ใครจะรับผิดชอบ ?

Submitted by dp6admin on Fri, 03/04/2009 - 01:42

ริฎอ อะหมัด สมะดี

เป็นเรื่องที่มุสลิมเคยชิน ชม ได้ยิน และสัมผัส คือข่าวสารเกี่ยวกับการก่อวินาศกรรมต่อประชาชาติอิสลามระดับบุคคลหรือระดับประเทศก็ตาม ศัตรูอิสลามผู้ก่อวินาศกรรมมักจะแสดงตัวเป็นผู้รักษาความสงบรักษาไว้ซึ่งสันติภาพในสังคม และจะกล่าวหามุสลิมว่าเป็นผู้ก่อการร้าย จนเป็นฉายาที่ถูกผูกมัดกับคำว่า “มุสลิม” ท่านปฏิเสธได้หรือไม่ว่า กี่มากน้อยที่ท่านได้ยินมุสลิมถูกเข่นฆ่าหรือประเทศมุสลิมถูกถล่ม แต่ท่านคงใช้ชีวิตอย่างปกติ หากบางคนยังมีความสุขสนุกสนานเสียด้วย มันเป็นความรู้สึกที่จะบ่งชี้ถึงความห่างไกลซึ่งจุดแห่งความรับผิดชอบจากจุดแห่งปัญหาของโลกมุสลิมที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ และหลายคนที่มีความห่วงใยต่อประชาชาติอิสลามหรือต่อสังคมมุสลิมใกล้เคียงของเขาต่างมีความกระหายที่ต้องรู้สาเหตุที่ทำให้โลกมุสลิมตกต่ำขนาดนี้ และเหตุใดประชาชาติอิสลามยังไม่สามารถตื่นตัวแก้ไขปัญหาของโลกมุสลิม

ผมต้องการคุยเรื่องนี้กับพี่น้องในฐานะที่ผมและผู้อ่านเป็นสมาชิกของประชาชาติอิสลาม และเป็นผู้ได้รับผลกระทบอันร้ายแรงจากศัตรูอิสลามในทุกด้านของชีวิต และในขณะเดียวกันผมต้องการวิเคราะห์เรื่องนี้ด้วยเหตุผลทางหลักการของศาสนาและทางปัญญา โดยคำนึงถึงประสบการณ์ของประชาชาติอิสลามตลอดประวัติศาสตร์มุสลิมจนถึงประสบการณ์ของมุสลิมในปัจจุบันนี้ และผลสรุปกับคำตอบของหัวข้อบทความนี้จะขอให้เป็นเอกสิทธิ์ของท่านผู้อ่านทั้งหลาย

ในเชิงกฎธรรมชาติที่อัลลอฮฺทรงสร้างไว้ในโลกใบนี้ ทุกสิ่งที่ปรากฏในโลกนี้ย่อมมีเหตุมีผลมีกระบวนการของมัน ความร้อนต้องมีสาเหตุให้เกิดขึ้น ความเย็น ความเคลื่อนไหว แม้กระทั่งใบไม้ที่มันร่วงหล่นมาก็ย่อมมีกระบวนการที่ก่อให้มันเกิดขึ้นได้ และในโลกของมนุษย์ หมายถึง ชีวิตของคนย่อมมีกฎเกณฑ์ที่อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้เช่นเดียวกัน ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

﴿ سُنَّةَ اللهِ فِي الَّذِيْنَ خَلَوْا مِنْ قَبْلُ وَلَنْ تَجِدَ لِسُنَّةِ اللهِ تَبْدِيْلاً ﴾

ความว่า “นั่นคือแนวทางของอัลลอฮฺแก่บรรดาผู้ที่ล่วงลับไปแล้วแต่กาลก่อน และเจ้าจะไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในแนวทางของอัลลอฮฺ” (อัลอะหฺซาบ 62)

“แนวทางของอัลลอฮฺ” ในที่นี้หมายถึงกฎเกณฑ์และเหตุผลในกระบวนการใช้ชีวิตของมนุษยชาติ ในอัลกุรอานก็จะพบว่าการตอบแทนผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ขึ้นอยู่กับผลการงานของเรานั่นเอง แม้กระทั่งทางนำที่อัลลอฮฺจะทรงให้ ก็ขึ้นอยู่กับการขวนขวายและการแสวงหาของผู้ปรารถนาทางนำ และความหายนะขึ้นอยู่กับการกระทำความชั่วละทิ้งความดี ในทำนองนี้แหละ เราจึงต้องมองถึงปัญหาโลกมุสลิม ความตกต่ำ ความวิบัติ ความอ่อนแอ และความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ย่อมเกิดขึ้นจากเหตุหนึ่งเหตุใด บรรดานักวิเคราะห์ที่กล่าวถึงปัญหาประชาชาติอิสลามมีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้โลกมุสลิมตกต่ำ บางทฤษฎีอ้างถึงอุบายของศัตรูอย่างเดียว หมายถึง แผนการณ์ของศัตรูอิสลามที่เตรียมไว้เพื่อรุมกินโต๊ะประชาชาติอิสลาม ซึ่งมีหลายแห่งที่ถูกเสนอเป็นผู้ทำอุบาย อาทิเช่น ไซออนนิสม์  ขบวนการต่อต้านศีลธรรมแห่งอิสลาม ซึ่งมีหลายรายที่อยู่ในเครือข่าย อาทิเช่น วัตถุนิยม คอมมิวนิสต์ ทุนนิยม และยังมีประเทศมหาอำนาจที่ฉวยโอกาสยึดอำนาจและพลังของชาวมุสลิมเพื่อสร้างและบำรุงอาณาจักรของตน โดยภาพรวมเลือดมุสลิมจะเป็นเสมือนน้ำมันเครื่องหรือเชื้อเพลิงที่จะถูกใช้อย่างสม่ำเสมอ

และบางทฤษฎีได้กล่าวถึงปัญหาความล้าหลัง ไม่ทันสมัยของชาวมุสลิม ถึงถูกหลอกได้ในทุกสถานการณ์เป็นข้อหาที่มักจะได้ยินชาวบ้านพูดกันมากคือ มุสลิมไม่ฉลาด มุสลิมไม่เก่ง มุสลิมไม่ทันแผนเขา และยังมีนักวิเคราะห์สากลที่จะกล้ากล่าวหามุสลิมว่า ที่ถูกเล่นงานและตกต่ำนั้นก็เกิดจากความเคร่งครัดในหลักการอิสลามนั่นเอง จึงสร้างความสับสนมากมายแก่บรรดาเยาวชนรุ่นใหม่ที่ต้องการมุ่งมั่นสู่อนาคตอันรุ่งเรือง แต่ถูกล้างสมองว่าอิสลามเป็นอุปสรรค

&nbs p;และยังมีบางทฤษฎีที่ยืนยันว่าปัญหาโลกมุสลิมนั้นเป็นปัญหาด้านการเมืองการปกครองเพราะผู้นำประเทศ ผู้ปกครอง และผู้บริหารสังคมมุสลิมส่วนมากเป็นคนทรยศไม่มีอมานะฮฺไม่มีความรับผิดชอบต่อประชาชาติ และยังเป็นคนที่เห็นแก่ตัว กระหายอำนาจ กระหายวัตถุ และพวกนี้แหละที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหา แต่จะช่วยได้อย่างไรถ้าหากผู้มีความสามารถแก้ไขปัญหากับผู้ก่อปัญหาเป็นคนเดียวกัน (1)

 นักสังคมศาสตร์บางท่านได้วิเคราะห์ว่า ปัญหาโลกมุสลิมเป็นปัญหาเกี่ยวกับจริยธรรมและจรรยาบรรณ ซึ่งนักสังคมศาสตร์กลุ่มนี้จะใช้ความเรียบร้อยความถูกต้องในสังคมเป็นมาตรการที่จะบ่งชี้ว่าใครผิดใครถูก จึงมีกระแสวิเคราะห์ของกลุ่มนี้ที่จะชอบกล่าวว่า โลกตะวันตกที่รับชัยชนะเป็นโลกที่ไม่มีมุสลิมแต่มีอิสลาม หมายถึง เรียบร้อย ถูกต้อง และสมบูรณ์ในการดำเนินชีวิต และพวกเขาจะกล่าวว่า โลกมุสลิมมีมุสลิมแต่ไม่มีอิสลาม หมายถึง สังคมมีปัญหา ขาดความเรียบร้อยทางจริยธรรมและจรรยาบรรณ

 ข้อวิเคราะห์ดังกล่าวอาจเห็นว่ามีเหตุผล แต่เป็นความคิดที่ยึดกระบวนการการพัฒนาด้านอารยธรรมเป็นมาตรการในการวิเคราะห์ปัญหา จึงทำให้ผลวิเคราะห์นั้นย่อมห่างไกลจากเหตุผลทางความศรัทธาและจิตใจ ซึ่งเราได้เห็นกลุ่มมุสลิมที่มีมารยาทจรรยาบรรณอันดีงาม แต่ก็ประสบภัยพิบัติจากศัตรูอิสลามเช่นเดียวกัน ดังนั้นเราต้องมองถึงปัญหาโลกมุสลิมโดยคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบหมายให้ปฏิบัติ และมองถึงตัวอย่างที่ต้องปรากฏในชีวิตของมุสลิมนั้น ว่าเป็นตัวอย่างที่สมกับบทบาทหน้าที่หรือไม่ เหตุผลที่ต้องนำมุมมองนี้มาวิเคราะห์คือ ในอัลกุรอานมีพระดำรัสหลายโองการกล่าวถึงชัยชนะของมุสลิมนั้น ว่าเป็นรางวัลที่มุสลิมจะประสบหากได้ทำหน้าที่ต่อพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าเช่น อายะฮฺที่ 7 ซูเราะฮฺมุฮัมมัด พระองค์ตรัสไว้ว่า

﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوْا إِنْ تَنْصُرُوا اللهَ يَنْصُرْكُمْ وَيُثَبِّتْ أَقْدَامَكُمْ ﴾
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย หากพวกเจ้าสนับสนุน(ศาสนาของ)อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงสนับสนุนพวกเจ้า และทรงตรึงเท้าของพวกเจ้าให้มั่นคง”

 หมายถึง ช่วยเหลือพวกเจ้าให้มีชัยชนะเหนือศัตรู และจะให้พวกเจ้ามีความหนักแน่นอดทนในสนามรบ ซึ่งสอดคล้องกับพระดำรัสอีกอายะฮฺหนึ่งที่พระองค์ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 160 ว่า

 

﴿ إِنْ يَنْصُرْكُمُ اللهُ فَلا غَالِبَ لَكُمْ ﴾

ความว่า “หากว่าอัลลอฮฺทรงช่วยเหลือพวกเจ้า ก็ไม่มีผู้ใดชนะพวกเจ้าได้” (อาละอิมรอน:60)

 ซึ่งจากสองอายะฮฺนี้จะเข้าใจได้ว่า ชัยชนะนั้นเป็นความสำเร็จที่พระองค์อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงจัดการต่อเมื่อบ่าวของพระองค์ได้ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งพระองค์ชี้แจงตรงนี้ไว้ว่า

 

﴿ كُنْتُمْ خَيْرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَتْ لِلنَّاسِ تَأْمُرُوْنَ بِالمَعْرُوْفِ وَتَنْهَوْنَ عَنِ المُنْكَرِ وَتُؤْمِنُوْنَ بِالله ﴾

ความว่า “พวกเจ้านั้นเป็นประชาชาติที่ดียิ่ง ซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นสำหรับมนุษยชาติโดยที่พวกเจ้าใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่มิชอบ และศรัทธาต่ออัลลอฮฺ” (3:110)

 นี่คือบทบาทหน้าที่ของประชาชาติอิสลาม และตำแหน่งอันสูงส่งที่เราต้องระลึกและตระหนักในความรับผิดชอบต่อสิ่งที่อัลลอฮฺทรงมอบหมายไว้ และเมื่อเรามีความหนักแน่นในหน้าที่ตรงนี้ จำเป็นต้องภูมิใจและรู้สึกมีพลังต่อเมื่อเราเป็นผู้ศรัทธาที่เชื่อมั่นและเชื่อฟังในคำสั่งสอนของอัลลอฮฺตะอาลา ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

 

﴿ وَلا تَهِنُوْا وَلاتَحْزَنُوْا وَأَنْتُمُ الأَعْلَوْنَ إِنْ كُنْتُمْ مُؤْمِنِيْن ﴾

ความว่า “และพวกเจ้าจงอย่าท้อแท้ และจงอย่าเสียใจ และพวกเจ้านั้นคือผู้ที่สูงส่งยิ่ง หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา” (3:139)

 ซึ่งมีอายาตมากมายที่จะสั่งสอนให้บรรดาผู้ศรัทธาเชื่อในความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดแห่งความสำเร็จและชัยชนะ ซึ่งสาเหตุอื่นๆก็ขึ้นอยู่กับพระอนุญาตและความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังนั้นมุสลิมไม่ต้องวิตกกังวลต่อความสามารถของศัตรูอิสลามที่อาจเห็นว่ามันเหนือกว่าความสามารถของมุสลิมหลายเท่า(2)  ซึ่งอัลลอฮฺได้สอนไว้ตรงนี้ว่า

 

﴿ كَمْ مِنْ فِئَةٍ قَلِيْلَةٍِ غَلَبْتْ فِئَةً كَثِيْرَةً بِإِذْنِ الله  وَاللهُ مَعَ الصَّابِرِيْن ﴾

ความว่า “กี่มากน้อยแล้วพวกน้อยเอาชนะพวกมากได้ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺทรงอยู่กับผู้อดทนทั้งหลาย” (2: 249)

 เมื่อเรากลับมาพิจารณาเงื่อนไขที่อัลลอฮฺทรงระบุไว้ในโองการข้างต้น เราจะพบว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ศรัทธามีสิทธิ์รับความช่วยเหลือคือ การที่พวกเขานั้นมีความศรัทธาอย่างแท้จริงและเป็นผู้เลื่อมใสและสนับสนุนศาสนาของพวกเขา ซึ่งเราต้องศึกษาเงื่อนไขดังกล่าวให้รอบคอบ เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับสภาพประชาชาติอิสลามในปัจจุบันนี้

 เมื่อเราตรวจสอบความศรัทธาที่เป็นรูปธรรมในชีวิตของประชาชาติอิสลามนั้นจะพบว่ามีข้อบกพร่องมากมายที่ต้องได้รับการแก้ไขจากบรรดามุสลิมีน อาทิเช่น การทำชิริกต่ออัลลอฮฺโดยเชื่อในวัตถุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับโชคลาง ไสยศาสตร์ หมอดู หรือดวงดาว หรือแม้กระทั่งเงินตรา ตำแหน่ง และอื่นๆที่กลายมามีความสำคัญมากกว่าพระผู้เป็นเจ้าในชีวิตของมุสลิมบางคน จึงทำให้เขาหลงกับสิ่งเหล่านั้น และอาจมีความเลื่อมใสมากกว่าความศรัทธาที่ต้องมีต่อพระผู้เป็นเจ้า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกมุสลิมเต็มไปด้วยมัสยิดที่ถูกสร้างเพื่อให้เกียรติแก่หลุมศพของคนหนึ่งคนใด หรือบุคคลที่เสียชีวิตแล้วก็จะถูกนำมาฝังในหรือใกล้มัสยิดเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ประณามพฤติกรรมดังกล่าวอย่างชัดเจนในหะดีษบันทึกโดยอิมามบุคอรียฺและมุสลิม รายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ ท่านนบีกล่าวไว้ว่า

 

( لَعَنَ اللهُ اليَهُوْدَ وَالنَّصَارَى اتَّخَذُوْا قُبُوْرَ أَنْبِيَائِهِمْ مَسَاجِد ) . قَالَتْ عَائِشَةُ : يُحَذِّرُ مَا صَنَعُوْا .

ความว่า “อัลลอฮฺทรงสาปแช่งพวกยะฮูดและพวกนะศอรอที่ได้ยึดสุสานของบรรดานบีของพวกเขาเป็นมัสยิด(เป็นศาสนสถาน)” ท่านหญิงอาอิชะฮฺได้เสริมว่า ท่านนบีเตือนประชาชาติอิสลามมิให้กระทำเหมือนพวกนี้

 บริเวณสถานที่ดังกล่าวในโลกมุสลิมจะมีการเชือดกุรบานถวายบนบานและวิงวอนต่อมนุษย์ที่ถูกฝังตรงนั้นประหนึ่งเป็นพระผู้อภิบาลที่มีเดชานุภาพทำทุกสิ่งทุกอย่าง นอกจากนั้นการปฏิบัติอิบาดะฮฺในสถานที่ดังกล่าวก็ปะปนไปด้วยอุตริกรรมต่างๆ ที่ไม่มีแบบฉบับจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งบรรดาตอรีกัตและกลุ่มซูฟีได้นำอุตริวิธีแห่งการสักการะของศาสนาอื่นๆมาเป็นรูปแบบในการทำอิบาดะฮฺของชาวมุสลิม จึงส่งผลเลวร้ายต่อสภาพความบริสุทธิ์ของคำสั่งสอนอันสมบูรณ์ที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 สภาพดังกล่าวเป็นรูปแบบอันเก่าแก่ที่เกิดในประวัติศาสตร์อิสลาม แต่ยังมีชิริกในรูปแบบใหม่ อาทิเช่น การตั้งภาคีกับอัลลอฮฺในการบัญญัติกฎหมาย การตัดสินปัญหาของชีวิต การชี้ขาดถึงวิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งผลงานของปัญญามนุษย์กลายมามีความศักดิ์สิทธิ์และบารมีมากกว่าพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นรูปแบบชิริกที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลกมุสลิม และส่งผลกระทบต่อความศรัทธาของประชาชาติอิสลามที่ต้องมีต่อกฎหมายอิสลาม 

 สภาพดังกล่าวโดยรวมแล้วเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความศรัทธาในประชาชาติอิสลามตกต่ำ จึงทำให้ประชาชาติอิสลามนั้นไร้สิทธิในการที่จะรับความช่วยเหลือหรือชัยชนะจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อนึ่ง ความเสื่อมในเรื่องอื่นๆ เช่น จริยธรรม จรรยาบรรณ ความเข้มแข็งในการปฏิบัติอิบาดะฮฺหรือการขยันแสวงหาปัจจัยยังชีพ ก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ความเสื่อมด้านอีมานนั้นเป็นสาเหตุหลักซึ่งเรื่องอื่นน่าจะเป็นผลที่ตามมา ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ปัญหาโลกมุสลิมไม่ได้ขึ้นอยู่กับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด และความรับผิดชอบจะไม่ถูกอ้างถึงชนหนึ่งชนใด ทั้งปัญหาและความรับผิดชอบย่อมเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนต้องอ้างถึงตนว่า เป็นผู้ก่อปัญหาและเป็นผู้รับผิดชอบความผิดทุกประการและความบกพร่องทุกประเด็น ในชีวิตของเราทุกๆคนย่อมจะเป็นสาเหตุที่จะทำให้ประชาชาติอิสลามนั้นตกต่ำในระดับหนึ่ง อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสไว้ว่า

 

﴿ أَوَلَمَّا أَصَابَتْكُمْ مُصِيْبَةٌ قَدْ أَصَبْتُمْ مِثْلَيْهَا قُلْتُمْ أَنَّى هَذَا قُلْ هُوَ مِنْ عِنْدِ أَنْفُسِكُمْ إِنَّ اللهَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيْر ﴾

ความว่า “และเมื่อมีภยันตรายหนึ่งประสบกับพวกเจ้า ทั้งๆที่พวกเจ้าได้ทำให้พวกเขาประสบภยันตราย(ในสงครามบัดรฺ)มาก่อนแล้วถึงสองเท่าแห่งภยันตรายนั้น พวกเจ้าก็ยังกล่าวว่า สิ่งนี้(คือภยันตราย)มาจากไหนกระนั้นหรือ จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด)ว่า มันมาจากตัวของพวกเจ้าเอง แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงเดชานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง” (อาละอิมรอน 165)

 ท่านอย่าเชื่อว่าความผิดหรือข้อบกพร่องส่วนตัวของท่านจะไม่ส่งผลต่อภาพพจน์ของประชาชาติ เพราะประชาชาติอิสลามของเรานั้นเป็นความหวังของมนุษยชาติ และไม่บังควรที่จะมีข้อบกพร่องในประชาชาติที่มีหน้าที่นำมนุษยชนไปสู่สัจธรรม ซึ่งในสงครามอุฮุด ที่บรรดามุสลิมีนไม่ประสบความสำเร็จในการต่อสู้ต่อมุชริกีนนั้น อัลลอฮฺได้ตรัสถึงสาเหตุที่ทำให้พวกมุสลิมแพ้พวกมุชริก นั่นก็คือการที่มีส่วนหนึ่งในหมู่ผู้ศรัทธาที่ไม่จริงใจต่ออัลลอฮฺ ดังที่พระองค์ตรัสไว้ว่า

 

﴿ وَلَقَدْ صَدَقَكُمُ اللهُ وَعْدَهُ إِذْ تَحُسُّوْنَهُمْ بِإِذْنِهِ حَتَّى إِذَا فَشِلْتُمْ وَتَنَازَعْتُمْ في الأَمْرِ وَعَصَيْتُمْ مِنْ بَعْدِ مَا أَرَاكُمْ مَا تُحِبُّوْنَ مِنْكُمْ مَنْ يُرِيْدُ الدُّنْيَا وَمِنْكُمْ مَنْ يُرِيْدُ الآخِرَة ﴾

ความว่า “และแน่นอน อัลลอฮฺได้ทรงให้สัญญาของพระองค์สมจริงแก่พวกเจ้าแล้ว ขณะที่พวกเจ้าเข่นฆ่าพวกเขาด้วยอนุมัติของพระองค์ จนกระทั่งพวกเจ้าขลาดที่จะต่อสู้ และขัดแย้งกันในคำสั่ง และพวกเจ้าได้ฝ่าฝืนหลังจากที่พระองค์ได้ทรงให้พวกเจ้าเห็นสิ่งที่พวกเจ้าชอบแล้ว จากพวกเจ้านั้นมีผู้ที่ต้องการดุนยา และจากพวกเจ้านั้นมีผู้ที่ต้องการอาคิเราะฮฺ” (อาละอิมรอน 152)

 ส่วนหนึ่งจากสังคมที่ประพฤติชั่วอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ประพฤติชอบล้มเหลวและไม่สำเร็จ จึงเป็นคำตอบจากอัลกุรอานต่อปัญหาของโลกมุสลิม เรามัวแต่ชี้ว่าคนนั้นผิดคนโน้นชั่ว(3)  แต่อย่าลืมว่าทั้งๆที่ความผิดความชั่วของคนอื่นเป็นปัญหาของสังคม แต่ความผิดและความชั่วของเราก็เป็นด้วยเช่นกัน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้สอนไว้ว่า

( اتَّقُوْا اللهَ وَأَجْمِلُوْا فِي الطَّلَبِ وَلا يَحْمِلَنَّ أَحَدَكُمْ اسْتِبْطَاءُ الرِّزْقِ أَنْ يَطْلُبَهُ بِمَعْصِيَةِ الله فَإِنَّ اللهَ تَعَالَى لا يُنَالُ مَا عِنْدَهُ إِلا بِطَاعَتِهِ ) . رواه أبو نعيم في الحلية عن أبي أمامة وصححه الألباني .

ความว่า “พวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺ และจงแสวงหาจากปัจจัยยังชีพด้วยวิถีทางอันดีงาม และอย่าให้ความล่าช้าของปัจจัยยังชีพนั้น ทำให้พวกเจ้าแสวงหามันด้วย การฝ่าฝืนต่ออัลลอฮฺ เพราะแท้จริงนั้น สิ่งที่อยู่ ณ อัลลอฮฺจะไม่ได้รับเว้นแต่ด้วยการเชื่อฟังต่อพระองค์”

 สุดท้าย ทุกคนในหมู่พวกเราต้องรู้ความผิดของตนเอง และต้องรู้หน้าที่ของตนเองด้วย วิธีแก้ไขปัญหาโลกมุสลิมของเราจะเริ่มด้วยการแก้ปัญหาต่างๆในชีวิตของแต่ละคนในหมู่พวกเรา ให้ชีวิตของเรานั้นสอดคล้องกับอิสลามอันเที่ยงแท้ ซึ่งไม่ช้าจะเห็นว่าโลกมุสลิมถูกเปลี่ยนแปลงโดยปริยาย แต่ตราบใดพวกเรายังหวังให้วีรบุรุษคนหนึ่งคนใดจะมาแก้ปัญหาโลกมุสลิม ก็เหมือนกับว่าเราไม่อยากเปลี่ยนความชั่วในชีวิตของเรา จริงหรือเปล่า?


 

(1) นักปราชญ์อิสลามบางท่านยืนยันว่าปัญหาหลักของมุสลิมคือความทรยศของมุสลิมบางคน ซึ่งในประวัติศาสตร์ได้พบว่าความวิบัติหรือภยันตรายอันร้ายแรงที่โลกมุสลิมได้ประสบ ก็มาจากผู้ที่อ้างตนว่าเป็นมุสลิม อาทิเช่น กลุ่มชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺในศตวรรษที่ 7 (ฮ.ศ.) ที่ให้เบาะแสแก่กองทัพมองโกล จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาบุกรุกกวาดล้างเมืองแบกแดดซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งอาณาจักรคิลาฟะฮฺของโลกมุสลิม และสงคราครูเสดเริ่มต้นในศตวรรษที่ 4 (ฮ.ศ.) ก็เพราะอาณาจักรฟาฏิมียะฮฺที่เลื่อมใสในอุดมการณ์ของชีอะฮฺบาฏินียะฮฺนั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ปกป้องโลกมุสลิมและถึงปัจจุบันนี้ก็ได้พบว่าชีอะฮฺยังเป็นสมุนรับใช้ศัตรูอิสลามดังที่ปรากฏในประเทศอิรัก ซึ่งชีอะฮฺรอฟิเฎาะฮฺที่เคยประณามสหรัฐอเมริกาว่าเป็นชัยฏอนอักบัร กลับเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาในการถล่มกลุ่มสุนหนี่ในประเทศอิรัก และยอมให้ประเทศอิรักเป็นเมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา จากประสบการณ์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันจะเห็นได้ว่าความเป็นมุสลิมและความเป็นพี่น้องที่สูญเสียไป ทำให้ประเทศมุสลิมตกเป็นเหยื่อของศัตรูอย่างง่ายดาย

(2) ในสังคมมุสลิมจะมีโรคแห่งความขี้ขลาด ซึ่งเป็นปัญหาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวายในโลกมุสลิม ปัญหานี้ได้รับการสนับสนุนจากกระบวนการทางวิชาการ ที่ปรากฏในสังคมด้วยคำขวัญน่ารัก อาทิเช่น สันติภาพ ความสุภาพ  และเหตุผลอื่นๆที่จะเข้าล็อคแผนของศัตรูอิสลาม ซึ่งเราเคยประสบในสังคมของเรานักวิชาการที่ไม่สนับสนุนการทำญิฮาดของมุญาฮิดีนที่ประเทศอัฟฆอนิสตาน ฟิลิสฏีน หรืออิรักก็ตาม และยังกล่าวหาการทำญิฮาดบางรูปแบบ(เช่น การระเบิดพลีชีพ) ว่าเป็นการฆ่าตัวตาย และยังมีนักวิชาการบางท่านที่นำข้อบกพร่องของโลกมุสลิมมาเป็นข้ออ้างมิให้ประชาชนร่วมจิตร่วมใจหรือแม้กระทั่งวิงวอน(ดุอาอฺ)ให้แก่พี่น้องมุสลิมที่ประสบภยันตราย ผมเองก็เคยได้ยินนักวิชาการที่พูดว่าปัญหาบิดเบือนอัลกุรอานของนักวิชาการคนเดียวอันตรายกว่าสงครามอิรักเสียด้วย ซึ่งโรคนี้กำลังเป็นกระแสที่ทำให้สังคมมุสลิมปกปิดข้อบกพร่องของเขาด้วยปัญหาเล็กน้อย เพื่อให้เห็นว่ายังมีบทบาททำงานเพื่ออิสลาม แต่แท้จริงมันเป็นภาพลวงที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนปัญญาของบางกลุ่ม

(3)   ในปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะจนถึงตากใบ สังคมมุสลิมไหลไปกับกระแสของรัฐบาล นักการเมือง และนักวิเคราะห์ ที่นำเรื่องกฎหมายและสิทธิมนุษยชนมาเป็นมาตรการในการชี้ถึงผู้ที่ต้องรับผิดชอบ สังคมมุสลิมเลยชิน ถามกันว่าใครจะรับผิดชอบ ก็หมายถึงในรัฐบาลนั่นเองใครจะรับผิดชอบ ผู้ใหญ่หรือผู้น้อย ทหารหรือนักการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นไร้สาระสำหรับมุสลิมที่ตระหนักต่อหลักการอิสลาม ผมพูดอยู่เสมอว่าปัญหาภาคใต้ต้องแก้ไขด้วยสิบประการ ห้าประการแรกอยู่ที่มุสลิมไม่ใช่รัฐบาล ความชัดเจนในปัญหาดังกล่าวต้องทำให้สังคมมุสลิมเปลี่ยนประเด็นว่ารัฐบาลจะรับผิดชอบหรือไม่ ให้เป็นคำถามว่า ในสังคมมุสลิม ใครที่จะรับผิดชอบมิให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง


ที่มา : วารสารร่มเงาอิสลาม, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี