“อะมานะฮฺ” และ “อีมาน”

Submitted by dp6admin on Wed, 05/12/2018 - 17:25

الأَمَانَةُ وَالإِيْمَانُ
 “อะมานะฮฺ” และ “อีมาน”

    มนุษย์มีภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต คือการศรัทธา ในพระผู้เป็นเจ้า    การเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์อย่างเคร่งครัด  ซึ่งเป็นลักษณะของบ่าวของอัลลอฮฺ   ที่ได้รับคำสรรเสริญ ณ อัลกุรอาน ดังที่พระองค์ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัซซุมัร อายะฮฺที่ 17-18 ว่า

﴿ فَبَشِّرْ عِبَادِ الَّذِيْنَ يَسْتَمِعُوْنَ القَوْلَ فَيَتَّبِعُوْنَ أَحْسَنَهُ أُوْلَئِكَ الَّذِيْنَ هَدَاهُمُ اللهُ وَأُوْلَئِكَ هُمْ أُوْلُوْا الأَلْبَاب ﴾
ความว่า “ดังนั้น เจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่ปวงบ่าวของข้า บรรดาผู้ที่สดับฟังคำกล่าว แล้วปฏิบัติตามที่ดีที่สุดของมัน ชนเหล่านี้ คือบรรดาผู้ที่อัลลอฮฺทรงชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องแก่พวกเขา และชนเหล่านี้พวกเขาคือผู้ที่มีสติปัญญาใคร่ครวญ”

และในซูเราะฮฺอัลอะฮฺซาบ อายะฮฺที่ 36 อัลลอฮฺ   ตรัสไว้ว่า

﴿ وَمَا كَانَ لِمُؤْمِنٍِ وَلا مُؤْمِنَةٍ إِذَا قَضَى اللهُ وَرَسُوْلُهُ أَمْرَاً أَنْ يَكُوْنَ لَهُمُ الخِيَرَةُ مِنْ أَمْرِهِمْ
وَمَنْ يَعْصِ اللهَ وَرَسُوْلَه فَقَدْ ضَلَّ ضَلالاً مُبِيْنَاً ﴾

ความว่า “ไม่บังควรแก่ผู้ศรัทธาชายและผู้ศรัทธาหญิง เมื่ออัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ได้กำหนดกิจการใดแล้ว(คือเมื่ออัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ใช้ให้กระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด) สำหรับพวกเขาไม่มีทางเลือกในเรื่องของพวกเขา และผู้ใดไม่เชื่อฟังอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์แล้ว แน่นอน เขาได้หลงผิดอย่างชัดแจ้ง”

ด้วยคำสั่งสอนนี้ เราต้องเข้าใจว่ามนุษย์ในฐานะที่เป็นบ่าวของอัลลอฮฺ   ต้องมีความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบในการศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักเชื่อมั่น ซึ่งเป็น อะมานะฮฺ อันใหญ่หลวง และเป็นภารกิจยิ่งใหญ่ที่มนุษย์ต้องปฏิบัติ นั่นก็คือ การนับถือศาสนาอันเป็นสัจธรรมจากพระผู้เป็นเจ้า พร้อมทั้งปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์อย่างเคร่งครัด ดังที่อัลลอฮฺ   ทรงบัญชาไว้ในซูเราะฮฺอัลอะหฺซาบ อายะฮฺที่ 72 ว่า

﴿ إِنَّا عَرَضْـنَا الأَمَانَةَ عَلَى السَّـمَوَاتِ وَالأَرْضِ وَالْجِبَالِ فَأَبَيْنَ أَنْ يَحْمِلْنَهَا وَأَشْفَقْنَ مِنْهَا وَحَمْلَهَا الإِنْسَانُ إِنَّهُ كَانَ ظَلُوْمَاً جَهُوْلاً ﴾

ความว่า “แท้จริง เราได้เสนอ อัลอะมานะฮฺ (คือบทบัญญัติต่างๆทางศาสนาทั้งข้อใช้และข้อห้าม) แก่ชั้นฟ้าทั้งหลาย และแผ่นดิน และขุนเขาทั้งหลาย แต่พวกมันปฏิเสธการแบกรับมัน และกลัวต่อมัน (คือภาระอันหนักอึ้ง) แต่มนุษย์ต่างหากได้แบกรับมัน แท้จริงเขา(มนุษย์)เป็นผู้อธรรมงมงายยิ่ง”

อายะฮฺนี้แสดงถึงความยิ่งใหญ่ของ อะมานะฮฺ และชี้ถึงกรอบอันกว้างขวางของ อะมานะฮฺ ซึ่งทำให้เราตระหนักว่า เบื้องต้นของอะมานะฮฺ คือการศรัทธาในพระผู้อภิบาล และการเชื่อฟังพระบัญญัติของพระองค์ ดังนั้น การที่จะให้นิยาม อะมานะฮฺ โดยเกี่ยวพันกับการทำหน้าที่ หรือทำงานอย่างสุจริตในกิจกรรมของโลกนี้เท่านั้น ก็เป็นความเข้าใจที่ไม่สอดคล้องกับกรอบความหมายของ อะมานะฮฺ ดังที่มีระบุในอัลกุรอาน  ดังนั้น เป็นความจำเป็นที่ต้องศึกษากรอบแห่ง อะมานะฮฺ ตามที่มีในบทบัญญัติต่างๆ จึงขอแบ่งเรื่อง อะมานะฮฺ เป็น 5 ประการ

1.    อะมานะฮฺในหน้าที่ต่อพระผู้เป็นเจ้า
2.    อะมานะฮฺในหน้าที่ต่อศาสนทูตของพระองค์
3.    อะมานะฮฺต่อศาสนา
4.    อะมานะฮฺต่อตนเอง
5.    อะมานะฮฺต่อสังคมโดยทั่วไป

หากมุสลิมทุกคนสามารถปฏิบัติอะมานะฮฺให้ครอบคลุม 5 ประการดังกล่าว ย่อมจะเป็นบุคคลที่มีอะมานะฮฺ และอยู่ในกลุ่มชนที่มีลักษณะอะมานะฮฺซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ได้รับเกียรติ ได้รับการสรรเสริญจากอัลกุรอานและจากหะดีษของท่านนะบี   หลายบท นอกจากนี้สำหรับอะมานะฮฺแล้วเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษา คุ้มครองและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มิใช่คำชมเชยหรือตำแหน่งที่สังคมจะแต่งตั้งให้ มุสลิมทุกคนมีภารกิจอันสำคัญที่จะต้องทบทวนพิจารณาลักษณะอะมานะฮฺของตนเอง และพยายามเพิ่มเติมคุณลักษณะอันดีงามแห่งอะมานะฮฺในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ดังที่เราจะประจักษ์ในอรรถาธิบายต่อไปนี้
 


ที่มา : หนังสือ อมานะฮฺคืออะไร ?, เชคริฎอ อะหมัด สมะดี