อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก 3 : หัวใจที่กว้างไพศาล

Submitted by dp6admin on Fri, 30/11/2018 - 20:47

ท่านอิมามอิบนุก็อยยิมได้สรุป ปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เกิดความโล่งอกโล่งใจ โดยท่านได้กล่าวถึงหัวข้อนี้หลังจากที่ท่านได้กล่าวถึงซะกาต (อันเป็นเศาะดะเกาะฮที่เป็นวาญิบ) และตอนท้ายท่านได้กล่าวถึงเศาะดะเกาะฮที่เป็นซุนนะฮ ว่า ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมให้ศอดาเกาะฮที่เป็นซุนนะฮมาก เป็นการฝึกฝนให้หัวใจของท่านกว้างขวางไพศาล  และเป็นสิ่งที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คนที่ให้คนอื่นมากเขาจะสบายใจมากขึ้น   

ดังเช่นหะดีษที่บันทึกโดยอิมามบุคอรีและมุสลิม ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เปรียบเทียบคนใจบุญกับคนตระหนี่ถี่เหนียวว่า มนุษย์ทุกคนเปรียบเสมือนใส่เสื้อเกราะที่ทำด้วยโลหะแข็งพอสมควร ทำให้เมื่อสวมแล้วจะขยับตัวยาก แต่สำหรับคนใจบุญชอบบริจาคเสื้อเกราะของเขาจะหลวม เขาจะขยับตัวได้คล่องแคล่วมากขึ้น แต่สำหรับคนตระหนี่ถี่เหนียวเมื่อจะบริจาค หัวใจของเขาจะแคบลง และเสื้อเกราะมันจะคับลงทำให้ขยับตัวยากมาก  คนใจบุญเวลาจะบริจาคไม่คิดมาก แต่คนตระหนี่กว่าจะบริจาคก็ต้องคิดนานและคิดละเอียด ทำให้เขารู้สึกว่าทุกส่วนที่จะบริจาคไปจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขา เพราะหัวใจของเขาไม่พึ่งพาคลังของอัลลอฮ ไม่พึ่งพาการให้ของอัลลอฮ นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์
 
อัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
[ قُلْ لَوْ أَنْتُمْ تَمْلِكُونَ خَزَائِنَ رَحْمَةِ رَبِّي إِذًا لَأَمْسَكْتُمْ خَشْيَةَ الْإِنْفَاقِ وَكَانَ الْإِنْسَانُ قَتُورًا ]
ความหมาย “หากพวกเจ้าได้มีคลังของอัลลอฮ พวกเจ้าก็จะตระหนี่เหมือนกัน มนุษย์ช่างตระหนี่เสียนี่กระไร” (قَتُورًا - เกาะตูรอ แปลว่า ระวังมาก) 
 
คลังของอัลลอฮไม่มีวันหมด ในหะดีษบันทึกโดยบุคอรี ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมบอกว่า พวกท่านไม่คิดหรือว่าคลังของอัลลอฮฺตั้งแต่สร้างโลกชั้นฟ้าและแผ่นดินมาจนถึงปัจจุบันได้ใช้จ่ายไปเท่าไหร่ จนกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังไม่หมด ทุกวันนี้อัลลอฮก็ยังให้ แต่ถ้าเราเอาคลังของอัลลอฮฺมาเป็นของเรา เราก็จะระวัง ทั้งๆที่มันเป็นคลังของอัลลอฮเราก็ยังคงจะขี้เหนียวอีก   
 
ได้มีหัวหน้าเผ่าคนหนึ่งซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา ได้มาหาท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเพื่อปรารภกับท่านว่า กลุ่มชนของเขานั้นไม่มีอะไรจะกินเป็นอาหารแล้ว ท่านนบีก็สงสาร บอกเขาว่า บัยตุลมาลมีแกะอยู่ฝูงหนึ่ง แกะฝูงนี้มีเป็นพันตัวอยู่ระหว่างภูเขาสองลูกนอกเมืองมะดีนะฮ ท่านจงไปเอาแกะทั้งหมดนั้นเถิด หัวหน้าเผ่าได้ฟังเช่นนั้นจึงดีใจมาก กลับไปยังเผ่าของตนและประกาศว่า “โอ้พี่น้อง รับอิสลามเถิด มุฮัมมัดได้ให้แก่พวกเราแบบที่ไม่กลัวว่าจะยากจน”   แม้ว่าครอบครัวของท่านนบีเองนั้นไม่ได้จุดไฟในครัวเลยเป็นเวลาสามเดือนติดต่อกัน(คือไม่ได้ประกอบอาหารในบ้านของท่าน) ท่านยังชีพด้วยอินทผลัมเท่านั้น แต่เมื่อเวลาที่ท่านได้ให้ผู้อื่น ท่านให้ในสิ่งที่ดีกว่าเสมอ เช่น ให้เนื้อแพะ นมแพะ เนยแพะ ดังนั้นเมื่อมีใครได้สัมผัสชีวิตของท่าน เขาก็จะไม่ต้องสงสัยเลยว่าท่านนบีเป็นนบีหรือไม่  ถือเป็นความฉลาดอันเยี่ยมยอดของท่านนบี ท่านแค่ลงทุนแกะไป 1000 ตัว แต่ได้มุสลิมเพิ่มขึ้นเป็นร้อย
 
 
หะดีษบันทึกโดยอิมามอะหมัด (ซึ่งอิมามอิบนุลเญาซีบอกว่าหะดีษดังที่จะกล่าวต่อไปนั้นเมาฎูวะอฺ แต่อย่างไรก็ตามบรรดาอุละมาอฺไม่เห็นด้วยกับอิมามอิบนุเญาซี) ท่านนบีกล่าวว่า “ผู้ที่มาขอทานนั้นมีสิทธิ์แม้ว่าจะขี่ม้ามาขอก็ตาม”  กล่าวคือผู้ขอทานย่อมมีสิทธิ์แม้ว่าจะขี่รถเบนซ์มาขอก็ตาม ในปัจจุบันไม่มีใครรับได้ถ้าหากมีคนขับเบนซ์มาขอทาน แต่คนที่มีอัธยาศัยดีอย่างท่านนบีจะไม่ถามหรือมองว่าเขาเป็นใคร ร่ำรวยแค่ไหน ใครมาขอท่านนบีก็จะให้ อาจไม่ใช่ให้ด้วยเงิน บางครั้งท่านให้ด้วยคำขอโทษ เช่น มะอัฟด้วยน่ะ ตอนนี้ผมไม่มี เวลาอื่นแล้วกัน   
 
ท่านอิมามอิบนุก็อยยิมกล่าวว่า การให้นี่แหละน่าจะเป็นกุญแจที่จะเปิดหัวใจของท่านนบีให้ท่านไม่มีวันที่หัวใจจะคับแคบ ซึ่ง “คับแคบ” เป็นสำนวนที่ใช้กับคนขี้เหนียว คนที่พูดไม่ดี มองคนอื่นที่ไม่ดี คนเหล่านี้มีลักษณะเหมือนคนตระหนี่ คนที่มองคนอื่นในแง่ที่ไม่ดี คือ คนที่มีใจแคบ เพราะไม่สามารถมีความคิดดีดีที่สามารถคิดว่าคนอื่นดี คำพูดของเขาจึงมีแต่คำพูดประนาม หยาบคาย และไม่ดี 
 
อิมามอิบนุก็อยยิมกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้คนเราโล่งอกโล่งใจ มีหัวใจที่ดีไม่ใจแคบ ต้องเริ่มจาก “อิสลาม” คือการมีอะกีดะฮที่ถูกต้อง รวมไปจนถึงการมีความรู้ความเข้าใจในศาสนา การกลับเนื้อกลับตัว ทำให้หัวใจของเรามีการตะวักกุล(มอบหมายต่ออัลลอฮตะอาลา) นี่คือสิ่งที่ทำให้หัวใจของเราก็จะมีความไพศาลกว้างขวาง (อินชิรอหฺอัศศ็อดรฺ)   
 
และประเด็นสำคัญที่ท่านอิมามอิบนุก็อยยิมได้เน้นย้ำคือ คนที่ต้องการให้หัวใจตนเองกว้างไพศาล ต้องเป็นคนที่มีนิสัยของการให้อย่างท่านนบี หัวใจที่ไม่กว้างขวางคือหัวใจที่อึดอัดคับแคบ คนที่มีนิสัยให้คือคนที่ไม่คิดมาก ไม่มีปัจจัยที่จะมาทำให้เขาอึดอัดใจ คนที่มอบหมายต่ออัลลอฮจะให้โดยที่ไม่คิดมาก ท่านนบีคิดมากในกรณีเดียวเท่านั้นคือเมื่อท่านมีของหรือทรัพย์สินที่สามารถบริจาคได้อยู่ในความครอบครอง มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านนบีละหมาดเร็วมาก เนื่องจากขณะละหมาดท่านนึกขึ้นได้ว่ามีทองคำอยู่ก้อนหนึ่งเก็บไว้ยังไม่ได้บริจาค ทำให้ท่านต้องรีบละหมาด เพื่อจะได้ไปบริจาคสิ่งที่มีอยู่ เรื่องนี้ตรงกันข้ามกับเรา หากเรามีเงินหรือสามารถดำรงชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย เราจะละหมาดด้วยความสบายใจ ไม่อึดอัด   หากเราหวั่นกลัวสิ่งเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นตามมา หลังจากการบริจาคของเราหรือการทำความดีอื่นๆของเรา ถ้าสิ่งเลวร้ายนั้นมันไม่ได้ทำให้เราเสียศาสนาก็ให้มอบหมายต่ออัลลอฮเถิด จะโดนตัดสินจำคุกหรือประหารชีวิต ถ้าเราไม่เสียศาสนาก็จงมอบหมายต่ออัลลอฮเถิด หรือหากเราคิดว่าการบริจาคเงินก้อนนี้ของเราไปจะทำให้เราไม่มีอะไรกิน ก็ให้คำนวณดูว่าคนที่มาขอเดือดร้อนมากไหมถ้าหากเขาไม่มีอะไรกินเลยแต่เรายังพอมีอยู่บ้างก็ให้เขาไป
 
 

*เรียบเรียงจาก อะลัมนัชเราะหฺละกะศ็อดร็อก, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

ผู้เรียบเรียง อุมมุอุกกาชะฮฺ