مَاذَا نَفْعَلُ لِنَسْلَمَ مِنْ مَرَضِ الحَسَدِ ؟
ทำอย่างไรจึงจะหนีพ้นจากโรคอิจฉาริษยา
ก่อนอื่นเราต้องตระหนักว่าไม่มีมนุษย์ที่เกิดด้วยความโกรธแค้นต่อคนอื่น และโรคอิจฉาริษยานั้นย่อมเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เอง หมายถึงมิใช่ลักษณะบังคับทางธรรมชาติที่อัลลอฮฺทรงสร้างไว้ เช่น การเกิดมาเป็นเพศหญิงหรือชาย ผิวขาวหรือดำ หากเป็นความรู้สึกที่จะถูกขยายตัวในจิตใจของมนุษย์โดยมีองค์ประกอบหลายประการ แต่ปัจจัยหลักที่จะทำให้อิจฉาริษยาเกิดขึ้นคือ 2 ประการ ประการแรกเกี่ยวกับความศรัทธาต่อพระกำหนดของอัลลอฮฺ เพราะผู้อิจฉาริษยาไม่ยอมหรือไม่พอใจที่ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับความโปรดปรานอย่างหนึ่งอย่างใด ประการที่สอง เกี่ยวกับจิตใจมนุษย์ที่หลงกับดุนยา ปรารถนาในเรื่องวัตถุ มีความหวังสูงต่อความมั่งคั่งร่ำรวย โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายอื่นๆในทางศีลธรรมและศาสนา จึงมิสามารถสัมผัสกับรสชาติแห่งสมถะ อันก่อให้ผู้อิจฉามีความหวงแหน ความอยาก และกิเลส ซึ่งนั่นคือปัจจัยร้ายแรงที่ทำให้โรคอิจฉานั้นเกิดขึ้นและระบาดไปทุกมุมทุกด้านในชีวิตของมนุษย์ ผู้ที่มีการอิจฉาริษยาก็จะมองถึงสิ่งดีหรือมองคนดีในแง่ลบเสมอ จนกระทั่งอาจไม่อยากให้ความดีเกิดขึ้นในโลกนี้เลย เนื่องจากความแค้นที่มันเติบโตและขยายตัวจนกระทั่งไม่เพียงพอที่จะแค้นตัวบุคคลที่มีความดี หนำซ้ำยังแค้นความดีมีคุณธรรมไปเสียด้วย เราก็เห็นในสังคม คนที่อิจฉาผู้อื่นเนื่องจากอัลลอฮฺทรงให้ฮิดายะฮฺแก่เขาให้เป็นคนดี ละหมาดและปฏิบัติตนเรียบร้อยตามหลักศาสนา แต่ผู้อิจฉาที่ไม่พอใจให้คนอื่นดีเลิศกว่าเขา เกิดความแค้นจนกระทั่งทิ้งละหมาด ละความดีไปเสียด้วย
หากผู้อิจฉาริษยาต้องการหนีให้พ้นจากมหันตภัยนี้
ก็จำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้
1. ต้องเชื่อและตระหนักว่าโลกนี้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดด้วยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ อันมีความยุติธรรมที่บริบูรณ์ และมีความเหมาะสมตามที่พระองค์ทรงรู้ยิ่งมากกว่ามนุษย์ หากมีใครเหนือกว่าใคร ก็ย่อมมีความเหมาะสมที่อัลลอฮฺทรงรู้แต่มนุษย์ไม่รู้ หากมีใครต่ำกว่าใคร ก็ย่อมเป็นความสวยงามที่มีเหตุผล แต่มนุษย์หารู้ไม่ กฎสภาวะที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้นั้น(อัลกอฎออฺวัลกอดัร)เป็นอะกีดะฮฺ คือหลักศรัทธาที่เราต้องตระหนักอย่างแน่วแน่และมั่นคง คนที่มีความตระหนักตามข้อแนะนำดังกล่าว จะลิ้มรสชาติแห่งความสบายใจ และจะปรากฏซึ่งความสุขสบายในจิตใจของตน เพราะอีมานต่อกอฎออฺและกอดัรจะยับยั้งความรู้สึกหรือความแค้น หรือการริษยาทุกประเภทที่อาจเกิดขึ้น และจะถูกขจัดด้วยความบริสุทธิ์แห่งอีมาน และจะถูกชำระล้างด้วยด้วยความเชื่อที่หนักแน่นต่อพระผู้ทรงยุติธรรมทรงปรีชาญาณ
2. จำเป็นต้องเข้าใจว่าความโปรดปรานทางวัตถุ มิอาจเป็นความดีเสมอ เช่น คนมีมั่งมีอาจไม่ใช่คนที่มีความสุขเสมอไป ฉะนั้นการอิจฉาคนรวยอาจเป็นการอิจฉาในสิ่งที่เป็นความทุกข์สำหรับเขา จึงเห็นประหนึ่งว่าผู้อิจฉานั้นกำลังอิจฉาในสิ่งที่เสียหายขาดทุน มนุษย์ทุกคนต้องแสวงหาความดีความโปรดปรานด้วยการขวนขวายของตัวเอง และด้วยการวิงวอนเรียกร้องจากอัลลอฮฺ มิใช่อิจฉาริษยาที่จะเป็นหนทางนำมาซึ่งความโปรดปรานนั้นๆ
3. มุสลิมทุกคนต้องเชื่อว่าอิจฉาริษยานั้นมีผลร้ายแรงต่ออีมานและผลบุญ ซึ่งอาจก่อให้ผู้อิจฉาริษยากระทำสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ในภาคปกติ(โดยไม่มีอิจฉา) แต่เมื่ออิจฉาแล้วความแค้นที่แฝงอยู่ในความอิจฉาจะกระตุ้นให้กระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ถึงอาจปฏิเสธศรัทธาก็ได้ ดังที่ปรากฏในกรณีของอิบลีส เพราะฉะนั้นผู้ใดที่หวงแหนและต้องการรักษาอีมานกับผลบุญ จำเป็นต้องตรวจสอบและสอบสวนตัวเองให้สภาพจิตใจนั้นปราศจากอิจฉาริษยาทุกเวลา
4. ให้ขจัดความแค้นต่อผู้อื่นออกไปจากจิตใจ หมายถึงปรับความรู้สึกให้เกิดความรักต่อเขา และถ้าไม่สามารถให้เกิดความรักก็พยายามอย่าให้มีความโกรธ
5. ให้ทำความดีกับผู้ที่มีความอิจฉาเกิดขึ้นกับเขา เช่น ไม่อธรรมเขา วิงวอนให้เขาได้รับทางนำและความโปรดปราน และไม่กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะก่อความเสียหายแก่ผู้ถูกอิจฉา
6.ให้มีความสมถะและความรู้สึกพอเพียงกับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานมายังเรา
7. ใช้สติปัญญาในการวิคราะห์เหตุผลของความรู้สึกและพฤติกรรม โดยให้สติปัญญามีอิทธิพลเหนือนัฟซูอารมณ์ใฝ่ต่ำ เพราะนัฟซูอารมณ์ใฝ่ต่ำมักจะกระตุ้นมนุษย์ให้ปรารถนาความชั่ว ดังที่อัลลอฮฺตรัสไว้ว่า
﴿ إِنَّ النَّفْسَ لأَمَّارَةٌ بِالسُّوْءِ ﴾
ความว่า : “แท้จริงจิตใจนั้นถูกครอบงำด้วยความชั่ว” (ยูซุฟ 53)
8. ให้จดจำว่าความอิจฉาริษยาเป็นโรคร้ายแรงของชัยฏอนมารร้าย และผู้อิจฉาริษยาก็จะมีผู้นำของเขาคืออิบลีสนั่นเอง
9. ให้ทำความดีมากๆ เพราะความดีนั้นย่อมมีผลชำระความชั่ว โดยเฉพาะการอ่านอัลกุรอาน การซิกรุลลอฮฺ การรำลึกถึงวันแห่งการตอบแทน และการทำความดีกับผู้อื่น
10. การแพร่สลามซึ่งกันและกัน ท่านนบีมุฮัมมัด ได้กล่าวว่า
أَلا أَدُلُّكُمْ عَلَى شَيْءٍ إِذَا فَعَلْتُمُوْهُ تَحَابَبْتُمْ أَفْشُوْا السَّلامَ بَيْنَكُمْ
ความว่า : “พวกเจ้าอยากรู้ไหมว่าพวกเจ้าจะบรรลุสิ่งเหล่านั้นได้อย่างไร จงแพร่ซึ่งการสลามระหว่างพวกเจ้า”
11. ให้ผู้อิจฉาอาบน้ำ ดังที่มีการบันทึกของอิมามอะหมัดและนะซาอียฺ จากอบีอุมามะฮฺ จากท่านซะฮฺลุบนุฮะนีฟ กล่าวว่า ซะฮฺลุบนุฮะนีฟได้เคยอาบน้ำขณะที่เดินทางกับท่านนบีมุฮัมมัด ครั้งหนึ่ง และอามิร อิบนุรอบีอะฮฺ ได้เห็นผิวของซะฮฺลุบนุฮะนีฟ จึงเกิดความพิศวงด้วยความสดใสสวยงามของผิวของซะฮฺลุบนุฮะนีฟ และอามิรได้กล่าวว่า ฉันไม่เคยเห็นผิว(ที่ขาวสะอาด)เหมือนเช่นนี้เลย ซะฮฺลุบนุฮะนีฟจึงชักและล้มลงทันที ศอฮาบะฮฺไปหาท่านนบีมุฮัมมัด และเล่าเรื่องนี้
ท่านนบีจึงถามว่า “พวกท่านสงสัยใครไหม(หมายถึงผู้อิจฉา)” พวกเขากล่าวว่า “พวกเราสงสัย อามิร อิบนุร่อบีอะฮฺ” ท่านนบีจึงเรียกอามิรและกล่าวด้วยความโมโห “ทำไมคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านจึงฆ่าพี่น้องเขา ถ้าท่านได้เห็นอะไรที่น่าพิศวง ก็จงวิงวอนให้จำเริญ” หมายถึงกล่าว ตะบารอกัลลอฮฺ ภายหลังนั้นท่านนบีได้บอกกับ อามิร อิบนุรอบีอะฮฺ “จงชำระให้เขา” อามิรล้างใบหน้า ฝ่ามือทั้งสอง ศอกทั้งสอง หัวเข่าทั้งสองข้าง และปลายเท้าทั้งสองข้าง และปลายเสื้อนุ่งห่มด้านใน และนำ(น้ำที่ใช้ชำระใส่)ในภาชนะ และเอาน้ำนั้นไปเทด้านหลังผู้ที่อิจฉาริษยา(ให้น้ำตก)บนศีรษะและหลังของเขา และเอาภาชนะไปคว่ำ ก็ได้ปฏิบัติตามนั้น ซะฮฺลุบนุฮะนีฟจึงหายจากอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่มีอันตราย(เลย)
ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิมได้กล่าวว่า พึงทราบว่ายารักษาพิษของงูอยู่ในเนื้อของงูนั่นเอง และยารักษาอาการโกรธแค้นของจิตใจก็ด้วยการระงับความโกรธแค้นและดับไฟของมันด้วยการวางมือและลูบเพื่อให้ความโกรธนั้นสงบลง เปรียบเสมือนชายคนหนึ่งได้จุดไฟแล้วเอามาขว้างท่าน ท่านก็เอาน้ำมารดไฟจึงดับไป และนั่นคือคำสั่งของท่านนบีเมื่อเห็นสิ่งที่น่าภูมิใจและพิศวง ให้วิงวอนให้สิ่งเหล่านั้นมีความจำเริญ เพื่อระงับอาการอันชั่วร้าย(แห่งอิจฉาริษยา)ด้วยการวิงวอน ซึ่งเป็นการทำความดี แน่นอนยารักษาโรคหนึ่งโรคใดก็ตรงข้ามกับโรคนั้น และเมื่อความชั่วร้ายแห่งอิจฉาริษยามันร้อนระอุในร่างกาย จึงหาทางพ้นจากสรีระ ก็อาจได้ออกทางปลายเท้าปลายมือ และเมื่ออวัยวะนั้นถูกล้างด้วยน้ำ มันก็จะระงับและลบล้างผลงานของมัน และส่วนอวัยวะที่ถูกล้างนั้นได้รับอิทธิพลจากพวกชัยฏอนมารร้าย คือมือและเท้า และการที่จะล้างมันด้วยน้ำ จะดับความร้อนระอุของมัน พิษ(แห่งอิจฉา)ก็จะสิ้นสุดไป ท่านอิมามอิบนุลก็อยยิมได้กล่าวว่า วิธีนี้บรรดาแพทย์คาดไม่ถึง และผู้ปฏิเสธจะไม่ได้รับประโยชน์จากมัน และผู้เยาะเย้ยหรือสงสัยหรือทดลองก็จะไม่ได้ผลจากยาชนิดนี้ เพราะเป็นแพทย์สูตรท่านนบีมุฮัมมัด อันเป็นความรู้ที่ได้รับจากวะฮียฺ
แต่เป็นสิ่งที่ต้องกล่าว ณ ที่นี้ ว่าการชำระส่วนอวัยวะของผู้อิจฉาและผู้ถูกอิจฉานั้น ถ้าสามารถชี้ได้อย่างแน่ชัดว่าผู้อิจฉานั้นคือใคร และถ้าผู้อิจฉายอมรับว่าตนเองได้อิจฉา เมื่อถูกเรียกร้องให้ชำระส่วนปลายอวัยวะนั้น ก็จำเป็นต้องสนองตอบรับ แต่ถ้าหากไม่สามารถรู้ตัวคนอิจฉาได้อย่างแน่นอน การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่สัมฤทธิ์ผล และไม่มีสิทธิเรียกร้องผู้ที่สงสัยให้กระทำสิ่งเหล่านี้
ที่มา : หนังสือ โรคเอดส์แห่งอีมาน(อิจฉาริษยา), โดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 262 views