2. อะมานะฮฺต่อศาสนทูตของอัลลอฮฺ

Submitted by dp6admin on Thu, 06/12/2018 - 21:21

الأَمَانَةُ تِجَاهَ الرَّسُوْلِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ
2. อะมานะฮฺต่อศาสนทูตของอัลลอฮฺ 

สำหรับผู้ศรัทธาแล้ว ไม่มีใครที่เป็นผู้นำในการปฏิบัติศาสนกิจและกิจกรรมในชีวิตของพวกเขาเหนือกว่าท่านนะบีมุฮัมมัด   ซึ่งเป็นผู้ที่นำบรรดาผู้ศรัทธาสู่แนวทางอันถูกต้อง ดังที่พระองค์อัลลอฮฺ   ตรัสไว้ว่า

﴿ وَإِنَّكَ لَتَهْدِيْ إِلَى صِرَاطٍ مُسْتَقِيْمٍ صِرَاطِ اللهِ ﴾

ความว่า “และแท้จริง เจ้าจะเป็นผู้แนะนำสู่ทางอันเที่ยงธรรมอย่างแน่นอน คือทางของอัลลอฮฺ” (อัชชูรอ 52-53)

ชีวิตของท่านนะบีมุฮัมมัด   นั้นเป็นแบบฉบับสำหรับผู้ที่ประสงค์จะปฏิบัติตามพระบัญชาของอัลลอฮฺ   อย่างถูกต้อง จึงไม่มีวิถีทางอื่นที่มุอฺมินจะประสบกับการยอมรับต่อการปฏิบัติศาสนกิจหรือการดำเนินชีวิตของเขา เว้นแต่ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์และบรรทัดฐานแห่งบทบัญญัติที่ท่านนะบี   ได้ชี้แนะไว้ ดังนั้นจึงเป็นภารกิจสำหรับมุอฺมินทุกคนต่อท่านนะบีมุฮัมมัด   ที่ต้องรักษาแนวทางของท่าน 3 ประการด้วยกัน คือ

1) การศึกษาซุนนะฮฺของท่านนะบี   อย่างกว้างขวาง

โดยสำรวจบทหะดีษของท่านเพื่อแสวงหาความถูกต้องในบทหะดีษต่างๆ และคัดเลือกบทหะดีษที่ได้รับการยืนยันจากบรรดานักปราชญ์ว่าเป็นคำพูดจริงๆ ของท่านนะบีมุฮัมมัด   มิใช่คำปรัชญาที่ถูกอ้างถึงนะบีจากเหล่านักรายงานต่าง ๆ และเป็นอะมานะฮฺที่สำคัญสำหรับผู้รู้ที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้หะดีษฎออีฟ(สายสืบอ่อนแอ)หรือเมาฎูวะ(คำพูดที่ถูกอ้างอิงถึงท่านนะบีมุฮัมมัด  โดยปราศจากสายสืบที่ถูกต้อง) ท่านนะบี ได้กล่าวว่า

( مَنْ كَذَبَ عَلَيَّ مُتَعَمِّداً فَلْيَتَبَوَّأْ مَقْعَدَهُ مِنَ النَّار )

ความว่า “ใครที่กล่าวเท็จโดยอ้างถึงฉัน จงเตรียมที่นั่งสำหรับเขาในนรก” (บันทึกโดยบุคอรียฺ)

2) การให้ความเคารพแก่ท่านนะบี   ทั้งในชีวิตและหลังชีวิตของท่าน

ซึ่งมีคำสั่งสอนในซูเราะฮฺอัลฟัตฮฺ อายะฮฺที่ 9 ว่า “เพื่อให้พวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ และให้ความช่วยเหลือเขา(รอซูล) และยกย่องให้เกียรติเขา(รอซูล) และแซ่ซ้องสดุดีพระองค์ทั้งในยามเช้าและยามเย็น” และในซูเราะฮฺอัลอะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 157 อัลลอฮฺ   ตรัสไว้ว่า “ดังนั้น บรรดาผู้ที่ศรัทธาต่อเขา และให้ความสำคัญแก่เขา และช่วยเหลือเขา และปฏิบัติตามแสงสว่างที่ถูกประทานลงมาแก่เขาแล้ว ชนเหล่านี้แหละคือบรรดาผู้ที่ประสบความสำเร็จ”

การให้ความเคารพแก่ท่านนะบี   มีหลายรูปแบบที่ต้องปฏิบัติ อาทิเช่น

2.1) การสดุดี(ศ่อละวาต)ท่านนะบีมุฮัมมัด เมื่อมีการเอ่ยชื่อท่าน

อัลลอฮฺตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ อายะฮฺที่ 56 ว่า “แท้จริงอัลลอฮฺและมะลาอิกะฮฺของพระองค์ประสาทพรแก่นะบี โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! พวกเจ้าจงประสาทพรให้เขา และกล่าวทักทายเขาโดยคารวะ

และท่านนะบี   ได้กล่าวว่า

( البَخِيْلُ مَنْ ذُكِرْتُ عِنْدَهُ فَلَمْ يُصَلِّ عَلَيَّ )

ความว่า “ผู้ตระหนี่ถี่เหนียวคือเมื่อชื่อฉันถูกกล่าว ณ ที่เขา เขาจะไม่สดุดีฉัน” (บันทึกโดยอิมามอะหมัด ติรมีซียฺ และนะซาอียฺ)

2.2) การให้เกียรติคำสั่งสอนของท่านนะบีมุฮัมมัด   โดยไม่ล้ำหน้าท่านด้วยการนำทัศนะของผู้อื่นมาลบล้างคำชี้ขาดของท่านนะบีมุฮัมมัด  

ดังที่พระองค์อัลลอฮฺ   ตรัสไว้ว่า “โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย พวกเจ้าอย่าได้ล้ำหน้า(ในการกระทำใดๆ) เมื่ออยู่ต่อหน้าอัลลอฮฺและรอซูลของพระองค์ พวกเจ้าจงยำเกรง อัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงได้ยิน  ผู้ทรงรอบรู้” (อัลหุญุร้อต 1) ดังนั้น ไม่บังควรสำหรับผู้ศรัทธาที่จะยึดมัซฮับใดๆ หรือทัศนะของผู้รู้คนหนึ่งคนใดที่ไม่มีคำสั่งสอนของท่านนะบีมุฮัมมัด   เป็นหลักฐานสนับสนุนทัศนะนั้นๆ ดังกล่าวนี้เป็นคำสั่งเสียของบรรดาอิมามมัซฮับต่างๆ จึงมีคำปรัชญาที่ถูกระบุในตำรานิติศาสตร์อิสลามจากนักปราชญ์ของแต่ละมัซฮับซึ่งมีใจความว่า “หากว่าหะดีษบทหนึ่งบทใดเป็นหะดีษศ่อเฮี้ยะฮฺนั่นก็คือมัซฮับของฉัน และการสนับสนุนคำสั่งสอนของท่านนะบีนั้น มิใช่อื่นใดนอกจากเป็นการสนับสนุนศาสนานั่นเอง ดังนั้นจึงเป็นจุดยืนอันมั่นคงสำหรับผู้ศรัทธาที่เคารพท่านนะบีมุฮัมมัด   ต้องนำคำสั่งสอนของท่านมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถึงแม้ว่าคำสั่งสอนนั้นจะค้านกับประเพณี คำสั่งสอนของบรรพบุรุษ หรือทัศนะของมัซฮับใดๆก็ตาม”

2.3) การให้เกียรติตำแหน่งความเป็นนะบี

ซึ่งจะทำให้เรามีหน้าที่ในการปกป้องความศักดิ์สิทธิ์ของตำแหน่งของท่าน อันเป็นภารกิจที่ประเสริฐของบรรดาผู้ศรัทธาในการอนุรักษ์ความเป็นรอซูลอันมีเกียรติของท่าน โดยไม่กระทำและไม่อนุญาตให้ผู้อื่นกระทำสิ่งที่เป็นการเยาะเย้ย ดูหมิ่น หรือละเมิดศักดิ์ศรีของท่าน และบรรดานักปราชญ์ในประชาชาติอัลอิสลามทุกสมัยมีมติเอกฉันท์(อิจญฺมาอฺ)ว่า ใครก็ตามที่ละเมิดตำแหน่งท่านนะบีมุฮัมมัด   ด้วยวาจาหรือพฤติกรรมก็ถือว่าตกศาสนา(เป็นมุรตัด)

เมื่อศตวรรษที่ 7 ฮิจเราะฮฺศักราช มีผู้ประณามท่านนะบีมุฮัมมัด   ด้วยคำหยาบคาย ท่านอิมามอิบนุตัยมียะฮฺได้วินิจฉัยพฤติกรรมดังกล่าว ในทัศนะอัลอิสลามและตามความเห็นของมัซฮับต่างๆ และได้สรุปว่า การประณามท่านนะบีมุฮัมมัด   เป็นการละเมิดพระบัญชาของอัลลอฮฺ   ที่ใช้ให้ผู้ศรัทธาจงรักภักดีต่อท่าน ดังนั้น จึงเป็นความเหมาะสมสำหรับผู้ประณามท่านนะบี   ที่จะต้องถูกประหารชีวิต ซึ่งท่านอิมามอิบนุตัยมียะฮฺได้บันทึกคำชี้ขาดดังกล่าวด้วยหลักฐานและข้อวินิจฉัยต่างๆที่เกี่ยวข้องไว้ในหนังสือเล่มใหญ่เรียกว่า “อัศศอริมุล มัสลูล อะลา ชาติมิรร่อซูล”

3) การอนุรักษ์ เผยแผ่ และปกป้องแนวทางของท่านนะบีมุฮัมมัด  

ในฐานะที่มุสลิมทุกคนเป็นผู้ตามท่านนะบีมุฮัมมัด   จึงถือเป็นอะมานะฮฺและภารกิจสำคัญยิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อซุนนะฮฺของท่าน นั่นก็คือการนำสัจธรรมจากซุนนะฮฺของท่านนะบี   ไปเผยแผ่ พร้อมทั้งลบล้างอุตริกรรมและความเท็จ ด้วยคำสั่งสอนของท่าน และให้คำสั่งสอนของท่านเปรียบเสมือนธรรมนูญหรือกฎหมายสูงสุดที่จะปกครองชีวิตของมุสลิมทุกๆคน โดยเป็นคำชี้ขาดตัดสินและพิพากษาทุกปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิม ดังที่มีพระดำรัสจากพระองค์อัลลอฮฺ   ว่า

﴿ فَلا وَرَبِّكَ لا يُؤْمِنُوْنَ حَتَّى يُحَكِّمُوْكَ فِيْمَا شَجَرَ بَيْنَهُمْ ثُمَّ لا يَجِدُوْا فِيْ أَنْفُسِهِمْ حَرَجَاً مِمَّا قَضَيْتَ وَيُسَلِّمُوا تَسْلِيْمَاً ﴾

ความว่า “มิใช่เช่นนั้นดอก ข้าขอสาบานด้วยพระเจ้าของเจ้าว่า เขาเหล่านั้นจะยังไม่ศรัทธาจนกว่าพวกเขาจะให้เจ้าตัดสินในสิ่งที่ขัดแย้งกันระหว่างพวกเขา แล้วพวกเขาไม่พบความคับใจใดๆ ในจิตใจของพวกเขาจากสิ่งที่เจ้าได้ตัดสินไป และพวกเขายอมจำนนโดยดุษฎี” (อันนิซาอฺ 65)
 


ที่มา : หนังสือ อมานะฮฺคืออะไร ?, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง