5. อะมานะฮฺต่อสังคมโดยทั่วไป

Submitted by dp6admin on Thu, 06/12/2018 - 21:26

الأَمَانَةُ تِجَاهَ المُجْتَمَعِ ( الأُمَّة )
5. อะมานะฮฺต่อสังคมโดยทั่วไป

สังคมเปรียบประหนึ่งเรือนร่างเดียวกัน การที่จะรักษาร่างกายไว้ก็จำเป็นต้องรักษาอวัยวะทุกส่วน ดังนั้น มุสลิมทุกคนจึงมีหน้าที่ในการร่วมมือพัฒนาและปกป้องสังคมของเขาให้ยืนหยัดอยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง และสอดคล้องกับหลักศรัทธาและจริยธรรม ท่านนะบีมุฮัมมัด   ได้กล่าวไว้ว่า

( كُلُّكُمْ رَاعٍِ وَكُلُّكُمْ مَسْئُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ ، فَالإِمَامُ رَاعٍِ وَهُوَ مَسْئُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ ، وَالرَّجُلُ رَاعٍِ فِيْ أَهْلِهِ ، وَهُوَ مَسْئُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ ، وَالمَرْأَةُ رَاعِيَةٌ فِيْ بَيْتِ زَوْجِهَا وَهِيَ مَسْئُوْلَةٌ عَنْ رَعِيَّتِهَا ، وَالخَادِمُ رَاعٍ فِيْ مَالِ سَيِّدِهِ، وَهُوَ مَسْئُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ ، وَالرَّجُلُ رَاعٍ فِيْ مَالِ أَبِيْهِ وَهُوَ مَسْئُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ ، فَكُلُّكُمْ رَاعٍ وَكُلُّكُمْ مَسْئُوْلٌ عَنْ رَعِيَّتِهِ )

ความว่า “ทุกคนในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบ และทุกคนในหมู่พวกท่านต้องถูกสอบสวนต่อความรับผิดชอบของเขา ผู้นำเป็นผู้รับผิดชอบและต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา สามีเป็นผู้รับผิดชอบในครอบครัวของเขา และเขาต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา ภรรยาเป็นผู้รับผิดชอบในครอบครัวของสามีของนาง และนางต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของนาง และผู้รับจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในทรัพย์สินของผู้จ้าง และเขาต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา และชายคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบในทรัพย์สมบัติของบิดาของเขาและเขาต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา ดังนั้น ทุกคนในหมู่พวกท่านเป็นผู้รับผิดชอบ และทุกคนต้องถูกสอบสวนในความรับผิดชอบของเขา” (บันทึกโดยอิมามบุคอรียฺและมุสลิม)

หะดีษดังกล่าว ท่านนะบี   ได้อธิบายถึงบรรทัดฐานแห่งความรับผิดชอบในสังคมให้เห็นว่าอะมานะฮฺหรือความรับผิดชอบนั้นมิใช่เพียงแต่ความรับผิดชอบต่อตนเองเท่านั้น หากเป็นภารกิจต่อสังคมโดยทั่วไปในทุกตำแหน่ง ทุกระดับทุกยศทุกวัยและทุกสภาพ แต่เราจะสังเกตว่าความรับผิดชอบหรืออะมานะฮฺจะเพิ่มขึ้นเมื่ออยู่ในตำแหน่งสูงขึ้น อันเนื่องจากตำแหน่งที่สูงขึ้นนั้นจะขยายความรับผิดชอบและขอบเขตแห่งการดูแลให้เพิ่มขึ้น ดังนั้น ความรับผิดชอบของหัวหน้าหน่วยงานหนึ่ง จึงไม่เหมือนความรับผิดชอบของรัฐมนตรีกระทรวงหนึ่ง และความรับผิดชอบของผู้มีทรัพย์สินจำนวนน้อยก็ไม่เหมือนความรับผิดชอบของผู้มั่งคั่งร่ำรวย และความรับผิดชอบของผู้มีบุตรหลานน้อย ไม่เหมือนความรับผิดชอบของผู้มีบุตรหลานมากมาย

เราสามารถแยกประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมเป็น 2 ประการ

•    ประการแรก ความรับผิดชอบของผู้นำ

ศาสนาอิสลามถือว่า ผู้นำนั้นเป็นตำแหน่งอันทรงเกียรติยิ่งที่สังคมต้องมอบหมายการเชื่อฟังและความเคารพอย่างเต็มที่ จนกระทั่งถือว่าการเชื่อฟังผู้นำนั้นประหนึ่งการเชื่อฟังอัลลอฮฺและร่อซูล โดยมีเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดก็คือ เชื่อฟังในสิ่งที่สอดคล้องกับหลักการศาสนา ตราบใดผู้นำได้ใช้หรือปกครองสังคมในสิ่งที่ค้านกับหลักการศาสนา เขาก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับการเชื่อฟังจากสังคมด้วยประการทั้งปวง เพราะการรักษาหลักการศาสนานั้นเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้ตำแหน่งของผู้นำนั้นมีเกียรติยิ่ง แต่ถ้าหากตำแหน่งดังกล่าวมีบทบาทในการทำลายหลักการ ก็จำเป็นต้องรักษาหลักการเพื่อเป็นการรักษาเกียรติแห่งตำแหน่งนั่นเอง ดังที่ท่านนะบี    กล่าวไว้ว่า

 

( لا طَاعَةَ لأَحَدٍ فِيْ مَعْصِيَةِ اللهِ ،  إِنَّمَا الطَّاعَةُ فِيْ المَعْرُوْفِ )

ความว่า “ไม่มีการเชื่อฟังสำหรับคนหนึ่งคนใดในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนอัลลอฮฺ แท้จริงนั้น การเชื่อฟังในสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น” (บันทึกโดยบุคอรียฺและมุสลิม)

และท่านได้กล่าวไว้อีกว่า

( لا طَاعَةَ لِمَنْ لَمْ يُطِعِ اللهَ )
ความว่า “ไม่มีการเชื่อฟังแก่ผู้ที่ไม่เชื่อฟังอัลลอฮฺ” (บันทึกโดยอิมามอะหมัด)

เพราะฉะนั้น ผู้นำทุกคนที่มีตำแหน่งหน้าที่ในการดูแลสังคม ไม่ว่าจะกว้างขวางหรือไม่ ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการศาสนา อันเป็นบรรทัดฐานแห่งความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งตำแหน่งของผู้นำนั้นเป็นตำแหน่งแห่งการรับใช้ศาสนา โดยสังคมเป็นผู้มอบหมายตำแหน่งนั้นแก่เขา ซึ่งผู้นำต้องตระหนักถึงข้อบังคับที่อัลอิสลามได้กำหนดไว้สำหรับผู้ทำหน้าที่รับใช้สังคม นั่นก็คือการทำหน้าที่อย่างสุจริตและแสวงหาผลประโยชน์เพื่อส่วนรวม โดยไม่ให้ผลประโยชน์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับตำแหน่งหรือพรรคพวกของเขา และให้ปฏิบัติความยุติธรรมอย่างสุดความสามารถในทุกกรณี ดังที่อัลลอฮฺ   ตรัสไว้ว่า

﴿ إِنَّ اللهَ يَأْمُرُكُمْ أَنْ تُؤَدُّوْا الأَمَانَاتِ إِلَى أَهْلِهَا وَإِذَا حَكَمْتُمْ بَيْنَ النَّاسِ أَنْ تَحْكُمُوْا بِالعَدْلِ إِنَّ اللهَ نِعِمَّا يَعِظُكُمْ بِهِ إِنَّ اللهَ كَانَ سَمِيْعَاً بَصِيْرَاً  ﴾

ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้พวกเจ้าให้มอบคืนบรรดาของฝากแก่เจ้าของของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คน พวกเจ้าจะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม แท้จริงอัลลอฮฺทรงแนะนำพวกเจ้าด้วยสิ่งซึ่งดีจริงๆ แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงได้ยินและทรงเห็น” (อันนิซาอฺ 58)

ดังนั้น ผู้นำจึงมีหน้าที่รักษาสิทธิส่วนรวมของสังคมและสิทธิส่วนบุคคลด้วยเช่นเดียวกัน ทฤษฎีที่เน้นสิทธิส่วนตัวก็เป็นทฤษฎีแห่งสังคมทุนนิยม และทฤษฎีที่เน้นในสิทธิส่วนรวมเป็นทฤษฎีแห่งคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยม แต่ศาสนาอัลอิสลามให้เกียรติทั้งในสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิส่วนรวมโดยเสมอภาค อันเป็นแนวทางที่ยอดเยี่ยมในการปกครองสังคม ซึ่งต้องการฟื้นฟูในทุกระดับจนถึงระดับผู้นำสูงสุดของประชาชาติอิสลาม(ค่อลีฟะฮฺ) ที่ต้องมีภารกิจในการฟื้นฟูระบอบอิสลามอันสูงส่ง

สังคมมักจะมองว่าผู้นำเป็นผู้ที่ต้องรักษาสิทธิส่วนรวม แต่ค่อนข้างจะไม่ตระหนักในหน้าที่ของผู้นำที่ต้องรักษาสิทธิส่วนบุคคล อาทิเช่น การรักษาทรัพย์สินของสมาชิกในสังคม โดยไม่ยึดทรัพย์สินของบุคคลมาเป็นสิทธิของส่วนรวมโดยปราศจากหลักการและเหตุผล ในสมัยท่านค่อลีฟะฮฺอุสมาน อิบนุอัฟฟาน   ท่านมีโครงการจะขยายมัสยิดนะบะวียฺ จึงขออนุญาตจากประชาชนในการซื้อที่ดินบริเวณมัสยิดก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้าง ทั้งๆที่เป็นมัสยิดของนะบี   อันเป็นการแสดงถึงมาตรฐานในการรักษาทรัพย์สมบัติส่วนตัวของสมาชิกในสังคมและเป็นการป้องกันการละเมิดสิทธิผู้อื่นโดยไร้เหตุผล

อนึ่ง ผู้นำก็ยังมีหน้าที่รักษาสิทธิส่วนรวมมิให้เป็นของส่วนตัว โดยต้องแยกแยะระหว่างทรัพย์สินส่วนตัวของผู้นำและทรัพย์สินส่วนรวมของสังคม ท่านนะบีมุฮัมมัด   จึงไม่ยอมรับซะกาตและถือว่าซะกาตนั้นเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับนะบีมุฮัมมัดและลูกหลานของท่าน เพื่อแยกแยะระหว่างซะกาตที่เป็นสิทธิส่วนรวมและหน้าที่ของท่านในการแจกซะกาต

•    ประการที่ 2 การรักษาอะมานะฮฺต่อบุคคล

ซึ่งเป็นมารยาทที่ศาสนาได้สรรเสริญและให้เกียรติอย่างเต็มที่ อัลลอฮฺ  ได้ตรัสว่า

﴿ إِنَّ اللهَ يَأْمُرُكُمْ أَنْ تُؤَدُّوْا الأَمَانَاتِ إِلَى أَهْلِهَا ﴾
ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺทรงใช้พวกเจ้าให้มอบคืนบรรดาของฝากแก่เจ้าของของมัน” (อันนิซาอฺ 58)

และท่านนะบี   ได้กล่าวว่า

( أَدِّ الأَمَانَةََ إِلَى مَنِ ائْتَمَنَكَ وَلا تَخُنْ مَنْ خَانَكَ )
ความว่า “ท่านจงมอบคืนอะมานะฮฺให้แก่ผู้ที่ไว้วางใจท่าน และท่านอย่าทรยศผู้ที่ทรยศท่าน” (บันทึกโดยอบูดาวู้ดและติรมีซียฺ)

ถึงแม้ว่าผู้ที่ฝากอะมานะฮฺกับเราจะเป็นคนต่างศาสนิกหรือจะเป็นศัตรูอิสลามก็ตาม เพราะการรักษาอะมานะฮฺนั้นถือเป็นจริยธรรมแห่งความเป็นมุสลิม อิสลามจึงไม่เปิดโอกาสที่จะยกเว้นหรือบกพร่องไม่ว่าในกรณีใดๆ

มุอฺมินที่มีอะมานะฮฺก็คือมุอฺมินที่มีความรับผิดชอบใน 5 ประการที่อธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้ และผู้ที่ขาดอะมานะฮฺในบางส่วนที่ระบุข้างต้น ก็จะขาดอีมาน(ความศรัทธา)ในส่วนนั้น เพราะท่านนะบี   ได้กล่าวว่า

(لا إِيْمَانَ لِمَنْ لا أَمَانَةَ لَهُ وَلا دِيْنَ لِمَنْ لا عَهْدَ لَهُ)
ความว่า “ไม่มีอีมานสำหรับคนที่ไม่มีอะมานะฮฺ และไม่มีศาสนาสำหรับคนที่ไม่รักษาสัญญา”

(บันทึกโดยอิมามอะหมัดและอิบนุฮิบบาน)

สุดท้ายนี้ ขอสรุป หน้าที่(อะมานะฮฺ)ของมุสลิมต่อสังคม ในวาระดังต่อไปนี้

1) “ตำแหน่ง” มิใช่กรอบที่จะบังคับให้เราปฏิบัติหน้าที่ต่อสังคม หากเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะเอื้ออำนวยให้ช่วยเหลือสังคม แต่ทุกคนถึงแม้ว่าจะปราศจากตำแหน่งก็มีภารกิจและความรับผิดชอบต่อสังคมโดยทั่วไป จึงต้องตระหนักในหน้าที่นี้โดยไม่ยึดถือตำแหน่งเป็นเป้าหมายในการทำงานให้กับสังคม

2) รักษาอะมานะฮฺส่วนบุคคลเหมือนกับการรักษาอะมานะฮฺต่อส่วนรวม และเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องปฏิบัติอะมานะฮฺให้เป็นมาตรฐานเดียว โดยไม่เลือกปฏิบัติหรือใช้ความสุจริตกับพรรคพวกเพื่อนฝูงเครือญาติหรือผู้มีอำนาจบารมีเท่านั้น เพราะการรักษาอะมานะฮฺเป็นคุณลักษณะที่ต้องปรากฏอย่างสม่ำเสมอในทุกสถานการณ์และทุกเหตุการณ์

3) ความรับผิดชอบต่อสังคมขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ส่วนรวมซึ่งต้องรักษาไว้ แต่ถ้าหากว่าผลประโยชน์ดังกล่าวขัดกับหลักการของศาสนา ก็เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งและเป็นความรับผิดชอบ(อะมานะฮฺ)ที่ต้องรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่ให้ค้านกับหลักการศาสนา
 


ที่มา : หนังสือ อมานะฮฺคืออะไร ?, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี