อัลกุรอานคือรูหฺ

Submitted by dp6admin on Tue, 07/04/2009 - 13:51

            อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ต้องขอขอบคุณต่ออัลลอฮฺตะอาลาที่ทรงประทานความเตาฟีกฮิดายะฮฺให้เราได้ศึกษาอัลกุรอานซึ่งเป็นสาระที่สำคัญมากในชีวิตมุสลิม ไม่มีสิ่งใดที่จะมีคุณค่าในชีวิตของเรานอกจากการที่เรามีความสามารถหรือมีโอกาสที่จะเข้าใจพระดำรัสของอัลลอฮฺตะอาลา นั่นเป็นความโปรดปรานที่เราจะต้องขอบคุณอัลลอฮฺอย่างยิ่ง เพราะการที่จะอ่านอัลกุรอานอย่างเดียวหรือการที่จะใช้อัลกุรอานในการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเดียว ก็เป็นภารกิจส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตภายใต้กฎเกณฑ์ของอัลอิสลาม แต่การที่จะเข้าใจข้อชี้แนะหรือคำตักเตือนของอัลลอฮฺตะอาลาก็ถือเป็นสิ่งที่สมบูรณ์ที่ดียิ่งสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา

และประเด็นที่เราต้องตักเตือนกันคือ การที่เราอ่านอัลกุรอานหรือใช้อัลกุรอานในการปฏิบัติศาสนกิจ หรือแม้กระทั่งได้รับโอกาสเข้าใจอัลกุรอานก็ไม่พอเพียง เว้นแต่ต้องให้อัลกุรอานนั้นมีชีวิตชีวาในกิจการของเรา ซึ่งเราจะได้เน้นในเรื่องเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเข้าใจอัลกุรอาน เพราะการเข้าใจอัลกุรอานไม่ได้หมายถึงว่ารู้ความหมาย การที่เราเข้าใจอัลกุรอานนั้นหมายถึงว่าให้อัลกุรอานนั้นเป็นสิ่งที่มีอิทธิพล มีอำนาจในการปกครองชีวิตของเรา สภาพที่ต้องปรากฏคือพฤติกรรมต่างๆในชีวิตต้องสอดคล้องกับหลักการ นั่นคือสิ่งที่ท่านหญิงอาอิชะฮฺได้อธิบายถึงมารยาทของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อนางถูกถามว่ามารยาทของท่านนบีนั้นเป็นอย่างไร นางก็ตอบว่า มารยาทของท่านนบีนั้นคืออัลกุรอาน มีสำนวนของท่านหญิงอาอิชะฮฺอีกสำนวนคือ ท่านนบีเปรียบเสมือนอัลกุรอานที่เดินบนแผ่นดินนี้ คือการทำให้อัลกุรอานมีชีวิตชีวา เพราะอัลกุรอานนั้นไม่ใช่เพียงแต่เป็นสำนวนเท่านั้น อัลลอฮฺทรงเรียกอัลกุรอานว่า รูหฺ คือเป็น วิญญาณ นั่นก็หมายถึงว่าอัลกุรอานนั้นมีชีวิตชีวา และจะมีชีวิตชีวาอย่างไรถ้าเราเชื่อว่าอัลกุรอานนั้นเป็นเพียงสำนวนที่บันทึกจารึกไว้โดยไม่มีบทบาทหรืออิทธิพลในชีวิตของเรา อะกีดะฮฺของอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺคือ อัลกุรอานไม่ใช่มัคลู้ก คือไม่ใช่สิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้าง เพราะถ้าเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงสร้างก็ไม่มีคุณค่าเหนือสิ่งอื่น เช่นที่ชาวมุอฺตะซิละฮฺเชื่อกันว่าอัลกุรอานเป็นมัคลู้ก ทำให้ไม่รู้สึกว่าอัลกุรอานแตกต่างจากสิ่งถูกสร้างอย่างอื่น อะกีดะฮฺของอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺนั้นเชื่อว่า อัลกุรอานเป็นกะลามุลลอฮฺ(พระดำรัส(คำพูด)ของอัลลอฮฺตะอาลา) อันเป็นสิ่งที่มีคุณค่า หรือให้เราเหนียตเชื่อว่าอัลกุรอานเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามีลักษณะเด่นชัดมากกว่าสิ่งอื่น

เราจะสังเกตได้ว่าในอัลกุรอานมีบทบัญญัติ(ศาสนบัญญัติ)ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมุอฺมินโดยตรง เป็นบทบัญญัติที่จะชี้แนะว่ามุสลิมจะปฏิบัติตัวอย่างไรในชีวิตส่วนตัวของเขาหรือการดำเนินชีวิตโดยทั่วไปในสังคม รวมทั้งความสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม ซึ่งบทบัญญัติต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นศาสนบัญญัติที่เกี่ยวกับมนุษย์และสังคม นอกจากนี้ก็ยังมีบทบัญญัติที่ไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์ คือบทบัญญัติเกี่ยวกับความเชื่อ(ความศรัทธา) ซึ่งไม่มีอิทธิพลในการชี้แนะพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง เช่น การที่อัลลอฮฺตะอาลาทรงเล่าเรื่องของประชาชาติในยุคก่อน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง แต่มีบทเรียนที่เราจะได้รับจากเรื่องต่างๆเหล่านั้น

และมีบางอายะฮฺบางซูเราะฮฺที่บอกอย่างชัดเจนว่ามุสลิมต้องทำอย่างไร? ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร? จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่เราต้องนำบทบัญญัติต่างๆเหล่านี้มาศึกษา เพราะจะมีคุณประโยชน์มากในการดำเนินชีวิตของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันนี้ที่ผู้คนลืมหรือละทิ้งอัลกุรอาน หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคที่ละเว้นอัลกุรอาน คือเอาหมดทุกอย่างทั้งกฎหมายสากล, ประเพณี แต่กลับไม่เอาอัลกุรอาน ซึ่งเลวร้ายและเป็นเรื่องน่าแปลกมาก อย่างเช่นในยุคของยะฮูดและนะศอรอ อัลลอฮฺตำหนิพวกเขาว่า “สูเจ้าจะศรัทธาบางส่วน แต่อีกส่วนหนึ่งไม่เอาหรือ” หมายความว่ายังมีส่วนหนึ่งที่ศรัทธาและนำมาปฏิบัติ มีส่วนที่เชื่อว่าต้องปกครองด้วยเตารอต แต่อัลลอฮฺก็ยังตำหนิพวกเขา แต่ในยุคปัจจุบันเราจะเห็นว่ามุสลิมไม่ว่าจะเป็นระดับบุคคลหรือระดับประเทศต่างก็ทิ้งอัลกุรอานทั้งสิ้น ซึ่งจะทำให้เราเห็นชัดเจนในการเลือกปฏิบัติบทบัญญัติ คือละหมาด ใช้กฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก แม้ว่าการนำกฎหมายเหล่านี้มาใช้เป็นการดีกว่า แต่กลับสอนให้ประชาชนเข้าใจว่าเพียงแค่ปฏิบัติตามกฎหมายครอบครัวกฎหมายมรดกก็เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมแล้ว

ประชาชาติอิสลามยังคงบกพร่องในการที่ละทิ้งอัลกุรอาน เพราะแม้จะปฏิบัติกฎหมายครอบครัวและกฎหมายมรดก แต่เมื่อถามว่าอำนาจในการปฏิบัติกฎหมายเหล่านี้มาจากไหน? อำนาจในการปฏิบัติกฎหมายมรดกและครอบครัว(อิสลาม)ในสังคมยืมอำนาจมาจากกฎหมายสากล ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติเพราะเป็นพระดำรัสของอัลลอฮฺ นี่คือประเด็นสำคัญ เรียกว่า ทฤษฎีแห่งอำนาจ(ในสังคม) เช่น ในครอบครัวต้องมีผู้ปกครอง ถ้าหากว่าคนแปลกหน้ามาปกครองครอบครัวทั้งๆที่เขาไม่เกี่ยวข้องกับครอบครัว ในขณะที่ในครอบครัวของมีผู้ปกครองอยู่แล้วอาจจะเป็นพ่อหรือแม่ ก็แสดงว่าพ่อหรือแม่นี้ไม่มีอำนาจในการปกครองอย่างแท้จริง เพราะไม่มีสิทธิตัดสินหรือชี้แนะ  กม.ครอบครัวและ กม.มรดกอิสลาม ต้องผ่านรัฐสภาและวุฒิสภา เมื่อผ่านแล้วก็ต้องเรียกว่า “พระราชบัญญัติ” ไม่ใช่ “อัลลอฮฺบัญญัติ”  แน่นอนว่ากฎหมายเหล่านี้มีย่อมดีกว่าไม่มี แต่อำนาจในการบัญญัติที่แท้จริงคือใคร? ในชีวิตมุสลิมนั้นใครที่เหนือกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง? เป็นสิ่งที่เราต้องคิด


เรียบเรียงจาก ตัฟซีรซูเราะตุนนูร ครั้งที่ 1, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, 24 ธ.ค.46