﴿ وَالَّذِي أَخْرَجَ الْمَرْعَىٰ ﴾
“4. และผู้ทรงนำทุ่งหญ้าออกมา (ให้งอกเงยเป็นอาหารของปศุสัตว์)”
﴾ فَجَعَلَهُ غُثَاءً أَحْوَىٰ ﴿
“5. แล้วทรงทำให้มันเป็นซังแห้งสีคล้ำมอซอ”
อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงสร้างแผ่นดินที่เป็นทุ่งหญ้า มีความสดชื่นงดงาม ส่งผลให้เกิดการงอกเงยขึ้นมาซึ่งพืชผล เพื่อเป็นอาหารของเหล่าปศุสัตว์ที่พระองค์ได้ทรงสร้างมาแล้วอย่างสมบูรณ์ แล้วพระองค์ก็ยังทรงทำให้ความเขียวขจีนั้น กลายเป็นซังแห้งซึ่งมีสีคล้ำๆ ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงจากพืชผลเขียวขจีกลายเป็นซังแห้งสีคล้ำ ไม่มีคุณค่านี้เป็นอุทาหรณ์ที่ถูกระบุในอัลกุรอานหลายต่อหลายครั้ง หากเราได้รวบรวมเรื่องเหล่านี้จากอัลกุรอานมาพิจารณา จะทำให้เราเข้าใจเป้าหมายที่อัลลอฮฺได้อุปมาสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาในทำนองการพูดถึงเรื่องการให้ทางนำได้ประจักษ์แจ้งขึ้น
หนึ่งในอุทาหรณ์ลักษณะนี้ ได้ปรากฏอยู่ในซูเราะฮฺอัลกะฮฺฟิ อายะฮฺ 7-8 ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
(وَإِنَّا لَجَاعِلُونَ مَا عَلَيْهَا صَعِيدًا جُرُزًا إِنَّا جَعَلْنَا مَا عَلَى الْأَرْضِ زِينَةً لَّهَا لِنَبْلُوَهُمْ أَيُّهُمْ أَحْسَنُ عَمَلًا)
ความว่า “แท้จริงเราได้ทำให้สิ่งที่อยู่บนแผ่นดินเป็นที่ประดับสำหรับมันเพื่อเราจะทดสอบพวกเขาว่าผู้ใดในหมู่พวกเขามีผลงานที่ดีเยี่ยม และแท้จริงแน่นอนเราเป็นผู้ทำให้สิ่งที่อยู่บนพื้นดินเป็นผุยผงแห้งแล้ง”
อุทาหรณ์นี้กล่าวถึงเรื่องดุนยา เป็นการเปรียบเทียบถึงการเปลี่ยนแปลงของดุนยาและคุณค่าของมัน เปรียบเสมือนหญ้าหรือพืชผลที่มีความงดงาม แล้วได้เปลี่ยนไปกลายเป็นซังแห้ง คุณค่าของโลกดุนยาก็เช่นเดียวกัน อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงระบุอุทาหรณ์นี้ในซูเราะฮฺอัลอะอฺลา ภายหลังจากที่พระองค์ทรงระบุว่า “พระองค์ทรงกำหนดทุกๆอย่างและทรงให้ทางนำ” (อายะฮฺที่ 3) การเปลี่ยนแปลงของดุนยาและกระบวนการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ในทุกรูปแบบ ทุกนัยยะ และทุกมิติ ย่อมเป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่พิจารณาไตร่ตรอง ทางนำที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของมนุษย์นั้น จะไม่เกิดขึ้นหากว่ามนุษย์ไม่ พินิจพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกดุนยานี้ เรื่องราวของชีวิต ความตาย ความร่ำรวย ความยากจน ความแข็งแรง และความเจ็บป่วยนั้น เป็นรูปแบบอันแตกต่างที่ปรากฏในดุนยานี้ และทำให้เราประจักษ์ได้ว่าโลกใบนี้จะไม่อยู่ในรูปแบบเดียวกันตลอดไป แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงที่พระผู้ทรงเปลี่ยนแปลง(อัลลอฮฺ) จะทรงเปลี่ยนแปลงมัน
ทางนำทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์นั้น จะทำให้พวกเขาเข้าใจในเป้าหมายของดุนยานี้ ว่าหาใช่มิติแห่งชีวิตที่เราสามารถบริหารด้วยความสามารถหรือความประสงค์ของเราอย่างเดียวไม่ หากแต่เป็นมิติแห่งชีวิตที่ต้องอาศัยพระเดชานุภาพของอัลลอฮฺ ในการจัดระเบียบ จัดสรร และกำหนดแม้กระทั่งรายละเอียดต่างๆ ที่พระองค์ทรงมีสิทธิและอำนาจในการระบุ การให้ การห้าม การใช้ การคัดค้าน การอนุญาตให้เกิดขึ้นหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับพระองค์ผู้ทรงสร้างโลกดุนยาใบนี้
มนุษย์ผู้ใดที่คิดว่าทางนำเกิดขึ้นจากอำนาจความสามารถของตัวเอง หรือเป็นไปเพราะความประสงค์ของตัวเองนั้น เสมือนกับคนที่ไม่เข้าใจว่าดุนยานี้มีพระเจ้า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า
(وَمَا تَشَاءُونَ إِلَّا أَن يَشَاءَ اللَّـهُ)
ความว่า “และพวกเจ้าจะไม่สมความปรารถนาได้ เว้นแต่อัลลอฮฺทรงประสงค์” (ซูเราะฮฺอัลอินซาน อายะฮฺ 30)
นั่นแสดงว่าทางนำที่จะประสบแก่เรานั้น ก็ขึ้นอยู่กับพระประสงค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพราะฮิดายะฮฺเป็นสิทธิแห่งพระองค์ ไม่มีผู้ใดสามารถกำหนดให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับหรือไม่ได้รับฮิดายะฮฺตามความต้องการได้ แม้แต่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เองก็ไม่สามารถจะให้ฮิดายะฮฺแก่ลุงของท่าน (อะบูฏอลิบ) ผู้เป็นที่รักและช่วยเหลือท่านนบี อย่างดีเลิศได้ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ต้องการให้ลุงของท่านเข้ารับอิสลาม แต่ลุงของท่านก็ปฏิเสธจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิตบนดุนยานี้ ยังความเสียใจแก่ท่านนบี เป็นอย่างมาก อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จึงประทานอายะฮฺอัลกุรอานลงมาว่า
(إِنَّكَ لَا تَهْدِي مَنْ أَحْبَبْتَ وَلَـٰكِنَّ اللَّـهَ يَهْدِي مَن يَشَاءُ)
ความว่า “แท้จริง เจ้าไม่สามารถที่จะชี้แนะทางที่ถูกต้องแก่ผู้ที่เจ้ารักได้ แต่อัลลอฮ์ทรงชี้แนะทางที่ถูกต้องแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์” (ซูเราะฮฺอัลเกาะศ็อศ อายะฮฺ 56)
การเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏบนโลกดุนยาที่อัลลอฮฺ ได้ทรงยกตัวอย่างคือการเปลี่ยนแปลงของพืชผล อันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราอย่างมาก ความสดชื่นความงดงามของพืชหรือผลไม้ เมื่อทิ้งไว้นานก็จะเน่าเสีย สีเปลี่ยน รสชาติเปลี่ยน และประโยชน์ของมันก็เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เห็นได้ในทุกคืนวัน จนอาจรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ที่จริงแล้ว มันคือสื่อแห่งการเรียนรู้ปรัชญาสำคัญของมนุษย์ การมีมุมมองต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในดุนยา เรื่องของการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องที่เราพิจารณา ไตร่ตรอง และใคร่ครวญ หากเราตระหนักแล้วว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา กำลังบริหารทุกอย่างในดุนยานี้ ไม่ว่าจะเป็นหัวใจของเรา สมองของเรา ความตั้งใจที่จะทำอะไรสักอย่างของเรา หรือแม้กระทั่งร่างกายของเรา
ฉะนั้นเราต้องผูกมัดทุกอย่างไว้กับเจตนารมณ์ของอัลลอฮฺและพระประสงค์ของพระองค์ เราต้องวิงวอนขอต่ออัลลอฮฺ และมุ่งมั่นแสวงหาฮิดายะฮฺจากพระองค์เท่านั้น การคาดหวังทางนำจากบรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์ ตำรับตำรา กระแสสังคม หรือสภาพภายนอกที่มันงดงาม เป็นการหลงผิดอย่างสิ้นเชิง อัลลอฮฺได้ทรงแจ้งอย่างไม่มีข้อสงสัยว่า สิ่งที่งดงามน่าชื่นชมลิ้มลองทั้งหลายนั้น ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป เราอย่าได้หลงกับสภาพภายนอก แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยคืออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น และฮิดายะฮฺที่พระองค์ทรงประทานนั้นจะประสบกับมนุษย์ ก็ต่อเมื่อเขาเข้าใจคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามที่มีปรากฏในอัลกุรอานของอัลลอฮฺ รวมทั้งคำสอนที่ปรากฏในหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แน่นอนสถานะแห่งสองสิ่งนี้ก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน
การที่มนุษย์รู้ตัวเองดีว่าต้องการทางนำ และด้วยหลักฐานอันชัดเจนของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ว่าพระองค์คือผู้ทรงกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างและให้ทางนำ นั่นแสดงว่าเราได้มีความผูกพันกับพระองค์แล้ว เป็นความเมตตาของพระองค์ที่ทรงกำลังเตือนตัวเราไม่ให้หลงไม่ให้ลืม ว่าโลกดุนยาและกระบวนการของมันทั้งหมดย่อมมีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างไว้แล้วก่อนหน้านี้ จากหลักฐานที่อัลลอฮฺ ได้ให้พืชผลและทุ่งหญ้าปรากฏต่อหน้าเราด้วยความสมบูรณ์เขียวขจีนั้นเป็นเพียงแค่ภาพชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างที่เคยเขียวขจีก็กลายเป็นซังแห้ง ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่อัลลอฮฺ มนุษย์ต้องไม่ให้สภาพการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นแรงโน้มดึงเราหลงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง อย่าให้ภาพของสรรพสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสร้างไว้ ไม่ว่าจะเป็น ความร่ำรวย ความมั่งคั่ง ความมีอำนาจบารมี ความมีสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด หรือความสวยงามของบางสิ่งบางอย่างนั้น ฉุดเราให้โน้มเอียงหลงประเด็น และหลงทางเพราะทางนำของอัลลอฮฺ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ แต่สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ขึ้นอยู่กับพระองค์ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมมีวันเปลี่ยนแปลง เว้นแต่คำดำรัสของพระองค์ที่ปราศจากการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
เรียบเรียงจาก การอรรถาธิบายความหมายอัลกุรอาน (ตัฟซีร) ในซูเราะฮฺอัลอะอฺลา โดยชัยคฺริฎอ อะหฺมัด สมะดี
- Printer-friendly version
- Log in to post comments
- 373 views