1. อะมานะฮฺในหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้า

Submitted by dp6admin on Wed, 05/12/2018 - 17:26

الأَمَانَةُ تِجَاهَ الله
1. อะมานะฮฺต่อพระผู้เป็นเจ้า

ประการนี้เป็นพื้นฐานแห่งอะมานะฮฺ ซึ่งมนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องตระหนักในหน้าที่ของเขาต่อพระผู้อภิบาล ผู้ทรงสร้างมนุษย์และจักรวาลทั้งปวง ในฐานะที่มนุษย์เป็นบ่าวของอัลลอฮฺ   จำเป็นต้องซาบซึ้งในภารกิจแห่งความเป็นบ่าว นั่นคือการเคารพภักดี(อิบาดะฮฺ)ต่อพระองค์อัลลอฮฺ    อย่างสม่ำเสมอ อัลลอฮฺ   ตรัสไว้ว่า

﴿ وَلَقَدْ وَصَّيْنَا الَّذِيْنَ أُوْتُوْا الكِتَابَ مِنْ قَبْلِكُمْ وَإِيَّاكُمْ أَنِ اتَّقُوْا اللهَ
وَإِنْ تَكْفُرُوْا فَإِنَّ لله مَا في السَّمَاوَاتِ وَمَا في الأَرْضِ وَكاَن اللهُ غَنِيَّاًَ حَمِيْدَاً ﴾

ความว่า “และแท้จริงเราได้สั่งเสียไว้แก่บรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์ก่อนจากพวกเจ้าและพวกเจ้าด้วยว่าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และหากพวกเจ้าปฏิเสธศรัทธา แท้จริงสิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าและสิ่งที่อยู่ในแผ่นดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงมั่งมี ผู้ทรงได้รับการสรรเสริญ” (อันนิซาอฺ 131)

และพระองค์ตรัสไว้อีกว่า

﴿ يَا أَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوْا لا تَخُوْنُوْا اللهَ وَالرَّسُوْلَ ﴾
ความว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงอย่าทุจริตต่ออัลลอฮฺและร่อซูล” (อัลอัมฟาล 27)

อายาตข้างต้นทำให้เราเข้าใจว่า มนุษย์ทุกคนมีหน้าที่ต้องศรัทธาและยำเกรงต่ออัลลอฮฺ   โดยต้องปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์อย่างเคร่งครัด และการฝ่าฝืนพระบัญชาของอัลลอฮฺ ถือว่าเป็นการทุจริตต่อพระองค์ หมายถึง ไม่รักษาอะมานะฮฺ(หน้าที่)ต่อพระองค์ ซึ่งอะมานะฮฺต่อพระองค์อัลลอฮฺที่มนุษย์ทุกคนต้องรักษาไว้นั้น แบ่งได้เป็น 3 ส่วน

1) อะมานะฮฺแห่งความศรัทธา :

หมายถึง ต้องศรัทธาตามหลักเชื่อมั่นที่มาจากอัลลอฮฺ   โดยต้องเชื่อในรุกุนอีมานต่างๆ และเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องอีมาน ตามที่มีอยู่ในอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านนะบีมุฮัมมัด   โดยไม่อนุญาตให้ออกนอกกรอบนี้ ซึ่งการละเมิดกรอบอีมานดังกล่าว ถือเป็นการทุจริตต่ออะมานะฮฺแห่งความศรัทธา เนื่องจากว่าเรื่องอีมานนั้นมีความสมบูรณ์ ถูกต้อง และรอบคอบอยู่แล้ว ไม่มีใครมีสิทธิที่จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับอีมานโดยปราศจากหลักฐานแห่งกิตาบุลลอฮฺและซุนนะฮฺของท่านนะบีมุฮัมมัด   อนึ่ง หลักอีมานนั้นเปรียบเสมือนความเชื่อที่พระองค์อัลลอฮฺทรงฝากไว้แก่บรรดาผู้ศรัทธาให้เชื่อมั่น ปฏิบัติตาม เผยแผ่ และต่อสู้ในหนทางนั้น ตราบใดที่มุอฺมินไม่บิดเบือนหลักอีมาน ไม่ละเมิดขอบเขตแห่งความศรัทธา โดยนำแนวปรัชญาหรือความคิดของมนุษย์ใดๆ หรือลัทธิแห่งศาสนาอื่นๆ มาปะปนกับหลักอีมานของศาสนาอิสลาม ก็ถือว่าเป็นมุอฺมินที่ได้รักษาอะมานะฮฺแห่งอีมานแล้ว

2) อะมานะฮฺแห่งการทำอิบาดะฮฺที่จำเป็นต้องปฏิบัติ (ฟัรฎู) :

มุอฺมินอยู่ในโลกนี้โดยต้องประกาศว่า ตนมีภารกิจอันจำเป็นต่อพระผู้เป็นเจ้า จึงต้องแสดงการสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ โดยเฉพาะในสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งใช้ให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ซึ่งการปฏิบัติระดับนี้ถือเป็นพื้นฐานแห่งหน้าที่ที่มุอฺมินทุกคนต้องกระทำ เช่น การละหมาดฟัรฎู 5 เวลา การถือศีลอดเดือนรอมฎอน การบริจาคซะกาตอันเป็นวายิบสำหรับผู้มีฐานะ การประกอบพิธีฮัจย์สำหรับผู้มีความสามารถ สี่ประการดังกล่าวถือเป็นรุกุนแห่งศาสนาอิสลามที่มุอฺมินทุกคนต้องปฏิบัติเพื่อ เป็นการยืนยันว่าตนเองมีศาสนามีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้า และข้อบกพร่องในรุกุนต่างๆดังกล่าวย่อมจะกระทบต่อหลักการศาสนา ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออะมานะฮฺของตนเองด้วย เพราะเป็นไปไม่ได้สำหรับมุสลิมที่จะรักษาอะมานะฮฺ(ของฝาก)ของมนุษย์อย่างสุจริต แต่เมื่อถึงเรื่องอะมานะฮฺแห่งพระผู้เป็นเจ้า(การละหมาดที่อัลลอฮฺทรงฝากไว้ให้ปฏิบัติ) เขากลับทุจริตต่อหน้าที่นี้อย่างไม่รู้สึกตัว จึงเป็นความบิดพลิ้วที่มุสลิมทุกคนจะต้องทบทวนตนเอง ถึงแม้ว่าสังคมจะยกย่องเราก็ตาม เราต้องคำนึงถึงสภาพอีมานและการทำหน้าที่ของเราต่อพระผู้เป็นเจ้าเป็นสำคัญ เพื่อเป็นการยืนหยัดในขั้นพื้นฐานแห่งการมีอะมานะฮฺ

อัลลอฮฺตรัสถึงบรรดาผู้สับปลับบิดพลิ้วไว้ว่า

﴿ وَإِذَا قَامُوا إِلَى الصَّلاةِ قَامُوْا كُسَالَى يُرَاءُوْنَ النَّاسَ وَلا يَذْكُرُوْنَ اللهَ إِلا قَلِيْلا ﴾

ความว่า “และเมื่อพวกเขาลุกขึ้นไปละหมาด พวกเขาก็ลุกขึ้นในสภาพเกียจคร้าน โดยให้ผู้คนเห็นเท่านั้น และพวกเขาจะไม่กล่าวรำลึกถึงอัลลอฮฺ นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น” (อันนิซาอฺ 142)

จากอายะฮฺนี้จะเห็นว่า การรักษาอะมานะฮฺในการปฏิบัติศาสนกิจเป็นเรื่องลำบากสำหรับผู้สับปลับ(มุนาฟิก) เพราะการรักษาอิบาดะฮฺจะทำให้พวกเขาลำบากใจ เนื่องจากพวกมุนาฟิกไม่มีความปรารถนาดีต่อพระผู้เป็นเจ้า แม้กระทั่งการลุกขึ้นไปละหมาดก็เป็นสิ่งที่เขาเกียจคร้าน และท่านนะบี   ก็กล่าวถึงลักษณะผู้สับปลับว่า  เป็นผู้ที่รู้สึกว่าการละหมาดซุบฮฺและละหมาดอิชาอฺเป็นภารกิจอันยากลำบากสำหรับพวกเขา ซึ่งลักษณะเหล่านี้จะไม่ปรากฏกับบรรดาผู้ศรัทธาที่รักษาอะมานะฮฺในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ แต่จะเห็นว่าการรักษาอะมานะฮฺในการทำอิบาดะฮฺนั้น เป็น สิ่งที่จะสร้างความสุขให้แก่ผู้ศรัทธา และจะเป็นความเมตตา ความสงบสุข และความจำเริญสำหรับชีวิตของพวกเขา

อนึ่ง การรักษาอะมานะฮฺในการปฏิบัติอิบาดะฮฺนั้น มิใช่เพียงรักษาจำนวนหรือการกระทำโดยปราศจากคุณภาพและความสวยงามแห่งการปฏิบัติอิบาดะฮฺ เสมือนว่าเป็นภารกิจที่ต้องการปฏิบัติให้พ้นไปเท่านั้น  ท่านนะบีมุฮัมมัด   ถือว่าบุคคลที่ละหมาดโดยไม่มีความสงบ นอบน้อม และไม่มีสมาธินั้น เปรียบเสมือนขโมยที่ทรยศทรัพย์สินผู้อื่น จึงเรียกคนที่ไม่ได้ละหมาดอย่างสมบูรณ์แบบว่า เป็นผู้ทรยศต่ออะมานะฮฺแห่งการทำอิบาดะฮฺ อันเป็นลักษณะที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะในอิบาดะฮฺที่เป็นวายิบ เพื่อขจัดข้อบกพร่องต่างๆ จนทำให้การปฏิบัติอิบาดะฮฺมีลักษณะสวยงาม หากมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นในการปฏิบัติอิบาดะฮฺภาคฟัรฎู ก็จำเป็นต้องรักษาอะมานะฮฺในขั้นต่อไป เพื่อเป็นการชดเชย(ทดแทน)ข้อบกพร่องดังกล่าว

3) อะมานะฮฺแห่งการทำอิบาดะฮฺที่ชอบให้กระทำ :

เป็นอิบาดะฮฺที่ศาสนาไม่บังคับให้ปฏิบัติ เพียงแต่เรียกร้องเชิญชวนให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติอิบาดะฮฺดังกล่าวด้วยความสมัครใจ แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจว่าการปฏิบัติอิบาดะฮฺที่เป็นซุนนะฮฺ(ไม่จำเป็นต้องกระทำ)นี้จะละทิ้งอย่างเด็ดขาดมิได้ เพราะการละทิ้งซุนนะฮฺอย่างเด็ดขาด เสมือนเป็นการไม่เอาใจใส่ต่อคำเรียกร้องหรือบทบัญญัติของศาสนา ถึงแม้ว่าจะมิใช่ข้อบังคับก็ตาม ท่านนะบีมุฮัมมัด   กล่าวไว้ว่า

( مَن رَغِبَ عَنْ سُنَّتِي فَلَيْسَ مِنِّي )
ความว่า
“ผู้ใดที่ละทิ้งแนวทางของฉัน ไม่ใช่พวกของฉัน”

แนวทางของท่านนะบีก็มีทั้งวายิบและซุนนะฮฺ ซึ่งอิบาดะฮฺวายิบนั้นไม่อนุญาตให้ละทิ้งเป็นอันขาด สำหรับอิบาดะฮฺที่เป็นซุนนะฮฺนั้นอนุญาตให้ละเว้นบ้าง แต่การละทิ้งซุนนะฮฺอย่างเด็ดขาดนั้นถือเป็นความผิดเช่นเดียวกัน โดยทั่วไปการปฏิบัติอิบาดะฮฺฟัรฎูย่อมมีข้อบกพร่องอยู่แล้ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรักษาอะมานะฮฺในการปฏิบัติสิ่งที่เป็นซุนนะฮฺ เพื่อเป็นการชดเชย ปรับปรุง และเสริมแต่งการปฏิบัติวายิบ
นั่นคือเคล็ดลับในการที่ศาสนบัญญัติได้แบ่งภารกิจของผู้ศรัทธา ในการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าให้มีทั้งสองอย่าง คือทั้งวายิบและซุนนะฮฺ เมื่อบกพร่องในการปฏิบัติวายิบ ก็จะมีทางแก้ไขปรับปรุงด้วยการปฏิบัติซุนนะฮฺ จึงเป็นสาเหตุที่จะทำให้บ่าวของอัลลอฮฺอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ ดังที่อัลลอฮฺ   ตรัสไว้ในหะดีษกุดซียฺว่า “และบ่าวของข้าจะรักษาการปฏิบัตินะวาฟิล (สิ่งที่ไม่ใช่วายิบ) จนกระทั่งข้าจะรักเขา และเมื่อข้ารักเขาแล้ว ข้าก็จะเป็นดวงตาของเขา หูของเขา มือที่ใช้สัมผัสของเขา เท้าที่ใช้เดินของเขา และเมื่อเขาเรียกร้องขอพรข้า ข้าก็จะตอบรับเขา และเมื่อเขาขอความคุ้มครองจากข้า ข้าก็จะคุ้มครองเขา”

จึงขอสรุป อะมานะฮฺต่อพระผู้เป็นเจ้า ในวาระดังต่อไปนี้

1)    ให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺ   ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ของพระองค์ อันเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของมุสลิม และเป็นอะมานะฮฺอันยิ่งใหญ่ที่ต้องยืนหยัดตลอดชีวิต
2)    ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าในทุกประการอย่างเคร่งครัด
3)    ขยันปฏิบัติหน้าที่ในการทำอิบาดะฮฺทุกชนิดด้วยความภูมิใจในความเป็นบ่าวที่รับใช้ และถวายชีวิตทรัพย์สินให้แก่พระองค์
4)    แสวงหาความรู้เกี่ยวกับคุณลักษณะของพระองค์อัลลอฮฺ   ซึ่งเป็นวิถีทางที่จะทำให้มุสลิมยิ่งใกล้ชิดกับพระองค์มากยิ่งขึ้น
5)    ให้เกียรติ เคารพ และเผยแผ่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อันเป็นวิธีสื่อสารระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า จึงเป็นอะมานะฮฺที่ต้องอ่าน ท่องจำ ปฏิบัติ ตัดสิน และเรียกร้องสู่หนทางของอัลกุรอาน
6)    รำลึกถึงอัลลอฮฺ   อย่างสม่ำเสมอ ด้วยการสรรเสริญพระองค์ ขอพรต่อพระองค์ และถวายอมั้ลอิบาดะฮฺต่างๆ แด่พระองค์
7)    แสวงหาทุกวิถีทางที่ทำให้ชีวิตมีคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อเป็นตัวอย่างแห่งบ่าวของอัลลอฮฺ   ที่ถูกใช้ให้บูรณะโลกนี้ด้วยความดี และดำรงชีวิตโดยให้ศาสนาของพระองค์เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิต
 


ที่มา : หนังสือ อมานะฮฺคืออะไร ?, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง