให้กับอาณาจักรอิสลาม)ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์และสิ่งจำเป็นในการปกป้องดินแดนและด้วยกำลังอาวุธในการจู่โจมศัตรู เพื่อมิให้ศัตรูพบจุดอ่อนและใช้จุดอ่อนนั้นเป็นเครื่องมือในการทำลายและละเมิดสิ่งต่างๆที่มีความสำคัญในศาสนา หรือเป็นเครื่องมือในการเข่นฆ่ามุสลิมหรือมุอาฮัด(ผู้ที่มีสนธิสัญญากับรัฐอิสลาม)

 หก - ต่อสู้ทำญิฮาดกับผู้ที่ขัดขืนดื้อดึงในการตอบรับการเรียกร้องของอิสลามจนกว่าเขาจะรับอิสลามหรือเข้ามาในฐานะผู้มีสนธิสัญญากับมุสลิมเพื่อดำรงไว้ซึ่งสิทธิของอัลลอฮฺในการเผยแผ่ศาสนาของพระองค์

 เจ็ด - รวบรวมทรัพย์เชลยจากสงครามและการบริจาคทานต่างๆในศาสนบัญญัติทั้งด้วยตัวบทที่ชัดเจนหรือด้วยการวินิจฉัยของนักวิชาการ โดยปราศจากความกลัวหรือการอธรรมผู้ใด

 แปด - บริหารงบประมาณและค่าใช้จ่ายในบัยตุลมาล(คล้ายกระทรวงการคลัง)โดยไม่สุรุ่ยสุร่ายหรือตระหนี่ และในเวลาที่เหมาะสมไม่เร็วหรือช้าเกินไป

 เก้า - มอบหมายหน้าที่ให้ผู้ที่มีความซื่อสัตย์(อะมานะฮฺ)และปฏิบัติตามคำตักเตือนหรือคำแนะนำของผู้ที่หวังดีในสิ่งที่พวกเขาได้รับมอบหมายในการงานต่างๆหรือในทรัพย์สินที่พวกเขารับผิดชอบ ทั้งนี้เพื่อให้กิจการงานถูกควบคุมด้วยหลักของความเหมาะสมและการมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ทรัพย์สินถูกรักษาไว้ด้วยมือของผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริต

 สิบ - ผู้นำจำเป็นต้องบริหารจัดการเรื่องราวต่างๆ ตลอดจนสำรวจสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งนี้เพื่อพัฒนาและยกระดับการปกครองประชาชาติและการปกป้องรักษาหลักการศาสนา และจะต้องไม่ปล่อยปละละเลยหน้าที่ของตนเพียงเพื่อความสุขส่วนตัวหรือแม้แต่การทำอิบาดะฮฺ เพราะผู้ที่ซื่อสัตย์อาจจะทรยศ ผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้ตักเตือนหวังดีอาจจะคดโกงหลอกลวง

 แน่นอนว่าบางสิ่งที่ท่านอัลมาวัรดียฺได้กล่าวเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของผู้นำนั้นอาจไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของตำแหน่งต่างๆในปัจจุบัน(เช่นตำแหน่งจุฬาราชมนตรี) เนื่องจากเขาไม่สามารถที่จะทำการญิฮาดหรือเก็บทรัพย์เชลยหรือรวบรวมซะกาต  หรือไม่สามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีความยุติธรรมและซื่อสัตย์สุจริตหรือเฝ้าระวังปกป้องชายแดนได้ แต่กระนั้นก็ตามผู้ที่ดำรงตำแหน่งอื่นๆ อย่างเช่นอิหม่ามมัสยิด กรรมการมัสยิด ตลอดจนคณะกรรมการอิสลามและสำนักจุฬาราชมนตรี ก็สามารถที่จะปฏิบัติภาระหน้าที่บางส่วนที่ท่านอัลมาวัรดียฺได้กล่าวมา เช่น การปกป้องรักษาศาสนาและสิ่งที่เป็นเอกฉันท์ในหลักการศาสนา, การตักเตือนแก้ไขในเรื่องอุตริกรรมและผู้ที่ทำอุตริกรรมต่างๆ, ปราบปรามผู้ที่เปลี่ยนแปลงศาสนา, และการตัดสินข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีด้วยกฎเกณฑ์ของศาสนา, การปกป้องชายแดนนั้นก็สามารถกระทำได้โดยการปกป้องหลักศรัทธา(อะกีดะฮฺ)ของมุสลิมและหลักการทั่วไปของศาสนามิให้ถูกละเมิดหรือถูกดูหมิ่น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้พวกเขาสามารถกระทำได้อย่างไม่ต้องสงสัย มิฉะนั้นแล้วก็จำเป็นสำหรับประชาชาติที่จะต้องปลดผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ เพราะการดำรงตำแหน่งของพวกเขาจะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย หากจะกลับกลายเป็นโทษอย่างใหญ่หลวงที่อาจกลับมาทำลายศาสนาและสังคมมุสลิมด้วยซ้ำไป

>>> หลักการอิสลามในการถอดถอนผู้นำ 2

 


โดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

วันที่ลงบทความ : 19 ก.พ. 50