พูดอย่างไรได้ชัยชนะ

Submitted by dp6admin on Mon, 06/04/2009 - 11:13

มีคำปรัชญาอาหรับกล่าวว่า  “خَيرُالكَلَام - คำพูดที่ประเสริฐ คือคำพูดสั้น ๆ แต่มีความหมายลึกซึ้ง”

ชัยชนะคืออะไร ?

ดังกว่า ? มีพลังมากกว่า ? ได้รับการยกย่องจากสังคม ?  แต่ตามมาตรฐานของอิสลามไม่ใช่...เพราะอิสลามต้องการประกาศสัจธรรมด้วยทุกวิถีทาง  ตั้งแต่การใช้คำพูดจนถึงการกระทำ  แม้กระทั่งการใช้แรงกายซึ่งเป็นวิธีสุดท้าย

ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  เผยแผ่อิสลามที่นครมักกะฮฺเป็นเวลา 13 ปี  ท่านถูกต่อต้าน ถูกทำร้ายจากชาวกุเรชซึ่งเป็นญาติพี่น้องของท่านเอง  ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนบ้า เป็นนักไสยศาสตร์  แต่ในช่วงเวลานั้นก็ไม่เรียกว่าท่านนบี “แพ้”  เพราะสิ่งที่ท่านนำมาประกาศนั้นเป็นสัจธรรม  ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าสิ่งที่ท่านนำมานั้นไม่ใช่ความจริงหรือเป็นความเท็จ  ชาวกุเรชเองก็ยอมรับว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นผู้ที่ซื่อสัตย์และพูดจริง ( الصَّادِقُ الأَمِين )  ท่านไม่เคยทรยศ ไม่เคยทำลายผู้อื่น  ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าท่านเป็นผู้สมควรอย่างยิ่งในการเป็นนบี

“ชัยชนะ” ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจ บารมี หรือความสามารถของเรา  แต่ขึ้นอยู่กับสัจธรรมที่เรายึดมั่น ว่าเราได้ทำหน้าที่ประกาศสัจธรรมนั้นหรือไม่  “ชัยชนะ” ณ อัลลอฮฺ ตะอาลา ก็คือ “สัจธรรม”  ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า  - ياأيهَاالذين آمنوا الله وقولوا قولاً سديداً - โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงพูดคำพูดที่ถูกต้อง (จงกล่าว/เผยแผ่/ประกาศสัจธรรม) - يُصلح لكم أعمالكم  - แล้วการกระทำของพวกท่านนั้นจะเป็นการกระทำที่ดี (คือเมื่อพูดสิ่งที่ถูกต้อง อัลลอฮฺก็จะปรับปรุงการกระทำของเขาให้ดีขึ้น และจะอภัยโทษให้เขา)

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า "บุคคลหนึ่งอาจจะพูดคำพูดหนึ่งโดยไม่เจตนา แต่คำพูดนั้นทำให้เขาตกนรก 70 ปี ตรงกันข้าม บุคคลหนึ่งอาจกล่าวคำพูดที่ดีโดยไม่เจตนา ซึ่งคำพูดนั้นทำให้เขาได้เข้าสวรรค์"

"ลิ้น" เป็นอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหวมากกว่าอวัยวะอื่น ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวกับมุอ๊าซว่า "จงระมัดระวัง ระงับลิ้นของท่าน" ท่านมุอ๊าซถามว่า "เราจะถูกลงโทษหรือถูกสอบสวนในสิ่งที่เราใช้ลิ้นพูดกระนั้นหรือ?" ท่านนบีตอบว่า "มนุษย์จะถูกโยนหน้าทิ่มลงในนรก เนื่องจากการทำงานของลิ้นของเขาเอง"

ชัยชนะ ไม่ใช่พูดแล้วคนปรบมือให้ แต่คือ ถูกต้อง แม้คนอื่นจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ใครที่เชื่อฟังอัลลอฮฺและร่อซูล เขาจะได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่

คนที่พูดดีแต่การกระทำไม่ดี เช่น ใช้ให้คนละหมาดแต่ตนเองไม่ละหมาด คำพูดของเขาในสายตาคนทั่วไปเห็นว่าดี แต่ในทัศนะของศาสนานั่นไม่ใช่คำพูดที่ดี แต่เป็นคำพูดที่เป็นนิฟาก (บิดพลิ้ว) เพราะเขาพูดแล้วไม่กระทำ คำพูดที่ดี คือการพูดความจริง พูดตามที่อัลลอฮฺและร่อซูลได้สอนเราไว้ และคำพูดกับการปฏิบัติก็จะต้องสอดคล้องกัน ส่วนคนที่พูดแต่ไม่ทำ หรือการกระทำไม่ตรงกับคำพูด แสดงว่าเขามีการบิดพลิ้ว ซึ่งจะทำให้เขาแพ้ใน"สงครามแห่งสัจธรรม"  อย่างสหรัฐแม้จะชนะในสงครามหลายครั้งที่ผ่านมา แต่สหรัฐไม่เคยชนะในสัจธรรม และไม่เคยยึดมั่นในสัจธรรม

หะดีษบันทึกโดยอิมามบุคอรียฺบทหนึ่ง -- มีชายคนหนึ่งเข้าร่วมรบอย่างกล้าหาญ ศ่อฮาบะฮฺหลายคนเห็นดังนั้นก็กล่าวชมเขาให้ท่านนบีฟัง แต่ท่านนบีกล่าวว่า ชายคนนั้นตกนรก, ในสงครามครั้งต่อไป ศ่อฮาบะฮฺก็เฝ้าดูชายคนนี้ก็เห็นว่าเขาสู้รบอย่างกล้าหาญ แต่เมื่อเขาได้รับบาดเจ็บมากจนทนไม่ไหว ก็เอาดาบมาฆ่าตัวตาย ก่อนจะฆ่าตัวตายเขากล่าวว่า الله أكبر صدق رسول الله?  - อัลลอฮฺยิ่งใหญ่ ท่านร่อซูลพูดจริง --

คนที่มีอีมาน เมื่อบาดเจ็บเขาจะดีใจ เพราะรู้ว่ามุซีบะฮฺ (การทดสอบ) กำลังประสบกั บเขา เขาดีใจที่จะได้รับการทดสอบซึ่งจะทำให้ได้ผลบุญหากเขาอดทน เขาจะไม่ฆ่าตัวตาย คนที่ไม่อดทนต่อการบาดเจ็บและฆ่าตัวตายทั้งๆที่รู้ว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ตกนรก แสดงว่าการกระทำของเขานั้นไม่ได้ทำเพื่อศาสนาอย่างแท้จริง

สัจธรรมนั้นมีมุมมองเดียว คือ สัจธรรม ณ อัลลอฮฺตะอาลา, บางครั้งเรื่องเดียวกัน คนหนึ่งอาจเห็นว่าถูก แต่อีกคนอาจเห็นว่าผิด แล้วสิ่งที่จะตัดสินได้ว่าความจริงอยู่ที่ไหน  มุมมองใดที่ถูกต้อง คืออะไร?

สำหรับเรื่อง "อะกีดะฮฺ" มีมุมมองเดียว ไม่มีความแตกต่างและศาสนาก็ไม่อนุญาตให้มีความแตกต่างด้วย เช่น ศิฟัตของอัลลอฮฺ, อัลกอฎออฺและอัลกอดัร, คุณลักษณะของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับ คนที่มีความแตกต่างไปในเรื่องเหล่านี้เรียกว่า "مبتدع" คือผู้ที่ผิดอะกีดะฮฺ -- ซึ่งในเรื่องอะกีดะฮฺนี้ ศ่อฮาบะฮฺไม่เคยขัดแย้งกัน เพราะเป็นเรื่องที่ชัดเจนและมีมุมมองเดียว

ส่วนสัจธรรมในการปฏิบัติศาสนกิจ ก็มีเรื่องเดียว เช่น การอ่านฟาติฮะฮฺของมะอฺมูมในละหมาดที่อ่านเสียงดัง อุละมาอฺบางท่านว่าต้องอ่าน บางท่านว่าไม่ต้องอ่าน,  ณ อัลลอฮฺตะอาลาก็ต้องมีทัศนะที่ถูกต้องเพียงทัศนะเดียว แต่อุละมาอฺก็ไม่ได้ชี้ว่าทัศนะใดทัศนะหนึ่งผิด, หลักฐานในการปฏิบัติศาสนกิจส่วนมากก็ไม่ได้ชี้ให้ชัดเจน มีหลายทัศนะ หลายความหมาย -- นี่เป็นฮิกมะฮฺหนึ่งของความขัดแย้ง ทัศนะที่แตกต่างกันนี้ทำให้บทบัญญัติมีความยืดหยุ่น เพราะศาสนามิได้ถูกประทานลงมาเพื่อให้ใช้เฉพาะในยุคของท่านนบีและบรรดาศ่อฮาบะฮฺเท่านั้น แต่อิสลามจะต้องถูกนำมาใช้เป็นร้อยเป็นพันปี ถ้าชี้ขาดในทุกเรื่อง ก็จะทำให้ลำบากในการนำมาใช้ในบางยุคบางสมัย -- บรรดาอุละมาอฺที่มีทัศนะไม่ตรงกันไม่เคยด่าว่ากันหรือกล่าวหากันเลย แต่จะพิจารณาว่าทัศนะใดที่มีน้ำหนักมากกว่ากัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าทัศนะที่มีน้ำหนักมากกว่าเป็นทัศนะที่ชนะ

"ชัยชนะ" คือการปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้ปฏิบัติ, ศ่อฮาบะฮฺท่านหนึ่งเมื่อจะเข้าทำสงคราม ก็ได้บัยอะฮฺ (ทำสัตยาบัน) กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า เขาให้สัตยาบันว่าจะเสียสละชีวิตแด่อัลลอฮฺตะอาลา เมื่อสงครามผ่านไป ท่านนบีก็แบ่งทรัพย์เชลยให้แก่ศ่อฮาบะฮฺท่านนั้น เขากลับกล่าวว่า "ฉันไม่ได้ทำสัตยาบันกับท่านว่าจะทำสงครามเพื่อทรัพย์สมบัติ แต่ฉันทำสัตยาบันกับท่านที่จะทำญิฮาด เพื่อที่จะให้ธนูเข้าตรงนี้ (ชี้ที่คอด้านหน้า) และออกตรงนี้ (ชี้ที่คอด้านหลัง)" ท่านนบีกล่าวกับเขาว่า "หากท่านพูดจริง อัลลอฮฺตะอาลาจะช่วยให้ประสบความสำเร็จ" เมื่อชายคนนั้นเข้าร่วมสงครามอีกครั้ง เขาถูกศัตรูยิงธนูเข้าตรงที่เขาชี้ แต่ยังไม่ตาย เขาจับธนูแล้วกล่าวว่า "ฉันชนะแล้ว โอ้พระผู้อภิบาล" แล้วเขาก็เสียชีวิต -- คนที่พูดจริงกับอัลลอฮฺตะอาลา เขาจะได้รับชัยชนะ การยึดในสัจธรรมและความถูกต้อง แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วยกับเขาก็ตาม เขาก็จะได้รับชัยชนะ ณ อัลลอฮฺตะอาลา

ความสำเร็จของมนุษย์นั้นอยู่ที่ลิ้น และมุซีบะฮฺ (การลงโทษ/การทดสอบ) ก็ผูกพันอยู่กับลิ้น

 


เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, 2546-03-08 พูดอย่างไรจึงจะได้ชัยชนะ

วันที่ลงบทความ : 10 เม.ย. 50