13. การแก้ศีลอด

Submitted by dp6admin on Sun, 30/08/2009 - 20:11

13.1 ผู้ถือศีลจะแก้ศีลอดเมื่อใด ?

อัลลอฮฺตะอาลาได้ตรัสไว้ว่า

﴿ ثُمَّ أَتِمُّواْ الصِّيَامَ إِلَى الَّليْلِ ﴾
ความว่า “แล้วจงถือศีลอดให้ครบบริบูรณ์จนถึงเวลาพลบค่ำ” (2/187)

ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้อธิบายถึงเวลาแก้ศีลอดไว้ว่า เมื่อเวลาพลบค่ำได้คืบคลานเข้ามา และเวลากลางวันได้ผ่านพ้นไป และดวงอาทิตย์ได้ลับขอบฟ้าไปแล้ว

ดังนั้นหลักฐานต่างๆ ที่เราได้นำมาเสนอนั้นย่อมจะนำความมั่นใจให้แก่พี่น้องมุสลิมที่ดำเนินตามแนวทางแห่งความถูกต้องอย่างแน่นอน อินชาอัลลอฮฺ

คำกล่าวของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และการปฏิบัติของท่านได้เป็นที่ประจักษ์แจ้ง ปราศจากการคลุมเครือหรือเคลือบแฝงแต่ประการใด ตลอดจนกิจกรรมและการกระทำของบรรดาสาวกชั้นนำ ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว เพราะบรรดาสาวกเหล่านั้นได้ปฏิบัติตามและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ประชาชาติในยุคหลังๆ ดังเช่นมีรายงานจากอัมร อิบนฺมัยมูน อัลเอาดีย์ ได้กล่าวไว้ว่า

( كَانَ أَصْحَابُ مُحَمَّدٍ صَلَى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَسْرَعُ النَّاسِ  إِفْطَاراً وَأَبْطَأَهُمْ سُحُوْرَاً )
أخرجه عبد الرزاق بإسناد صححه الحافظ في الفتح الهيثمي في مجمع الزوائد

ความว่า “บรรดาสาวกของมุฮัมมัด เป็นผู้รีบเร่งในการแก้ศีลอดอย่างยิ่ง และเป็นผู้ล่าช้าในการกินสะฮูร”  บันทึกโดย : อับดุรรอซซาก ในหนังสืออัลมุศ็อนนัฟ

13.2 รีบเร่งในการละศีลอด

ท่านพี่น้องมุอฺมินผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์ตกดินแล้ว ท่านจะต้องรีบแก้ศิลอดทันที โดยไม่ต้องคำนึงถึงแสงแดงเข้มที่ยังคงเหลืออยู่บนขอบฟ้า ในการนี้เป็นการปฏิบัติซุนนะฮฺของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และเป็นการขัดแย้งกับพวกยะฮูดและพวกนะศอรอ เพราะพวกเขาเหล่านั้นจะแก้ศีลอดให้ล่าช้าออกไป จนกระทั่งมองเห็นดวงดาวอย่างชัดเจน ในการปฏิบัติตามแนวทางของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นเป็นการแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ของศาสนา และเป็นการภาคภูมิใจในสิ่งที่เรายึดมั่นในแนวทางที่ถูกต้อง ในการกระทำเช่นนั้นจะเป็นที่ประจักษ์ในอัลฮาดีสของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังต่อไปนี้

   ก. การรีบเร่งในการแก้ศีลอดทำให้เกิดความดี

มีรายงานจากซะฮฺล อิบนฺซะอีด แจ้งว่า แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

( لا يَزَالُ النَّاسُ بِخَيْرٍ مَا عَجَّلُوْا الفِطْرَ )
رواه البخاري ومسلم

ความว่า “มนุษย์ยังคงอยู่ในความดีตราบใดที่พวกเขารีบเร่งในการแก้ศีลอด” บันทึกโดย : อัลบุคอรียฺ และมุสลิม

   ข. การรีบเร่งในการแก้ศีลอดเป็นซุนนะฮฺของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

เมื่อประชาชาติอิสลามรีบเร่งในการถือศีลอด แน่นอนพวกเขายังคงยึดมั่นในซุนนะฮฺของท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และแนวทางของสะละฟุศศอและฮฺ และพวกเขาจะไม่หลงทางเป็นอันขาด ด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ ตราบใดที่พวกเขายังคงยึดมั่นอยู่กับซุนนะฮฺ และปฏิเสธทุกสิ่งที่จะมาปรับเปลี่ยนหลักการณ์ของศาสนา

มีรายงานจากซะฮฺล อิบนฺซะอีด แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

( لا تَزَالُ أُمَّتِيْ عَلَى سُنَّتِيْ مَالَمْ تَنْتَظِرْ بِفِطْرِهَا النُّجُوْمَ )
رواه حبان بسند صحيح

ความว่า “ประชาชาติของฉันยังคงอยู่ในซุนนะฮฺของฉัน ตราบใดที่พวกเขาไม่คอยดวงดาวให้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในการแก้ศีลอดของพวกเขา”

   ค. การรีบเร่งในการแก้ศีลอดเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับพวกหลงทางและพวกที่ถูกกริ้ว

เมื่อมนุษย์ยังอยู่ในความดีเพราะพวกเขาดำเนินตามแนวทางของร่อซูลของพวกเขา และพวกเขาปกป้องรักษาซุนนะฮฺของท่าน แท้จริงอิสลามจะยังคงยืนหยัดอย่างประจักษ์แจ้งและเป็นผู้พิชิตอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน เมื่อมีผู้ต่อต้านหรือมีความเห็นขัดแย้งก็จะไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดต่ออิสลามในขณะนั้น ประชาชาติอิสลามก็จะเปรียบเสมือนดวงประทีปส่องแสงไปทั่วทุกสารทิศ ท่ามกลางความมืดมนต์และเป็นแบบฉบับอันดีงามเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติตาม ทั้งนี้เพราะประชาชาติอิสลามจะไม่เดินตามหลังและอยู่หางแถวของประชาชาติตะวันออกและตะวันตกเป็นอันขาด

มีรายงานจากอะบีฮุรอยเราะฮฺแจ้งว่า ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

( لا يَزَالُ الدِّيْنُ ظَاهِرَاً مَا عَجَلَ النَّاسُ الفِطْرَ لأَنَّ اليَهُوْدَ وَالنَّصَارَى يُؤَخِّرُوْنَ )
رواه أبوداود وابن حبان وسنده حسن

ความว่า “ศาสนายังคงยืนหยัดอย่างประจักษ์แจ้ง ตราบใดที่มนุษย์ยังคงรีบเร่งในการแก้ศีลอด เพราะพวกยะฮูดและพวกนะศอรอชอบที่จะให้การแก้ศีลอดล่าช้าออกไป”  บันทึกโดย : อะบูดาวู๊ด และอิบนฺฮิบบาน ซึ่งสายสืบอยู่ในระดับหะซัน

ดังนั้นท่านพี่น้องมุสลิมที่เรียกร้องเชิญชวนไปสู่แนวทางของอัลลอฮฺ และมีวิสัยทัศน์คงจะเป็นที่ตระหนักกันดีแล้วว่า บรรดาอะฮาดีสต่าง ๆ ที่ได้นำมากล่าวข้างต้นนั้นย่อมเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า ศาสนาที่ถูกต้องนั้นจะต้องยืนหยัดอยู่บนหลักการณ์ คือการปฏิบัติตามซุนนะฮฺ ซึ่งประกอบด้วยคำพูดและการปฏิบัติ และหนึ่งในบรรดาซุนนะฮฺที่เรากำลังกล่าวถึง ก็คือการรีบเร่งในการแก้ศีอดเมื่อเป็นที่ประจักษ์แล้วถึงการตกของดวงอาทิตย์เมื่อลับขอบฟ้าแล้ว และในการปฏิบัติเช่นนั้นเป็นการต่อต้านการกระทำของพวกยะฮูดและพวกนะศอรอ

   ง. แก้ศีลอดก่อนละหมาดมักริบ

“ท่านร่อซูลุลลอฮฺ จะแก้ศีลอดก่อนละหมาดมักริบ”  บันทึกโดย : อะหมัด และอะบูดาวู๊ด
เพราะการรีบเร่งในการแก้ศีลอดเป็นมรรยาทและพฤติกรรมของบรรดานะบี มีรายงานจากอะบิดดัรดาอฺ กล่าวว่า

( ثَلاثٌ منِ أَخْلاقِ النُّبُوَّةِ : تَعْجِيْلُ الفِطْرِ ،
وَتَأْخِيْرُ السُّحُوْرِ ، وَوَضْعُ اليَمِيْنِ عَلَى الشِّمَالِ في الصَّلاة )
رواه الطبراني وهو حديث صحيح

ความว่า “สามประการที่เป็นมรรยาทของบรรดานะบี คือ การรีบเร่งในการแก้ศีลอด การกินสะฮูรให้ล่า และการวางมือขวาบนมือซ้ายในขณะละหมาด” บันทึกโดย : อัฎฎ๊อบรอนีย์ และว่าเป็นสายสืบที่ศ่อฮี้ฮฺ

13.3 แก้ศีลอดด้วยอะไร ?

ปรากฎว่าท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สนับสนุนให้แก้ศีลอดด้วยอินทผลัม ถ้าไม่มีก็แก้ด้วยน้ำ และนี่คือความรู้สึกห่วงใยด้วยความเมตตากรุณาของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ต่อประชาชาติของท่าน

อัลลอฮฺผู้ซึ่งได้ส่งมุฮัมมัดมาเพื่อเป็นความเมตตาแก่ชาวโลก ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัตเตาบะฮฺ อายะฮฺที่ 128 ว่า

لَقَدْ جَاءكُمْ رَسُولٌ مِّنْ أَنفُسِكُمْ عَزِيزٌ عَلَيْهِ مَا عَنِتُّمْ حَرِيصٌ عَلَيْكُم بِالْمُؤْمِنِينَ رَؤُوفٌ رَّحِيمٌ ﴿١٢٨﴾

ความว่า “แน่นอนมีร่อซูลคนหนึ่ง (มุฮัมมัด) ที่มาจากในหมู่พวกเจ้าได้มายังพวกเจ้าแล้ว เป็นที่ลำบากใจแก่เขาในสิ่งที่พวกเจ้าได้รับความทุกข์ยาก เป็นผู้ห่วงใยในพวกเจ้า เป็นผู้เมตตา ผู้กรุณาสงสารต่อบรรดาผู้ศรัทธา” (9/128)

พึงทราบเถิดว่าอินทผลัมนั้นเป็นศิริมงคล และมีส่วนประกอบสำคัญและเอกลักษณ์ในชนิดของมัน และมีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย มีรายงานจากอะนัส อิบนฺมาลิก กล่าวว่า

( كَانَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يُفْطِرُ عَلَى رُطَبَات قَبْلَ أَنْ يُصَلِّيَ ،
 فَإِنْ لَمْ يَكُنْ تَمَرَاتٌ حَسَا حَسَوَاتٍ مِنْ مَاءٍ )
رواه أحمد وأبوداود وابن خزيمة والترمذي وسنده صحيح

ความว่า “ปรากฎว่าท่านนะบีแก้ศีลอดด้วยอินทผลัมที่สุกงอมก่อนที่จะไปละหมาด ถ้าหากไม่มีอินทผลัมสุกงอมก็จะแก้ด้วยอินทผลัมแห้ง ถ้าหากไม่มีอินทผลัมแห้งก็จะจิบน้ำหลายจิบ” บันทึกโดย : อะหมัด อะบูดาวู๊ด อิบนฺคุไซมะฮฺ และอัตติรมิซีย์ เป็นสายสืบที่ศ่อฮี้ฮฺ

13.4 จะกล่าวอะไรขณะแก้ศีลอด ?

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า การปฏิบัติตามแนวทางหรือซุนนะฮฺของท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม   ของเรานั้น การวิงวอนขอดุอาอฺของท่านจะได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ ดังนั้นจงฉวยโอกาสเพื่อการนี้เถิดด้วยการวิงวอนขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺด้วยความมั่นใจ และพึงทราบเถิดว่าแท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ตอบรับการวิงวอนขอดุอาอฺของหัวใจที่เผลอไผลไม่สนใจ ดังนั้นท่านจงวิงวอนขอดุอาอฺตามที่ท่านต้องการจะขอดุอาอฺที่ดี ๆ หวังว่าท่านจะได้รับความดีทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ

มีรายงานจากอับดุลลอฮฺ อิบนฺอุมัร อิบนิลอ๊าศ แจ้งว่า ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

( إِنَّ لِلصَّائِمِ عِنْدَ فِطْرِهِ لَدَعْوَةٌ مَاتُرَدُّ )
رواه ابن ماجة والحاكم

ความว่า “แท้จริงสำหรับผู้ถือศีลอดขณะแก้ศีลอดของเขานั้น การวิงวอนขอดุอาอฺจะได้รับการตอบรับอย่างแน่นอน”  บันทึกโดย : อิบนฺมาญะฮฺ และอัลฮากิม

และดุอาอฺที่ดียิ่งคือ ดุอาอฺที่สืบต่อเนื่องจากท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งท่านได้กล่าวขณะแก้ศีลอดว่า

( ذَهَبَ الظَّمَأُ وَابْتَلَّتِ العُرُوْقُ وَثَبَتَ الأَجْرُ إِنْ شَاءَ الله )

رواه أبوداود والبيهقي والحاكم وحسن أسناده الدارقطني

ความว่า “ความกระหายน้ำได้สูญสิ้นไป เส้นโลหิตได้ชุ่มชื่นและได้รับการตอบแทนอย่างแน่นอน อินชาอัลลอฮฺ” บันทึกโดย : อะบูดาวู๊ด อัลบัยฮะกีย์ และอัลฮากิม และอัดดารุกุฎนีย์ว่า เป็นสายสืบที่หะซัน

 

13.5 การให้อาหารแก่ผู้ถือศีลอด

การให้อาหารเพื่อแก้ศีลอดแก่ผู้ถือศีลอดเป็นการกระทำความดีชนิดหนึ่ง เพราะการกระทำเช่นนั้นจะได้รับผลตอบแทนอย่างมากมาย   ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

( مَنْ فَطَّرَ صَائِمَاً كَانَ لَهُ مِثْلَ أَجْرِهِ غَيْرَ أَنَّهُ لا يَنْقُصُ مِنْ أَجْرِ الصَّائِمِ شَيْئَاً )
رواه أحمد والترمذي وابن ماجة وابن حبان وصححة الترمذي

ความว่า “ผู้ใดให้อาหารแก่ผู้ถือศีลอด เขาจะได้ผลบุญเท่ากับผู้ถือศีลอด โดยที่ผลบุญของผู้ถือศีลอดจะไม่ลดน้อยลงแต่อย่างใด”   บันทึกโดย : อะหมัด อัตติรมิซีย์ อิบนฺมาญะฮฺ และอิบนฺฮิบบาน และอัตติรมีซีย์ว่าเป็นสายสืบที่ศ่อฮี้ฮฺ

 

ดุอาอฺให้แก่ผู้เลี้ยงอาหารละศีลอด

เมื่อผู้ถือศีลอดได้รับเชิญให้ไปร่วมแก้ศีลอด เขาจะต้องตอบรับการเชิญนั้น เพราะผู้ที่ปฏิเสธการรับเชิญ แน่นอนเขาได้ฝ่าฝืนท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และเขาจะต้องมีความเชื่อมั่นว่าการตอบรับคำเชิญนั้นจะไม่ทำให้ความดีของเขาสูญเสียไปแต่อย่างใด และจะไม่ทำให้ผลบุญของเขาลดหย่อนลงแน่อย่างใด

และชอบที่จะให้ผู้ที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมแก้ศีลอดวิงวอนขอดุอาอฺให้แก่เจ้าภาพหลังจากเสร็จสิ้นจากการกินอาหารแล้ว เพราะท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยปฏิบัติเช่นนั้น ซึ่งคำวิงวอนขอดุอาอฺมีอยู่หลายชนิดเช่น

( أَكَلَ طَعَامَكُمُ الأَبْرَارُ وَصَلَّتْ عَلَيْكُمُ المَلائِكَةُ وَأَفْطَرَ عِنْدَ كُمُ الصَّائِمُوْنَ )
رواه ابن أبي شيبة وأحمد والنسائي وسنده صحيح

ความว่า “ขอให้คนดี ๆ มาร่วมรับประทานอาหารของพวกท่าน และขอให้บรรดามะลาอิกะฮฺขอพรให้แก่พวกท่าน และขอให้บรรดาผู้ถือศีลอดมาร่วมแก้ศีลอดกับพวกท่าน“   บันทึกโดย : อิบนฺอะบีซัยบะฮฺ อะหมัด และอันนะซาอียะฮฺ และว่าเป็นสายสืบที่ศ่อฮี้ฮฺ ในหนังสือ “อะมะลุลเยามวัลลัยละฮฺ”

( الَّلهُمَّ أَطْعِمْ مَنْ أَطْعَمَنِيْ وَاسْقِ مَنْ سَقَانِيْ )
رواه مسلم عن المقداد

ความว่า “โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ประทานอาหารแก่ผู้ที่เขาได้ให้อาหารแก่ข้าพระองค์ และประทานน้ำดื่มให้แก่ผู้ที่เขาได้ให้น้ำดื่มแก่ข้าพระองค์”   บันทึกโดย : มุสลิม จากรายงานของอัลมิกด๊าด

( الَّلهُمَّ اغْفِرْ لَهُمْ وَارْحَمْهُمْ وَبَارِكْ لَهُمْ فِيْمَا رَزَقْتَهُمْ )
رواه مسلم

ความว่า “โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงอภัยโทษให้แก่พวกเขา และทรงเมตตาแก่พวกเขา และประทานความศิริมงคลในสิ่งที่พระองค์ได้ให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา”   บันทึกโดย : มุสลิม
 

 


ที่มา : หนังสือ การถือศีลอดตามบัญญัติอิสลาม, อาจารย์อะหมัด สมะดี ร่อหิมะฮุลลอฮฺ