3. วัยรุ่นกับการทำอิบาดะฮฺ

Submitted by dp6admin on Fri, 07/12/2018 - 21:58
الفتيان والفتيات والعبادة 
3. วัยรุ่นกับการทำอิบาดะฮฺ
 
ในฐานะที่คุณเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ คุณคิดว่าหน้าที่ของบ่าวมีอะไรบ้าง หรือคุณเข้าใจว่าชีวิตของคุณเป็นกรรมสิทธิ์ของคุณ คุณเท่านั้นที่จะกำหนดหน้าที่และสิทธิของคุณโดยไม่คำนึงว่าคุณมีพระเจ้า คุณมีศาสนา คุณมีเป้าหมายในชีวิตของคุณ ในซูเราะฮฺอัซซาริยาต อายะฮฺที่ 56 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ได้ตรัสไว้ว่า
 
﴿ وَمَا خَلَقْتُ الجِنَّ وَالإِنْسَ إِلا لِيَعْبُدُوْنِ ﴾
ความว่า "และข้ามิได้สร้างญินและมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อเคารพภักดีต่อข้า"
 
และในซูเราะฮฺอัลอันอาม อายะฮฺที่ 102 พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า
 ﴿ ذَلِكُمُ اللهُ رَبُّكُمْ لا إِلَهَ إِلا هُوَ خَالِقُ كُلِّ شَيْءٍ فَاعْبُدُوْهُ وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ وَكِيْل ﴾
ความว่า "นั่นแหละคืออัลลอฮฺ ผู้เป็นพระเจ้าของพวกเจ้า ไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์รับการเคารพสักการะ นอกจากพระองค์ผู้ทรงบังเกิดทุกสิ่งทุกอย่างเท่านั้น พวกเจ้าจงเคารพสักการะพระองค์เถิด และพระองค์ทรงเป็นผู้รับมอบหมายให้คุ้มครองรักษาในทุกสิ่งทุกอย่าง"
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความโปรดปราน ความกรุณา และความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ   มีอยู่อย่างมากมายในชีวิตของคุณ คุณเองก็ยอมรับว่าคุณต้องขอบคุณ(ชุโกร)ต่ออัลลอฮฺในสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้ หน้าที่ตรงนี้จะทำให้คุณเข้าใจว่าการขอบคุณ(ชุโกร)ต่ออัลลอฮฺนั้นมิใช่เพียงกล่าวคำสรรเสริญคำขอบคุณต่ออัลลอฮฺ แต่คุณต้องปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานมาให้เหมาะสมกับหลักการที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ นั่นแหละคือการขอบคุณที่แท้จริง ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในซูเราะฮฺสะบะอฺ อายะฮฺที่ 13 ว่า
﴿ اعْمَلُوْا آلَ دَاوُدَ شُكْرَاً وَقَلِيْلٌ مِنْ عِبَادِيَ الشَّكُوْرُ ﴾
ความว่า "วงศ์วานของดาวู้ดเอ๋ย พวกเจ้าจงทำงานเถิด เพื่อเป็นการขอบคุณ และส่วนน้อยแห่งปวงบ่าวของเราที่เป็นผู้ขอบคุณ" 
คุณว่ามั้ย ? ว่าคนเข้าใจการขอบคุณต่ออัลลอฮฺอย่างคลาดเคลื่อน เข้าใจว่าการกล่าว อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ถือเป็นการขอบคุณอัลลอฮฺแล้ว แต่การขอบคุณอัลลอฮฺมีความหมายที่กว้างกว่านี้ เช่น คนที่ได้ทรัพย์สินเงินทองแล้วกล่าว “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” แต่กลับนำทรัพย์สินนี้ไปซื้อบุหรี่ ดูหนัง หรือใช้ในสิ่งที่ไร้สาระ คุณคิดว่าคนๆนี้ได้ขอบคุณอัลลอฮฺจริงมั้ย ?   หรือผู้หญิงคนหนึ่งมีความสวยงามอันเป็นความโปรดปรานที่อัลลอฮฺทรงให้แก่นาง แต่นางได้นำความสวยงามไปใช้ในแนวทางที่ไม่ตรงกับพระประสงค์ของพระผู้ทรงสร้าง เช่น เปิดเผยเอาเราะฮฺ ไม่คลุมหิญาบตามหลักการ ทั้งๆที่ตัวเองก็กล่าวอยู่เสมอว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮฺ” คนๆนี้ถือว่าขอบคุณอัลลอฮฺในความสวยงามที่ตนมีอยู่มั้ย ? หรือชายคนหนึ่งมีสุขภาพพลานามัยดี แต่นำสุขภาพและพลังของตนไปข่มขู่รังแกชาวบ้าน คนๆนี้จะมีความรับผิดชอบต่อสุขภาพของตน โดยจะถูกสอบสวนในสุขภาพที่อัลลอฮฺให้ไว้ ว่าได้นำไปใช้อย่างไรบ้าง 
 
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า
سَبْعَةٌ يُظِلُّهُمُ اللهُ في ظِلِّهِ يَوْمَ لا ظِلَّ إِلا ظِلُّهُ ... وذكر منهم : شَابٌّ نَشَأَ في طَاعَةِ الله
ความว่า “เจ็ดคนที่อัลลอฮฺจะให้อยู่ภายใต้ร่มเงาพระบัลลังก์ของพระองค์ในวันที่ไม่มีร่มเงานอกจากร่มเงาของพระองค์ (หนึ่งในเจ็ดคน) ชายหนุ่ม(หรือหญิงสาว)คนหนึ่งเติบโตด้วยการทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ
การทำอิบาดะฮฺมิใช่การทำหน้าที่ต่อพระเจ้าเท่านั้น หากเป็นกิจวัตรสำคัญในชีวิตของคุณที่จะเป็นระเบียบและรสชาติแห่งชีวิตของคุณ คุณเคยคิดมั้ยว่าสิ่งต่างๆที่อัลลอฮฺ   ทรงสร้างไว้ในโลกจักรวาลนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ เช่น ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และกฎธรรมชาติที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้ ต่างก็ปฏิบัติตามพระกำหนดของอัลลอฮฺอย่างเต็มที่ แต่คนที่ฝืนคำสั่งของพระเจ้าและไม่ยอมนอบน้อมต่อคำบัญชาของอัลลอฮฺนั้นเป็นมนุษย์ที่ผิดปกติ เพราะเป็นส่วนหนึ่งในโลกนี้ที่ฝืนพระกำหนดของอัลลอฮฺ บรรดาดวงดาว ภูเขา ต้นไม้ และสรรพสิ่งต่างๆ ก็ยังกราบและสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า แต่มนุษย์บางคนหลับไม่ยอมเคารพสักการะต่ออัลลอฮฺแต่อย่างใด (ดูซูเราะฮฺอัลอิสรออฺ อายะฮฺที่ 44 และซูเราะฮฺอัรเราะห์มาน อายะฮฺที่ 6)
 
เยาวชนหนุ่มสาวยุคนี้มีระเบียบในการบริหารเวลา รู้ประโยชน์รู้อันตราย ใช้เวลาด้วยความหวงและตระหนี่ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่น่าเสียดายมากที่การบริหารเวลาของเยาวชนหนุ่มสาวยุคนี้ไม่คำนึงถึงเรื่องอิบาดะฮฺหรืออาจไม่ให้ความสำคัญเลย จะไปศึกษาเรียนรู้ ไปทำธุระ หรือไปท่องเที่ยว ก็ไม่มีการวางแผนว่าจะปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างไร นัดเพื่อนก็ไม่ระวังเวลาละหมาด เดินทางก็ไม่คำนวณเวลาให้อำนวยต่อปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างสะดวก บางครั้งทำกิจกรรมที่สนุกสนานอย่างเพลิดเพลินทำให้ทิ้งการละหมาดโดยสิ้นเชิง นี่เรากำลังพูดกันถึงการละหมาดฟัรฎูเท่านั้นนะเนี่ย เรื่องการปฏิบัติซุนนะฮฺ อ่านกุรอาน ซิกรุลลอฮฺ ก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลต่อเยาวชนหนุ่มสาวของเราเช่นกัน เยาวชนส่วนมากไม่เอาใจใส่ต่อการทำอิบาดะฮฺอื่นๆนอกเหนือจากฟัรฎู อาทิเช่น ละหมาดซุนนะฮฺ ถือศีลอดซุนนะฮฺ การซิกรุลลอฮฺยามเช้าและยามเย็น หรือการอ่านอัลกุรอาน
 
ทำไมวัยรุ่นมุสลิมของเราจึงไม่ภูมิใจในการทำอิบาดะฮฺของตัวเอง ? พออยู่กับเพื่อนและถึงเวลาละหมาด ไม่กล้าขอตัวเพื่อไปมัสยิดละหมาดตรงเวลา หรือไม่กล้าละหมาดกลางทางเมื่อถึงเวลาที่ต้องละหมาด บางคนถึงขั้นอายเพื่อนถ้าเพื่อนรู้ว่าตัวเองละหมาดหรือรักษาเวลาละหมาด
 
อย่านะคุณ ! คนที่ไม่เข้มแข็งและหนักแน่นกับหลักการนั้น ย่อมเป็นคนที่มีบุคลิกภาพอ่อนไหวและขี้ขลาด ซึ่งเยาวชนมุสลิมที่เป็นแบบนี้จะไม่สามารถขับเคลื่อนซึ่งความก้าวหน้าของสังคมมุสลิมแต่อย่างใด ซ้ำร้ายอาจเป็นผู้ขัดขวางหรือทำลายสังคมมุสลิมเสียด้วย
 
คุณลองดู ปฏิบัติอิบาดะฮฺอย่างเคร่งครัด ละหมาดตรงเวลา รักษาละหมาดญะมาอะฮฺที่มัสยิด ผูกพันกับอัลกุรอานและความรู้ทางศาสนา ลองดูว่าชีวิตของคุณจะเป็นอย่างไร ?
 

ที่มา : หนังสือ สิ่งที่น่ารู้สำหรับวัยรุ่น, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง