ข้อเตือนสติหลังจากเสร็จสิ้นการทำฮัจญฺ

Submitted by dp6admin on Wed, 14/08/2019 - 22:44
เนื้อหา

ข้อเตือนสติหลังจากเสร็จสิ้นการทำฮัจญฺแล้ว

จำเป็นแก่มุอฺมินทุกคนจะต้องระลึกอยู่เสมอในขณะที่ปฏิบัติอิบาดะฮฺใด ๆ หรือหลังจากได้ปฏิบัติแล้วว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  จะตอบรับการทำอิบาดะฮฺของเขาหรือไม่? เพราะถ้าหากการทำอิบาดะฮฺของเขาไม่เป็นที่ตอบรับแล้ว แน่นอนเขาจะต้องประสบกับความล้มเหลวในการดำเนินชีวิต พระองค์จะไม่ตอบรับการงานของบ่าวผู้นั้น ตราบใดที่เขายังคงประกอบกรรมทำความชั่วและยังคงดื้อรั้นไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนิสัยเดิม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว การงานของเขาที่ได้ปฏิบัติไปก็จะไร้คุณค่าและกลายเป็นละอองฝุ่นที่ปลิวว่อน

    ด้วยเหตุนี้ อัลกุรอานได้กล่าวถึงคุณลักษณะของบรรดามุอฺมินผู้ศรัทธาที่แท้จริงว่า “บรรดาผู้ที่บริจาคในสิ่งที่พวกเขาได้มา โดยที่จิตใจของพวกเขาเปี่ยมไปด้วยความหวั่นเกรงว่า แท้จริงพวกเขาต้องกลับไปหาพระเจ้าของพวกเขา” (23:60) คือพวกเขาปฏิบัติละหมาด ถือศีลอด และบริจาคทาน โดยที่พวกเขามีความหวั่นเกรงว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะไม่รับการงานของพวกเขา และยังได้ชี้แนะอีกว่า การตอบรับนั้นเป็นตำแหน่งที่ไม่มีใครจะได้รับนอกจากบรรดาผู้ที่มีความยำเกรงมีตักวาเท่านั้น “แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงตอบรับ (การงาน) จากบรรดาผู้ที่มีความยำเกรงเท่านั้น”

    เมื่อเป็นที่ประจักษ์เช่นนี้แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่มุสลิมทุกคนหลังจากได้ประกอบพิธีฮัจญฺหรือกระทำการงานใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการจงรักภักดีแล้ว จะต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งสาเหตุแห่งการตอบรับการงานนนั้น ๆ ในเวลาเดียวกันก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่เป็นต้นเหตุที่จะทำให้การงานนั้น ๆ ไร้ผลหรือไม่เป็นที่ตอบรับจาก อัลลอฮฺตะอาลา อีกทั้งจะต้องหมั่นเพียรกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งความโปรดปรานจากพระองค์

ดังกล่าวมานี้ เราอาจสรุปการปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็นจะต้องกระทำหลังจากกลับจากการทำฮัจญฺแล้วดังต่อไปนี้

1. จะต้องขอบคุณต่ออัลลอฮฺตะอาลาและสรรเสริญพระองค์ ด้วยการรำลึกถึงพระองค์เป็นประจำอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนและหลงลืม ดังที่พระองค์ได้ตรัสไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

فَإِذَا قَضَيْتُمْ مَنَاسِكَكُمْ فَاذْكُرُوْا اللهَ كَذِكْرِكُمْ آبَاءَكُمْ أَوْ أَشَدَّذِكْرًا

ความหมาย  “เมื่อพวกเจ้าได้กระทำฮัจญฺของพวกเจ้าเสร็จสิ้นแล้วก็จงกล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺเสมือนกับที่พวกเจ้ากล่าวรำลึกถึงบรรพบุรุษของพวกเจ้า หรือจะกล่าวรำลึกให้มากกว่านั้น”

    ดังนั้นจึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่สภาพของผู้กระทำฮัจญฺ หลังจากเสร็จสิ้นพิธีแล้วจะต้องดียิ่งกว่าเมื่อก่อนจะไปทำฮัจญฺ เพราะสัญลักษณ์แห่งการตอบรับความจงรักภักดีที่ได้ปฏิบัติไปแล้วนั้นก็คือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  จะประทานความสำเร็จแก่บ่าวผู้นั้นในการกระทำความดีชนิดอื่น ๆ เพื่อที่จะให้เขาธำรงไว้ซึ่งการขอบคุณต่อพระองค์อยู่เสมอ และมีความกระตือรือร้นที่จะให้การสรรเสริญต่อพระองค์อย่างต่อเนื่อง

    ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีบัญญัติให้กล่าวรำลึกถึงพระองค์หลังจากเสร็จสิ้นการปฏิบัติความจงรักภักดี อัลกุรอานได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ไว้ในประวัติของท่านนะบีอิบรอฮีมและอิสมาอีล หลังจากเสร็จสิ้นการสร้างอัลก๊ะอฺบะฮฺว่า

وَإِذْيَرْفَعُ إِبْرَاهِيْمُ الْقَوَاعِدَ مِنَ الْبَيْتِ وَإِسْمَاعِيْلُ رَبَّنَا تَقَبَّلْ مِنَّا إِنَّكَ أَنْتَ السَّمِيعُ العَلِيم

ความหมาย “จงรำลึกขณะที่อิบรอฮีมและอิสมาอีลได้ก่อฐานของบ้านหลังนั้น (คืออัลก๊ะอฺบะฮฺ) ท่านทั้งสองได้กล่าววิงวอนว่า ข้าแด่พระเจ้าของข้าพระองค์ ขอได้โปรดรับงานของข้าพระองค์ แท้จริงพระองค์นั้นทรงได้ยินและทรงรอบรู้” (2:127)

นอกจากนี้อัลกุรอานยังได้เล่าถึงเรื่องภรรยาของอิมรอนคือมารดาของมัรยัมสตรีพรหมจารี ซึ่งนางได้กล่าววิงวอนพระเจ้าของนางไว้ว่า

إِذْقَالَتِ امْرَأَةُ عِمْرَانَ رَبِّ إِنِّي نَذَرْتُ لَكَ مَا فِي بَطْنِي مُحَرَّرًا فَتَقَبَّلْ مِنِّي

ความหมาย “จงรำลึกขณะที่ภรรยาของอิมรอนกล่าวว่า โอ้พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริงข้าพระองค์ได้บนไว้ว่า ขอให้สิ่ง (บุตร) ที่อยู่ในครรภ์ของข้าพระองค์เป็นผู้เคารพอิบาดะฮฺและรับใช้พระองค์เท่านั้น ดังนั้นขอพระองค์ทรงรับการวิงวอนของข้าพระองค์ด้วยเถิด” (3:35)

    ได้มีบัญญัติให้มุสลิมกล่าววิงวอนหลังจากเสร็จสิ้นการละหมาดทุก ๆ เวลา คือกล่าว أَسْتَغْفِرُالله  (อัสตัฆฟิรุลลอฮฺ) 3 ครั้ง กล่าว سُبْحَانَ الله  (ซุบฮานัลลอฮฺ) และالْحَمْدُ لله   (อัลฮัมดุลิ้ลลาฮฺ) และ  الله أَكْبَر (อัลลอฮุอักบัร) อย่างละ 33 ครั้ง ซึ่งปรากฏเป็นที่ยืนยันในบรรดาหะดีษศ่อเฮี้ยะฮฺ และได้มีบัญญัติแก่มุสลิมหลังจากเสร็จสิ้นการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนแล้ว ให้กล่าวตักบีรให้ความเกรียงไกรแด่อัลลอฮฺในวันอีดิ้ลฟิตรว่า

وَلِتُكُبِّرُوْا اللهَ عَلَى مَاهَدَاكُمْ وَلَعَلَّكُمْ تَشْكُرُوْن

ความหมาย “และเพื่อพวกเจ้าจะได้ให้ความเกรียงไกรแด่อัลลอฮฺในสิ่งที่พระองค์ทรงชี้แนะทางแก่พวกเจ้า และเพื่อพวกเจ้าจะได้ขอบคุณ”

2.    จะต้องยอมจำนน อ่อนน้อม ถ่อมตัวต่ออัลลอฮฺ และมีความกลัวว่าการทำฮัจญฺของเขาจะไม่ถูกตอบรับ จะต้องมีความนอบน้อมต่อพระองค์ เพื่อขอให้พระองค์ลบล้างการกระทำที่บกพร่องและความผิดพลาด หรือช่องโหว่ในการทำอิบาดะฮฺของเขา

3.    จะต้องปลีกตัวให้ห่างไกลจากการทำผิดขั้นอุกฤษฎ์ และการกระทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างซ้ำซาก ทั้งนี้เพราะผู้ทำฮัจญฺนั้น หลังจากเสร็จสิ้นพิธีแล้ว ความผิดต่าง ๆ ของเขาจะถูกลบล้างออกไปเสมือนกับวันที่เขาถูกคลอดออกมาจากครรภ์มารดาของเขา ด้วยเหตุนี้หลังจากที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงทำให้เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากความผิด เพราะความโปรดปรานและความเมตตาจากพระองค์ จึงไม่บังควรที่จะทำให้ใบหน้าของเขาต้องหมองคล้ำด้วยการกลับมากระทำความผิดและความชั่วต่าง ๆ

4.    จะต้องไม่ประกาศหรือโอ้อวดในการไปทำฮัจญฺของเขา เพื่อหวังชื่อเสียงและเกียรติยศผู้ที่มีความบริสุทธิ์ใจจะต้องปกปิดการกระทำความดีของเขาเท่าที่จะกระทำได้ เพราะกลัวว่าจะเป็นการอวดอ้างหรือจะทำให้การกระทำของเขาไร้ผลไม่ได้รับการตอบแทน การปกปิดการกระทำความดีและไม่เปิดเผยเป็นการบ่งชี้ถึงความบริสุทธิ์ใจของผู้กระทำความดีโดยหวังพระพักตร์ของอัลลอฮฺ มิใช่หวังการกล่าวขวัญของมนุษย์

5.    จะต้องไม่พูดมากเกี่ยวกับความเหน็ดเหนื่อย ความยากลำบาก ความทุกข์ทรมาน และการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายต่าง ๆ  เพราะสิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวจะเท่าเทียมกับการอภัยโทษที่เขาได้รับจากอัลลอฮฺ ตะอาลาละหรือ? บรรดาบรรพชนของเรา (สะละฟุศศอและฮฺ) ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุม จะไม่พูดถึงความทุกข์ทรมานและความเหน็ดเหนื่อยจากการทำฮัจญฺเลย เพราะความเหน็ดเหนื่อยต่าง ๆ เหล่านั้นพวกเขากระทำไปเพื่อหวังความโปรดปรานจากพระเจ้าของพวกเขา การเสียสละของคนรักเพื่อผู้ที่เขารักนั้น จะไม่นับว่าเป็นการเหน็ดเหนื่อยหรือเป็นการทุกข์ทรมาน

6.    จะต้องแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์แห่งความสมถะ ความถูกต้อง ความชอบธรรม ความเคร่งครัดในเรื่องของศาสนา และการยึดมั่นในแนวทางที่เที่ยงธรรม ผู้ใดที่เคยละทิ้งการทำละหมาด หรือไม่ให้ความจริงจังในเรื่องของการทำละหมาด หลังจากได้ไปทำฮัจญฺมาแล้วจะต้องพากเพียรพยายามไปร่วมละหมาดญะมาอะฮฺ ผู้ใดที่ชอบนินทาและติเตียนผู้อื่น จะต้องระงับและหยุดการล่วงละเมิดเกียรติยศและชื่อเสียงของผู้อื่น ผู้ใดที่กินดอกเบี้ยและดื่มหรือเสพของมึนเมาต่าง ๆ จำเป็นต้องเลิกและละทิ้งอย่างเด็ดขาดจากสิ่งต้องห้ามและการทำบาปต่าง ๆ

7.    จะต้องทำอิบาดะฮฺที่เป็นซุนนะฮฺให้มาก ๆ เช่น การละหมาด การถือศีลอด การทำศ่อดะเกาะฮฺ และ ฯลฯ เพราะสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺเหล่านั้นจะช่วยซ่อมแซมความบกพร่องของการทำอิบาดะฮฺที่เป็นฟัรฎู นอกจากนั้นก็ควรหมั่นไปทำฮัจญฺและอุมเราะฮฺ ถ้าหากมีความสามารถ คือมีสุขภาพสมบูรณ์ และทรัพย์สินเพียงพอ ท่านร่อซูลุลลอฮฺ   ได้กล่าวไว้ว่า

عَنْ عَبْدِ اللهِ قَالَ : قَالَ رَسُولُ اللهِ صَلّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم : تَابِعُوْا بَيْنَ الحَجِّ وَالْعُمْرَة فَإِنَّهُمَا يَنْفِيَانِ الْفَقْرَ وَالذُّنُوْبَ كَمَايَنْفِي الْكِيْر خَبَثَ الْحَدِيْد وَالذَّهَب وَالْفِضَّة وَلَيْسَ لِلْحَجَّة الْمَبْرُوْرَة ثَوَاب دُوْنَ الْجَنَّة  رواه ابن حبان

ความหมาย “จงทำฮัจญฺและอุมเราะฮฺอย่างต่อเนื่อง เพราะกิจกรรมทั้งสองจะช่วยขจัดความยากจนและการทำบาป เสมือนกับที่ช่างตีเหล็กจะขจัดกากเหล็ก กากทอง และกากเงิน (ออกจากธาตุแท้ของมัน) ฮัจญฺมับรูรจะไม่มีการตอบแทนใด ๆ นอกจากสวนสวรรค์”  (บันทึกโดยอิบนฺฮิบบาน)

    จงทำฮัจญฺและอุมเราะฮฺอย่างต่อเนื่อง” ข้อความนี้มิได้หมายถึงเป็นวายิบ แต่ว่าเป็นเพียงซุนนะฮฺคือชอบให้กระทำได้

    สิ่งที่จะเป็นเครื่องประกันในความปลอดภัยแห่งการดำเนินชีวิตของมุอฺมิน หลังจากได้ประกอบพิธีฮัจญฺหรือก่อนที่จะไปทำฮัจญฺนั้นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างมุอฺมินกับพระเจ้าของเขาจะต้องเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ซื่อสัตย์ ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศรัทธา การทำอิบาดะฮฺ และการดำเนินชีวิตประจำวัน มุอฺมินที่มีสภาพดังกล่าวนี้ อัลลอฮฺตะอาลาได้ทรงกล่าวยืนยันว่า เขาจะประสบความสำเร็จและรอดพ้นจากการสอบสวนและการลงโทษ พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

إِنَّ الَّذِيْنَ قَالُوْا رَبُّنَا اللهُ ثُمَّ اسْتَقَامُوا تَتَنَزَّلُ عَلَيْهِمُ الْمَلاَئِكَةُ أَلاَّ تَخَافُوْا وَلاَ تَحْزَنُوْا وَأَبْشِرُوْا بِالْجَنَّةِ الَّتِي كُنْتُمْ تُوْعَدُوْن

ความหมาย  “แท้จริงผู้ที่กล่าวว่า อัลลอฮฺคือพระเจ้าของพวกเรา แล้วพวกเขาก็ยืนหยัดตามคำกล่าวนั้น มะลาอิกะฮฺจะลงมาหาพวกเขา (โดยกล่าวกับพวกเขาว่า) พวกท่านอย่าหวาดกลัวและอย่าเศร้าสลดใจ แต่จงต้อนรับข่าวดีคือสวนสวรรค์ซึ่งพวกท่านได้ถูกสัญญาไว้” (41:30)


ที่มา : หนังสือการทำฮัจญฺและอุมเราะฮฺตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี (เราะหิมะฮุลลอฮฺ)

ข้อเตือนสติหลังจากเสร็จสิ้นการทำฮัจญฺแล้ว