การแบ่งแยกเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นในประชาชาติมุสลิม

Submitted by dp6admin on Tue, 07/04/2009 - 16:29

 

ก่อนอื่นท่านต้องทราบก่อนว่า แท้จริงแล้วท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกไว้ล่วงหน้าก่อนแล้วว่า ประชาชาติมุสลิมจะแบ่งแยกออกเป็นพวกๆ มากกว่าเจ็ดสิบจำพวกดังหะดีษที่ว่า

افترقت اليهود على إحدى وسبعين فرقة، وافترقت النصارى على اثنتين وسبعين فرقة، وستفترق هذه الأمَّة على ثلاث وسبعين فرقة ،كلها في النار إلاَّ واحدة) وفي روايةٍ صحيحة :  قالوا : من هُمْ يا رسول الله ؟  قال : مَنْ كانُوا على مثل ما أنا عليه اليوم وأصحابي

ความว่า พวกยิวได้แบ่งออกเป็นเจ็ดสิบเอ็ดจำพวก พวกคริสต์ได้แบ่งออกเป็นเจ็ดสิบสองจำพวก และประชาชาติของฉันจะแบ่งออกเป็นเจ็ดสิบสามจำพวก ทั้งหมดอยู่ในไฟนรก นอกจากพวกเดียวเท่านั้น

มีรายงานที่ถูกต้องอีกว่า :  พวกเขาถามว่า โอ้รอซูลุลลอฮฺ พวกที่รอดพ้นเป็นพวกไหน? ท่านนบีตอบว่า พวกที่อยู่บนแนวทางเหมือนกันกับฉันและบรรดาสาวกของฉัน

      

      จากหะดีษบทนี้เราทราบได้ทันทีว่าการแบ่งแยกในประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นต้องเกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากข้อความที่ท่านได้บอกไว้นั้นชัดเจน แต่ทว่าการเจาะจงตัวกันนั้นคงจะไม่มีใครทราบได้นอกจากลักษณะอันชัดเจ้งเท่านั้น คือกลุ่มที่มีการปฏิบัติไม่ตรงกับแนวทางของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และบรรดาสาวกของท่าน

            และที่จะต้องรู้อีกก็คือ เรื่องที่มีความขัดแย้งกันแล้วทำให้ผู้ที่ขัดแย้งนั้นเห็นไม่ตรงกับแนวทางของบรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จนเกิดเป็นกลุ่มต่างๆขึ้นมากมายนั้นเป็นเรื่องหลักของอะกีดะฮฺ เช่น อัลกอฎออฺวัลกอดัร คุณลักษณะของอัลลอฮฺ บรรดานบี การศรัทธาในสิ่งเร้นลับ และความศรัทธามั่นในหมู่เศาะฮาบะฮฺ

            ดังนั้น ผู้ใดที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับบรรดาเศาะฮาบะฮฺในเรื่องหนึ่งเรื่องใดที่กล่าวไปแล้วนั้น(หมายถึงเรื่องอะกีดะฮฺ) พวกเขาก็เป็นพวกที่หลงผิด ทำตัวเป็นผู้ตั้งแนวทางศาสนาใหม่ มิใช่กลุ่มที่ดำเนินตามแนวซุนนะฮฺ หากมีความคิดเห็นต่างออกไปมากมายหลายประเด็น แต่ถ้าหากมีความคิดเห็นไม่ตรงกันเพียงประเด็นเดียวที่ไม่เป็นอันตรายก็ยังไม่ถูกนับว่าเป็นผู้อยู่นอกแนวทางของอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ ดังที่เคยมีรายงานว่า ชาวสะลัฟบางคนมีความเห็นว่า ท่านอะลี บินอบีฏอลิบ ดีกว่าท่านอุษมาน บินอัฟฟาน (ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา)  แม้ความเห็นนี้จะไม่ตรงกับความเห็นของชาวสะลัฟส่วนมากที่มีหลักฐานชัดเจนว่าท่านอุษมานนั้นดีกว่าท่านอะลี ก็มิได้ทำให้ผู้ที่เห็นว่าท่านอะลีดีกว่าเป็นผู้หลงผิดหรือผู้ตั้งศาสนาใหม่แต่อย่างใด

            ส่วนผู้ที่มีความเห็นว่า ท่านอะลี บินอบีฏอลิบ ดีกว่าเศาะฮาบะฮฺทั้งหมดรวมทั้งท่านอบูบักรและท่านอุมัรด้วยนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาหลงผิดและเป็นพวกที่ตั้งศาสนาใหม่อย่างแน่นอน นอกเหนือไปจากนี้ก็มีพวกที่กล่าวว่าบรรดาเศาะฮาบะฮฺทั้งหลายเป็นกาฟิรที่ไม่ต้องขอดุอาอฺให้ และไม่ยอมรับว่าบรรดาเศาะฮาบะฮฺเหล่านี้มีคุณงามความดีเหนือกว่าใคร พวกที่คิดอย่างนี้เป็นพวกที่หลงทางอย่างหนัก ไม่มีกลิ่นอายของซุนนะฮฺอยู่ในหมู่ของพวกเขาเลย

            ส่วนเรื่องความเห็นที่ไม่ตรงกับอะฮฺลุซซุนนะฮฺนั้น เจ้าของความเห็นก็ยังไม่สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิมเสียทีเดียว นักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเจ็ดสิบสามจำพวกนั้นยังเป็นมุสลิมอยู่ ซึ่งมีข้อยืนยันจากหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั่นเองตรงที่ว่าประชาชาติของฉันจะแตกแยก ซึ่งท่านยังถือว่าทั้งหมดนั้นยังเป็นอุมมะฮฺของท่านอยู่ ท่านจะไม่ถือว่าเป็นอุมมะฮฺของท่านนอกจากผู้ที่เป็นมุสลิมเท่านั้น และในหะดีษนั้นยังได้บอกอีกว่า พวกเขาเข้าสู่นรก นั่นก็มิได้หมายความว่าจะอยู่ในนั้นตลอดกาล หากเป็นการถูกไฟนรกเพื่อตอบแทนการกระทำของพวกเขาที่หลงผิดและไม่กระทำตามความจริงหลังจากที่พวกเขาได้ทราบดีแล้ว

            จากตรงนี้เราได้ทราบว่ากลุ่มของอะฮฺลุซซุนนะฮฺไม่ถือว่าพวกเหล่านี้เป็นกาฟิร แต่เป็นผู้หลงไปจากแนวทางที่ถูกต้องซึ่งจำเป็นต้องชี้แจงและต่อต้านพวกเขาในการทำอุตริกรรม เพื่อชำระและจัดการสังคมมุสลิมให้พ้นจากพิษภัยของพวกเขา

           ส่วนพวกที่หลุดไปจากกรอบของอิสลามนั้น มีบางพวกที่ยังอ้างตนถึงอิสลามอยู่เช่น พวกอิสมาอีลียฺ กอดยานียฺ บาไฮ ดุรซียฺ บุรฮานียฺ ฯลฯ ซึ่งมีความแตกต่างมากในเรื่องของรากฐานศาสนา เช่น การปฏิญาณด้วยคำปฏิญาณทั้งสอง, ฟัรฎูการละหมาด, จำนวนร็อกอะฮฺ, กิบลัต, พื้นฐานของการปฏิบัติอิบาดะฮฺ ฯลฯ

            เรื่องที่ควรจะทราบต่อไปก็คือข้อขัดแย้งที่บางทีจะถึงขั้นนำพาไปสู่การแตกแยกกัน ซึ่งข้อขัดแย้งอาจมีทั้งที่ไม่เป็นเรื่องหนักจากความเห็นที่ไม่ตรงกันหรืออาจจะเป็นเรื่องหนักที่รับไม่ได้ ข้อขัดแย้งเห็นไม่ตรงกันอาจจะเป็นไปได้และมีได้ในกรณีที่เป็นเรื่องปลีกย่อยทางฟิกฮฺ เนื่องจากหลักฐานคลุมเครือหลายแง่มุมที่ทั้งสองฝ่ายนำมาเป็นข้อยืนยันและหลักฐานนั้นไม่ใช่ตัวบทที่เด็ดขาด เช่นคำเดียวมีความหมายเดียวไม่มีอย่างอื่น หรือเป็นหลักฐานที่มีการให้ความหมายเด็ดขาดได้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ดังเช่นที่มีความเห็นไม่ตรงกันในการอ่านฟาติหะฮฺของมะอฺมูมในละหมาดที่อิมามอ่านดังว่ามะอฺมูมจะต้องอ่านด้วยหรือไม่? ในเรื่องนี้เป็นเรื่องปลีกย่อยทางฟิกฮฺ ซึ่งหลักฐานมีทั้งสองอย่าง ดังนั้นทุกคนที่เป็นมุจตะฮิดในประเด็นนี้จะมีผลบุญ อินชาอัลลอฮฺ

            ส่วนเรื่องการขัดแย้งที่ไม่สมควรจะเกิดขึ้นคือในเรื่องของหลักใหญ่เกี่ยวกับอะกีดะฮฺหรือเรื่องปลีกย่อยที่มีหลักฐานชัดเจนทางเดียวไม่มีช่องทางในการขัดแย้ง ตัวอย่างของการขัดแย้งในเรื่องอะกีดะฮฺ เช่น ความเห็นของบางกลุ่มในเรื่องพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺที่ใช้ตีความ หรือปฏิเสธ หรือบอกวิธีด้วยการเปรียบเทียบการใช้ความเห็น การขัดแย้งในรูปนี้ไม่มีช่องทางให้และใช้ไม่ได้ เพราะว่าบรรดาสลัฟนั้นมีความคิดเห็นตรงกันว่าต้องศรัทธาต่อพระนามและคุณลักษณะของอัลลอฮฺอย่างไม่ต้องตีความ ไม่ต้องปฏิเสธและเปรียบเทียบบอกวิธีการใดๆทั้งสิ้น หรือความขัดแย้งในข้อปลีกย่อยทางด้านฟิกฮฺซึ่งมีหลักฐานชัดเจนอยู่แล้ว เช่น มีทัศนะว่าอนุญาตให้รวมละหมาดได้ระหว่างดุฮฺริกับอัศริ มัฆริบกับอิชาอฺทุกๆวัน โดยไม่ต้องมีอุปสรรคใดๆ ทัศนะอย่างนี้ไม่ตรงกับหลักฐานที่ชัดเจน จากประวัติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นเคยละห มาดทุกครั้งเมื่อถึงเวลายกเว้นในกรณีที่มีอุปสรรค เช่น เดินทาง ฝนตกหนัก ป่วย หรืออื่นๆ

            และจากตรงนี้เราทราบได้ว่าความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในเรื่องฟิกฮฺ เราจะต้องไม่ตัดสินว่าผู้ที่มีความเห็นไม่ตรงนั้นจัดว่าเป็นกลุ่มหลงผิด แม้จะรู้ว่าความคิดเห็นของเขานั้นไม่ถูกต้อง เพราะความเห็นแตกต่างในเรื่องฟิกฮฺนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคของเศาะฮาบะฮฺแล้ว แม้แต่ยุคของท่านนบีก็ยังมีบรรดาเศาะฮาบะฮฺและตาบิอีน ตลอดจนกลุ่มของอิหม่ามท่านต่างๆ ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็ไม่มีใครว่าใครเป็นผู้หลงผิดหรือเป็นผู้ทำบิดอะฮฺ ทว่าพวกเขาจะว่าหลงผิดหรือบิดอะฮฺเมื่อมีผู้ขัดแย้งในเรื่องของพื้นฐานแห่งความเชื่อมั่น เพราะในเรื่องนี้ไม่มีใครจากกลุ่มของสลัฟขัดแย้งกันเลย ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นต่างกับชาวสลัฟในเรื่องนี้ก็เท่ากับว่าเป็นฝ่าฝืนส่วนรวมและอยู่ในความหมายของอายะฮฺที่ 115 จากซูเราะฮฺอันนิซาอฺที่ว่า

وَمَنْ يُشَاقِقِ الرَّسُولَ مِنْ بَعْدِ مَا تَبَيَّنَ لَهُ الْهُدَى وَيَتَّبِعْ غَيْرَ سَبِيلِ الْمُؤْمِنِينَ نُوَلِّهِ مَا تَوَلَّى وَنُصْلِهِ جَهَنَّمَ وَسَاءَتْ مَصِيرًا (115)

ความว่า และผู้ใดที่ฝ่าฝืนร่อซูลหลังจากที่คำแนะนำอันถูกต้องได้ประจักษ์แก่เขาแล้ว และเขายังปฏิบัติตามทางที่ไม่ใช่ทางของบรรดาผู้ศรัทธานั้น เราก็จะให้เขาหันไปตามที่เขาได้เห็นไฟ และเราก็จะให้เขาเข้านรกญะฮันนัม และมันเป็นที่กลับอันชั่วร้าย

 

             ดังนั้นสำหรับความขัดแย้งที่ความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องที่มีพื้นฐานไม่ชัดเจนเป็นไปได้นั้น ก็สมควรที่จะไม่มีการกล่าวหากันว่าเป็นบิดอะฮฺ เป็นคนหลงผิด ฟาซิก หรือกาฟิร ซึ่งต่างจากการขัดแย้งในเรื่องที่ชัดเจนไม่มีเหตุให้ขัดแย้งใดๆเลยนั้น จึงจะเรียกผู้ขัดแย้งว่าเป็นผู้ทำบิดอะฮฺ หลงผิด คนฟาซิก หรือกาฟิร ตามสภาพของปัญหาที่ขัดแย้งนั้น เช่น การทำบิดอะฮฺในเรื่องซิกรุลลอฮฺโดยมีการเต้นหรือโยกไปมาอย่างพวกซูฟี, พวกที่หลงผิดยกท่านอะลีว่าเหนือกว่าท่านอบูบักรและท่านอุมัร หรือผู้ที่ประณามด่าว่าบรรดาเศาะฮาบะฮฺและตาบิอีน(ริดวานุลลอฮฺอะลัยฮิม), ผู้ที่เป็นกาฟิร เช่น พวกที่เชื่อว่ายังมีนบีอีกหลังจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อย่างพวกก๊อดยานียฺที่เชื่อว่า มิรซา ฆุลาม อะหมัด เป็นนบี เป็นต้น

 


จากหนังสือ "กลุ่มต่างๆในอิสลาม (منهج الفرق)", เชคริฎอ อะหมัด สมะดี

วันที่ลงบทความ : 12 ก.ย. 50