ซูเราะตุนนูร อายะฮฺที่ 1

Submitted by dp6admin on Thu, 11/07/2019 - 10:14
ซูเราะฮฺนี้เป็นซูเราะมะดะนียะฮฺ  คืออัลลอฮฺทรงประทานที่เมืองมะดีนะฮฺ  แต่ไม่ได้ประทานมาทีเดียวทั้งหมด  มีจำนวน 64 อายะฮฺ
 
ในอายะฮฺแรกของซูเราะตุนนูร  อัลลอฮฺได้ตรัสว่า 
سُورَةٌ أَنزَلْنَاهَا وَفَرَضْنَاهَا وَأَنزَلْنَا فِيهَا آيَاتٍ بَيِّنَاتٍ لَّعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ ﴿١﴾
(1) นี่คือซูเราะฮฺหนึ่งที่เราได้ประทานมันลงมา และเราได้กำหนดเป็นข้อบังคับสิ่งที่มีอยู่ในมัน และเราได้ประทานโองการต่างๆ ที่มีอยู่ในนั้นให้เป็นบทบัญญัติอันชัดแจ้ง เพื่อพวกเจ้าจักได้รำลึกใคร่ครวญ
 
ในกฎหมายต่างๆ หมวดแรกจะเป็นมาตราทั่วไปไม่เจาะจง อายะฮฺแรกของซูเราะฮฺนี้ก็เช่นกัน  เป็นบทบัญญัติทั่วไปที่เรียกร้องความสนใจ ความศรัทธา และความตระหนักของผู้ศรัทธาในการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  
 
  ( سُورَةٌ - ซูเราะฮฺ)  มาจากคำว่า سُور (ซูร) แปลว่า รั้ว ซึ่งรั้วจะกั้นขอบเขตหนึ่ง  سُورَةٌ (ซูเราะฮฺ) เป็นขอบเขตของอายะฮฺจำนวนหนึ่งที่จะจำแนกระหว่างซูเราะฮฺต่างๆ จะเรียกว่า “หมวด” หนึ่งก็ได้เช่นเดียวกับกฎหมายทั่วไป ซูเราะตุนนูรนี้ประกอบด้วย กฎหมายอาญา กฎหมายครอบครัว รวมทั้งหมวดมารยาท (แต่กฎหมายสากลไม่สนใจเรื่องมารยาทจึงไม่มีหมวดนี้) 
 
  ﴾ سُورَةٌ أَنزَلْنَاهَا ﴿ - เป็นซูเราะฮฺที่เราประทานลงมา
หมายถึง เราได้รวบรวมบทบัญญัติจำนวนหนึ่งแล้วประทานลงมาแก่เจ้า
 
  ( وَفَرَضْنَاهَا )
فَرَضْ  (ฟะร็อด) มีสองความหมาย 
(1) กำหนดหรือบัญญัติ -  ก็จะมีความหมายว่า  เราได้ให้จำนวนหนึ่งเกี่ยวกับบทบัญญัติที่จะมีต่อไปนี้เป็นข้อบังคับที่สูเจ้าต้องปฏิบัติ  หรือเรารวบรวมบทบัญญัติจำนวนหนึ่งแล้วประทานลงมาให้กับสูเจ้า  
(2) เป็นข้อบังคับให้ปฏิบัติ - เพราะมาจากคำว่า ฟัรฏู   فَرَضْنَاهَا  -  เป็นซูเราะฮฺที่เราประทานลงมา  ส่วนมากของซูเราะฮฺเป็นฟารีเฏาะฮฺคือ จำเป็น(วาญิบ)ต้องปฏิบัติ มีบางเรื่องเป็นมารยาทที่ชอบให้กระทำ(มุสตะฮับ) แต่ไม่เป็นข้อบังคับ(วาญิบ)
 
  ( وَأَنزَلْنَا فِيهَا ) - และเราได้ประทานลงมาในบทบัญญัตินี้ในซูเราะฮฺนี้
 فِي  - ใน , هَا  - นี้ ;   فِيهَا   จึงแปลว่า ในซูเราะฮฺนี้หรือในนี้
“آيَاتٍ” (อายาต) - โองการ, อายะฮฺ, บทบัญญัติต่าง ๆ 
“بَيِّنَاتٍ  ” (บัยยินาต) - ที่ชัดแจ้ง  ไม่สงสัย  ไม่สับสน 
 
 (  لَّعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ ) - เพื่อให้สูเจ้านั้นรำลึกหรือพิจารณาอายะฮฺต่าง ๆ ที่เราจะสั่งสอนแก่พวกท่าน;
คำว่า تَذَكَّرُونَ  (ตะซักกะรูน) ถ้าแปลว่า รำลึก มันก็ใช่  เพราะ تَذَكُّر  (ตะซักกุร) หมายถึง ใช้สติ  ใช้หัวใจ  ใช้สมอง  
แต่ในอัลกุรอานมักจะใช้คำว่า  تَذَكَّرُونَ   กับผู้ที่มีศักยภาพในการปฏิบัติด้วย  เพราะคนที่พิจารณา รำลึกและใช้สมองในการคิดแล้วไม่ปฏิบัติจะไม่ใช้คำว่า  تَذَكَّرُونَ   เพราะคำว่า ตะซักกุร  หมายถึง  รำลึกด้วยความสำนึก  ถ้าไม่สำนึกจะไม่มีโอกาสปฏิบัติ  ถ้าเป็นการคิดอย่างเดียวจะไม่ใช้คำว่า  تَذَكَّرُونَ   คำ ๆ นี้ใช้กับคนที่คิดและสำนึก หมายถึง มีความตั้งใจในการที่จะปฏิบัติด้วย  เช่น ในซูเราะฮฺอัซซาริญาต อายะฮฺที่ 55
 
﴿ وَذَكِّرْ فَإِنَّ الذِّكْرَى تَنفَعُ الْمُؤْمِنِينَ ﴾
“และจงตักเตือนเถิด เพราะแท้จริงการตักเตือนนั้นจะให้ประโยชน์แก่บรรดาผู้ศรัทธา”
 
 ذَكِّرْ  (ซิกรฺ) นี้มาจาก  تَذَكَّرُونَ         
وَذَكِّرْ  (วะซักกิร) ท่านจงตักเตือน,  فَإِنَّ (ฟะอินนะ) แท้จริงนั้น,
الذِّكْرَى (อัซซิกรอ) จะแปลเป็นข้อเตือนนั้นไม่พอ  
فَإِنَّ الذِّكْرَى  (ฟะอินนัซซิกรอ) คือข้อเตือนที่รับความสำนึกแก่บรรดาผู้ศรัทธา  จะเรียกว่า คน  ذِّكْرَ 
 
 ดังนั้น ذِّكْرَ (ซิกรฺ) จึงหมายถึง กรณีที่มันชัดเจน  เมื่อใครฟังหรือได้ยิน  เมื่อเขามีอีหม่านแล้วก็จะนำไปปฏิบัติ  เพราะฉะนั้นเราก็ لَّعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ  
 

หมายเหตุ อักษรสีน้ำเงินในวงเล็บคืออายะฮฺอัลกุรอาน