ความหมายของ "เตาฮีด"

Submitted by dp6admin on Tue, 07/04/2009 - 18:46

เตาฮีด หมายถึง “การให้เป็นหนึ่ง การให้เป็นเอกะ” โดยมีรากศัพท์มาจากคำว่า “วะฮิด แปลว่า หนึ่ง” ที่ให้มีความสำคัญต่อการศรัทธาและต้องเชื่อมั่นว่าโลกนี้มีพระเจ้าองค์เดียว ต่างจากศาสนาอื่น เช่น คริสต์ที่เชื่อว่าพระเจ้ามีสาม, มะญูซียฺที่เชื่อว่ามีสองพระเจ้าคือพระเจ้าแห่งความสว่างและพระเจ้าแห่งความมืด หรือพระเจ้าแห่งความดีและพระเจ้าแห่งความชั่ว แต่สำหรับมุสลิมแล้วจะต้องปรับความเชื่อของตนให้เชื่อว่าชีวิตของเราขึ้นอยู่กับพระเจ้าองค์เดียว เตาฮีด จึงเป็นวิชาที่สอนเพื่อมุ่งสู่ความเข้าใจว่าพระเจ้ามีองค์เดียว 

 

ในการเรียนการสอนวิชาเตาฮีดในบ้านเรามีสิ่งที่สืบทอดมาจากความคิดส่วนตัวหรือทัศนะของนักวิชาการหรือมาจากลัทธิ(นิกาย)อื่น วิชาเตาฮีด(อะกีดะฮฺ)หรืออุซุลุดดีนบางแห่งจะสอนโดยระบุว่าเป็นทัศนะของ อบูหะซัน อัลอัชอะรียฺ เช่น ศิฟัต(คุณลักษณะ)ของอัลลอฮฺมียี่สิบ นอกเหนือนั้นให้ตีความ(ตะอฺวีล) เช่น อัลลอฮฺทรงประทับบนบัลลังของพระองค์หมายถึงอัลลอฮฺทรงครองอำนาจ ซึ่งทำให้คุณลักษณะของอัลลอฮฺถูกเปลี่ยน การตีความแบบนี้มิได้มาจากอัลกุรอานแต่เป็นทัศนะ ท่านนบีก็ไม่ได้สอนให้ตีความแบบนี้ บรรดาเศาะฮาบะฮฺ รวมทั้งอิหม่ามชาฟิอียฺก็ไม่ได้สอน การตีความแบบนี้เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่สี่ สมัยของ อบูหะซัน อัลอัชอารียฺ เพราะในยุคนั้นนักปรัชญาศาสนาอื่นตำหนิว่าคุณลักษณะของอัลลอฮฺ เช่น ทรงประทับบนบัลลังก์ ก็เหมือนคนทั่วไปจะเป็นพระเจ้าได้อย่างไร จึงเริ่มมีการตีความ ซึ่งเป็นความคลาดเคลื่อนจากอะกีดะฮฺที่ถูกต้องซึ่งต้องมาจากอัลกุรอาน เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา อิสตะวาอะลัลอัรชฺ อัลลอฮฺทรงประทับบนบัลลังก์ จะเชื่ออย่างไรจึงจะถูกต้อง ก็ด้วยการศึกษาวิชาเตาฮีดโดยนำข้อมูลมาจาก อัลกุรอาน ซุนนะฮฺของท่านนบี และความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ของบรรดาบรรพชนยุคแรก(สะลัฟ) ซึ่งมีความถูกต้องแน่นอนกว่าทัศนะส่วนตัวของนักวิชาการ และปลอดภัยสำหรับเราที่จะไปตอบต่ออัลลอฮฺในวันกิยามะฮฺว่าเราได้ศรัทธาตามอัลกุรอานและท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

 

ทำไมต้องเรียนเตาฮีด ?

 

  • เพื่อแสวงหาสัจธรรมที่เกี่ยวกับชีวิตและโลก
  • เพื่อรู้จักพระเจ้าอย่างเที่ยงแท้ - เหมือนกับที่ท่านนบีและบรรดาเศาะฮาบะฮฺรู้จักอัลลอฮฺ

  • เพื่อรู้หน้าที่ต่อพระเจ้าอย่างบริบูรณ์

  • เพื่อสร้างความมั่นคงกับสภาพจิตใจและชีวิตของเรา - ความศรัทธาต่ออัลลอฮฺเป็นการประกันชีวิตและจิตใจของเราให้มีความมั่นคง เราจึงไม่ค่อยได้ยินข่าวมุสลิมฆ่าตัวตาย

  • เพื่อเป็นพื้นฐานในการน้อมรับบทบัญญัติของอัลลอฮฺตะอาลาคนที่ไม่มีอะกีดะฮฺ(เตาฮีด)คลุมหิญาบยาก, ละหมาดยาก แต่สำหรับคนที่มีอะกีดะฮฺก็จะคลุมหิญาบ ไว้เครา ฯลฯ ยอมรับและปฏิบัติตามบทบัญญัติต่างๆได้ง่าย

 

เนื้อหาของวิชาเตาฮีดโดยทั่วไปจะเกี่ยวกับความศรัทธาในสิ่งเร้นลับ คือ การศรัทธาต่ออัลลอฮฺ บรรดามลาอิกะฮฺ บรรดาคัมภีร์ นบีและร่อซูล(ศาสนทูต) วันปรโลก และกฎสภาวการณ์(อัลกอฎออฺวัลกอดัร) ซึ่งเป็นเสาหลักของการศรัทธา(รุกุ่นอีมาน) และจะมีเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวกับการศรัทธาแต่ใกล้เคียงคือเรื่องเกี่ยวกับบรรดาเศาะฮาบะฮฺ หน้าที่ต่ออัลลอฮฺ เรื่องมุอฺญิซาต(มหัศจรรย์ที่บรรดาศาสนฑูตได้นำมา)

เรื่องแรกที่จะศึกษาคือเรื่องของ พระเจ้า

จุดเริ่มของการศรัทธาไม่ได้เริ่มตรงที่ต้องเชื่อต่อพระเจ้า มนุษย์ทั่วไปตั้งแต่สมัยก่อนที่เกิดมาบนโลกนี้ก็จะมีคำถามว่าเกิดมาได้อย่างไร? ทำไมมาเกิดบนโลก? ทำไมมาเกิดเป็นมนุษย์ไม่เป็นสัตว์?  เกิดมาเพื่ออะไร? จะอยู่นานไหม? ตายแล้วไปไหน? จะเกิดใหม่หรือไม่? คำถามเหล่านี้อิสลามมีคำตอบ ตั้งแต่ ใครเป็นผู้สร้างท่าน? ท่านมีชีวิตอยู่บนโลกนี้มีหน้าที่อะไรบ้าง? ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลับนอน เข้าห้องน้ำ ฯลฯ จะทำอย่างไรเพื่อให้ปลอดภัยในปรโลก? ตายแล้วจะไปไหน? ฟื้นแล้วจะถูกสอบถามอะไรบ้าง? จะไปสวรรค์หรือนรก?  ซึ่งคำตอบก็อยู่ในการศึกษาวิชาเตาฮีด ศึกษาศาสนาอิสลามโดยมีสติปัญญาเป็นแนวทางในการศึกษา อุละมาอฺบางท่านจึงกล่าวว่าถ้าไม่มีอัลกุรอานไม่มีนบี มนุษย์ก็สามารถใช้สติปัญญาไตร่ตรองเองโดยไม่มีอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม(เช่น อับวาฮุ-บิดามารดา)มาเกี่ยวข้องก็จะสามารถถึง(เข้าใจและรู้จัก)อัลลอฮฺเองได้ แต่ถ้าคิดเองแล้วไม่รู้จักอัลลอฮฺ ก็ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมที่จะนำมนุษย์สู่คำตอบที่ถูกต้อง การคิดใคร่ครวญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม จะนำมนุษย์ไปสู่อัลลอฮฺได้ 

มนุษย์เกิดมาไม่รู้จักพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺ ตั้งแต่นบีอาดัมเป็นต้นมา (การเรียนอะกีดะฮฺจะตระหนักว่าต้นกำเนิดมนุษย์มาจากนบีอาดัม ไม่ใช่ลิง มีความภูมิใจในเกียรติของความเป็นมนุษย์) ท่านนบีอาดัมมาอยู่บนโลกนี้รู้จักอัลลอฮฺ ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสมัย มนุษย์เริ่มเขว เพราะไม่มีคนสั่งสอน ต่างคนต่างเชื่อตามความคิดของตน เริ่มบูชาวัตถุ เพราะเชื่อชัยฏอนมารร้าย กิเลส อารมณ์ และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่มนุษย์ยืนหยัดกับสัจธรรมที่อยู่ในจิตใจ(จิตสำนึก)เพราะทุกคนเกิดมาด้วย ฟิฏเราะฮฺ  คือ ธรรมชาติ , หมายถึง เกิดมาด้วยความศรัทธาว่าพระเจ้ามีองค์เดียว

บาทหลวงอียิปต์คนหนึ่งได้เข้ารับอิสลาม แล้วได้ตั้งคำถามกับบาทหลวงในอียิปต์ว่า ทำไมเด็กที่เกิดใหม่จึงต้องทำพิธีจุ่มน้ำศักดิ์สิทธิ์และประกาศว่าเด็กคนนั้นเป็นผู้ศรัทธาต่อ พระบิดา-พระบุตร-พระจิต(คือเป็นชาวคริสต์) ? แต่สำหรับมุสลิมไม่จำเป็นต้องทำพิธีใดๆ ไม่จำเป็น(วาญิบ)ต้องอะซานใส่หูเด็กหรือ ทำอะกีเกาะฮฺ เพราะเราเชื่อว่าเด็กเกิดมาเป็นมุสลิมอยู่แล้ว อุละมาอฺได้บอกว่า ถ้าเด็กคนหนึ่งเกิดมา(ในสังคมที่ไม่ใช่มุสลิม)โดยไม่มีใครเลี้ยงดู ไม่ได้นับถือศาสนาอะไรเลย เมื่อเขาตายลง ก็เป็นหน้าที่ของมุสลิมที่ต้องการมัยยิตของเขา เพราะทุกคนเกิดมาโดยเป็นมุสลิม ดังนั้นถ้ามนุษย์ยืนหยัดในธรรมชาติ แน่นอนว่าเขาต้องเป็นมุสลิมอย่างแน่นอน ไม่มีหลงทาง

การศึกษาวิชาเตาฮีดทำให้สามารถรู้เหตุผลของการเกิด การมีชีวิตอยู่และการตาย ซึ่งจิตสำนึกของมนุษย์ทุกคนเกิดมาโดยฟิฏเราะฮฺ(ธรรมชาติ) คือการเกิดมาด้วยความศรัทธา จึงทำให้เด็กที่เกิดมาเป็นมุสลิม สำหรับผู้ศรัทธาจะต้องใช้ปัญญาและหลักฐานที่มาจากอัลลอฮฺและร่อซูลถึงจะเข้าใจ โดยการมองจากสิ่งแวดล้อมจะทำให้เราเกิดการศรัทธาในการมีพระเจ้า เช่น ไข่ ซึ่งเป็นการกำเนิดของสิ่งไม่มีชีวิตจากสิ่งมีชีวิต, นมวัว สีขาวสะอาด แต่มีแหล่งกำเนิดอยู่ท่ามกลางอุจจาระปัสสาวะของวัว, ฯลฯ การไตร่ตรองในความยิ่งใหญ่ของสิ่งต่างๆรอบตัวเราจะทำให้เราตระหนักถึงการมีพระเจ้า

สำหรับผู้ที่มีความศรัทธาในพระเจ้าแล้วจำเป็นที่จะต้องรู้จักพระเจ้าให้ดี เพื่อที่จะปฏิบัติหน้าที่ของเราที่มีต่อพระเจ้าได้อย่างถูกต้อง มนุษย์ปัจจุบันเชื่อว่ามีพระเจ้า ละหมาดให้พระเจ้า แต่เมื่อประสบปัญหา กลับไม่นำกฎหมายของพระเจ้ามาใช้ อันแสดงถึงการขาดศรัทธาอย่างแท้จริง เพียงเชื่อว่ามีพระเจ้า แต่การดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน ทำธุรกิจ การอยู่กับลูกกับครอบครัว กลับไม่ให้อัลลอฮฺมามีอิทธิพล(คือเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆในการดำเนินชีวิต)

----------------------------------------------------

 

 

คำถาม : การกล่าวถึงอัลลอฮฺควรจะใช้คำว่า พระเจ้า หรือ อัลลอฮฺ ?

 

คำตอบ : นักวิชาการมีความเห็นว่าในการแปลความหมายอัลกุรอานสำหรับคำว่า اللهُ  ควรทับศัพท์ว่า อัลลอฮฺ แต่สำหรับคำว่า إِلَه   อนุโลมให้ใช้ว่า พระเจ้า(God)” ได้ , แต่ความเห็นของผม (เชคริฎอ) เราควรจะเปลี่ยนมาเรียกว่า อัลลอฮฺ แทนคำว่า พระเจ้า เมื่อพูดกับต่างศาสนิก เพราะการเรียกว่า อัลลอฮฺ ก็เป็นการเผยแผ่อิสลามด้วยการกระตุ้นความคิดของเขาให้ตระหนักว่า อัลลอฮฺ แตกต่างจากคำว่า พระเจ้า ของศาสนาอื่นๆ

  

 

เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, อะกีดะตุสสะลัฟ 1 ความสำคัญของการศึกษาวิชาอะกีดะฮฺ

วันที่ลงบทความ : 27 เม.ย. 51