ท่านชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺถูกถามว่า ชายสองคนได้ขัดแย้งกันในประเด็นว่า เมื่อวันอีดตรงกับวันศุกร์ คนหนึ่งกล่าวว่า จำต้องละหมาดอีดและไม่ต้องละหมาดญุมุอะฮฺ อีกคนหนึ่งกล่าวว่า ต้องละหมาดญุมุอะฮฺเช่นเดียวกัน ทัศนะใดที่ถูกต้อง ?
ท่านอิบนุตัยมียะฮฺตอบว่า เมื่อวันศุกร์ตรงกับวันอีดในวันเดียวกัน บรรดาอุละมาอฺมีอยู่ 3 ทัศนะ
ทัศนะแรก - การละหมาดญุมุอะฮฺเป็นวาญิบ(จำเป็นต้องทำ)สำหรับคนที่ได้ละหมาดอีดด้วย ดังเช่นทุกวันศุกร์ เนื่องด้วยหลักฐานต่างๆที่บ่งถึงความจำเป็นในการปฏิบัติละหมาดญุมุอะฮฺ (หมายถึงไม่มีข้อเว้น)
ทัศนะที่ 2 - การละหมาดญุมุอะฮฺไม่ต้องปฏิบัติสำหรับชาวชนบทและคนเร่ร่อน เพราะท่านอุษมาน อิบนุอัฟฟาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ อนุโลมให้คนกลุ่มนี้ละทิ้งการละหมาดญุมุอะฮฺเมื่อท่านได้ละหมาดอีดกับพวกเขา(หมายรวมว่า อนุญาตไม่ให้ละหมาดยุมุอะฮฺที่มัสญิด แต่ให้ละหมาดดุฮฺริที่บ้านของตนก็ได้)
ทัศนะที่ 3 - ซึ่งเป็นทัศนะที่ถูกต้องคือ ใครที่ละหมาดอีดแล้วการละหมาดญุมุอะฮฺก็ถูกเว้นไป แต่สำหรับอิหม่ามจำต้องดำรงการละหมาดญุมุอะฮฺเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสงค์จะละหมาดญุมุอะฮฺได้มีที่ละหมาดและสำหรับคนที่ไม่ได้ละหมาดอีด(จะได้มีที่ละหมาดญุมุอะฮฺด้วย) และนั่นคือการปฏิบัติที่มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และสาวกของท่าน อาทิเช่น ท่านอุมัร, อุษมาน, อิบนุมัสอู๊ด, อิบนุอับบาส, อิบนุซุบัยรฺ, และอื่นๆ โดยไม่มีทัศนะอื่นจากเศาะฮาบะฮฺดังกล่าวที่แย้งกับทัศนะนี้
และสำหรับสองทัศนะแรกเขาก็ไม่ได้รับรู้หลักฐานจากซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เกี่ยวกับกรณีวันศุกร์ตรงกับวันอีด ซึ่งท่านนบีละหมาดอีดและอนุโลม(ให้เว้น)การละหมาดญุมุอะฮฺ และมีอีกสำนวนหนึ่งท่านนบีกล่าวว่า
"โอ้ผู้คนทั้งหลาย แท้จริงพวกท่านได้ประสบความดีแล้ว(คือละหมาดอีด) ดังนั้นใครประสงค์ที่จะละหมาดญุมุอะฮฺ(ด้วย)ก็จงปรากฏตัว เพราะเราจะละหมาดญุมุอะฮฺ(ด้วย)"
อนึ่ง ผู้ที่ละหมาดอีดแล้วจะถือว่าประสบวัตถุประสงค์ของการชุมนุม(ในวันศุกร์) และจำเป็นต้องละหมาดดุฮฺริถ้าไม่ได้ละหมาดญุมุอะฮฺ โดยละหมาดดุฮฺริตามเวลา เพราะการละหมาดอีดนั้นได้บรรลุเป้าหมายของละหมาดญุมุอะฮฺแล้ว และการบังคับให้ผู้คน(ละหมาดญุมุอะฮฺด้วย) เป็นความลำบากสำหรับพวกเขา และอาจขัดกับเป้าหมายของวันอีดที่ส่งเสริมให้สนุกสนานและประพฤติตัว(ตามอัธยาศัย) ซึ่งหากพวกเขาถูกบังคับให้ละหมาดญุมุอะฮฺก็เป็นการทำลายเป้าหมายของวันอีด ซึ่งวันญุมุอะฮฺเป็นอีดและวันอัลฟิฏรฺ(อีดเล็ก)กับวันอันนะหรฺ(อีดใหญ่)เป็นวันอีดเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นนโยบายของพระผู้บัญญัติเมื่อมีอิบาดะฮฺสองชนิดได้ปรากฏพร้อมกันก็จะประสมประสานกันเช่นเดียวกับการอาบน้ำละหมาดที่เข้าอยู่ในการอาบน้ำญะนาบะฮฺ วัลลอฮุอะอฺลัม
(อ้างอิงจาก มัจญฺมูอฺอัลฟะตาวา, ชัยคุลอิสลามอิบนุตัยมียะฮฺ เล่ม 24 หน้า 210-211)
โดย เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
วันที่ลงบทความ : 9 ต.ค. 50 (27 รอมฎอน 1428)
เก็บตก "อีดตรงวันศุกร์"
1- แม้จะมีข้ออนุโลมสำหรับผู้ชายที่ละหมาดอีดแล้ว ไม่จำเป็นต้องละหมาดจุมอะฮ หรือเลือกจะไม่ละหมาดอีดแต่ต้องละหมาดจุมอะฮนั้น ที่ดีกว่าให้ละหมาดทั้งอีดและจุมอะฮ เพราะเป็นสิ่งที่ท่านนบีทำ
2- ถึงจะมีข้ออนุโลมไม่ต้องละหมาดจุมอะฮ(ตามข้อ1)แต่ไม่มีข้ออนุโลมเลยที่จะทิ้งละหมาดดุฮรี่
3- สำหรับเจ้าหน้าที่มัสจิดไม่ได้รับขออนุโลมนี้(เช่นอิหม่ามคอตีบเป็นต้น)
4- สำหรับผู้ที่ไม่ละหมาดจุมอะฮ(ตามข้อ1) ไม่อนุญาตที่จะแสดงตนให้พี่น้องมุสลิมเห็นว่าทิ้งจุมอะฮ เพราะนอกจากเสียมารยาท และยังทำลายภาพรวมของอิบาดะฮที่มีความสำคัญมากกว่าการละหมาดอีด
5- สำหรับ #พี่น้องที่ยึดเดือนสากล อยู่ในพื้นที่ที่เขายึดเดือนท้องถิ่นและออกอีดไม่ตรงกัน(เหมือนปีนี้)ควรใช้ข้ออนุโลมให้ #เว้นละหมาดอีดดีกว่า และร่วมละหมาดจุมอะฮในชุมชน
6- สำหรับพี่น้องที่วางแผนละหมาดอีดและเดินทางต่างจังหวัด เหมาะสมเลยที่จะเว็นละหมาดจุมอะฮให้ละหม่าดดุฮรี่อัศรี่รวม
7- สำหรับคนที่เลือกไม่ละหมาดจุมอะฮ และจะละหมาดดุฮรี่ ไม่ควรละหมาดดุฮรี่ที่มัสจิดที่เขามีจัดละหมาดจุมอะฮ แต่ให้เลือกมัสจิดที่ไม่มีละหมาดจุมอะฮหรือละหมาดที่บ้านไปเลย
8- ข้ออนุโลม(رُخصَة)เป็นช่องทางที่ศาสนาอำนวยความสะดวกให้เกิดความเรียบร้อย ดังนั้นอย่าใช้ข้ออนุโลมใดๆในการสร้างความสับสนหรือความแตกแยก
9- ทุกคนมีสิทธ์ที่จะปฏิบัติตามทัศนะที่ตนเองเชื่อ เพียงอย่าทำให้คนอื่นเสียหายและอย่าบังคับให้คนอื่นต้องทำตาม ถ้าเขาไม่สมัครใจ
10- #ความแตกต่างในสังคมต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจ จะได้นำมาซึ่งความพอใจ❤
เชคริฎอ อะหมัด สมะดี
20/4/66
- Log in to post comments
- 522 views