ทำไมเราจึงต้องศึกษาประวัติศาสตร์อิสลาม

Submitted by dp6admin on Sat, 04/04/2009 - 00:16

การศึกษาศาสนาอิสลามเป็นเรื่องสำคัญในชีวิตของมุสลิม ซึ่งต้องเข้าใจว่าวิชาประวัติศาสตร์อิสลามเป็นวิชาที่เอื้ออำนวยให้มุสลิมได้รับความรู้ทางศาสนา มิใช่ข้อมูลหรือความรู้เกี่ยวกับเรื่องมนุษย์โดยทั่วไป เพราะเนื้อหาของประวัติศาสตร์มักเกี่ยวกับมนุษย์ ไม่เกี่ยวกับศาสนา คัมภีร์ หรือศาสนบัญญัติ

  

บรรดาอุละมาอฺหรือนักประวัติศาสตร์อิสลามถือเอาเรื่องประวัติศาสตร์อิสลามเป็นวิชาการที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลาม ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาวิชานี้มีบทบาทในการปรับสติปัญญาและชีวิตของมุสลิมให้มีศักยภาพในการดำเนินชีวิต " ตราบใดที่เรื่องราวของประวัติศาสตร์ไม่ส่งผลต่อการอีมาน การปฏิบัติศาสนกิจ และการดำเนินชีวิต อุละมาอฺจะถือว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องไร้สาระ ไม่จำเป็นต้องศึกษา แต่ถ้าหากเป็นเรื่องที่จะส่งผลในชีวิต ก็ต้องศึกษาและแสวงหาความรู้และสัจธรรมนั้น ๆ

 

ตัวอย่างเรื่องที่สังคมมักจะสับสนมาก คือ เรื่องศ่อฮาบะฮฺที่ขัดแย้งกัน ท่านอะลี อิบนุ อะบีฏอลิบ กับท่านมุอาวิยะฮฺ อิบนุ อะบีซุฟยาน การเกิดสงครามระหว่างศ่อฮาบะฮฺ เหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้บรรดาผู้ศรัทธาสับสนหรือสงสัยว่าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อันทำให้เราต้องศึกษาประวัติศาสตร์ เพราะหากไม่ศึกษาให้ถูกต้องก็จะมีผลกระทบต่อความเชื่อในเรื่องบรรดาศ่อฮาบะฮฺและความประเสริฐของบรรดาสาวกนบี หรืออาจกระทบเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับอีมาน ดังนั้น มุสลิมต้องพยายามแสวงหาสัจธรรมหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บางเรื่อง ทั้ง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องศาสนา แต่เกี่ยวข้องทางอ้อม

 

เรื่องบรรดานะบีและร่อซูลเป็นประวัติแห่งมนุษยชาติ ไม่ใช่ประวัติของประเทศใดประเทศหนึ่งหรือชาติใดชาติหนึ่ง บรรดานะบีและร่อซูลเป็นประวัติของแผ่นดินนี้ทั้งปวง แต่สังเกตได้ว่าหนังสือวิชาประวัติศาสตร์ดัง ๆ มักจะไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ เพราะถือว่าเรื่องความเป็นนะบี คัมภีร์ วะฮียฺ หรือริซาละฮฺต่าง ๆ เป็นเรื่องที่มนุษยชาติโดยทั่วไปไม่สนใจ แต่โดยเนื้อหาแล้ว เรื่องบรรดานะบีและร่อซูลเป็นประวัติศาสตร์ที่มนุษย์ต้องศึกษา

 

ชีวประวัติของท่านนะบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นบทเรียนสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตมุสลิม เพราะเป็นหลักฐานด้านพฤติกรรมของท่านนะบี ซึ่งถือว่าเป็นศาสนบัญญัติด้วย

 

ปัญหาของวิชาประวัติศาสตร์อิสลามมี 2 ประการ คือ

 

 (1) ประวัติศาสตร์อิสลามเป็นวิชาที่มีเนื้อหาเข้มข้น ต้องการการอธิบายหลายครั้ง บางคนจึงไม่ชอบ บางคนบอกว่าวิชาประวัติศาสตร์มีฮิจญเราะฮฺศักราช มีเรื่องเลขและเหตุการณ์ รู้สึกว่ายาก นี่คือโจทย์ที่ต้องแก้ว่าจะทำอย่างไรให้วิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่คนทั่วไปอยากศึกษาและได้ประโยชน์ มุสลิมทุกคนต้องช่วยกัน พยายามให้ข้อมูลของวิชาประวัติศาสตร์มีบทบาทหรือมีอิทธิพลในชีวิต 

 

(2)  ข้อจำกัดด้านเวลา เพราะวิชาประวัติศาสตร์มีข้อมูลมากมาย จึงต้องพยายามเลือกเนื้อหาที่มีความสำคัญ เน้นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ให้ข้อมูลของวิชาประวัติศาสตร์มีอิทธิพลต่อชีวิตของมุสลิม

 

วิชาประวัติศาสตร์อิสลามมองได้หลายแง่มุม แต่ตรงนี้คือในมุมที่บรรดามนุษยชาติทั้งหมดเป็นบ่าวของอัลลอฮฺ
"และมีเป้าหมายเดียวในการเคารพภักดีต่อพระองค์ ดังนั้น เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็สามารถชี้ได้ว่าใครผิดใครถูกตามหลักการศาสนา แต่ถ้ามองประวัติศาสตร์โดยใช้หลักสูตรแนววิเคราะห์ของนักประวัติศาสตร์อิสลาม ที่มีหลายหลักสูตร หลายมุมมอง อาจทำให้หลงไปจากประโยชน์ที่จะได้รับจากประวัติศาสตร์อิสลาม เช่น คนที่มองถึงชีวประวัติของท่านนะบี "ว่า เป็นประวัติของบุคคลที่ปฏิวัติสภาพของสังคมอาหรับที่ล้มเหลว เขาก็จะมองในแง่สังคมว่าบทบาทของนะบี "คือปฏิวัติสังคมและพัฒนาศักยภาพของชาวอาหรับ จากพวกอาหรับเร่ร่อนในชนบทหรือคนไม่เจริญ กลายเป็นสังคมที่มีกฎเกณฑ์ มองแค่นี้ไม่เพียงพอ มุสลิมต้องมองประวัติศาสตร์ในแง่บทเรียนที่จะได้รับ

 

 


ที่มา : เรียบเรียงจากการบรรยายของ เชคริฎอ อะหมัด สมะดี, 2547-01-02 ชีวประวัติท่านนบีมุฮัมมัด 01 (ทับช้าง)
วันที่ลงบทความ : 13 ก.ค. 49