ซูเราะฮฺอัลอะอฺลา อายะฮฺ 6 : เราจะสอนให้เจ้าอ่าน(อัลกุรอาน) แล้วเจ้าจะไม่ลืม

Submitted by dp6admin on Thu, 29/11/2018 - 18:53
﴾ ﴿ سَنُقْرِئُكَ فَلَا تَنسَىٰ  / 
“เราจะสอนให้เจ้าอ่าน(อัลกุรอาน)  แล้วเจ้าจะไม่ลืม”
 
ทัศนะหนึ่งของการอธิบายอายะฮฺนี้คือ “แล้วเจ้าจงอย่าลืม” มีหลายอายะฮฺที่อัลลอฮฺดำรัสไว้ในอัลกุรอานโดยมีความหมายเอื้อต่ออายะฮฺนี้  อายะฮฺนี้มีความหมายที่สื่อถึงทางนำที่มนุษย์ต่างมุ่งมาดปรารถนา แสวงหาเพื่อที่จะได้รับทางนำที่มีอยู่ในคัมภีร์ที่อัลลอฮฺ    ทรงประทานผ่านทางท่านนบีมุฮัมมัด    ผู้เป็นดั่งนักเทศนาและผู้ชี้แนะทางนำว่าอยู่หนใดดังหะดีษของท่านนบี   ว่า 
 
“قدتركناعلى محجة بيضاء ليلها كنهارها لايزيغ عن هاإلاهالك” 
ความว่า  “แท้จริงแล้วฉันได้ทิ้ง(มอบไว้)สำหรับพวกเจ้าทั้งหลาย  ซึ่งสิ่งที่ขาวสะอาดกลางคืนของมันเสมือนกลางวัน  ไม่มีผู้พลัดหลงเบี่ยงเบนจากมันนอกจากผู้ที่พินาศ(หายนะ)” 
 
ซึ่งท่านนบี   ได้ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนและชี้ทางนำที่ปรากฏในอัลกุรอานโดยไม่บกพร่องแต่ประการใด ท่านไม่เคยลืมอัลกุรอาน ด้วยคำบัญชาที่อัลลอฮฺ   ทรงสั่งไม่ให้ลืมและคำยืนยันที่พระองค์ทรงบอกว่าท่านนบีจะไม่ลืม  นี่เป็นการบอกให้เราได้รู้และตระหนักว่าหนทางของการได้รับทางนำนั้นอยู่ที่ใด ทางนำไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาพลวงของโลกใบนี้ แต่อยู่ในคัมภีร์ที่อัลลอฮฺ   ทรงมอบไว้แก่ท่านนบี    และท่านก็ได้รับมอบหมายให้สานต่อมายังเรา โดยที่ท่านไม่ลืมอายะฮฺใดเลย  
 
“มนุษย์จะแสวงหาทางนำโดยปฏิบัติตามคำชี้แนะของท่านนบี   โดยไม่หลงไม่ลืม หรือไม่?” เป็นคำถามที่ต้องใคร่ครวญและหาคำตอบให้แก่ตัวเอง เมื่อมนุษย์ได้รู้ชัดแจ้งแล้วด้วยหลักฐานและลักษณะของทางนำว่าถูกปรากฏอยู่ในพระดำรัสของอัลลอฮฺ   และได้รับการชี้แนะจากคำสอนสั่งของท่านนบี   แล้วมนุษย์จะเลือกเดิน เลือกปฏิบัติ และเลือกตามไปสู่ทิศใด เพื่อนำไปสู่การได้รับทางนำอันเป็นที่ปรารถนาของมนุษย์ทุกคนบนโลกดุนยาใบนี้
 
มนุษย์เข้าใจได้ว่าการที่จะทำให้ผู้แสวงหาสัจธรรมประสบความสำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยสิ่งที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงและนำสิ่งนั้นมาชักนำหัวใจของตัวตนเองสู่สัจธรรม เพราะสิ่งนั้นจะไม่ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงได้โดยอารมณ์ของมนุษย์หรือกติกาความเป็นไปของโลกใบนี้ เป็นสิ่งประเสริฐที่ถาวร เป็นมาตรฐานเดียวกันที่มีความสม่ำเสมอ สิ่งนั้นคือพระดำรัสของอัลลอฮฺ   ดังที่พระองค์ตรัสว่า “เราจะสอนให้เจ้าอ่าน แล้วเจ้าจะไม่ลืม(แล้วเจ้าจงอย่าลืม)” อัลกุรอานคือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทานแก่มนุษย์ให้ได้อ่าน ได้เข้าใจ ได้ตระหนัก ได้เชื่อมั่น ได้ศรัทธา เพราะอัลกุรอานคือคำสั่งสอนของพระผู้เป็นเจ้า  “เว้นแต่สิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์” คือยกเว้นสิ่งที่อัลลอฮฺ  ทรงประสงค์ให้ลืม 
 
อุละมาอฺกล่าวว่า บทบัญญัติที่อัลลอฮฺ   ทรงประสงค์ยกเลิก(มันซูค) ก็จะทำให้ท่านนบี   ลืม แม้กระทั่งเศาะฮาบะฮฺที่เคยท่องจำบทบัญญัตินั้น เมื่ออัลลอฮฺ   ทรงยกเลิกแล้วเขาก็จะลืมเช่นกัน บางท่านรายงานว่าเมื่อมีอายะฮฺที่มันซูคแล้ว ก็ปรากฏว่าอายะฮฺดังกล่าวได้ถูกลบจากความจำไป โดยที่เขาจะตื่นขึ้นมาในอีกวันหนึ่งโดยที่ไม่สามารถนึกได้ถึงสิ่งที่พระองค์ทรงยกเลิกไปแล้ว อัลลอฮฺ   ได้ตรัสไว้ว่า
 
 (أَلَمْ تَعْلَمْ أَنَّ اللَّـهَ عَلَىٰ كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ  مَا نَنسَخْ مِنْ آيَةٍ أَوْ نُنسِهَا نَأْتِ بِخَيْرٍ مِّنْهَا أَوْ مِثْلِهَا ۗ )
ความว่า “โองการใดที่เรายกเลิก หรือเราทำให้มันลืมเลือนไปนั้น  เราจะนำสิ่งที่ดีกว่าโองการนั้นมาหรือสิ่งที่เท่าเทียมกับโองการนั้น   เจ้ามิได้รู้ดอกหรือว่า  แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง” (ซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 106) 
 
หมายรวมว่า การชี้แนะและการบ่งบอกถึงความจริงและสัจธรรมเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺ    พระองค์เท่านั้นที่จะเป็นผู้ทรงบัญญัติ ทรงชี้แนะ ทรงเปลี่ยนพระดำรัสของพระองค์เอง นั่นแสดงถึงพระเดชานุภาพอันไร้ข้อจำกัดของพระองค์ เมื่อพระองค์ทรงบัญญัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้มนุษย์ปฏิบัติตามแล้ว หากพระองค์จะทรงยกเลิก นั่นก็เป็นสิทธิของพระองค์ และการยกเลิกนั้นจะไม่กระทบกับความถาวรของสัจธรรม ซึ่งผู้ปฏิเสธมักนำมาเป็นข้ออ้างว่าสัจธรรมจะถูกยกเลิกได้อย่างไรเพราะเมื่อบัญญัติอะไรแล้วย่อมเป็นสัจธรรม หากยกเลิกบัญญัติ เท่ากับยกเลิกสัจธรรม แต่การมีมุมมองเช่นนี้ ราวกับจะบอกว่าสัจธรรมอยู่เหนือกว่าอัลลอฮฺ   ทั้งๆที่พระองค์คือ “อัลฮัก” คือ พระผู้ทรงสัจธรรม หมายความว่า พระองค์คือสัจธรรม หากอัลลอฮฺ   ทรงบัญญัติหรือตั้งบรรทัดฐานในเรื่องหนึ่งเรื่องใด นั่นคือสัจธรรม และถ้าถูกยกเลิกด้วยพระอนุมัติของพระองค์ สิ่งนั้นก็จะเป็นสัจธรรม เพราะพระองค์คือสัจธรรม
 
ยังคงเป็นธรรมเนียมของโลกที่มนุษย์สามารถยอมรับสภาพความไม่แน่นอนของความจริงได้ บางครั้งมนุษย์ยังยอมรับสิ่งที่ถูกยกเลิกไปแล้วว่ายังคงเป็นสัจธรรม  ดังตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากการที่มนุษย์ยอมรับกฎหมายบ้านเมืองหรือรัฐธรรมนูญ มนุษย์ให้ความนับถือ นำมาอ้างอิงและบังคับใช้ในทางปฏิบัติ ถึงแม้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นเพียงแค่การกำหนดและบัญญัติจากมนุษย์ผู้อ่อนแอและย่อมมีข้อผิดพลาด แต่มนุษย์ด้วยกันก็ยังให้ความเชื่อถือและให้เกียรติ ไม่ว่ามันจะถูกเปลี่ยนแปลง พลิกผัน แก้ไข หรือยกเลิกไปมานับจำนวนครั้งไม่ได้ก็ตาม พวกเขาก็ยังคงเชื่ออย่างหนักแน่น ต่างจากอัลกุรอาน ซึ่งเป็นพระดำรัส การกำหนด และการบัญญัติจากผู้ทรงสัจธรรม การที่พระองค์คือผู้ที่กำหนดเองนั้น เอกสิทธิ์ในการยกเลิกสัจธรรมก็ย่อมมีแด่พระองค์ แต่สำหรับผู้ปฏิเสธและดื้อดึงบางคนนั้น พวกเขายังสงสัยในสิ่งนี้
 
ซูเราะฮฺนี้กล่าวถึงสัจธรรมและทางนำ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องปรับความเข้าใจและความรู้สึกเกี่ยวกับสองประการนี้ว่ามันขึ้นอยู่กับอัลลอฮฺ     พระองค์เท่านั้นที่จะมีสิทธิในการบัญญัติสัจธรรม(ความจริง)และทางนำ หากเราต้องการก็ต้องยอมรับในกรอบของมนุษย์และสิทธิของอัลลอฮฺ เมื่อใดที่เรายอมรับในกรอบมนุษย์ เราก็จะยอมรับว่าตนเองไม่สามารถชี้แนะตนเองสู่ทางนำเว้นแต่ที่อัลลอฮฺ   ได้ทรงประสงค์
 

เรียบเรียงจาก การอรรถาธิบายความหมายอัลกุรอาน (ตัฟซีร) ในซูเราะฮฺอัลอะอฺลา โดยชัยคฺริฎอ อะหฺมัด สมะดี